โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ใช้กูเกิลตามคำแนะนำนายกฯ หาข้อเท็จจริง ‘เท็ดทอล์ก’ ของอภิรัชต์ คงสมพงษ์

The Momentum

อัพเดต 18 ต.ค. 2562 เวลา 03.36 น. • เผยแพร่ 17 ต.ค. 2562 เวลา 21.39 น. • ณัชปกร นามเมือง

In focus

  • หนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 1 คือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เคยกล่าวไว้ในเวทีฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555
  • สนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 2452 ที่ถูกตีความว่าเป็นการเสียดินแดนแถบมลายูให้แก่อังกฤษ แท้จริงเป็นเพราะไทยต้องการยกเลิกอนุสัญญาลับ ปี 2440 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และกู้เงินสำหรับการสร้างทางรถไฟสายใต้ของสยาม ที่สำคัญคือ ไทยเป็นผู้เปิดการเจรจาก่อน
  • หากจะพูดถึงคำว่า big data analytics ในไทยนั้น รัฐไทยมีเครืองมืออย่าง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ที่เปิดช่องให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจดำเนินการด้วยวิธีการ 'ใดๆ' ให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ

เมื่อไม่นานมานี้ ‘ทวิตเตอร์’ หนึ่งในชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ของเมืองไทย พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #ควายแดง จนกลายเป็นคำฮิตอันดับหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการบรรยายพิเศษหัวข้อ ‘แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง’ ของ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า ‘แดง’ 

แน่นอนว่า การบรรยายต่อสาธารณะของ พล.อ. อภิรัชต์นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำเหล่าทัพออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผย และยังแสดงท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอย่าง ‘พรรคการเมือง’ สิ่งที่น่าสนใจในการบรรยายในครั้งนี้ คือ แนวความคิดที่มักพบเห็นในกลุ่มผู้นำเหล่าทัพและบรรดาชนชั้นนำผู้มีอำนาจและปากเสียงในสังคมไทย ที่มัก ‘แสดงออก’ อย่างสุดโต่งว่ารักชาติ โดยมักอ้างอิงข้อมูลที่ถูกฉาบขึ้นมาจากความคิดเห็น ความเชื่อบางอย่าง ทั้งที่ก็อาจจะยังมีความข้อมูลอีกด้านที่ยังรับรู้ไม่รอบด้าน หรือไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

งานชิ้นนี้ เราจึงลองจับประเด็นตามคำบรรยายของ ผบ.ทบ. แล้วทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Factcheck) ด้วยการใช้กูเกิลค้นหาคำตอบ ตามคำแนะนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก่อนจะเรียบเรียงข้อมูลออกมา ดูว่าเราจะสามารถเห็นคล้อยตามไปกับผบ.ทบ.ได้มากน้อยแค่ไหน (หรือ เพื่อดูว่าแต่ละประเด็นนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน) 

Factcheck: ทิศใต้ตั้งแต่ดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี เป็นของประเทศไทย?

“เดิมนั้นอาณาจักรของไทยตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรีมีความกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน ทิศเหนืออาณาจักรล้านนาเป็นของเรา ทิศใต้ตั้งแต่ดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู และไทรบุรี เป็นของประเทศไทย ทิศตะวันออกตั้งแต่ลาว เขมร จบที่ญวนก็เป็นของประเทศไทย ส่วนทิศตะวันตกจรดดินแดนเมาะตะมะ ทวาย มะริด ตะนาวศรี ข้อมูลพวกนี้น้องๆ หาดูได้ ผมไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนยังสอนวิชาประวัติศาสตร์เหล่านี้อยู่หรือเปล่า น้องๆ รู้ไหมว่าแต่ก่อนมันกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน แล้วทำไมตอนนี้แผ่นดินจึงไม่มีรูปร่างอย่างนี้แล้ว มาดูกันว่ามันเกิดเห็นอะไรกันบ้าง เราเสียแผ่นดินทั้งหมด 14 ครั้ง…” 

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : สยาม +ธงชัย วินิจจะกูล + มลายู + ฐนพงศ์ ลือขจรชัย

