โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ไขข้อข้องใจ : เทคโนฯ ซังโนมีจริงหรือไม่ แล้วเก่งเหมือนในมังงะหรือเปล่า?

Main Stand

อัพเดต 08 มิ.ย. 2563 เวลา 12.43 น. • เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • มฤคย์ ตันนิยม

ในมังงะ สแลมดังค์ นอกจาก โชโฮคุ หนึ่งในทีมที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กันคือ เทคโนฯ ซังโน (โรงเรียนเทคโนโลยี ซังโน) หรือ ยามะโอ ตามคำเรียกของ ซากุรางิ ฮานามิจิคู่ต่อกรของทีมตัวเอกในรอบที่ 2 ของศึก อินเตอร์ไฮ บาสเกตบอลระดับ ม.ปลาย ชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น

 

พวกเขาคือราชาแห่งวงการบาสฯ ม.ปลายญี่ปุ่น ซึ่งเต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ เพราะนอกจากจะเป็นแชมป์เก่า พวกเขายังอุดมไปด้วยผู้เล่นฝีมือดี และมีโค้ชที่เก่งกาจ จนแทบไร้ที่ติ 

แม้สุดท้ายพวกเขาจะพ่ายโชโฮคุไปอย่างสนุก (และเรื่องก็ถูกตัดจบหลังจบเกมดังกล่าวไม่นาน) แต่ก็ยังได้รับการพูดถึงในฐานะความยอดเยี่ยมของทีมเป็นอย่างดี อารมณ์ว่าขนาดแพ้ยังเท่เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี อย่างที่ขึ้นชื่อกันว่า มังงะญี่ปุ่น มักเขียนโดยอ้างอิงหรือได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเทคโนฯ ซังโน มีตัวตนจริงๆ หรือไม่  

ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand 

 

ราชาแห่งวงการบาสฯ ม.ปลายญี่ปุ่น 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สแลมดังค์ มังงะจากปลายปากกาของอาจารย์ ทาเคฮิโกะ อิโนอุเอะ เป็นหนึ่งในการ์ตูนยอดฮิตของชาวญี่ปุ่น จากเนื้อเรื่องที่เข้มข้น สมจริง บวกกับลายเส้นที่สวยงาม จนทำให้มันมียอดขายสูงถึงกว่า 120 ล้านเล่มในแดนอาทิตย์อุทัย 

Photo : read01.com

ในขณะที่แฟนนักอ่านชาวไทย มังงะเรื่องนี้ถือเป็นใบเบิกทางให้หลายคนได้รู้จักกับความสนุกของบาสเกตบอล รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้บางคนเล่นบาสฯ อย่างจริงจังในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี นอกจาก โชโฮคุ และเหล่าคู่แข่งในจังหวัดคานางาวะ อีกหนึ่งทีมที่มักถูกพูดถึงอยู่เสมอคือ เทคโนฯ ซังโน หรือชื่อเต็มว่า โรงเรียนมัธยมปลายเทคโนโลยีซังโน จากจังหวัดอาคิตะ ซึ่งเป็นคู่แข่งของโชโฮคุในศึกอินเตอร์ไฮรอบที่ 2 

พวกเขาคือโรงเรียนที่โดดเด่นเรื่องบาสฯ ของญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน วัดได้จากการที่ อาคางิ ทาเคโนริ เซ็นเตอร์ของ โชโฮคุ รู้จักมาตั้งแต่สมัยประถม และเป็นคู่แข่งในฝันในการพิชิตทั่วประเทศของเขา

"สมัยประถม ปกนิตยสารบาสเกตบอล (ที่มีภาพผู้เล่นของซังโนอยู่บนปก) ที่ชั้นซื้อมาครั้งแรก กระชากความรู้สึกอย่างมาก" อาคางิ คุยกับ มิตสึอิ ฮิซาชิ และ คิมิโนบุ โคงุเระ ในคืนก่อนดวลซังโน 

"นี่หรือเปล่านะ ถึงทำให้เวลาที่นึกวาดภาพการพิชิตทั่วประเทศทีไร คู่ต่อสู้ตอนนัดชิงชนะเลิศถึงต้องเป็นซังโนเสมอ"

Photo : www.itsfun.com.tw

พวกเขายังเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์เก่า และแชมป์อีกหลายสมัย รวมไปถึงแชมป์ 2 สมัยติดต่อกันก่อนหน้านั้น แถมยังได้รับการจัดอันดับในนิตยสารบาสเกตบอลให้เป็นระดับ AA (โชโฮคุระดับ C) จนได้รับการขนานนามว่า "ราชาแห่งวงการบาสฯ ม.ปลายญี่ปุ่น" 

