โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ให้ลุงตู่มาทายกัน วรรคทองนี้มาจากวรรณคดีเรื่องไหน?

The MATTER

อัพเดต 29 มี.ค. 2561 เวลา 13.14 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2561 เวลา 13.44 น. • Pulse

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางกระทรวงวัฒนธรรมแจกหนังสือจินดามณี ประกอบกับกระแสที่ลุงตู่ของเรากำลังอินบุพเพสันนิวาส และเรื่องราวย้อนยุคแบบไทยๆ ลุงตู่เลยมีการกำชับว่า นี่นะ ทุกคนต้องท่องจินดามณีให้คนละ ๑ บท พอนักข่าวถามว่าท่านนายกอ่านรึยัง ลุงตู่ก็ตอบทันทีว่า อ่านแล้ว จากร้อยกว่าบท แถมร่ายกลอนออกมาเป็นกลอนบทอื่น ไม่ได้มาจากจินดามณี

เรื่องบทกลอน ร้อยกรอง จังหวะจะโคนดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดของสังคมไทย ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ และมีรูปแบบคำประพันธ์มากมาย เราต่างเคยได้ยินได้ฟังบทกวีที่ฝังเข้าไปในความทรงจำ ท่องจำกันมาได้เป็นวรรคทอง ดังนั้นก็อาจจะไม่แปลกเนอะที่ลุงตู่จะสับสน เอาวรรคทองหนึ่งมาตอบว่ามาจากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกลอนบทที่ลุงตู่ว่า ก็เป็นบทที่เราคุ้นๆ หูกันดี

บทร้อยกรอง สมัยเรียนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แต่เราก็สามารถสัมผัสพลังของบทร้อยกรองได้ คำและความหมายจากบางบทมันช่างแทงและฝังแน่นเข้าไปในใจ เราเรียกบทเหล่านั้นว่าเป็นวรรคทอง ที่พูดไป เราก็จะพยักหน้าว่า เฮ้ย เคยได้ยิน แต่… มาจากเรื่องไหนกันนะ The MATTER ชวนมาทายและกลับมาอ่านบทกวีสำคัญที่เราเคยผ่านหูว่า มาจากงานเขียนเรื่องอะไร

จินดามณี (คงตัวสะกดตามต้นฉบับตัวเขียน)

บทนี่แหละมาจากจินดามณี หนังสือแบบเรียนที่ถือกันว่าเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ในจินดามณีแต่งเป็นคำประพันธ์ มีเนื้อหาพูดถึงพื้นฐานความรู้ด้านอักขรวิทยา เช่น ตัวอักษร การสะกดคำ การแจกลูก ผันวรรณยุกต์ ไปจนถึงความหมายของคำศัพท์ที่ยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต และครึ่งหลังจะว่าด้วยการแต่งคำประพันธ์ประเภทต่างๆ จากเนื้อหานี้จึงตั้งการสันนิษฐานว่าจินดามณีเป็นตำราสำหรับเรียนเขียนอ่านของคนที่จะถวายตัวเข้ารับราชการ ในโคลงที่ยกมาพูดถึงตัวหนังสือว่าเป็นความรู้ที่เสมือนแก้วสารพัดนึก ใครที่รู้การอ่านเขียนก็เหมือนทรัพย์สมบัติล้ำค่า

นิราศภูเขาทอง - สุนทรภู่

กลอนบทที่ลุงตู่บอกว่ามาจากจินดามณี จริงๆ บทนี้ถือเป็นบทที่ใครหลายคนจำได้ - และจำได้ว่ามาจากงานของสุนทรภู่ กวีที่มีชื่นเสียงลำดับต้นๆ ของไทย นิราศภูเขาทองเป็นบันทึกการเดินทางตอนที่สุนทรภู่เดินทางไปเจดีย์ภูเขาทองที่เมืองกรุงเก่า และตามขนบนิราศ - วรรณคดีประเภทบันทึกการเดินทางในสมัยก่อน การเดินทางมักเป็นเรื่องการพรัดพรากและความยากลำบาก ในนิราศภูเขาทองดำเนินตามขนบนิราศคือมีการใคร่ครวญจากการพลัดพราก ด้วยความที่ไปเมืองกรุงเก่า ในตัวเรื่องนอกจากจะใคร่ครวญถึงหญิงคนรักแล้ว ยังใคร่ครวญถึงความรุ่งเรืองในอดีตด้วย ดังนั้นในบทที่ยกมาเลยมีการแย้งว่า สุนทรภู่อาจจะไม่ได้เป็นขี้เมา แต่แต่งตามขนบที่พอมองเห็นโรงเหล้าแล้ว ก็เลยแต่งโยงเข้ากับเรื่องความทุกข์จากความรัก

