โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใครฆ่าประเสริฐ? : เมื่อเลือดไม่เคยข้น และคนไม่เคยจาง

The MATTER

อัพเดต 19 ต.ค. 2561 เวลา 04.27 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2561 เวลา 03.59 น. • Thinkers

ละครอย่าง ‘เลือดข้น คนจาง’ ได้รับความนิยมในหมู่คนเมืองและคนชั้นกลางด้วยหลายเหตุผล

อย่างแรกอาจเพราะรวบรวมนักแสดงฝีมือดีหลากรุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ทุกคนจึงมาประชันฝีมือกันแบบถึงพริกถึงขิง ด้วยวิธีเล่นแบบแนบเนียนสะกดอารมณ์ จริตของการแสดงเป็นอีกแบบ จึงเหมือนเป็นรสชาติใหม่คล้ายซีรีส์ฝรั่ง (ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็อาจไม่ค่อยถูกอกถูกใจคอละครแบบหลังข่าวฮาร์ดคอร์เท่าไหร่นัก จึงมีข่าวมาว่าเรตติ้งทางทีวีไม่ค่อยดี)

อย่างที่สองอาจเพราะนี่เป็นเรื่องราวฆาตกรรมซับซ้อนซ่อนเงื่อน ซึ่งปกติคนดูก็สนใจติดตามอยู่แล้ว เรื่องค่อยๆ คลี่ปม หลอกล่อคนดูให้ทายว่าใครเป็นฆาตกรที่ฆ่า ‘พี่ใหญ่’ ของตระกูลอย่างประเสริฐ (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเป็นคดีฆาตกรรมในครอบครัวคนจีนที่ร่ำลือว่ามีที่มาจากชีวิตจริงของครอบครัวดังครอบครัวหนึ่ง เลยทำให้คนติดตามกันแบบพลาดไม่ได้

คำถามที่กลายเป็นแฮชแท็กดังในโลกทวิตเตอร์ก็คือ #ใครฆ่าประเสริฐ

เปล่าครับ ผมไม่ได้จะมาบอกใบ้ว่าใครฆ่าประเสริฐหรอกนะครับ เพราะผมก็ไม่รู้เหมือนกับคนดูทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ แต่ที่อยากชวนมา ‘สนุก’ กับเลือดข้นคนจางให้มากขึ้น ก็คือการพิศดูโยงใยความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัวนี้ผ่านสายตาของอำนาจกันดูบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้นะครับ ว่าเรื่องราวในละครเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ‘ครอบครัว’ ขนาดใหญ่ครอบครัวหนึ่ง และยากจะปฏิเสธอีกเช่นกัน ว่าเมื่อพูดถึงครอบครัว ในสายตาของสังคมไทย เรามักมอง ‘ครอบครัว’ และ ‘สถาบันครอบครัว’ ด้วยสายตาที่ออกจะโรแมนติกอยู่ไม่น้อย

ถ้าไปดูความหมายของครอบครัว ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2547- 2556 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะพบว่ากำหนดความหมายของครอบครัวเอาไว้ว่า

ครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลัก เป็นแกนกลางของสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต ครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบและหลายลักษณะ นอกเหนือจากครอบครัวที่ครบถ้วนทั้งบิดา มารดาและบุตร

หรือในตำราเรียนบางเล่ม ก็บอกว่า

สถาบันครอบครัว หมายถึง แบบแผนพฤติกรรมที่คนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวและเครือญาติจะต้องปฏิบัติตาม นั่นคือคนที่เป็นญาติกันโดยสายเลือด เช่น เป็นพ่อแม่ พี่น้องกัน เป็นญาติกันทางการแต่งงาน เช่น เป็นสามีภรรยา เป็นเขยสะใภ้กัน หรือการรับไว้เป็นญาติ เช่น เป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น เรียกว่า สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน การเลี้ยงดูลูก การอบรมขัดเกลา การหย่าร้าง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและเครือญาติทั้งหมด

หากมองเผินๆ เราอาจคิดว่านิยามของคำว่า ‘ครอบครัว’ หรือ ‘สถาบันครอบครัว’ ที่ว่ามานี้ ‘สร้างภาพ’ ให้เรารู้สึกว่าครอบครัวเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นแหล่งบ่มเพาะปลูกฝังคุณค่าต่างๆ ของสังคม แน่นอน หลายครอบครัวอาจรักใคร่กลมเกลียวมีชีวิตที่มีความสุขตามนิยามที่ว่ามาก็ได้ แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังมีครอบครัวอีกมากที่ไม่ได้เป็นไปตามนิยามสวยๆ ดังกล่าว

