โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ในประเทศ : จุดยืนการเมืองเศรษฐกิจใหม่ ส่งสัญญาณชิ่งฝ่ายค้านนานแล้ว ก่อนพรรคแตกดังโพละ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.24 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 16.24 น.
ในประเทศ 2052

สัจธรรมข้อหนึ่งเมื่อพูดถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ คิดว่าคนส่วนใหญ่คงเห็นตรงกัน นั่นคือ ส.ส.ที่ได้เข้าสภามานั้น เป็นเพราะฝีมือของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อย่างแท้จริง

ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม แม้จะเปิดตัวได้ไม่นาน ลีลาการหาเสียงของนายมิ่งขวัญโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ได้รับเสียงชื่นชม กล้าวิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจตลอด 5 ปีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งยังเสนอทางแก้ที่เข้าใจง่าย

สำคัญที่สุดที่นายมิ่งขวัญย้ำทุกเวที นั่นคือไม่เอาการสืบทอดอำนาจ พร้อมร่วมหัวจมท้ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเห็นแทบจะไม่ต่างนายธนาธร หรือคุณหญิงสุดารัตน์ ในประเด็นการเมือง (ยกเว้นนโยบายเศรษฐกิจบางกรณี)

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พรรคเศรษฐกิจใหม่กลายเป็นม้ามืด ไม่ได้ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว แต่เข้าสภามาด้วยระบบบัญชีรายชื่อถึง 6 คน คะแนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่น้อยเลย

 

เหตุการณ์ล่าสุด ในการโหวตใหม่ญัตติตั้ง กมธ.ม.44 อาจสร้างความประหลาดใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกับฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เหตุเพราะมีงูเห่าเกิดขึ้น หันไปโหวตให้องค์ประชุมครบ

เมื่อเปิดประชุมสำเร็จ เสียงของฟากรัฐบาลก็กลายเป็นเสียงส่วนมากทันที จะผ่านหรือไม่ให้ผ่านกฎหมายใดก็ย่อมได้ สุดท้ายญัตติโละคำสั่ง คสช.ก็ตกไป

เปิดดูรายชื่องูเห่ายิ่งตกใจ เพราะมาจากฟากฝ่ายค้านถึง 4 พรรคการเมืองด้วยกัน

ที่น่าตกใจที่สุดกลับกลายเป็นพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่มี ส.ส.4 คนในปฏิบัติการนี้

นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการในการยกมือให้รัฐบาล จากแต่ก่อนที่มีเพียงข่าวลือ จนต้องออกมาปฏิเสธหลายครั้ง

 

อันที่จริงไม่ควรจะต้องตกใจหรือเซอร์ไพรส์กับจุดยืนครั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูข่าวเก่าเกี่ยวกับพรรคเศรษฐกิจใหม่ นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม

พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็คือหนึ่งในเป้าหมายหลักมาตั้งแต่แรกในการแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ หลังการเลือกตั้งไม่กี่วัน มีข่าวว่ามีการติดต่อมาที่นายมิ่งขวัญร่วมตั้งรัฐบาล แต่ช่วงเวลาดังกล่าวติดเงื่อนไขจากการไปแสดงจุดยืนผ่านเวทีและสื่อต่างๆ ว่าจะสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคพรรคเดียวในฝ่ายค้านที่ไม่ไปร่วมลงสัตยาบันต้านการสืบทอดอำนาจ นั่นคือข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม

ต่อมาวันที่ 13 เมษายน ปรากฏรายงานข่าวว่า นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ตอบตกลงจะมาเข้าร่วมกับรัฐบาล เพราะเห็นว่าหากต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชน จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเพื่อมาขับเคลื่อนตามที่ได้หาเสียงไว้

วันเดียวกันเกิดปรากฏการณ์โซเชียลแตก กระแสต่อต้าน พากันติดแฮชแท็กวิจารณ์นายมิ่งขวัญและพรรคเศรษฐกิจใหม่จนเป็นเทรนด์อันดับหนึ่ง