จากการบรรยายของ พล.อ. อภิรัชต์ ส่วนทางกับมุมมองและหลักฐานของนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่า การเสียดินแดนเป็นความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีอย่างน้อยสองแง่มุมที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในปัจจุบัน

แง่มุมแรกนำโดยศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูลศาสตราจารย์จากมหาวิทยลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา และผู้เขียนหนังสือ ‘กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ’ ที่มองว่าความเป็นเจ้าของอาณาเขตที่เชื่อกันอยู่นั้นไม่อยู่บนฐานของความจริงเนื่องจากรัฐในอดีต (ก่อนศตวรรษที่ 20) ความสัมพันธ์ของรัฐในอดีตเป็นแบบหัวเมืองกับประเทศราช ไม่ได้มีเขตพรมแดนชัดเจน และไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเขตแดน เพียงแต่มีอิทธิพลเหนือประเทศราช อีกทั้งบรรดาประเทศราชก็ไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐหัวเมืองเพียงรัฐเดียว ดังนั้นประวัติศาสตร์การเสียดินแดนจึงเป็นการเอาประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติที่กำหนดเขตแดนชัดเจนในภายหลังไปจับกับบริบทในอดีตซึ่งเป็นแนวความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก

แง่มุมที่สองนำโดย ฐนพงศ์ ลือขจรชัยผู้เขียนหนังสือ ‘เสียดินแดนมลายู ประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist’ ที่ชี้ให้เห็นว่า จากสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม ปี 2452 ที่ถูกตีความว่าเป็นการเสียดินแดนแถบมลายู ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิศ และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ แท้จริงเป็นการแบ่งดินแดนที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเพราะไทยต้องการยกเลิกอนุสัญญาลับ ปี 2440 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และกู้เงินสำหรับการสร้างทางรถไฟสายใต้ของสยาม ที่สำคัญคือไทยเป็นผู้เปิดการเจรจาสัญญาดังกล่าวก่อนอีกด้วย

Factcheck: โจชัว หว่อง มาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ มาพบกับใคร?

“..แรกสุดฮ่องกงเป็นเกาะ ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนไปเรียบร้อยแล้ว ทุกท่านที่นั่งอยู่ที่นี้คงเคยไปฮ่องกง เป็นเมืองที่น่าเที่ยว เป็นเมืองที่ไปช้อปปิ้ง แต่ถามว่าวันนี้มีใครอยากไปฮ่องกงไหม เพราะเกิดเหตุการณ์อะไร แต่มันมีบางคนไปครับ แล้วก็ถ่ายรูปโพสต์ให้เห็น นายโจชัว หว่องนั้นมาเมืองไทยไม่รู้กี่รอบ มาพบกับใคร มาพบกับไอ้คนประเภทไหน การพบกันนั้นมีวาระซ่อนเร้น วางแผนคบคิดทำอะไรกันอยู่หรือเปล่า แถมในขนาดที่มีเหตุการณ์ ยังมีการไปเยี่ยม คล้ายกับไปให้กำลังใจ ให้การสนับสนุน”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : ฮ่องกง + ปฏิวัติร่ม + กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน 
Google Search Keywords : โจชัว หว่อง + กักตัว + สนามบิน + ประเทศไทย 

การบรรยายเรื่องนี้มีส่วนที่จริงแต่ไม่ครบถ้วน จริงอยู่ว่า ในปี 2540 สหราชอาณาจักรได้ส่งคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนหลังอยู่ภายใต้อาณานิคมมากว่า 150 ปี แต่คนฮ่องกงไม่ได้ดีใจที่จะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีข้อตกลงกับจีนว่า ฮ่องกงต้องมีระบบกฎหมาย เศรษฐกิจ และการเมืองของตัวเอง ภายใต้สโลแกน ‘หนึ่งประเทศสองระบบ’และจีนมีพันธะสัญญาที่จะต้องให้ฮ่องกงมีประชาธิปไตยเต็มใบในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดและการเลือกสภานิติบัญญัติ แต่ทว่า จีนกลับไม่ยอมและวางเงื่อนไขว่าฮ่องกงจะมีสิทธิเลือกตั้งได้แต่บุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะเป็นคนที่รัฐบาลจีนเห็นชอบ จึงนำไปสู่การประท้วงที่เรียกว่าการปฏิวัติร่มในปี 2557

