โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ใครคือ ผู้กล่าวพุทธคุณ 100 บทคนแรก ?

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 12 ธ.ค. 2562 เวลา 06.29 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 06.29 น.
ภป-พระพุทธศาสนามั่นคง

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (35)

ผู้กล่าวพุทธคุณ 100 บทคนแรก

เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ 9 บท หรือนวารหคุณ หรือนวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ

แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ 100 บท

ผู้กล่าวพระคุณ 100 บทคืออุบาลี คหบดีอดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาสีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาโต้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต

แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลยสมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า

อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)

วันนั้นอุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นอน เรื่องที่นำมาโต้แย้งคือเรื่องกรรมซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า “ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม

พระพุทธองค์โต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้ และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดดีก่อน”

อุบาลีก็ยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด

น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมาก ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าว ก็ไปต่อว่าศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง

อุบาลีคนเก่งของพวกเรา ถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว

มหาวีระไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่

อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสนาต่อว่าต่อขานว่าอุบาลี เจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่

มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณโคดมมีดีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง

ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง 100 บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง มหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก

พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครนถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์

โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี

มหาวีระ ตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็มิปาน

อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ 100 บท มีบันทึกไว้ในอุบาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วยประการนี้

ส่วนพระพุทธคุณ 100 บท จะนำมาเล่าโดยละเอียดไว้อีกต่างหาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0