โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ใครเบี้ยวหนี้กยศ.มีติดคุก ย้ำส่งต่อโอกาสการศึกษา

เดลินิวส์

อัพเดต 15 ก.ย 2562 เวลา 06.39 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2562 เวลา 04.37 น. • Dailynews
ใครเบี้ยวหนี้กยศ.มีติดคุก ย้ำส่งต่อโอกาสการศึกษา
สารพัดแคมเปญกระตุ้นต่อมให้ลูกหนี้ กยศ. หันมาชำระหนี้คืน แต่ยังไม่ถึง 20 % ต้องรอการดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ตามกฎหมายใหม่จะได้ผลหรือไม่

สยองกันเป็นแถว!! เมื่อผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ออกมาบอกกล่าวดัง ๆ ผ่านสื่อ ว่า กยศ.เตรียมฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ในปีนี้อีกกว่า 1.5-2 แสนรายกันทีเดียว

ด้วยเหตุที่ว่า…ลูกหนี้เหล่านี้ เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับ กยศ.มานานกว่า 4 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เป็นคนของรัฐ ก็ต้องปฎิบัติตามหน้าที่ ก่อนจะถูกดำเนินคดีละเว้นตามมาตรา 157

ในมุมกลับกัน หากมองอีกที การจงใจไม่ชำระหนี้เป็นวลายาวนานถึง 4 ปี ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่า โดยเหตุผลที่แท้จริงแล้ว คือ จงใจ ไม่ตั้งใจ หรือเกิดปัญหา จนไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ตรงตามเวลา

หากเป็นเหตุผลที่ว่าด้วยเรื่องของการ "ไม่ตั้งใจ" เพราะอยู่ในอาการ "จนด้วยเกล้า" จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำมาหากินได้ไม่คล่องตัวนัก หรือบางรายหากหนักหนาสาหัส ก็อาจปิดกิจการ ล้มเลิกกิจการไปเลยก็มี

ณ เวลานี้ สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไม่เป็นใจกันเท่าใดนัก อย่างที่คุณ ๆ ท่าน ๆ รู้อยู่เต็มอกกันอยู่แล้วนั่นแหล่ะ ทำให้ลูกหนี้บางรายต้องตกงาน ไม่มีงานทำ แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้หนี้แต่มีไม่พอ ก็ขอต่อรองจ่ายน้อยลงจากวงเงินที่ต้องชำระ เรื่องอย่างนี้ ถือว่ามีเหตุผล

แต่ถ้า "จงใจ" ตรงนี้ "ช่อชมพู" ขอสนับสนุน ให้กยศ."เช็กบิล" ไปเลย เพราะถือว่าเห็นแก่ตัว ไม่เห็นความสำคัญของ "คนข้างหลัง" ที่มีปัญหา จนตัดโอกาสให้คนเหล่านี้ ซึ่งบางคนอาจเป็น"อนาคตที่ดี" ของชาติ

กว่า 20 ปีแล้ว ที่กยศ.ทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้กับเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อนำเงินไปใช้เป็นค่าเล่าเรียน ค่าเทอม และอีกมากมายสารพัด ให้กับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อให้โอกาสกับเด็กเหล่านี้ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน และเดินตามความฝัน

นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงเวลานี้ กยศ. ได้ให้โอกาสเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีโอกาสได้รับการศึกษาโดยกู้เงินจาก กยศ.ไปเล่าเรียนแล้ว 5,615,065 ราย โดยให้เงินกู้ยืมเรียนคิดเป็นจำนวน 605,354 ล้านบาท

เม็ดเงินมหาศาลเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับกันว่าเรื่องของการเบี้ยวหนี้ ย่อมต้องมีให้เห็นอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่า ณ เวลานี้ กยศ. จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของการขาดสภาพคล่องมาได้ โดยใช้โครงการ "กยศ.พี่ช่วยน้อง" มาเป็นสื่อนำ เพื่อกระตุ้นให้ลูกหนี้ เร่งชำระหนี้ คืนหนี้ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

