โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ในประเทศ : จาก "หน้ากาก" ขาดแคลน "ไข่ทองคำ" แสนแพง ถึงเรือยกพลขึ้นบก 6 พันล้าน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 05 เม.ย. 2563 เวลา 01.59 น. • เผยแพร่ 05 เม.ย. 2563 เวลา 01.59 น.
ในประเทศ 2068

สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19

หลังจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครบ 1 สัปดาห์

มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมากกว่าหลักร้อยในแต่ละวัน และมีสัดส่วนแพร่ระบาดไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศมากขึ้น

แต่ปัญหาการกระจาย “หน้ากากอนามัย” ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 เดือนก็ยังปรากฏให้เห็น ตามมาด้วยปัญหา “ไข่ไก่” รวมถึงล่าสุดโครงการจัดหา “เรือยกพลขึ้นบก” มูลค่า 6,100 ล้านบาท

ในสถานการณ์ทุกข์ร้อนและยากลำบาก ทั้ง 3 เรื่องมีผลต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างมาก ซ้ำเติมปัญหาโควิด-19 ให้วุ่นวายสับสนมากขึ้น

กรณีเรือยกพลขึ้นบก เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในโลกออนไลน์ เช้าอังคาร 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวแพร่กระจายรวดเร็วยิ่งกว่าเชื้อไวรัสว่ากระทรวงกลาโหมเตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.วันเดียวกัน เพื่อขออนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการ

โฆษกกองทัพเรือชี้แจงว่า ไม่ใช่การขออนุมัติต่อเรือยกพลขึ้นบก เพราะโครงการนี้ผ่านการอนุมัติและทำสัญญาแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่เข้า ครม.วันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งคณะกรรมการไปตรวจแบบเรือ การเตรียมส่งทหารไปฝึก เป็นต้น เมื่อสถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายแล้ว

รายงานข่าวเผยว่า กองทัพเรือไทยลงนามสัญญาต่อเรือยกพลขึ้นบก 1 ลำกับทางการจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 งบประมาณ 6,400 ล้านบาท เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำที่ทำสัญญาจัดซื้อจากจีนเช่นกัน และเพื่อภารกิจยกพลขึ้นบก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังประชุม ครม.มีรายงานข่าวว่า กระทรวงกลาโหมโดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ขอถอนวาระดังกล่าวออกไป พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ยืนยันไม่มีการนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.

ถึงกระนั้นก็ตาม กรณีเรือยกพลขึ้นบก 6 พันล้าน สิ่งที่กลาโหมและกองทัพเรือสร้างคำถามให้เกิดขึ้นในใจของสังคมก็คือ ห้วงเวลาของการนำเสนอเข้าสู่ ครม. ถึงจะถอนเรื่องออกไปภายหลัง แต่ความจริงก็คือ

กระทรวงกลาโหมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งควบเป็นรัฐมนตรีว่าการ ไม่สมควรบรรจุไว้ในวาระตั้งแต่แรกหรือไม่ ในขณะที่ประเทศและประชาชนกำลังตกอยู่ในวิกฤตโรคโควิด ที่มีผู้เสียชีวิต

ล้มป่วยติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันคน

 

นอกจากเรือยกพลขึ้นบกเกือบทำให้รัฐบาลและกองทัพเสียรังวัด

ก่อนหน้านี้ยังเกิดกรณีไข่ไก่ คล้ายกับกรณีหน้ากากอนามัย ที่ทั้งราคาแพงและหาซื้อยาก

ไข่แพง ถูกเรียกแบบประชดประชันว่า “ไข่ทองคำ” เริ่มจากมีประชาชนจำนวนมากแห่ออกมาหาซื้อไข่ไก่ ด้วยความตระหนกและไม่แน่ใจในสถานการณ์หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเตรียมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประชาชนต้องการหาซื้อไข่เก็บไว้ยามฉุกเฉิน เนื่องจากคืออาหารพื้นฐานของคนทั่วไปทุกระดับ ไม่ว่ายากดีมีจนต้องมีติดครัวทุกบ้าน

ปัญหาไข่ไก่ก็เหมือนหน้ากากอนามัย ฝ่ายรัฐยืนยันว่ามีเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ แต่ความจริงที่ประชาชนประสบก็คือ ไข่ไก่กลายเป็นอาหารสุดหรูทั้งหายากและราคาแพง

คนในสังคมออนไลน์ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้านตรวจสอบพบว่ามีการขายไข่ไก่ราคาแพงจริงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะห้างซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ ไข่ไก่เบอร์ 2 ที่คนนิยมกินมากที่สุด ขายฟองละเกือบ 6 บาท หรือแผงละ 170 บาท เป็นต้น

“ปัญหาไข่ไก่ราคาแพงในช่วงวิกฤตโควิด ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล แต่กลับเลือกไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการไล่จับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย เป็นการบริหารจัดการไม่ต่างจากปัญหาหน้ากากอนามัย ที่ไล่จับรายเล็กแต่ไม่จัดการรายใหญ่ที่กักตุน” น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ระบุ

