โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใครคือตัวจริง? เรื่องของตัวตนบน social network

Johjai Online

อัพเดต 22 ต.ค. 2561 เวลา 13.03 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2561 เวลา 17.00 น. • johjaionline.com
ใครคือตัวจริง? เรื่องของตัวตนบน social network
มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่จริงแล้ว โลกโซเชียลนี่ต่างหาก ที่ทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา

“เจอตัวจริง ไม่เห็นดูเพี้ยนเหมือนในเฟสบุ๊คเลย” ..
“ในเฟสบุ๊ค ดูเท่มาก แต่ตัวเป็นๆก็เฉยๆ” .. 
“เห็นเขาบ่นโน่นนีไปหมดในเฟสมะ ตัวจริงละหงอเชียว” ..
ประโยคทำนองนี้อาจเคยผ่านหูมาบ้างสำหรับหลายคน หรือไม่ก็อยู่ในใจของหลายคน
ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องไม่แปลกหากคนหนึ่งจะมีหลายบุคลิก หลาย version ในการทำงาน ชีวิตส่วนตัว หรือ สาธารณะ และบุคลิกหลายแบบในหนึ่งคนนี้ ก็มีมานานแล้ว และอาจเป็นเครื่องชี้ถึงความเฉลียวฉลาดในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆกัน โดยเลือกเอาบุคลิกที่เหมาะที่สุดสำหรับสถานการณ์นั้นๆมาใช้ เหมือนอย่างที่เรียกกันว่า “สวมหัวโขน” 
ในอดีตที่ผ่านมา การมีหลาย version ไม่ใช่เรื่องสับสนสำหรับคนทั่วไป เพราะการพบปะตัวต่อตัว ทำให้เราไม่สามารถซ่อนตัวเองอยู่ภายใต้รูปแบบที่แตกต่างกันลิบลับได้มากนัก เรียกว่าเป็นเพียง variation หรือรูปแบบที่แปรเปลี่ยนไปมากกว่า   
แต่ในโลกปัจุบันของ social media ที่ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน คนเราสามารถซ่อนตัวตนที่แท้จริงไว้ได้ไม่ยาก และนั่นทำให้ ตัวจริงที่เจอ กับ บุคลิกในโลกโซเชียลอาจเป็นคนละคนเลยก็ได้ เป็นที่สับสนกับคนที่ได้พบตัวจริง  ระดับความก้าวร้าวหรือความเป็นมิตรราวกับไม่ใช่คนเดียวกัน
และก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่า ตัวเราเองก็อาจเริ่มสับสนตามไปด้วยหรือไม่ว่า ตัวตนจริงของเราคือ version ไหนแน่ 
แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่จริงแล้ว โลกโซเชียลนี่ต่างหาก ที่ทำให้เรารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา
เพราะสิ่งที่โลกโซเชียลปลดปล่อยเราก็คือ ความกล้าที่จะแสดงออก ซึ่งถ้าป็นการพูดคุยกันซึ่งหน้าแล้ว เราอาจจะไม่กล้าแสดงท่าทีอย่างนั้น 
ในทางตรงข้าม โลก offiline ที่เจอตัวเป็นๆต่างหากที่ทำให้เราต้องสวมหน้ากากเข้าหากัน เราไม่กล้าแสดงความไม่พอใจชัดเจนกับคนที่ไม่สนิทด้วย เราอาจพูดในสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิด เพราะไม่อยากให้บรรยากาศการสนทนาเสีย เราไม่กล้าพูดอะไรออกมาตรงๆเมื่อมีสายตาจ้องมองรอคำตอบอยู่
แต่พออยู่หน้าจอ เรากลับคืนเป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะแชร์ โพสต์ หรือ comment ในประเด็นที่หากเป็นการพูดคุยต่อหน้าแล้ว เราอาจไม่กล้าแม้กระทั่งหยิบยกขึ้นมาพูด คนที่ขี้อายในโลก offline ย่อมพบว่า ในโลก online นั้น สิ่งที่ทำให้เขาประหม่าได้หมดไป ไม่มีสายตาจ้องมองของผู้ฟัง ไม่ต้องกังวลกับการวางท่าทีเมื่อถูกแย้ง
และนั่นทำให้ คนที่ต่อหน้าพูดน้อยถ่อมตนตอน offline อาจกลายเป็นคนก้าวร้าวหาเรื่องตอน online ก็ได้ หรือ คนที่เป็น introvert อาจกลายเป็น extrovert อย่างแรงบน Internet หรือ คนที่ดูปกติธรรมดา กลายเป็นคนเพี้ยนจัดบน Facebook 
ซึ่ง version เหล่านี้อาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของเราก็ได้ 