ส่วนการชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงในปี 2562 เป็นผลมาจากความพยายามผลักดันกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดโอกาสให้ทางการจีน ไต้หวัน และมาเก๊า ร้องขอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ชาวฮ่องกงกังวลว่าจีนจะใช้กฎหมายนี้เป็นเครืองมือขอตัวผู้ที่ต่อต้านจีนในฮ่องกงไปลงโทษที่จีน ซึ่งที่ผ่านมาจีนถูกตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับคดีการเมืองมาโดยตลอด

สำหรับ โจชัว หว่อง นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ก่อตั้งพรรค Demosisto เคยเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมงานรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559 แต่ไม่สำเร็จ เพราะเขาโดนทางการไทยกักตัวและเจ้าหน้าที่ศุลกากรบอกว่าเขามีชื่อในบัญชีดำของรัฐบาลไทยและไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ ก่อนจะถูกส่งตัวกลับหลังถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 10 ชั่วโมงที่สนามบิน

ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมและนักการเมืองไทยเคยพบกับ โจชัว หว่อง มาแล้ว เช่น เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และกรณีล่าสุดและเป็นกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ พาดพิงถึง คือ กรณีการถ่ายรูปคู่ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากทั้งสองคนได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน Open Future Festival 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงที่นิตยสาร The Economist เป็นผู้จัด และเชิญบุคคลทั้งสองไปงาน ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสถ่ายรูปร่วมกัน 

Factcheck: เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ผมจะพูดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด? 

“เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องที่ผมจะพูดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2545 รัฐบาลยุคนั้นประกาศยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมประกาศว่า ไม่มีโจรก่อการร้ายอีกแล้ว พวกที่เหลือเป็นแค่โจรกระจอก ท่านเกิดทันท่านจำได้ สื่อมวลชนจำได้ หลังจากนั้นผู้ก่อเหตุรุนแรงก็เริ่มเปิดยุทธการที่เรียกว่า ยุทธการใบไม้ร่วง..”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา + ตากใบ + ศอ.บต. + กอ.รมน. 

การบรรยายของ พล.อ.อภิรัชต์ ถือว่ามีส่วนจริง เกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลในปี 2545 ที่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยให้เกิดความขัดแย้งและไม่สงบในพื้นที่ แต่ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐไทยก็ดำเนินมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ผ่านประวัติศาสตร์บาดแผลจากการไม่ยอมรับความแตกต่างและความไม่เป็นธรรมจากรัฐ

ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกอ้างอิงถึงบ่อยครั้ง คือ การหายตัวปริศนาของ ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา’ นักเคลื่อนเพื่อสิทธิของชาวมลายูมุสลิม ในปี 2497 หลังยื่น ‘ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ’ ให้ชายแดนใต้มีเขตปกครองพิเศษในสี่จังหวัดภาคใต้ และให้ผู้ปกครองเป็นมุสลิมจากสี่จังหวัด และให้มีการจัดเก็บภาษีด้วยตนเอง รวมถึงให้ภาษามลายูเป็นหนึ่งในภาษาราชการ ให้การศึกษาภาษามลายูในพื้นที่ และให้มีผู้พิพากษาตามธรรมเนียมศาลนาอิสลาม 

อีกตัวอย่างของบาดแผลสำคัญ คือ เหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 เมื่อมีการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจตากใบเพราะไม่เห็นด้วยกับการขังประชาชน 6 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้กับผู้ก่อความไม่สงบ จนเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยควบคุมตัวผู้ชุมนุมอย่างน้อย 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกจำนวน 22 – 24 คัน โดยให้นอนคว่ำหน้าซ้อนทับคน ครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย 77 คน และอีก 1 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผลชันสูตรศพชี้สาเหตุการตายว่าเกิดจาก ‘ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน’ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ

อย่างไรก็ดี ในข้อเสนอของ‘รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช’นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง ให้มุมที่ชัดเจนว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ คือ การให้ ‘พลเรือนนำการทหาร’ ไม่ควรให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นคนกุมทิศทางการแก้ปัญหาในพื้นที่เป็นหลักเพียงหน่วยงานเดียวและควรให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรเป็นอิสระจากการกำกับของกอ.รมน. เนื่องจากหลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 14/2559 ซึ่งมีผลให้ ศอ.บต. กลับไปอยู่ภายใต้การกำกับของ กอ.รมน. อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจควบคุมตัวได้เป็นเวลานานและขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งการยกเลิกกฎหมายเหล่านี้จะลดปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน ดังเช่นที่มีข้อร้องเรียนการใช้กฎหมายพิเศษ เช่นกรณีล่าสุด ที่เกิดการเสียชีวิตปริศนาของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ และเรียกร้องให้มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศ (international observers) เข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อสันติภาพ

Factcheck: ถ้าแก้มาตราที่ 1 ก็จะกระทบกับมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์?

“ ..หลังเลือกตั้งได้ไม่กี่เดือน ก็มีกลุ่มคนบางกลุ่มลงไปนั่งเสวนาวิชาการ อาจารย์บางคนนั่งเทียนเอา ไถโทรศัพท์มือถือเอา แล้วมาบอกว่า เชี่ยวชาญชำนาญในภาคใต้ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ มีการยกประเด็นมาตรา 1 ทุกท่านดูนะครับ มาตรา 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ รัฐธรรมนูญไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2475 ผมถามว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกี่ครั้ง วันนี้ผมออกมาพูด ผมไม่ได้พูดว่า ไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้ แต่มาตรานี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ…”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : มาตรา 1 + เอนก เหล่าธรรมทัศน์ + การกระจายอำนาจการปกครอง + ภาคใต้ 

ในความเป็นจริง ข้อเสนอแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากการ ‘นั่งเทียน’ หรือกุขึ้นมา อีกทั้งมาตรานี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ บุคคลที่เสนอให้แก้ไขมาตรา 1 นั้น เสนอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของรัฐไม่ให้เป็นรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ และควรแก้ไขรูปแบบรัฐให้ยืดหยุ่นและรับรองการกระจายอำนาจให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้เนื่องจากที่ผ่านมา ข้อเสนอเกี่ยวกับกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษของชายแดนใต้มักจะถูกโจมตีโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองว่าเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 1

โดยหนึ่งในนักคิดคนสำคัญที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 1 คือ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่กล่าวไว้ในเวทีฟื้นฟูพลังท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555 ว่า ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่เข้มข้นที่สุดรัฐหนึ่งในโลก เรามีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นพระเอก เราเน้น ‘เอกนิยม’ เป็นหลักคิด คือ มีชาติเดียว ภาษาเดียว อำนาจรัฐเดียว เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นรัฐเดี่ยวที่ค่อนข้างจะเถรตรง อำนาจสาธารณะอยู่กับรัฐแต่ผู้เดียว รัฐของเราแม้จะมีความตั้งใจดีแต่ผูกขาดการแก้ปัญหา ผูกขาดการจัดการ การบริหาร การดูแลสังคมและประเทศ ไม่ค่อยมีที่ทางให้ความคิดหลายมิติ ความคิดหลายระดับ ในประเทศไทยมีรัฐย่อยไม่ได้ ข้อเสนอเรื่องปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่สามจังหวัดภาคใต้ก็มีคนไม่เห็นด้วย

สำหรับตัวอย่างข้อเสนอการปกครองท้องถิ่นในภาคใต้รูปแบบพิเศษก็อย่างเช่น งานวิจัยเรื่อง ‘การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์สุกรี หลังปูเต๊ะ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา โดยเสนอให้มี ‘ทบวงการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย และเสนอให้มี ‘สมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้’ ทำหน้าที่เป็นสภาประชาชนในพื้นที่ คล้ายสภาที่ปรึกษาเพื่อกลั่นกรองนโยบายจากภาคประชาชน 