พระอภัยมณี - สุนทรภู่

เสียทองเท่าหัว ไม่เสียผัวให้ใคร บทนี้มาจากพระอภัยมณีช่วงหลังจากที่เราเรียนๆ คือหลังมีสุดสาคร สินสมุทรแล้ว เป็นช่วงที่พระอภัยครองเมืองผลึก ได้นางสุวรรณมาลีเป็นเมีย ทีนี้นางละเวงทำเสน่ห์ใส่เลยมีฉากรำพันหึงหวง ตัดพ้อข้างต้น ซึ่งดูเหมือนว่าสุนทรภู่จะเวรี่เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ ว่าในชีวิตเรานี่มันมีเรื่องเศร้ามากมาย แต่เศร้าสุดดูจะเป็นเรื่องรัก จะมีอะไรร้าวใจไปกว่าการที่คนรักไม่แยแสสนใจ เปรียบไปขนาดว่าเสียของทองคำไปขนาดไหน ก็ไม่ช้ำเท่าผัวทิ้ง

ลิลิตพระลอ

จากเรื่องเดียวกันของโคลงครู ‘เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง’ ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีเก่าแก่ของไทย สันนิษฐานว่ามีที่มาจากแถบล้านนา ประพันธ์ด้วยโคลงสุภาพ ในเรื่องว่าด้วยความรักแบบโศกนาฏกรรม เมื่อพระลอตกอยู่ในมนต์เสน่ห์ของสองสาวจากเมืองอื่นจนยอมทิ้งเมีย ทิ้งแม่ ไปสู่ดินแดนของศัตรู บทนี้เป็นบทรำพันของพระลอเอง ที่เอ้อ หลงหญิงอื่นจนยอมทิ้งเมีย ทิ้งแม่ที่รักตัวเองมา พระลอเองก็รู้ว่าที่ทำมันไม่ถูก จะชู้รักสักร้อยคนหรือจะเท่าเมียรัก เมียพันคนก็ไม่เท่าแม่ สุดท้ายตอนจบ ความรักจากความใคร่ของพระลอ พระเพื่อนพระแพงก็จบลงด้วยความตาย

มัทนะพาธา - รัชกาลที่ ๖

รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระปรีชาในทางกาพย์กลอนรวมถึงความรู้ทางสันสกฤต วรรณคดีโบราณและการละคร มัทนะพาธาเป็นบทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเองทั้งหมดโดยทรงเล่าถึงตำนานดอกกุหลาบ มัทนะพาธาใช้คำประพันธ์รูปแบบฉันท์ ซึ่งฉันท์แต่ละประเภทมีความซับซ้อนแต่ก็สวยงามในตัวเอง บทพระราชนิพนธ์นี้ถือว่าเป็นงานที่พูดถึงความรักได้ลึกซึ้งและสละสลวยทั้งภาษาและความหมาย บทข้างต้นก็เหมือนนั่งอยู่ในใจของคนที่ตกในห้วงรักทุกคน ทรงเปรียบความรักเหมือนกับโรคร้าย ทำให้คนที่อยู่ในห้วงรักทั้งหูหนวกและตาบอด ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง แถมตัวความรักเองก็มีความคุ้มคลั่ง ควบคุมได้ยาก พอรักเข้าแล้วก็พร้อมที่จะแล่นไป ไม่เกรงกลัวว่าจะเจ็บตัวหรือเจ็บใจ

บทละครเรื่องอิเหนา - พระราขนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒

กลอนบทละคร - วรรณคดีการแสดงเป็นชุดวรรณคดีสำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๒ คือนึกภาพเมื่อกรุงแตก งานวรรณคดีสำคัญคู่บ้านคู่เมืองก็สูญหายไปหมด รัชสมัยแรกจึงเป็นการฟื้นฟูงานสำคัญขึ้นมา จนเมื่อในรัชกาลถัดไปจึงเริ่มเอางานที่สมบูรณ์สำคัญนั้นกลับขึ้นมาแต่งเป็นบทละครเพื่อใช้แสดงและเป็นมรดกสำคัญต่อไป บทละครเรื่องอิเหนาเป็นเรื่องหนึ่งที่มีการประชุมแต่งขึ้นพร้อมกับบทละครอื่นๆ เช่น สังข์ทอง คาวี ตลอดจนบทพากย์รามเกียรติ์ ในบทที่ยกมาเป็นบทรำพันในตอนหนึ่งของอิเหนา สอนใจคนที่กำลังตัดใจจากความรักไม่ขาด เปรียบเทียบว่าความรักที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ต้องเป็นอันทำใจว่ายุติไป เหมือนสายน้ำที่ไหลไปแล้ว ไม่มีรีเทิร์น