อย่างน้อยที่สุด ‘เลือดข้น คนจาง’ ก็บอกเราอย่างนั้น

เวลาเราพูดว่า

*ครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกัน *

หรือบอกว่า

*คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น เรียกว่า สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน การเลี้ยงดูลูก การอบรมขัดเกลา การหย่าร้างและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครองครัวและเครือญาติทั้งหมด *

เราอาจคิดว่านั่นเป็นแค่การ ‘นิยาม’ ถึง ‘สิ่งที่มีอยู่’ แล้วในสังคมไทย แต่ถ้าทอดตามองความเป็นจริงในสังคม เราจะเห็นได้ว่า มีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่ได้ ‘ผูกพัน’ และ/หรือ ‘อยากใช้ชีวิตร่วมกัน’ คือไม่ได้เป็นไปตาม ‘นิยาม’ ที่ว่ามา ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่านี่เป็นการให้นิยามสิ่งที่มีอยู่แล้ว (คือเป็นในสิ่งที่เป็น) หรือนี่คือการ ‘สั่ง’ ว่าครอบครัว ‘จะต้อง’ เป็นไปตามนิยาม (คืออยากเป็นในสิ่งที่ไม่ได้เป็น) กันแน่ โดยเฉพาะกับประโยคที่ว่า คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฎเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น

ริชาร์ด บาค ผู้เขียนหนังสือ โจนาธาน ลิฟวิงสตัน - นางนวล, เคยพูดเอาไว้คมคายว่า Rarely do members of the same family grow up under the same roof. หรือ แทบไม่มีสมาชิกของครอบครัวเดียวกันใดหรอกที่เติบโตมาใต้หลังคาเดียวกัน

นัยของบาคก็คือ คนที่เติบโตมาในครอบครัวเดียวกันใต้หลังคาเดียวกันนั้น เป็นไปได้ว่าจะไม่ได้ผูกพันหรือมีความคิดความเชื่อร่วมแบบเดียวกัน เราจะเห็นญาติพี่น้องมากมายที่คิดต่างกันจนแทบฆ่ากัน และมีคนอีกจำนวนมากที่ผูกพันกับเพื่อนหรือคนที่มีความคิดความเชื่อแบบเดียวกันมากกว่าคนที่เป็นญาติร่วมสายเลือด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีวิถีชีวิตซับซ้อนหลากหลายจนเกินกว่าที่สถาบันครอบครัวแบบเดิมจะแบกรับเอาไว้ได้

รอบครัวจำนวนมากจึงไม่เป็นไปตามนิยามพวกนี้อีกแล้ว ครอบครัวไม่ใช่แหล่งบ่มเพาะความคิดความเชื่อหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ เหมือนในสมัยโบราณอีกต่อไป แต่ปัญหาในครอบครัวมักจะเกิดขึ้นเมื่อต้อง ‘พยายาม’ ทำตัวให้สอดคล้องกับนิยามข้างต้น ด้วยการใช้อำนาจหลากแบบ ‘ยัด’ ผู้คนในครอบครัวให้เข้าไปบีบอัดอยู่ในกรอบของนิยามแบบเดิมๆ ที่แลดูสวยงามแต่คับแคบ จนที่สุดก็อาจกดดัน และจนผุดพลุ่งปะทุเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้

ถ้าเราบอกว่า สถาบันครอบครัวคือหน่วยเล็กที่สุดของสังคม ก็เป็นสถาบันครอบครัวนี่แหละครับ ที่แสดงให้เราเห็นถึงการเล่น ‘เกมอำนาจ’ (Powerplay) ในหลายรูปแบบได้อย่างชัดเจนที่สุด และมักจะเป็น ‘แบบจำลอง’ โครงสร้างอำนาจของสังคมที่ครอบครัวนั้นๆ สังกัดอยู่ด้วย

อำนาจในครอบครัว (และสังคม) ล้วนเกี่ยวพันกับทรัพยากร ซึ่งใน ‘เลือดข้นคนจาง’ เราจะเห็นได้ชัดว่าประเสริฐเป็นตัวละครที่ควบคุมทรัพยากรทั้งหมดของครอบครัวเอาไว้ในนามของกงสี (ซึ่งก็ต้องบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า ในสังคมทั่วไป กงสีมีทั้งที่ร่ำรวยและยากจนนะครับ ใครต้องดูแลกงสีที่ไม่ค่อยมีรายได้นี่เครียดหนักทีเดียว แต่บังเอิญว่ากงสีที่ประเสริฐดูแลนั้นกำไรมหาศาล - ซึ่งก็เครียดหนักไปอีกแบบ)

การควบคุมทรัพยากรเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอำนาจ ดังนั้น ในด้านกลับกัน อำนาจจึงคือ ‘ความสามารถ’ ในการบริหารจัดการการควบคุมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นกลไกบังคับ ในแง่นี้ เราจึงอาจรู้สึกว่าประเสริฐเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในครอบครัว เป็นเหมือนจักรพรรดิที่ไม่น่ามีใครกล้าลุกขึ้นขบถ

ถ้าเราย้อนกลับไปดูทฤษฎีว่าด้วยอำนาจที่ (น่าจะ) เก่าแก่ที่สุด คืองานของจอห์น เฟรนช์ (John French) และ เบอร์ทราน ราเวน (Bertran Raven) เขาวิเคราะห์ ‘ระบบจิ๋ว’ (microsystem) ว่าด้วยการทำงานของอำนาจในครอบครัวเอาเอาไว้ว่า อำนาจในครอบครัว (ก็เหมือนอำนาจในสังคม) มีฐานอำนาจ (Power Base) อยู่ห้าแบบ (ในกรณีนี้จะยกมาแค่สี่แบบนะครับ)

เราจะพบว่าฐานอำนาจของประเสริฐ คือฐานอำนาจที่เกิดจากความชอบธรรม (Legitimate Power) ซึ่งเป็นฐานอำนาจที่เกิดจากระบบความเชื่อ (หรือ Belief System ซึ่งในกรณีนี้คือความเชื่อในครอบครัว) เช่นใน ‘เลือดข้นคนจาง’ ทุกคนเชื่อว่าพี่ชายคนโตต้องรับสืบทอดตระกูลตามธรรมเนียม หรือเชื่อว่าหลานชายคนโตมีศักดิ์เป็นลูกชายอีกคนหนึ่ง ฯลฯ ระบบความเชื่อพวกนี้เป็น ‘ความเชื่อร่วม’ ของทุกคน ซึ่งหากเชื่อกันมาก ก็จะทำให้กลไกอำนาจทำงานได้ไหลลื่น แนวคิดเรื่องระบบความเชื่อเป็นแนวทางวิเคราะห์เดียวกับยูวาล โนอาห์ ฮาราริ ที่เขียนไว้ในหนังสือ Sapiens ว่ากลไกต่างๆ ในสังคมมนุษย์ทำงานได้ก็เพราะระบบความเชื่อ แม้กระทั่งระบบเศรษฐกิจก็เกิดจากความเชื่อเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ฐานอำนาจไม่ได้มีฐานเดียว อีกฐานอำนาจหนึ่งที่สำคัญ และน่าจะเป็นฐานอำนาจที่ภัสสร (คัทลียา แมคอินทอช) ใช้เป็นจุดยืนของตัวเอง ก็คือฐานอำนาจจากความเชี่ยวชาญ (Expert Power) ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้ อบรม หรือมีประสบการณ์ในการทำสิ่งหนึ่งๆ เป็นเวลานาน จะเห็นได้ว่าภัสสรคิดว่าตัวเองควรได้รับการ ‘แบ่งปันอำนาจ’ จากพ่อ (นพพล โกมารชุน) เพราะเธอดูแลงานมานานยี่สิบปี แต่เมื่อพ่อไม่ให้อำนาจนั้นแก่เธอ (เพราะพ่อก็ยึดถือระบบความเชื่อและฐานอำนาจจากความชอบธรรมเหมือนกัน) เธอก็เลยมา ‘ขอแบ่ง’ อำนาจจากประเสริฐผู้เป็นพี่ ด้วยการขอซื้อโรงแรมในเครือออกไป ฐานอำนาจสองแบบจึงปะทะกัน

เมื่อฐานอำนาจจากระบบความเชื่อถูกท้าทายด้วยฐานอำนาจจากความเชี่ยวชาญ สิ่งที่ประเสริฐทำก็คือการใช้อีกฐานอำนาจหนึ่งมาตอบโต้ นั่นคือฐานอำนาจจากการบังคับ  หรือ Coercive Power ซึ่งคือการบังคับทางตรง เช่น ใช้กำลัง ใช้ความก้าวร้าวรุนแรงหรือการข่มขู่ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการตบหน้าภัสสรกลางโรงแรม จนเกิดปมเงื่อนต่างๆ ตามมาเมื่อประเสริฐตายลงกะทันหัน