หรือ ร่างกฎหมายการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอให้ผนวกจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอของสงขลา เข้าเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 ระดับ คือ ระดับภูมิภาคที่รวมจังหวัดชายแดนใต้เป็นหนึ่งภูมิภาค และให้มีระดับจังหวัดแต่ละจังหวัด ส่วนระดับท้องถิ่นให้มีการควบรวมองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าเป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ตามลำดับ และให้ราชการส่วนกลางคงอำนาจไว้เฉพาะการศาล การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การคลัง การงบประมาณ เป็นต้น 

Factcheck: ทหารเป็นเป้าโจมตีโดยตลอด เพราะทหารคือหลักแห่งความมั่นคง?

“…ทหารเป็นเป้าโจมตีตลอด เพราะทหารคือหลักแห่งความมั่นคง เป็นหลักในการรักษาอธิปไตย จึงมีวาทกรรมต่างๆ เกิดขึ้นทุกครั้ง และหวังผลทางการเมือง เอาใจเด็กๆ น้องๆ วัยรุ่น ไม่ต้องเกณฑ์ทหารบ้างล่ะ ลดงบประมาณกองทัพบก ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม จัดซื้ออาวุธทำไม หนักแผ่นดิน!….”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : นโยบายปฏิรูปกองทัพ + ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร + งบประมาณกองทัพ

หากพิจารณาจากนโยบายปฏิรูปกองทัพที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง ปี 2562 มีพรรคอย่างน้อยสี่พรรคที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยพรรคการเมืองเสนอให้เปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารจากการบังคับให้เป็นระบบสมัครใจที่แลกกับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐ รวมถึงการลดขนาดของกองทัพลงโดยยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น พร้อมทั้งเสนอให้ลดงบประมาณกองทัพ เพื่อนำไปจัดเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนทั้งการศึกษาและสาธารณสุข รวมถึงการส่งเสริมภาคธุรกิจ 

ซึ่งเรื่องการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาระบบสวัสดิการของรัฐนั้น ก็ล้วนเป็นการสร้าง ‘หลักแห่งความมั่นคง’ ที่ยั่งยืนและแข็งแรงได้ 

Factcheck: มีความพยายามทุกรูปแบบที่จะทำให้อำนาจตุลาการขาดความเชื่อถือ?

“…ที่ผ่านมา มีความพยายามทุกรูปแบบที่จะทำให้อำนาจตุลาการขาดความเชื่อถือ ผมถามว่า การไม่เชื่อฟังหรือหลีกเลี่ยงอำนาจการตัดสินของศาล ประเทศทุกประเทศมีศาล มีขบวนการยุติธรรม ผมจำไม่ได้ว่าปีไหน มีโอกาสเข้าไปนั่งในศาล ฟังการตัดสินการยุบพรรคการเมือง ไปติดตามสถานการณ์ หลังจากมีการตัดสินให้มีการยุบพรรคการเมืองหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความไม่พอใจแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ว่าตัดสินไม่สมควร มีการแทรกแซงผู้พิพากษา ทำให้ผู้พิพากษาขาดความน่าเชื่อถึอ….”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : ตุลาการภิวัฒน์ + สมชาย ปรีชาศิลปกุล + ตุลาการธิปไตย

ในความเป็นจริง การวิพากษ์วิจารณ์ศาลเป็นกระบวนการปกติในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่การทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักรเคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่าง The Court and Criminal Act ที่กำหนดให้การ ‘ดูหมิ่นวิจารณ์ศาล’ ให้เสียหายจนสาธารณะเสื่อมศรัทธานั้น (scandalising) มีความผิด 

แต่ต่อมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายของรัฐสภาอังกฤษ ลองศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาล และมีรายงานสรุปในปี 2012 แนะนำให้ ‘เลิก’ ความผิดนี้เสีย เนื่องจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งจำเป็นในการเปิดช่องให้มีการอภิปรายถกเถียงถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและทำให้กฎหมาย The Court and Criminal Act ปี 2013 ในมาตรา 33 ยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นศาลออก