กนกนคร - กรมหมื่นพิทยาลงกรณ

กนกนครเป็นพระนิพนธ์ในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเป็นกวีที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาไทยและภาษาสันสกฤต กนกนครเป็นพระนิพนธ์แปลที่แปลงเนื้อเรื่องจากนิทานในกถาสริตสาครของสันสกฤต ตัวเรื่องเป็นเรื่องออกจากแฟนตาซี มีตัวละครแปลกๆ มีเทพยดาลงมาสาปแช่งให้พรกันวุ่นวาย ในเรื่องพูดถึงนางเอกของเรื่องที่ดั๊นไม่อยากจะมีผัว จึงมีการสอนว่าผู้หญิงไม่อยากมีผัวหาที่ไหน ความเปรียบบทนี้น่าสนใจ เปรียบผู้หญิงเป็นนา ที่สุดท้ายก็ต้องมีไถมาลงถึงจะถูกเรื่องถูกราว

นิราศเดือน - หมื่นพรหมสมพัตสร

เรื่องนี้อาจจะไม่ติดหูหรือเป็นที่รู้จักเท่าเรื่องอื่น แต่จากที่ยกมาก็ถือว่าบาดหัวใจพอสมควร นิราศเดือนแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ บ้านเรามีวรรณคดีประเภทนิราศ แกนสำคัญของนิราศคือการเดินทางพลัดพรากและคร่ำครวญถึงคนรัก นิราศเดือนเป็นนิราศที่ต่างจากนิราศทั่วไปคือกวีไม่ได้เดินทางไปไหน แต่ใช้การคร่ำครวญถึงนางโดยใช้เวลาเป็นแกนของการคร่ำครวญ ประมาณว่าเดือนนี้มีเหตุการณ์อะไร คิดถึงคนรักอย่างไร ในกลอนบทที่ยกมาก็เป็นบทที่ทรงพลังและเข้าใจโลก ไม่ว่าจะพูดถึงความเจ็บจากความรัก ไปจนถึงพลังของคำพูด

สุภาษิตสอนหญิง - รัชกาลที่ ๖

บทกวีสำหรับหญิงสาวที่ไม่สวย บ้านเรามักมีวรรณคดีประเภทคำสอน และคำสอนสตรีเป็นงานที่กวีชอบแต่งกันเพื่อสอนใจหญิง ในช่วงรัชกาลที่ ๖ เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนเข้าสู่สมัยใหม่ รัชกาลที่ ๖ ก็ทรงพระราชนิพนธ์สุภาษิตขึ้นเพื่อสอนหญิงด้วย ในบทข้างต้นเป็นบทที่ดูจะมองสตรีในมุมอื่น คือโอเคทรงพูดถึงความงามอันเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้หญิง แต่ก็ทรงเล็งเห็นว่า เอ้อ ถึงจะเป็นหญิงที่ไม่สวย ก็ไม่เป็นไรนะ มีความงามอื่นๆ ตั้งหลายแบบ และคุณสมบัติที่สำคัญกว่าหน้าตามารยาท ก็คือวิชาความรู้ ดังนั้น สาวยุคใหม่ จะสวยหรือไม่ ก็ไปตั้งใจเรียนซะ

โคลงโลกนิติ - สำนวนสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร

โคลงโลกนิติจริงๆ เป็นคำสุภาษิตที่มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอยุธยา เป็นคาถาภาษาบาลีและสันสกฤตที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ก่อนจะมีการรวบรวมชำระเป็นประชุมโคลงโลกนิติ ดังนั้นในประชุมโคลงจะมีโคลงโลกนิติที่พูดเรื่องเดียวกัน แต่มีหลายสำนวน ตัวสุภาษิตก็จะสอนใจในแง่มุมต่างๆ ซึ่งถ้าดูสำนวนจะรู้สึกว่า การสอนถือว่าสอนได้ค่อนข้างเจ็บแสบ บทเรื่องเมล็ดงานี้ก็สอนใจว่า เอ้อ บางทีเราเห็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ของชาวบ้านว่าใหญ่โตมโหฬาร เที่ยวเอาไปพูดนู่นพูดนี่เก่งนัก แต่ถึงเวลาความผิดของตัวเองกลับทำไม่รู้ไม่ชี้ ทำเป็นเงียบๆ กลบเกลื่อนปกปิด ต้องมีความละอายแก่บาปเนอะ

Illustration by Waragorn Keeranan

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0