โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ใครรับผิดชอบ!! ทอท.รายได้หายแยกสัญญาประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

The Bangkok Insight

เผยแพร่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 08.17 น. • The Bangkok Insight
ใครรับผิดชอบ!! ทอท.รายได้หายแยกสัญญาประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

ยังไม่ทันได้เปิดขายซองประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินทั้ง 4 แห่ง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมทั้งสิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็มีเสียงโหวกเหวกโวยวายขึ้นมาทันที “ผูกขาดบ้าง กลัวไม่โปร่งใสบ้าง กลัวไม่เป็นธรรม” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว การประมูลรอบนี้ยังไม่รู้เลยว่า จะมีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูล และใครคือผู้ชนะ

ยิ่งเห็นรัฐมนตรีคมนาคมออกมาเต้นตาม สั่งให้ทอท.ชะลอเปิดประมูลสิทธิในการประกอบกิจการทั้ง 2 โครงการออกไปก่อน และให้ทอท.หารืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงการคลังถึงความชัดเจนว่า โครงการดังกล่าวเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ และเอกชนฉบับใหม่ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

พร้อมหยิบยก 2 ประเด็นขึ้นมา 1.กรณีที่ทอท.ประกาศหาผู้ชนะประมูลรายเดียว ในการดำเนินการให้สิทธิประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ถึง 4 สนามบิน เช่นเดียวกับโครงการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เฉพาะสุวรรณภูมิก็หาผู้ชนะเพียงรายเดียว  2.ข้อกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนปี 2562 หรือไม่ อย่างไร และมติครม.ที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีคมนาคมต้องการให้ไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน

การกำหนดทีโออาร์ครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการทอท. ที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง น่าจะมองผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลักแล้ว คณะกรรมการทอท.มีถึง 15 คน ยังเชื่อว่ากว่าจะผ่านการพิจารณาน่าจะมีการวิเคราะห์กันมาหลายชั้นแล้วกว่าจะตกผลึกที่ประกาศออกมาได้

สิ่งที่ทำให้เกิดข้อสงสัย ทีโออาร์ที่ออกมายังไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ถึงได้มีการหยิบยกประเด็น“ผูกขาด” ขึ้นมาเป็นเครื่องต่อรอง  หลักเกณฑ์ที่ออกมาเป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปแข่งขันได้ทุกราย ที่คิดว่าตัวเองมีความพร้อม และมีความสามารถอยู่แล้ว

ได้เห็นทีโออาร์ที่ทอท.ประกาศออกมา หากมีเอกชนรายใดที่คิดว่าอยากจะได้เข้าไปบริหารดิวตี้ฟรีแข่งกับรายเก่า ก็น่าจะเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าไปแข่งขัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่าออกมาวิ่งเต้นตั้งปมประเด็นต่างๆ นานาอย่างที่เป็นอยู่ บางกลุ่มถึงขั้นวิ่งเต้นกับผู้ใหญ่พร้อมยื่นข้อเสนอต่างๆ นานา

รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจ หากไม่ปล่อยให้คณะกรรมการทอท.และทอท.บริหารจัดการเรื่องอย่างนี้เอง ก็ไม่ต่างอะไรกับการแทรกแซงการทำงาน ไม่ใช่พอใครร้องหรือทำหนังสือ อ้างแต่ไม่เป็นธรรม ผูกขาดรายเดิม โดยที่การประมูลยังไม่เกิดขึ้น สั่งให้แก้โน่นแก้นี่ อย่างนี้ประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร

ยิ่งเห็นที่ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) อธิบายเหตุผลข้อกำหนดทีโออาร์ที่ออกมาว่า ทำไมต้องคัดเลือกเอกชนรายเดียวเข้ามาบริหารร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินทั้ง 4 แห่ง เนื่องจากต้องรับความเสี่ยงขาดทุนบางสนามบิน เพราะสัดส่วนรายได้หลักของดิวตี้ฟรีอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ คิดเป็น 82% ของทั้งหมด

ส่วนสนามบินหาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้เพียง 0.04% ของทั้งหมด ส่วนรายได้สนามบินภูเก็ต คิดเป็น13% อยู่ที่วันละ 10 ล้านบาท คิดเป็นปีละ 3,650 ล้านบาท ขณะที่รายได้สนามบินเชียงใหม่อยู่ที่ 4-5% จากทั้งหมด

เมื่อเห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว จะมีเอกชนสักกี่รายที่จะเลือกประมูลสนามบินในต่างจังหวัด การรวมเป็นสัญญาเดียวก็เพราะตัวเลขที่ปรากฎอยู่นั่นเอง

นิตินัย ระบุด้วยว่าหนึ่งในเกณฑ์ตัดสินที่มีน้ำหนักคะแนนค่อนข้างมาก คือเรื่องของผลประโยชน์ด้าน Minimum Guaruntee ถ้าเขาขายไม่ดีไม่เกี่ยวกับเรา แต่พอมีรายได้มากก็ขอเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ และ Minimum Guarantee ดังนั้นใครเสนอส่วนแบ่งรายได้จากการขายให้สูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะไป

ตามทีโออาร์นั้น การคัดเลือกเอกชนเข้ามาบริหารดิวตี้ฟรีของทอท. เชื่อว่ามองผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ รวมถึงภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จึงตัดสินใจใช้เกณฑ์ประมูล เพื่อคัดเลือกเอกชนซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในการบริหารดิวตี้ฟรี จำเป็นต้องมีประสบการณ์และพันธมิตรทางการค้าที่แน่นอนเพื่อรองรับการบริโภคสินค้าปลอดภาษี การคัดเลือกเอกชนรายใหญ่เข้ามาบริหารรายเดียวส่งผลดีตรงศักยภาพ รวมถึงแบรนด์เนมเข้ามาในทั้ง 4 สนามบิน ที่สำคัญเอกชนต้องรับความเสี่ยงการขาดทุนของบางสนามบินที่จะเกิดขึ้นเอง

ยิ่งเห็นข้อมูลจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ  ระบุว่าคณะกรรมการบอร์ดทอท.ที่มีประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ทำหนังสือชี้แจงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปว่า หลังจากกระทรวงการคลังประกาศให้มีการเปิดประมูล “จุดส่งมอบสินค้าเสรี” หรือ Pick up counter ในพื้นที่ต่างๆทั้งในเมือง และในจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศได้แล้ว ต้องถือว่ายุคทองของร้านค้าดิวตี้ฟรีในสนามบินนั้นหมดไปแล้วสิ้นเชิง

ประสงค์ พูนธเนศ
ประสงค์ พูนธเนศ

“อยากจะบอกด้วยว่า ยุคทองของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ก็จบไปแล้วเช่นกัน เพราะใครต่อใครก็สามารถจะเปิดจุดส่งมอบสินค้าได้ ที่สำคัญยังสามารถเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรีในเมืองได้อย่างเสรีด้วย ฉะนั้นใครจะเข้าร่วมแข่งขันการให้บริการนี้สามารถทำได้ทั้งสิ้น”

บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็มีจุดส่งมอบสินค้าที่นักท่องเที่ยว หรือห้างสรรพสินค้าสามารถ ส่งสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อจากห้างของตนไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินอื่นๆได้แล้ว กระทรวงการคลังยังเปิดให้มีจุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตแก่นักท่องเที่ยวในจุดต่างๆเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการค้าขายสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมือง หัตถกรรม และสินค้าท้องถิ่นไทยได้

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการทอท. กล่าวว่า การที่มีบางกลุ่มออกมาเรียกร้องขอให้ชะลอการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบินของทอท.ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดที่อยู่ๆ ก็มีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับทีโออาร์สัญญาเดียวนั้น เรื่องนี้ที่ผ่านมาทอท.ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาให้คำนวณรายได้จากการรวมสัญญาและแยกสัญญามาแล้ว

โดยพบว่าหากมีการรวมสัญญาจะทำให้ทอท.มีรายได้ดีขึ้นกว่าการแยกสัญญา เนื่องจากรายได้ของแต่ละสนามบินแตกต่างกัน มีเพียงสุวรรณภูมิและภูเก็ตที่มีรายได้ดี ส่วนอีก 2 สนามบินมีรายได้น้อยมาก หากมีการแยกสัญญาก็จะยิ่งทำให้ทอท.มีรายได้ลดลง

การคิดคำนวณรายได้มีการนำรายได้ของทั้ง 4 สนามบิน มาคำนวณรวมกันโดยคิดจากยอดขาย แล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ให้ทอท. พร้อมกันนี้ยังมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ แต่หากแยกสัญญาก็จะยิ่งทำให้รายได้แต่ละแห่งน้อยลง

“ตอนนี้ยอดขายบางสนามบินมีน้อยมาก ถ้าต้องทำตามข้อเรียกร้อง เมื่อถึงเวลารายได้ทอท.หายไป ใครจะรับผิดชอบ แต่การรวมสัญญาน่าจะเป็นผลดีต่อทอท.และผู้ชนะการประมูลที่สามารถจัดการบริหารได้ดีกว่า การออกมาเรียกร้องไม่แน่ใจว่าเข้าใจในระบบบริหารจัดการหรือไม่ หรือต้องการเรียกร้องเพราะเกรงว่ากลุ่มที่เข้ามาประมูลจะไม่ชนะ “ แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามีกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ต้องการที่จะให้แยกสัญญามาตลอด โดยมีการวิ่งเต้นกับผู้ใหญ่เป็นระลอก รวมถึงวิ่งเต้นกับอดีตผู้บริหารทอท. เพื่อให้มีการแก้ไขทีโออาร์ แต่การพิจารณาของทอท.และบอร์ดทอท.ได้ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทอท.อยู่แล้ว ดังนั้นอยากให้ผู้มีอำนาจเข้าใจเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ทำตามข้อเรียกร้องที่ทำให้รัฐเสียหายภายหลัง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0