การตายของประเสริฐทำให้ละคร ‘เลือดข้น คนจาง’ กลายเป็นละครแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งศูนย์กลางของเรื่องแนวนี้ก็คือข้อมูลข่าวสาร ถ้าย้อนกลับไปดูทฤษฎีฐานอำนาจของเฟรนช์และราเวน เราจะพบฐานอำนาจอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือฐานอำนาจจากข้อมูล หรือ Informational Power

เขาอธิบายว่า ฐานอำนาจแบบนี้เกิดจากการมี ‘ความรู้เฉพาะ’ (specific knowledge) ในบางเรื่อง เป็นความรู้ที่คนอื่นๆ ในครอบครัวไม่รู้ คนที่รู้ข้อมูลนี้จะมีอำนาจในการควบคุมบังคับคนอื่น โดยอาจควบคุมบังคับอย่างเปิดเผยก็ได้ หรือจะใช้วิธีชักใยอยู่เบื้องหลังก็ได้เช่นเดียวกัน

ใน ‘เลือดข้น คนจาง’ เราจะเห็นว่าตัวละครแต่ละตัวพยายามอย่างยิ่งที่จะขุดค้นหา ‘ข้อมูล’ ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่อี้ (ธนภพ ลีรัตนขจร) พีท (กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม) จนถึงเวกัส (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ซึ่งเอาเข้าจริง ตัว ‘ข้อมูล’ ที่พยายามหากันนั้น โดยเนื้อแท้ก็คือการขุดค้นหา ‘อำนาจ’ เพื่อจะนำไปใช้ต่อสู้ต่อรองกับคนอื่นๆ นั่นเอง

พร้อมกันนั้น เราก็จะเห็นตัวละครบางตัวที่ไม่ได้พยายามทำอะไรเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหล่านี้เลย เช่น ครอบครัวของเวกัสที่แลดูไม่ใส่ใจอะไรนักกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังชวนกันไปเที่ยวพักผ่อน ทำให้สมดุลอำนาจไม่เอียงมาทางครอบครัวนี้ (อย่างน้อยก็ในขณะนี้น่ะนะครับ ต้องออกตัวไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าผู้กำกับจะพาเรื่องไปทางไหน)

เราจะเห็นว่า ‘ครอบครัว’ ใน ‘เลือดข้น คนจาง’ มีการใช้อำนาจระหว่างกันอย่างน้อยๆ ก็สามสี่แบบ ดังนั้น แค่นั่งดูว่าใครกำลังหยิบอำนาจแบบไหนออกมาเป็นอาวุธก็สนุกมากแล้ว แต่ถ้าดู ‘กระบวนการทางอำนาจ’ (Power Process) ก็จะยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่

นักมานุษยวิทยาอย่าง เจนิซ สต็อกคาร์ด (Janice Stockard) เคยวิเคราะห์ถึงสมดุลอำนาจในครอบครัวเอาไว้ว่า โดยพื้นฐานจะเกิดจากการเป็นพันธมิตรกันระหว่างพ่อแม่ลูก (Parent-Child Alliances)

ธอยกตัวอย่างเด็กผู้หญิงจากชนเผ่า !Kung San (ซึ่งถอดเสียงออกมาเป็นภาษาไทยไม่ได้ครับ เพราะต้องเดาะลิ้นด้วย) ในแอฟริกาใต้ เธอบอกว่าเด็กหญิงในชนเผ่านี้จะแต่งงานตอนอายุราวๆ สิบขวบ กับผู้ชายที่แก่กว่าเธอมาก การแต่งงานจะเกิดขึ้นโดยพ่อแม่ของเด็กหญิงเป็นคนจัดการ เมื่อแต่งแล้ว เจ้าบ่าวต้องมาอยู่กับครอบครัวเจ้าสาวเพื่อช่วยล่าสัตว์หาอาหาร

หลายคนอาจคิดว่า เด็กหญิงต้องไร้อำนาจในครอบครัวแน่ๆ เพราะสามีอายุมากกว่าและแข็งแรงกว่า แต่ด้วยการจัดการทางสังคม คือให้ฝ่ายชายมาอยู่ที่บ้านฝ่ายหญิง สิ่งที่เป็นตัวกำหนดสมดุลอำนาจในครอบครัว จึงคือการเป็นพันธมิตรกันระหว่างพ่อแม่ลูกของเด็กหญิง กล่าวคือถ้าเด็กหญิงเป็นพันธมิตรกับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกแข็งแรง ฝ่ายชายก็จะมีอำนาจในครอบครัวน้อยลง จึงเกิดสมดุลอำนาจขึ้นถึงขั้นที่เด็กหญิงสามารถ ‘วีโต้’ การตัดสินใจต่างๆ ในครอบครัวได้เลย

