โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ในวันที่คนรอบตัวเป็นซึมเศร้า มีเราที่ต้องฟังเขาด้วยหัวใจ

The MATTER

อัพเดต 18 พ.ย. 2562 เวลา 17.37 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 04.00 น. • Branded Content

*มองสถานการณ์ปัจจุบันทุกวันนี้ เราทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมที่สะสมความเครียด ความวิตกกังวลในจิตใจอยู่ตลอดเวลา จำนวนผู้มีภาวะซึมเศร้าและผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงข่าวการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ *

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต ปี 2561 คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน ผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรเข้ามาด้วยสาเหตุความเครียดและวิตกกังวลกว่า 23,537 ครั้ง จากทั้งหมด 70,534 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองอย่างเซโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (Norepineprine) ที่ลดต่ำลง รวมถึงลักษณะนิสัยเฉพาะของแต่ละคนที่รับมือกับสถานการณ์ ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ไม่เท่ากัน ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยด้วยภาวะซึมเศร้าและผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเปราะบางของอารมณ์ความรู้สึกนั้นเกิดปฏิริยากระทบกระทั่งกันได้ง่ายกับคนใกล้ชิด จนอาจส่งผลให้คนรอบข้างอยู่ในภาวะเครียด กดดัน จนอาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วยได้ เราจึงต้อง “ฟังด้วยหัวใจ” ฟังเพื่อที่จะเข้าใจเขา ฟังเพื่อที่จะอยู่ตรงนั้นเป็นเพื่อนเขาจริงๆ การรับฟังด้วยหัวใจจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่ใช้ดูแลผู้ป่วย หรือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้ดี เพราะไม่ว่าจะเป็นใคร ลึกๆ แล้วเราต่างไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการมีใครสักคนที่พร้อมจะนั่งลงและรับฟังกันจริงๆ

ก็คือ การฟังให้เป็น 'ฟังด้วยหัวใจ' โดยเรียนรู้ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง นี่คือแนวทางในการฝึกฟังด้วยหัวใจ โดยต้องอาศัยทักษะฟังตัวเองเป็น และฟังผู้อื่น (ที่ป่วย) ที่เราอยากชวนให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

เคลียร์ใจตัวเองก่อน

การดูแลตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญของการฟัง เตรียมความพร้อม เคลียร์ความรู้สึก ความคิดของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อรับฟังคนตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ 100% เตรียมตัวฟังด้วยหัวใจทั้งหมด เพื่อรับรู้ตามเสียงที่ได้ยิน วางความเชื่อ ลดตัวตน ลดอคติ ทำจิตให้ว่าง และฟังอย่างเคารพผู้พูด

เช็กความตั้งใจตัวเอง

สำรวจบทบาทของการฟังว่าเป็นลักษณะไหน เป็นคนสนิท เป็นคนรัก เป็นคนในครอบครัว เป็นเพื่อนร่วมงาน เพราะสถานะระหว่างเรากับผู้พูดก็ส่งผลแตกต่างกันไป ลองใช้เวลาฟังเสียงภายในใจตัวเองว่าเรามีความคาดหวังในใจอย่างไร ตัวอย่างเช่น ต้องการให้เขาได้ระบาย ต้องการช่วยให้เขาทุกข์น้อยลง ฯลฯ

เตรียมตัวฟัง

สภาวะภายในของคนฟัง คือสิ่งที่สำคัญที่สุด การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่ของความไว้วางใจขึ้นมา ต้องอาศัยความตั้งใจ และให้ความสำคัญมาก เพราะหากอีกฝ่ายร้องไห้ออกมา ไม่ควรพยายามห้ามหรือรีบเปลี่ยนประเด็น แต่นั่งอยู่ด้วยเงียบๆ อาจจับมือหรือสัมผัสเพื่อเป็นกำลังใจ และอดทนรอจนกว่าเขาจะพร้อมเล่าต่อ ไม่กดดันหรือเร่งให้เล่าออกมาในตอนที่เขาเองยังไม่พร้อม