แม้แต่โรงเรียนสาธิตไคนัน ยอดทีมแห่งจังหวัดคานางาวะ ก็ยังพบจุดจบที่น่าเศร้าในการพบกับซังโน เมื่อพ่ายไปอย่างขาดลอยถึง 113-83 ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายของศึกชิงแชมป์ทั่วประเทศเมื่อปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ดี แค่ชื่อเสียงไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาเก่งกาจ 

 

ละเอียดรอบคอบ  

แม้ว่าเทคโนฯ ซังโน อาจจะเป็นโรงเรียนที่ขึ้นชื่อในเรื่องบาสมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของวงการยัดห่วง ม.ปลายญี่ปุ่น คือความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) 

เทคโนฯ ซังโน เป็นทีมที่ละเอียดรอบคอบทุกกระเบียดนิ้ว เพราะถึงแม้จะเจอกับคู่แข่งที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอย่าง โชโฮคุ ที่หลายคนมองว่าพวกเขาน่าจะเอาชนะได้อย่างไม่ยากเย็น แต่พวกเขาก็ไม่ประมาท พยายามหาข้อมูลและวางแผนเพื่อหาวิธีเอาชนะ 

Photo : wukongwenda.cn

"การประมาทเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำครับ ถึงทีมจะขึ้นชื่อว่าร้ายกาจแค่ไหนก็ตาม ก็ยังเป็นเด็ก ม.ปลายอยู่ดี จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ไม่แปลก" โกโระ โดโมโตะ โค้ชของเทคโนฯ ซังโน ตอบกับนักข่าว 

"เพราะงั้น การเตรียมพร้อมตั้งแต่ศึกแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ" 

นอกจากนี้ พวกเขายังทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการเตรียมทีม ถึงขนาด เชิญรุ่นพี่ที่ต่างเป็นนักบาสฯ ระดับดารามหาวิทยาลัยมาเป็นคู่แข่งช่วยซ้อม โดยสมมุติว่าเป็นทีมโชโฮคุ ก่อนจะเอาชนะไปอย่างง่ายดาย

ในขณะเดียวกัน พวกเขายังทำการบ้านด้วยการศึกษาวิธีการเล่นของผู้เล่นคู่แข่งอย่างละเอียด ชนิดตำแหน่งต่อตำแหน่งจากวิดีโอย้อนหลัง เพื่อไม่ให้พลาดในการแข่งขัน 

"เจ้าพวกนั้นน่ะ ไม่มีทั้งความประมาทและความอวดเก่ง" โดโมโตะกล่าวต่อ 

แน่นอนว่า โค้ชก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เทคโนฯ ซังโน ยืนอยู่บนจุดสูงสุดในวงการบาส ม.ปลาย พวกเขามีโค้ชโดโมโตะ ที่ดูยังหนุ่มยังแน่นเป็นคนนำทีม และแสดงให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมตั้งแต่การวางหมาก ด้วยการส่ง ซาโตชิ อิจิโนะคุระ ที่ขึ้นชื่อด้านความอึดมาประกบ มิตสึอิ ฮิซาชิ จนเล่นไม่ออก 

เขายังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคุมทีม ไม่ว่าจะเป็นการแก้เกมให้ทีมเล่นแบบโซนเพรสในช่วงครึ่งหลัง จนทำให้ เทคโนฯ ซังโน ทำแต้มทิ้งห่างไปไกลถึง 20 คะแนน 

หรือการส่ง คาวาตะ มิคิโอะ น้องชายของ คาวาตะ มาซาชิ เซ็นเตอร์ตัวจริงลงสนาม เพื่อปลูกฝัง "ประสบการณ์" และความมั่นใจให้กับคนที่เล่นไปหงอไปภายใต้บารมีของพี่ชาย ด้วยความหวังที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแกนหลักของทีมในปีต่อไป 

Photo : www.xuehua.us

ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นในทีมยังมีประสบการณ์ชนะเลิศ จากการคว้าแชมป์ในปีก่อนๆ และมีความกระหายที่จะเอาชนะคู่แข่งอยู่เสมอ รวมไปถึงสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งจากประสบการณ์ที่โชกโชน 

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งและแทบไร้ที่ติ จนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการบาสเกตบอลระดับมัธยมปลายของญี่ปุ่น 