แต่สภาพการณ์ สภาพเศรษฐกิจที่เจอมรสุมถาโถมมาหลายด้าน ก็ไม่สามารถหาอะไรมาการันตีได้ว่า กยศ.จะไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก โดยเฉพาะปัญหา"การชักดาบ" ดังนั้นการออกแคมเปญ การจัดโปรโมชั่น ทั้งการลดเบี้ยปรับให้ 80% กับบรรดาลูกหนี้ที่เข้ามาปิดบัญชี

หรือการลดเบี้ยปรับ 75% ให้กับรรดาลูกหนี้ก่อนที่จะต้องส่งฟ้องดำเนินคดี เพื่อปรับสถานะหนี้ให้เป็นหนี้ปกติ รวมทั้งแคมเปญใหญ่สำหรับลูกหนี้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ กยศ.ยอมพักหนี้ให้ถึง 1ปี พร้อมลดเบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้เหลือ 7.5%

ที่สำคัญ!!! ยังมีการเพิ่มค่าครอองชีพรายเดือนให้ผู้กู้อีกเดือนละ 600 บาทอีกต่างหาก โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 63 เป็นต้นไป

สารพัดสารพันแคมเปญที่ออกมา ก็ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องของการกระตุ้นต่อมให้ลูกหนี้หันมาชำระหนี้คืน เพราะเงินที่ได้คืนมาใช่ว่าต้องส่งเป็นรายได้ของรัฐ หรือส่งคืนคลังซะเมื่อไหร่

แต่ทั้งหมด ทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยโอกาส ให้สามารถได้รับการศึกษาเล่าเรียน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับบรรดาลูกหนี้ กยศ.ทั้งกว่า 5.6 ล้านคนนั่นแหล่ะ

ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากยศ.ต้องทำการฟ้องร้องเพื่อดำนินคดีกับลูกหนี้ รวมทั้งมีคำพิพากษาไปแล้ว มากถึง 1.6 ล้านรายทีเดียว เฉลี่ยเป็นหนี้คนละประมาณรายละ 1.2 แสนบาท

ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้ใช่ว่า กยศ.จะไม่แลเหลียว เพราะยังมีอายุความเหลืออีก 2 ปี แต่ยังต้องชำระหนี้ต่อไปอีก 5 ปี โดยส่วนนี้อาจเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้

หากใครไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ กฎหมายของ กยศ.ก็เปิดโอกาสให้ยึดทรัพย์ได้ ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ที่ไม่ชำระหนี้กองทุนประมาณกว่า 20 ปี และส่วนใหญ่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2550

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ มีบรรดาลูกหนี้ที่นิสัยดี มาชำระหนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว 1 ล้านรายเศษ คือเรียกว่าปิดบัญชีชำระหนี้ครบกันหมดแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19% ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด

พอเห็นสัดส่วนแล้วก็ดูเหมือนว่า อาการ กยศ.ยังน่าเป็นห่วง เพราะการชำระหนี้คืนมีไม่ถึง 20% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ กยศ.ไม่ได้ของบประมาณแผ่นดิน เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา มาตั้งแต่ปี 2560 โน่น

แม้จะมีสภาพคล่องดี มีเงินเหลือที่จะปล่อยกู้ได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ หากลูกหนี้ยังไม่เห็นความสำคัญของการชำระหนี้คืน ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดโอกาสให้กับคนรุ่นหลัง

เอาเป็นว่า… แม้ กยศ.ยังมั่นใจในฐานะที่ยังแข็งแกร่งยังมีเงินปล่อยกู้ให้กับผู้กู้รายใหม่ถึง 6 แสนรายในปีการศึกษา 2562 และในปีการศึกษา 2563 อีก 6 แสนรายก็ตาม แต่การให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืน ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง

เพราะเท่ากับว่า กยศ.ต้องออกมาตรการมากระตุ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ความพยายามในการชำระหนี้คืนของลูกหนี้ก็มีไม่ถึง 20% ตรงนี้สิ…ที่น่าคิด!!! การดำเนินคดีอาญากับลูกหนี้ตามกฎหมายใหม่ของ กยศ. จะได้ผลหรือไม่ คงต้องติดตาม!!!

…………………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน

โดย “ช่อชมพู” 

ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) , Pixabay

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0