โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'ใบตองแห้ง' ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ไอเดียสาวไทย เนรมิตเป็นสินค้ามีดีไซน์สุดเก๋

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 07.54 น. • เผยแพร่ 24 พ.ค. 2563 เวลา 08.00 น.
1584075069

จาก ‘ใบตองแห้ง’ ไร้ค่า กลายเป็นวัสดุทำเงิน สินค้ามีดีไซน์ หลังโควิด (จะ) กลับมาขายดี

ใบกล้วยแห้งๆ หรือ ใบตองแห้งๆ ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เฉกเช่น ที่ใส่โทรศัพท์มือถือ กระเป๋า ของใช้ต่างๆ ของตกแต่งบ้าน ไอเดียสาวอุตรดิตถ์สุดสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าใบไม้ที่ต้องทิ้ง ให้กลายเป็นวัสดุแปลกใหม่อย่างลงตัว ต่างชาติชื่นชอบ ตอบโจทย์คนรักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณพัชรียา แฟงอ๊อด และ คุณชนากานต์  มูลเมือง ปัจจุบันอายุ 26 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้ง ‘PAD.Banana Leaf Product’ เล่าแรงบันดาลใจว่า เมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 คณะสถาปัตยกรรม สาขา ออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์  มีความคิดว่าอยากหาวัสดุอื่นมาทดแทนกระดาษ หนัง ไม้ หรือ ไฟเบอร์กลาส จนกระทั่งวันหนึ่งทดลองนำใบตองแห้งมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ ทั้ง อบ รีด ใส่สารเคมี ลองผิดลองถูกนาน 2 เดือน ในที่สุดกลายเป็นวัสดุทดแทนที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

“พวกเราลองผิดลองถูกนำใบตองแห้งไปอบเคลือบสารเคมี เบื้องต้นผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ หนที่สุดนำไปรีดด้วยเตารีดเฉกเช่นคนโบราณ เมื่อใบตองโดนความร้อนจะมีน้ำมันระเหยขึ้นมาเคลือบเตารีด ทำให้เตารีดกับผ้าไม่ติดกัน ทั้งยังสังเกตว่า ใบตองช่วยกันแมลง กันน้ำได้ เลยลองนำไปผสานกับผืนผ้าโดยใช้กาวเป็นตัวประสาน เกิดเป็นแผ่นวัสดุชนิดใหม่สีสวย มีความเป็นธรรมชาติปราศจากสารเคมี นำไปทำชิ้นงานได้หลากหลาย อาทิสมุด กระเป๋าหลายขนาด ซองใส่การ์ด ที่ใส่โทรศัพท์ ของแต่งบ้าน โคมไฟ แจกัน ฯลฯ อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 2 ปี ทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด” 

คุณพัชรียา  บอกต่อว่า วัสดุใบตองแห้ง เป็นรูปเป็นร่างแล้วเสร็จตอนชั้นปีที่ 4 คว้ารางวัล Thailand Green Design Award 2016 เเละปี 2019 ได้รับรางวัลนักออกแบบหน้าใหม่ จากกระทรวงพาณิชย์ 

สำหรับเสน่ห์ของใบตองแห้ง มีสีสัน เนื้อสัมผัส และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเลือกใบตองแห้ง ใช้ได้ทุกสายพันธุ์ อาทิ กล้วยตานี กล้วยหอม กล้วยนาก กล้วยเขียว  กล้วยไข่  หลังจากนำมาประสานกับผ้า สามารถซักได้ รีดได้ ใบตองแห้งมีทั้งกลิ่น ผิวสัมผัส ลวดลายที่ยากจะเลียนแบบ

ด้านแหล่งที่มาของวัตถุดิบ หญิงสาวมีทั้งปลูกเอง แและเข้าไปรับซื้อจากเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านจังหวัดอุตร ดิตถ์ รับซื้อในราคาที่แตกต่างกัน เริ่มต้นใบละ 10 บาท จะรับซื้อทั้งใบตองแห้งและใบตองสด ไม่จำเป็นต้องใบสวย เพราะสีเเละลายแต่ละใบนั้นเเตกต่างกัน  

สถานที่จัดจำหน่าย ถ้าเป็นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 หญิงสาว บอกว่า เน้นออกบู๊ธ งานอีเว้นต์ต่างๆ มีวางที่โรงแรมบันยันทรี 3 สาขา ไอคอนสยาม โรงแรมรายาเฮอริเทจ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าคนไทย  อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นต่างชาติ กลุ่มรีสอร์ต โรงเเรมขนาดเล็ก แต่หลังจากเกิดโควิด-19  เน้นขายออนไลน์อย่างเดียว รายได้ยังเลี้ยงตัวได้   อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตโควิด-19 เชื่อว่า ห้างร้าน โรงแรม รีสอร์ต จะกลับมาคึกคัก สินค้าจะขายดี เพราะต้องตกแต่งสถานที่ใหม่อย่างแน่นอน 

ถามถึงคู่แข่งทางธุรกิจ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี ยังเป็นเจ้าแรกเเละเจ้าเดียวในไทย เนื่อง จากสินค้ายากที่จะลอกเลียนแบบ เป็นงานแฮนด์เมดทุกขั้นตอน   

 

 

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0