ทำให้แม้ว่า สุดท้ายแล้ว เทคโนฯ ซังโน จะพ่ายโชโฮคุ ไปอย่างเฉียดฉิว จากลูกชู้ตสามัญชนในวินาทีสุดท้ายของ ซากุรางิ แต่มันก็ทำให้พวกเขาได้รับการยกย่อง และถูกพูดถึงไม่แพ้ทีมของตัวเอก  

"ไม่ต้องคิดมาก การที่เราเคยพ่ายแพ้ซักวันหนึ่ง มันจะกลายเป็นสิ่งมีค่ามหาศาลต่อเรา" โค้ชโดโมโตะบอกกับลูกทีมหลังเกม 

อย่างไรก็ดี ทีมที่สมบูรณ์แบบขนาดนี้ มีอยู่จริง หรือเป็นเพียงแค่จินตนาการในมังงะ 

 

เทคโนฯ ซังโนในโลกจริง? 

อย่างที่ทราบกันดีว่ามังงะ มักจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อความบันเทิงจากจินตนาการของผู้เขียน โดยไม่ได้อ้างอิงหลักความจริงมากมาย แต่ก็มีมังงะจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ฉากหลังของจริง หรือบุคคลตัวจริงมาเป็นวัตถุดิบ และ "สแลมดังค์" ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น 

เมื่อมีทฤษฎีว่าโรงเรียนเทคโนฯ ซังโน ที่โดดเด่นมากในมังงะ น่าจะเป็นโรงเรียนที่มีอยู่จริง ซึ่งโรงเรียนที่ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบก็คือ โรงเรียนเทคโนโลยีโนชิโระ ที่ราวกับถอดแบบกันมา 

Photo : www.zhihu.com | @Yzyzy

เนื่องจากเทคโนฯ โนชิโระ มีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอาคิตะ เหมือนกับเทคโนฯ ซังโน และยังใช้ชุดแข่งพื้นสีขาวลายสีดำเหมือนกัน แถมคำว่า"ซังโน" ยังเป็นชื่อย่านในเมืองอาคิตะอีกด้วย

แต่สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คือการที่ เทคโนฯ โนชิโระ คือราชาแห่งวงการบาสมัธยมปลายญี่ปุ่นตัวจริง และที่สำคัญ บางทีพวกเขาอาจจะเก่งกว่าเทคโนฯ ซังโนในมังงะอีกด้วย 

เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งชมรมบาสเกตบอลครั้งแรกในปี 1933 พวกเขาก็เดินหน้ากวาดแชมป์ระดับชาติมาครองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำถึง 58 ครั้ง มากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น 

โดยเป็นการคว้าแชมป์อินเตอร์ไฮถึง 22 ครั้ง คว้าแชมป์กีฬาแห่งชาติระดับนักเรียน 16 ครั้ง และคว้าแชมป์ฤดูหนาว 20 ครั้ง และผ่านเข้าไปเล่นในอินเตอร์ไฮได้ถึง 46 ปีติดต่อกัน มากที่สุดในญี่ปุ่น 

แต่ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด คือช่วงปี 1996-1998 ที่เทคโนฯ โนชิโระ ซึ่งนำโดย ยูตะ ทาบุเสะ นักบาสเกตบอลระดับ NBA คนแรกของญี่ปุ่น ผงาดคว้า 3 แชมป์ภายในปีเดียว แถมยังทำได้ 3 ปีติดต่อกัน แน่นอนว่าพวกเขาคือทีมเดียวในญี่ปุ่นที่เคยทำได้ 

Photo : victorysportsnews.com

แถมในปี 1997 พวกเขายังเป็นแชมป์ทั้ง 3 รายการ ด้วยการถล่มคู่แข่งในนัดชิงชนะเลิศอย่างไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็นการเอาชนะ ราคุนัน (เกียวโต) 120-58 ในอินเตอร์ไฮ ถลุงทีมรวมโตเกียว 105-80 ในกีฬาแห่งชาติ หรือ คว้าชัยเหนือ ยามางาตะ มินามิ 134-77 ในถ้วยฤดูหนาว  

นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของพวกเขาไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อครั้งหนึ่งพวกเขาได้รับข้อเสนอให้แข่งนัดกระชับมิตรกับทีมรวมดารามัธยมปลายจีน โดยได้รับการสนับสนุนจาก Tencent บริษัทไอทีชื่อดังอีกด้วย 

