โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ใช้ชีวิตตามคำพ่อสอน...

LINE TODAY

เผยแพร่ 12 ต.ค. 2561 เวลา 11.25 น. • Pimpayod
ภาพ..นายธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ
ภาพ..นายธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ

คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทย และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพื่อให้คนไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องความพอเพียงมากขึ้นเท่านั้น แต่องค์การสหประชาชาติยังเชิดชูว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนี้

ทั้งนี้ คนไทยทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” กันเป็นอย่างดี แต่ถามว่าแท้จริงแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร และจะนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตของเราได้อย่างไร หลายคนอาจตอบไม่ได้และไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงปรัชญานี้ดีพอ 

“…คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทําอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข…” 

“…ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง…พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…” 

พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

จากพระราชดำรัสดังกล่าว..คำว่า “พอเพียง” ในที่นี้คือความพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก และที่สำคัญคือไม่ไปเบียดเบียนใคร ดังนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็คือ การดำเนินชีวิตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงคุณสมบัติ 3 ห่วง อันได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดขึ้น และ 2 เงื่อนไข ซึ่งก็คือความรู้และคุณธรรม เพื่อประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำต่าง ๆ 

แล้วเราจะดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการนำเอาคุณสมบัติ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มาใช้ได้อย่างไร

อย่างที่คนไทยทุกคนรู้กันดีว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ไม่เคยล้าสมัย นับจากครั้งแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปี พ.ศ. 2517 จนกระทั่งปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 44 ปี แต่แนวคิดนี้ก็ยังคงเป็นสากล สามารถนำไปใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย ที่สำคัญสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทยอย่างเราจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียว โดยเราสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติตามได้การดำเนินชีวิตตามคุณสมบัติ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขนั่นเอง

คุณสมบัติที่ 1 คือรู้จักประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่าย ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากในยุคสมัยนี้ ที่มีสิ่งล่อตาล่อใจเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเริ่มจากเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัดความต้องการออกจากความจำเป็น..ถามตัวเองก่อนใช้จ่ายว่า สิ่งนั้นคือความจำเป็นหรือความต้องการ หนทางแห่งความสำเร็จในการประหยัดออดออมก็อยู่ไม่ไกล

คุณสมบัติที่ 2 เมื่อประหยัดแล้วก็ต้องดำเนินชีวิตอย่างมีเหตุมีผล ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต ตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

อย่างที่เรารู้กันว่าคำว่า “พอเพียง” ในที่นี้คือความพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก และที่สำคัญคือไม่ไปเบียดเบียนใคร ดังนั้นการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็จำต้องไม่แก่งแย่งผลประโยชน์ และต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ซึ่งก็คือคุณสมบัติที่ 3 นั่นเอง

คุณสมบัติทั้ง 3 ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และไม่เบียดเบียนใคร..จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน ที่สำคัญความรู้ที่มีนั้น จะต้องเป็นความรู้ที่ถ่องแท้และแท้จริง

นอกจากความรู้แล้ว สิ่งที่ต้องควบคู่กันไปก็คือ คุณธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในสองเงื่อนไขพื้นฐานที่หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะคนฉลาดจะขาดคุณธรรมไม่ได้ และคุณธรรมนี้เองที่จะช่วยขัดเกลาความไม่ดีทั้งปวง ให้เราไม่ยึดมั่น ถือมั่นเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมบนพื้นฐานของหลักศาสนาของแต่ละศาสนานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการใช้ชีวิตที่ไม่เพียงแต่เราเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังสามารถสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ด้วย ดังนั้นหากทุกคนยึดมั่น ตั้งใจ และปฏิบัติตามอย่างจริงจัง..ผลดีจึงไม่เกิดขึ้นกับประเทศเราอย่างแน่นอน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0