แต่แล้วเดือนถัดมา จู่ๆ นายมิ่งขวัญก็ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค สร้างความตกใจให้กับผู้สนับสนุนจำนวนมาก นายมิ่งขวัญให้เหตุผลอ้างว่า ตนเองมีหน้าที่ร่างนโยบาย พูดกับสาธารณะ ส่วนการบริหารพรรคเป็นหน้าที่ทีมบริหาร บัดนี้พ้นเลือกตั้งแล้ว จึงขอลาออก

ต่อมาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายมิ่งขวัญโพสต์คลิปพร้อมข้อความเพื่อโชว์ว่าตัวเองเป็นคนรักษาคำพูดและจุดยืนทางการเมือง โหวตให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นนายกฯ พร้อมพูดกับผู้สื่อข่าวว่า

“ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คำไหนคำนั้น”

 

ปัญหาเสียงปริ่มน้ำเริ่มมีปัญหามากขึ้น ในบางญัตติรัฐบาลก็เพลี่ยงพล้ำแพ้โหวตให้ฝ่ายค้าน ก็มีข่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมีของรัฐบาลดีลมายังมิ่งขวัญ แต่ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม พล.อ.ประวิตรปฏิเสธเมื่อผู้สื่อข่าวถามในวงสัมภาษณ์ แต่ก็ไม่วายทิ้งท้ายในเชิงจีบไว้ว่า “ยังไม่รู้ว่าเขาจะมาทั้งหมดหรือมากี่คน แต่ถ้ามาร่วมก็ดี”

วันต่อมา เป็นครั้งแรกที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เปิดปากรับว่ามี ส.ส.ย้ายขั้ว แต่มิ่งขวัญยังอยู่กับฝ่ายค้าน โดยนายนิยม วิวรรธนดิฐกุล รองหัวหน้าพรรค ยอมรับว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่มี ส.ส. 6 คน จะมีบางส่วนย้ายไปร่วมรัฐบาล แต่ตนและนายมิ่งขวัญยังคงทำงานเป็นฝ่ายค้าน สำหรับรายละเอียดขอให้รอการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

นี่คือสัญญาณชัดเจนอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ออกมาจากปากแกนนำสำคัญของพรรค จน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาส่งเสียงเตือนว่าถ้าคิดจะย้ายข้างก็อย่าลืมสัญญาที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชน

ท้ายสุด นายมิ่งขวัญต้องนำลูกทีมออกมาแถลงข่าวในอีกวันหลังจากนั้น

“ขอพูดชัดๆ ว่า ส.ส. 6 คนยังเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีใครแตกแถวไปไหน แต่บางกรณีที่เป็นความเห็นร่วมกันของพรรคฝ่ายค้านนั้น ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่จะใช้เอกสิทธิ์พิจารณาการลงมติที่อาจสวนทางกับพรรคร่วมรัฐบาลในบางประเด็น จะไม่ค้านแบบหัวปักหัวปำ”

นี่คือคำพูดของนายมิ่งขวัญในวันที่ 21 สิงหาคม ที่รัฐสภา

 

ครั้งนั้น นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.ของพรรค ถึงกับบ่นว่าอึดอัด อ้างว่าฝ่ายค้านมีความมุ่งเน้นเรื่องการเมืองมากเกินไป ปัญหาปากท้องไม่มีพูดถึง การเมืองไม่ได้ช่วยให้อิ่มท้อง จึงขอโอกาสลงมติไม่ตรงกับฝ่ายค้านบ้าง

ตรรกะเหล่านี้ตอกย้ำสัญญาณ ความเห็นที่อาจจะไม่ไปกับฝ่ายค้านในทุกครั้ง เช่นเดียวกับการที่พรรคฝ่ายค้านจัดทัพอภิปรายงบฯ ปี 2563 ราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายมิ่งขวัญก็ไม่ร่วมอภิปราย อ้างว่าต้องการขออภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น