ฟังให้เหมือนภูเขา

วิธีการฟังให้เหมือนภูเขา คือการเป็นฝ่ายที่หนักแน่น มั่นคง ไม่ว่าอีกฝ่ายจะมาเป็นลมเย็นหรือพายุโหมกระหน่ำ ภูเขาก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ได้ มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ภายใน พร้อมมอบที่พักพิงให้ทุกคน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่ได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนจะเริ่มบทสนทนา ทำให้ตั้งรับได้ทุกประเด็น และทุกอารมณ์ที่มาปะทะ

ฟังให้เหมือนต้นไม้

การฟังให้เหมือนต้นไม้นั้นฟังดูอาจจะเข้าใจยาก แต่อยากให้ลองจินตนาการถึงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งคอยให้ร่มเงาเย็นสบาย แผ่กิ่งก้านออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นที่พักพิงในยามเหนื่อยล้าให้แก่ผู้คนสามารถแวะเวียนมาพักเหนื่อย เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ว่าใครมาหย่อนตัวระบายเรื่องต่างๆ ให้ฟังก็สบายใจเสมอ

ฟังให้เหมือนพื้นที่ว่าง

เปิดพื้นที่โล่งกว้าง ให้อีกฝ่ายนำความทุกข์ใจออกมากองไว้ เพราะเวลาที่ทุกข์ใจ ภายในก็เปรียบได้กับห้องรกรุงรังที่เจ้าของห้องเองก็หาอะไรไม่เจอ การฟังให้เหมือนพื้นที่ว่างจึงเป็นเหมือนการถ่ายเทเรื่องราวต่างๆ ออกมากองไว้ก่อน ค่อยๆ ช่วยกันเลือกคัดสิ่งของที่ไม่ต้องการออก เก็บข้าวของที่ต้องการให้เป็นระเบียบใหม่

ฟังให้เหมือนสักขีพยาน

การฟังที่เหมือนเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกันกับที่อีกฝ่ายมองเห็น และพยายามเข้าใจจากการรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ไม่ได้รับรู้ผ่านการคิด อ่าน หรือฟังต่อๆ กันมา อาจจะใช้วิธีการสอบถามรายละเอียดในเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด

ฟังให้เหมือนภาชนะ

ลองคิดถึงภาชนะใบใหญ่ที่รองรับได้ทุกอารมณ์ความรู้สึก เมื่อฟังเรื่องเล่าแล้วรู้ตัวว่าตัวเองรู้สึกอะไร ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แต่อย่าลืมสังเกตว่าสามารถเปิดจุดด้านล่าง ระบายเรื่องที่ได้รับฟังมาออกไปได้ ไม่สะสมเรื่องราวของผู้อื่นไว้จนเป็นพิษต่อตัวเอง สิ่งสําคัญคือ การรู้จักสังเกตธรรมชาติของตัวเอง สังเกตคนที่อยู่ตรงหน้าเราไปพร้อมกัน เมื่อเราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็จะฟังได้ดีขึ้นด้วย

ท่ามกลางสรรพเสียงที่ทุกคนต่างแย่งกันสื่อสารส่งเสียงตัวเองออกมาทั่วทุกที่ในสังคม การได้หาเวลารับฟังสียงจากข้างในด้วยหัวใจของกันและกัน และนี่ก็คือ ความหมายของการฟังอย่างลึกซึ้งที่เต็มไปด้วยความหมาย ทำให้คำว่าเข้าใจไม่ได้เป็นเพียงการรับสารที่ถอดรหัสจากคำพูด แต่เป็นการแบ่งปันความรู้สึกในนามของเพื่อนคนหนึ่งที่พร้อมอยู่เคียงข้างกันเสมอ

มาทดลองเรียนรู้การฟังด้วยหัวใจไปด้วยกันที่นี่ คลิก www.happinessisthailand.con/deeplistening

Content by Suwicha Pitakkanchanakul

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0