"สแลมดังค์ ได้รับความนิยมในจีน และเทคโนฯ โนชิโระ ที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนสุดแกร่งอย่างเทคโนฯ ซังโน ก็ดังมากในจีนเหมือนกัน ทีมรวมดาราของเรากำลังฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเกมนี้" ตัวแทนของ Tencent กล่าวกับ Asahi ก่อนแข่ง 

แต่ความเหมือนของพวกเขาไม่ได้มีแค่นี้ 

 

ความเคี่ยวราวกับถอดแบบกันมา 

แม้ว่าในมังงะสแลมดังค์ เราอาจจะไม่ค่อยได้รู้เรื่องราวของเทคโนฯ ซังโน ก่อนอินเตอร์ไฮมากนัก แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือความเข้มงวดในการซ้อมของทีม จากครั้งหนึ่งที่ให้รุ่นพี่มาช่วยซ้อมโดยสมมุติว่าเป็นโชโฮคุ 

อย่างไรก็ดี ความเข้มงวดเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในมังงะเท่านั้น เพราะความเป็นจริงการซ้อมของเทคโนฯ โนชิโระ ก็โหดหินไม่แพ้กัน 

Photo : sina.com.cn

"ตอนเข้ามาใหม่ๆ ผมคิดว่าการฝึกซ้อมของบาสฯ ม.ปลาย มันเข้มงวดขนาดนี้เลยหรือ แต่ไม่ว่าจะทรมานแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะรุ่นพี่ต่างฝึกซ้อมแบบนี้จากรุ่นสู่รุ่น" ทาบุเสะ อดีตผู้เล่นของ ฟีนิกซ์ ซันส์ กล่าวกับ Shueisha 

พวกเขาจะเริ่มซ้อมหนักในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน โดยจะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงเช้าจะเป็นการฝึกพื้นฐานและทักษะทางร่างกาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 9 โมง ส่วนช่วงบ่ายเริ่ม 3 โมงและเป็นการฝึกซ้อมแทคติก โดยแต่ละช่วงจะกินเวลาราว 2-3 ชั่วโมง

"การซ้อมช่วงวันหยุดฤดูร้อนคือการซ้อมที่ทรมานที่สุด มันแบ่งออกเป็นสองช่วงและนานกว่าปกติ แน่นอนว่าการซ้อมฟุตเวิร์คก็มี 2 ช่วงเหมือนกัน" ทาบุเสะกล่าวต่อ 

"ฤดูร้อนที่โนชิโระ ไม่ได้ร้อนขนาดนั้น แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยได้ แต่ในทางตรงข้ามฤดูหนาวที่นี่หนาวมาก" 

ความเข้มงวดในการซ้อมของพวกเขาทำให้เคยมีคำกล่าวถึงขนาดว่า การได้เป็นตัวจริงของ เทคโนฯ โนชิโระ ยากกว่าการคว้าแชมป์ระดับชาติเสียอีก 

Photo : sina.com.cn

"เราถูกบอกว่า 'พวกฉันไม่ไปหรอก ทีมที่อยากจะมา ก็ให้มาที่เทคโนฯ โนชิโระ'" ทาบุเสะกล่าว  

"มันเป็นความภาคภูมิใจแบบนั้น เพราะฉะนั้นพอเป็นหน้าร้อน เราจะไม่เดินทางไปแข่งไกลๆ แต่จะอยู่ที่หอแทน 'พวกนายเหมือนเข้าค่ายเก็บตัวทุกวัน' โค้ชบอกแบบนั้น" 

แต่สิ่งที่โหดหินที่สุด คือการกลับมาช่วยซ้อมของเหล่ารุ่นพี่ก่อนอินเตอร์ไฮ ใช่แล้ว มันเหมือนกับเหตุการณ์ของ เทคโนฯ ซังโน ในสแลมดังค์ แต่ความเป็นจริงมันเป็นกิจกรรมที่พวกเขาทำเป็นประจำทุกปี 

"ตอนแรกเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็เป็นศิษย์เก่าที่เคยเป็นสมาชิกชมรม แต่ยิ่งไปกว่านั้น ศิษย์เก่าเอาเพื่อนร่วมทีมของพวกเขามาด้วย" ทาบุเสะอธิบาย 

อย่างไรก็ดี ผลการแข่งขันของเทคโนฯ โนชิโระ อาจจะไม่เหมือนในมังงะ อย่างน้อยก็ปีที่ ทาบุเสะ อยู่ที่นั่น เมื่อทีมชุดปัจจุบัน เป็นฝ่ายพ่ายให้กับทีมศิษย์เก่าอย่างยับเยิน แต่มันก็มอบบทเรียนและความมั่นใจให้กับพวกเขา