เรื่องนี้ไม่เหมือนกับครอบครัวชาวจีนแบบดั้งเดิม ซึ่งใน ‘เลือดข้น คนจาง’ อธิบายเอาไว้ชัดเจนว่า เด็กหญิงนั้น เมื่อแต่งงานแล้วก็ต้องไปอยู่ที่อื่น จึงไม่ถือเป็นคนในครอบครัวเดิมอีกต่อไป แต่ต้อง ‘ถูกถ่ายโอน’ (transpoted) ไปอยู่บ้านสามี ซึ่งในบ้านนั้น แม่สามีจะมีสิทธิอำนาจเหนือตัวเธอทุกประการ

หลายคนอาจรู้สึกว่าระบบของครอบครัวจีนนั้นแลดูกดขี่ผู้หญิง แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม่สามีก็เคยเป็นภรรยาที่ถูกกดขี่มาก่อน มีผู้วิเคราะห์ว่า การกดขี่ผู้หญิงที่มาเป็นสมาชิกใหม่นี้ เป็นเหมือนการทดสอบและขัดเกลาเพื่อให้ผู้หญิงที่มาใหม่ต้อง conform กับระบบความเชื่อของครอบครัวใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอจะค่อยๆ ทวีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้ามาแทนที่แม่สามีในที่สุด

โครงสร้างทางสังคมแบบนี้บีบให้ผู้หญิงจีนในครอบครัวแบบดั้งเดิมมีความเป็นพันธมิตรกับพ่อแม่ (Parent-Child Alliances) น้อยมาก แตกต่างจากเด็กหญิงแอฟริกาที่โครงสร้างครอบครัวบีบให้พ่อแม่และเด็กหญิงต้องรักษาความเป็นพันธมิตรกันเอาไว้ เมื่อความเป็นพันธมิตรระหว่างพ่อแม่และลูกสาวในครอบครัวคนจีนมีน้อย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมภัสสรจึงไม่ได้รับมรดก และคนอื่นๆ ในครอบครัว (ยกเว้นครอบครัวภัสสร) จึงไม่มีใครรู้สึกว่านี่เป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่ง

จะเห็นว่าแม้กระทั่งในครอบครัวที่เราคิดว่าเต็มไปด้วยกลิ่นอายรักใคร่เมื่อดูจากรูปหมู่ที่ถ่ายร่วมกัน แท้จริงแล้วกลับมีการทำงานของ ‘อำนาจ’ เป็นมิติพิศวงซ่อนอยู่ใต้ความสัมพันธ์และกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวและคนในครอบครัว

ในภาวะปกติ เราอาจไม่รู้สึกถึงการทำงานของอำนาจเหล่านี้มากนัก แต่เมื่อถึงคราวคับขันเหมือนในละคร จะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่แต่ละคน แต่ละครอบครัว พยายามทำ ก็คือการ ‘ควบคุม’ กันและกันโดยใช้ฐานอำนาจหลายๆ แบบมาคัดง้างกัน

ที่จริงแล้ว การที่ตำราเรียนบอกว่า สถาบันครอบครัว เป็นแกนกลางของสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตในด้านหนึ่งต้องบอกว่าถูกต้องยิ่งนัก เพราะครอบครัวก็คือแบบจำลองของสังคม ดังนั้น การใช้อำนาจในครอบครัวที่เต็มไปด้วยการให้คุณค่า, อคติ และมายาคติในแบบที่แนบเนียนและซุกซ่อนอยู่ใต้ธรรมเนียมปฏิบัติและระบบความเชื่อที่สืบทอดต่อเนื่องยาวนาน จึงสะท้อนให้เราเห็นไปด้วยในเวลาเดียวกัน - ว่าเราได้ ‘แบก’ เอาคุณค่า, อคติ และมายาคติที่ได้รับสืบทอดจากครอบครัวของเรา - ออกไปร่วมก่อร่างสร้างสังคมแบบไหนขึ้นมา

 

ใครฆ่าประเสริฐ - จึงอาจไม่สำคัญเท่าการมองให้เห็นว่าความข้นของเลือดและความจางของคน, แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่เราสมมติขึ้นมาในนามของครอบครัวทั้งนั้น

ทว่ากลับเป็นเรื่องสมมติที่เราเห็นว่าสลักสำคัญและคอขาดบาดตายเหลือเกิน

โตมร ศุขปรีชา
โตมร ศุขปรีชา

โตมร ศุขปรีชา

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0