จากนั้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ ก็โพล่งออกมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ให้นายกฯ ปรับนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง แล้วให้นายมิ่งขวัญเป็นรัฐมนตรีแทน ทำให้สังคมอดสงสัยไม่ได้ว่า นายมงคลกิตติ์อาจจะเข้าใจรากฐานมูลเหตุอะไรบางอย่างระหว่างนายมิ่งขวัญกับรัฐบาล ไยจึงพูดเช่นนั้น

จนกระทั่งทุกอย่างมากระจ่างชัด เมื่อวันโหวตองค์ประชุมญัตติ กมธ.ม.44 นั่นเอง ที่ 4 ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ ร่วมลงชื่อให้องค์ประชุมครบ

ฝ่ายรัฐบาลล้มญัตติดังกล่าวของฝ่ายค้านได้สำเร็จ

 

นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรค ให้เหตุผลว่า ประเทศจะเดินต่อไปไม่ได้ถ้ามัวแต่ล้มประชุม เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นงูเห่า สุดท้ายก็แค่โหวตให้มันจบๆ ไป ตามหลักประชาธิปไตย

ข่าวหนาหูว่าฝ่ายรัฐบาลลุยจีบจริงจัง คนที่ออกมาพูด ในฐานะคนไปดีลคือ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โดยบอกว่าเข้าไปขอแบบพี่น้อง ให้มาเข้าองค์ประชุม นับเป็นภารกิจแรกที่สำเร็จ ส่วนการร่วมรัฐบาลนั้นก็ได้รับสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่ได้เชิญออกเป็นทางการ

มือดีลอีกคนที่ออกมาพูดอย่างเปิดเผยคือ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พลังประชารัฐ ในฐานะประธาน ส.ส.ของพรรค ข้ออ้างว่าเป็นคนประสานให้เศรษฐกิจใหม่มาโหวตองค์ประชุมให้

“การเมืองต้องเล่นกันให้รู้หน้าที่ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะตราหน้าเอา” นายสุชาติกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับออกปากว่า “ก็เขามาหรือไม่ เขาจะมาหรือไม่ ถ้าจะมาก็มา ถ้าสนใจก็มา ให้มาก่อน แล้วค่อยว่ากัน อย่าเพิ่งมาต่อรองอะไรในวันนี้ จะมา 3-4-5-6 คนจะมากันอย่างไร อยู่กันตรงไหนไปว่ากันอีกที”

สร้างความเจ็บปวดไม่น้อย จนสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เสียงแผ่ว ระบุว่า เราคงไม่มีมาตรการใดๆ เพราะเรามารวมกันด้วยจุดยืน ด้วยอุดมการณ์และกระแสสังคม ก็คงต้องปล่อยให้กระแสสังคมจัดการไป

 

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม คือครั้งล่าสุดที่มิ่งขวัญต้องออกมาแถลงข่าวคนเดียว โต้ว่าเศรษฐกิจใหม่ไม่ใช่งูเห่า การไปโหวตให้รัฐบาลไม่ใช่มติพรรค ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้ง 4 คน ทั้งยังทวงบุญคุณ ว่าทุกคนได้เข้าสภาเพราะใคร การทำแบบนี้ทำให้ต้นทุนทางสังคม เกียรติยศ ที่ตนสะสมมาเสียหาย

“วันนี้ขอประกาศให้ได้ยินทั่วกันว่ายังอยู่ในพรรคเดียวกัน ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบกันเอง ผมไม่เกี่ยวข้อง อย่ามาเหมารวมว่าผมคิดไปอย่างนั้น” นายมิ่งขวัญกล่าว

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือการเรียบเรียงให้เห็นว่า การสวนมติฝ่ายค้านของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่ประการใด เรื่องราวต่างๆ ถูกปูพื้นมาอย่างแนบเนียน ที่จริงไม่ได้ปกปิด เปิดเผยสู่สาธารณะแล้วด้วย

ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่ที่แน่ๆ ส.ส.เกินครึ่งของพรรค ที่เกิดได้เพราะนายมิ่งขวัญ พร้อมแล้วที่จะไม่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคฝ่ายค้าน แม้จะขัดกับสิ่งที่เคยให้สัญญาประชาคมไว้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0