"การที่เราเคยพ่ายแพ้ สักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นทรัพย์สมบัติที่ยิ่งใหญ่" ทาบุเสะกล่าว 

"ผมไม่ใช่คู่แข่งพวกเขา และพ่ายแบบหมดรูป แต่ว่าความพ่ายแพ้ต่อศิษย์เก่าพวกนั้น ทำให้ผมชอบการแข่งขัน และเชื่อว่าบางครั้งเราอาจจะชนะได้ มันทำให้ผมมั่นใจว่าผมไม่มีทางแพ้ในอินเตอร์ไฮ ถ้วยฤดูหนาว หรือการแข่งขันระหว่างเด็ก ม.ปลายด้วยกัน" 

มันเป็นความเหมือนกันที่ดูทั้งตั้งใจและบังเอิญของ เทคโนฯ ซังโน และเทคโนฯ โนชิโระ ที่ทำให้พวกเขาเป็นเหมือนโลกคู่ขนานของกันและกัน 

Photo : www.bilibili.com

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลัง เทคโนฯ โนชิโระ มีผลงานที่ตกลงไป เมื่อการคว้าแชมป์อินเตอร์ไฮครั้งสุดท้าย ของพวกเขาต้องย้อนกลับไปในปี 2007 เช่นเดียวกับกีฬาแห่งชาติ และถ้วยฤดูหนาว ที่ปีดังกล่าวเป็นปีสุดท้ายของความรุ่งเรืองของพวกเขา 

นอกจากนี้พวกเขายังพลาดสิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นในอินเตอร์ไฮเป็นครั้งแรกในปี 2016 หลังพ่ายต่อโรงเรียนเฮเซย์ในรอบชิงชนะเลิศจังหวัดอาคิตะ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องหยุดสถิติไปเล่นในรอบสุดท้ายไว้ที่ 46 ปีติดต่อกัน 

มีทฤษฏีว่า มังงะสแลมดังค์ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้ผลงานของ เทคโนฯ โนชิโระ ตกลง เพราะการที่มังงะเรื่องนี้โด่งดังเป็นพลุแตก ดันไปช่วยปลุกกระแสกีฬาบาสฯ ในญี่ปุ่น และทำให้หลายโรงเรียนมาโฟกัสที่กีฬานี้มากขึ้น 

และเมื่อมีโรงเรียนที่เน้นกีฬาบาสฯ มากขึ้น ก็ทำให้เทคโนฯ โนชิโระ ต้องเจอคู่แข่งที่โหดหินขึ้น ก่อนที่มันจะมาถึงวันที่พวกเขาตกลงมาจากเบอร์หนึ่งในกีฬาชนิดนี้ 

แม้ทฤษฎีนี้จะไม่ได้รับการยืนยัน แต่ถ้าหากมันเป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นตลกร้ายพอสมควร เพราะดันมาถูกทำให้ล้มลง ทั้งที่เป็นโรงเรียนที่เป็นต้นแบบในมังงะแท้ๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจุบัน เทคโนฯ โนชิโระ อาจจะไม่เก่งกาจเหมือนเก่า แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะตำนานแห่งวงการบาส ม.ปลายญี่ปุ่น จนกว่าจะมีใครมาลบหรือทำสถิติเทียบเท่า

เช่นเดียวกับฉายา "เทคโนฯ ซังโนในโลกแห่งความจริง" ที่จะอยู่ไปตราบนานเท่านาน และไม่มีใครพรากไปจากพวกเขาได้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/otherballgame/basketball/2015/07/07/post_442/index.php 
https://www.asahi.com/articles/ASM7Y3RCMM7YUBUB002.html 
https://spaia.jp/column/basketball/3323
https://matcha-jp.com/en/5342  
https://www.huffingtonpost.jp/foresight/slam-dunk_a_23640029/ 
https://slamdunk.fandom.com/wiki/Sannoh_High 
http://gakulabo.com/contents/%E3%82%B9%E3%83%A9%E3%83%A0%E3%83%80%E3%83%B3%E3%82%AF%E3%81%AE%E3%80%8C%E5%B1%B1%E7%8E%8B%E5%B7%A5%E6%A5%AD%E9%AB%98%E6%A0%A1%E3%80%8D%E3%81%AE%E3%83%A2%E3%83%87%E3%83%AB%E3%80%81%E8%83%BD%E4%BB%A3/ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0