ส.ส.รังสิมันต์ โรม แห่งพรรคก้าวไกล เสนอว่า กระทรวงพาณิชย์ควรสำรวจราคาขาย ราคาต้นทุนในตลาดไข่ไก่ทั้งระบบ เพื่อทราบราคากลางของตลาดที่แท้จริง และอาจกำหนดราคากลางใหม่

การใช้ราคากลางปี 2562 มาเปรียบเทียบแล้วจับกุมผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถควบคุมราคาให้ถูกลงได้ ยังเป็นการซ้ำเติมประชาชนกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า สุดท้ายกรณีไข่ไก่คงเป็นอีกประเด็นสะท้อนประสิทธิภาพของรัฐบาลในการเตรียมรับมือวิกฤตโควิด

ที่แม้จะมีผู้ป่วยรายแรกตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม แต่การเตรียมการต่างๆ นับตั้งแต่เรื่องหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์ จนถึงล่าสุดเรื่องไข่ไก่ เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลน่าจะวิเคราะห์ได้แล้วว่าทิศทางจะเลวร้ายลง แต่รัฐบาลไม่มีแนวทางป้องกันเรื่องเหล่านี้ สุดท้ายภาระตกอยู่ที่ประชาชน

นับว่ารัฐบาลสายตาสั้นมากๆ

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้ากระทรวง ออกมาตรการแก้ปัญหาไข่ไก่ 6 ข้อ

หลักๆ คือ ขยายเวลาห้ามส่งออกไปต่างประเทศอีก 30 วัน กำหนดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มที่ 2.80 บาท ดำเนินคดีผู้กักตุนสินค้าหรือค้ากำไรเกินควร เป็นต้น ต้องจับตาดูต่อไปว่ามาตรการเหล่านี้จะแก้ปัญหาไข่ทองคำที่ทั้งแพงทั้งหายากได้มากน้อยขนาดไหน

ซ้ำรอยหน้ากากอนามัยหรือไม่

ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทั้งในส่วนของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอีกปัญหาใหญ่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ถูกตั้งคำถามอย่างหนักในการบริหารจัดการ เพราะจนถึงขณะนี้หน้ากากอนามัยยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และหาซื้อได้ยาก

ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดข่าวไม่ดีนักเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย สร้างความสับสนให้ประชาชน ตั้งแต่สต๊อกหน้ากาก 200 ล้านชิ้น ที่ รมว.พาณิชย์กล่าวอ้างเมื่อปลายเดือนมกราคม ว่ามีอยู่จริง

ก่อนที่ไม่กี่วันนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ตัวนายจุรินทร์เองจะยอมรับว่าสต๊อกหน้ากาก 200 ล้านชิ้นนั้นเป็นข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อน สรุปคือ ไม่มีอยู่จริง

ในโลกออนไลน์มีการแชร์คลิป “เสี่ยบอย” อ้างว่าจัดหาหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น ก่อนโดนตำรวจคุมตัวมาสอบสวน กรณีนี้ยังโยงไปถึงอดีตผู้สมัคร ส.ส.ทีมงานของรัฐมนตรีอีกด้วย ปัจจุบันคดีเสี่ยบอยอยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลถึงผู้ร่วมขบวนการรายอื่น

ยังมีกรณีนายวิชัย โภชนกิจ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งความดำเนินคดีกับโฆษกกรมศุลกากรที่ออกมาเปิดข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน แม้ฝ่ายหลังจะยอมรับว่าเข้าใจผิดแล้วก็ตาม ทำให้ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์มีคำสั่งย้ายนายวิชัยเข้ากรุสำนักนายกฯ เจ้าตัวจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ

ไม่รวมถึงกรณีทนายความชื่อดังแจ้งความกล่าวหานักการเมืองหญิงระดับที่ปรึกษารัฐมนตรี มีส่วนพัวพันค่าหัวคิวหน้ากากอนามัย พรรคประชาธิปัตย์ตั้งกรรมการของพรรคสอบสวนเรื่องนี้แล้ว

ต้องติดตามผลกันต่อไป

 

ความล้มเหลวของกระทรวงพาณิชย์ในการกระจายหน้ากากอนามัย ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานศูนย์

ต้องลงมาล้วงลูกรื้อแผนการกระจายหน้ากากใหม่ทั้งหมด โดยหันมาใช้บริการของบริษัท ไปรษณีย์ไทยในการขนหน้ากากอนามัยไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และมหาดไทยรับมอบ

ภายใต้กำลังการผลิตหน้ากากอนามัย 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรร 1.3 ล้านชิ้น กระจายไปให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ

อีก 1 ล้านชิ้นเป็นโควต้าของกระทรวงมหาดไทย ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด กระจายต่อไปยังประชาชนและเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงในแต่ละท้องถิ่น นั่นทำให้ปัญหาเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

ทั้ง 3 เรื่อง ไม่ว่ากรณีหน้ากากอนามัย ไข่ไก่ และเรือยกพลขึ้นบก ส่วนหนึ่งจึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 บางครั้งปัญหาก็เกิดจากความไม่เป็นเอกภาพและไม่มีประสิทธิภาพ

ของคนในรัฐบาลนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0