นอกจากนี้ สถาบันตุลาการไทยยังถูกตั้งคำถาม เนื่องจากการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของศาล หรือที่เรียกกันว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ซึ่งจากมุมมองของ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า บทบาทที่เด่นชัดของฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ประจักษ์ชัดในการแสดงบทบาททางการเมือง และไม่ได้มีคำวินิจฉัยที่วาง ‘บรรทัดฐานใหม่’ เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดแต่อย่างใด 

ในทางกลับกัน สถาบันตุลาการกำลังแสดงบทบาทกำกับหรือตรวจสอบอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ ชี้ขาดในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงทางการเมืองหรือนโยบายสาธารณะและกำลังสถาปนาอำนาจของตนเองให้ดำรงอยู่เหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นระบอบ ‘ตุลาการธิปไตย

Factcheck: มีการใช้ ‘Big Data Analytics’ แบบผิดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง

“…สิ่งที่หนักไปว่ากว่านั้นคือ การโจมตีทางไซเบอร์ เรื่องนี้คือการใช้ big data analytics เพื่ออะไรท่านฟังดีๆ นะครับ ทุกครั้งที่ท่านใช้โทรศัทพ์มือถือ กดไลก์ ซื้อของ ท่านไปเที่ยว หรือทำอะไรก็ตามที่แสดงพฤติกรรมของท่าน ผ่านมือถือ ระบบพวกนี้จะถูกรวบรวมเอาไว้ใน big data ความคิดเห็นของท่านทั้งหมดทุกอย่างจะถูกรวบรวมไว้ แต่ big data analytics ถูกสร้างเพื่อใช้รวบรวมพฤติกรรมของลูกค้า แต่มีการเอาไปใช้ผิดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง… ”

– พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

Google Search Keywords : นาฬิกาหรู + ประวิตร วงษ์สุวรรณ + ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก

การบรรยายของ พล.อ.อภิรัชต์ มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า คำว่า Big Data Analytics น่าจะหมายถึงการวิเคราะห์ข้อมูล หาความเชื่อมโยงของข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แต่เอาเข้าจริง ผู้ที่มีความสามารถมากพอในการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อวิเคราะห์ได้ก็คือ ‘รัฐ’ เพราะรัฐมีเครืองมืออย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เปิดช่องให้ ‘เนื้อหา’ บนโลกออนไลน์ เป็นภัยคุกคามไซเบอร์ที่รัฐสามารถเข้ามาสอดส่องได้ รวมถึง พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติที่เปิดช่องให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ‘อาจดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้’ 

นอกจากนี้ ในการทำสงครามข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อนั้น หรือถูกเรียกว่า ‘ปฏิบัติการข่าวสาร’ (Information Operations: IO) ก็มีผู้ต้องสงสัยเป็นรัฐ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2559 กองทัพเองเคยถูกตั้งข้อสังเกตถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารมาแล้ว จากกรณีมีผู้ตั้งประเด็นรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org ที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ในตำแหน่งต่อหลังมีประเด็นการไม่แจ้งการครอบครองนาฬิกาหรู ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า ผู้ลงชื่อสนับสนุนทางออนไลน์มีที่มาจากแหล่งเดียวกัน และภายหลังการตรวจสอบพบว่า จากผู้สนับสนุนเหยียบ 20,000 คน เหลือยอดแค่ 200 คน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ต้องสงสัยคือ ‘ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก’ ที่ระบุภารกิจว่ามีหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารไซเบอร์ ทำหน้าที่เฝ้าระวังแจ้งเตือน ตอบโต้ และสกัดกั้น

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ มีการบัญญัติคำว่า ‘การต่อต้านข่าวกรอง’ ที่หมายถึง การดำเนินการเพื่อต่อต้านการกระทำของต่างชาติ บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ที่มุ่งหมายจะให้ได้ไปซึ่งความลับของชาติ หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติโดยการจารกรรม การบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรม และการก่อการร้าย หรือการอื่นใดอันเป็นภัยคุกคามเพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักข่าวกรองและให้มีศูนย์ประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0