ในงานศึกษาของมหาวิทยาลัย Harvard ในปี 2012 พบว่า ในการพูดคุยต่อหน้ากัน คนเราคุยเรื่องตัวเอง 30% ของเวลาคุยทั้งหมด แต่พอ online เราจะคุยเรื่องตัวเองถึง 80% ทั้งนี้เพราะโลก online เป็นเวทีการคุยกับคนจำนวนมากที่ไม่เห็นหน้า ไม่ได้รับรู้ว่าใครกำลังสนใจฟังอยู่หรือไม่ จึงทำให้การคุย online กลายเป็นการเน้นเรื่องตนเอง  
มีงานศึกษาของ Wharton School ที่ University of Pennsylvania ได้ทดลองให้ นักเรียนเขียนเล่ารายละเอียดที่แต่งขึ้นมาเอง จากเรื่องที่ดีและไม่ดี คือ ไปดูหนังมาแล้วสนุกมาก (เรื่องดี) กับ ได้กินของหวานที่ไม่อร่อยเลย (เรื่องไม่ดี) โดยให้เขียนเล่ากับเพื่อนหนึ่งคน และ เขียนเล่าให้คนเป็นกลุ่ม
ผลคือ ข้อความที่เขียนเล่าให้เพื่อนคนเดียวฟังนั้น มักจะมีอารมณ์ขัน ล้อเลียนตัวเอง หรือ self depreciation เช่น เล่าว่า ไปดูหนังเพื่อผ่อนคลายหลังจากวันที่วุ่นวาย หรือ ตั้งใจจะไปกินของอร่อยแต่ร้านปิด เลยจำใจกินของที่ไม่ได้อร่อยเลย   แต่พอเป็นการเล่าเรื่องให้กับกลุ่มคนฟัง เรื่องเล่ามีแต่เรื่องบวก ดูดี น่าอิจฉา เช่น วันนี้เป็นวันที่ดีมาก ไปดูหนังกับแฟนมา และหนังสนุกมากมายถ้าใครไม่ได้ดูจะเสียดาย  
ยังมีงานศึกษาอีกชิ้นในปี 2017 ที่ทดลองตั้งคำถามกับนักเรียนว่า ต้องการได้งานทำแบบไหน ปรากฏว่า ถ้าคนตอบเข้าใจว่าจะมีเพื่อนมาอ่านคำตอบ จะตอบในทำนองว่า ไม่อยากทำงานหนัก เอาเงินเดือนไม่มากก็พอ แต่ถ้าเข้าใจว่าไม่มีเพื่อนคนไหนเห็นคำตอบได้ ก็จะตอบอีกแบบว่า อยากได้เงินเดือนมากๆ ทำงานหนักไม่ว่า 
งานศึกษานี้สรุปว่า คนเรามักจะปรับคำตอบให้เหมาะกับคนที่ฟังอยู่ หากตอบว่าเป็นคนขยันที่ต้องการเงินเดือนเยอะ ก็อาจดูน่าหมั่นไส้ในสายตาของเพื่อน จึงต้องตอบแบบถ่อมตนไว้ก่อน ในโลกของ online ที่ไม่ได้เห็นตัว และมี target เป็น คนจำนวนมาก เรามักจะอวดตัวเอง โปรโมทตัวเอง มากกว่าตอนเมื่ออยู่ offline แบบเจอหน้ากัน
แต่ว่า ความต่างกันนี้ไม่ได้หยุดอยู่แต่ on และ offline เท่านั้น ยังต่างกันระหว่าง online social media platform ต่างๆกันอีกด้วย และความหลากหลายของบุคลิกที่ต้องบริหารจัดการในแต่ละวัน งานศึกษาของ Pennsylvania State University ชี้ว่าคนเดียวกันมีบุคลิกที่ต่างกันในแต่ละ platform ใน Facebook เป็นคนหนึ่ง ใน Twitter ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งมักจะหมกมุ่นกับตัวเองมากกว่า Facebook หรือ ใน IG ก็เป็นอีกคนที่ชีวิตมีแต่เรื่องสวยงาม 
นอกจากคนอื่นสับสนแล้ว ย้อนกลับไปยังคำถามว่า ตัวเราเองก็เริ่มสับสนตัวเองด้วย หรือไม่? 
และนั่นทำให้เริ่มมีการถกเถียงกันว่า โลกโซเชียลทำให้คนเราเข้าใกล้ multiple personality disorder มากขึ้นหรือไม่ ? ที่เกิดความสับสนระหว่างตัวตนบน social media platform ต่างๆ ระหว่าง Facebook, Instgram, Twitter, Linkedln ยังไม่นับ chat message ต่างๆที่เป็นกลุ่ม. 
โดยทั่วไปแล้ว ความเป็นตัวตนของคนเราอาจมองได้เป็นสาม layer นั่นคือ 
1.เราเป็นใคร นั่นคือตัวตนแท้ๆดิบๆ ของเรา ซึ่งสะท้อนได้จากพฤติกรรมในแต่ละวัน  
2.เราคิดว่าเราเป็นใคร เป็นตัวตนที่เราคิดว่าเราเป็นอย่างนั้น ซึ่งอาจดีหรือไม่ดีก็ได้ จริงไม่จริงก็ได้ 
3.เราอยากให้คนอื่นคิดว่าเราเป็นอย่างไร นี่คือ “ความอยากเป็น”  หรือ ตัวตนในอุดมคติ ที่เราอยากไปถึง การสื่อสารของเราที่ออกไป ตั้งอยู่บนความคิดนี้ว่า เราอยากให้คนอื่นมองเราอย่างไร 
ความสับสนในตัวตนจะเกิดขึ้นเมื่อ “layer” ทั้งสามนี้ไม่ align กัน หรือไม่สอดคล้องกัน เมื่อนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นมาว่า ตกลงจริงๆแล้วเราเป็นใครกันแน่ 
เป็นไปได้ว่า ณ เวลาใดเวลาหนึง layer ทั้งสามนี้มีความเหลื่อมกัน ไม่ประกบกันสนิทแนบ และเรากำลังใช้ความพยายามทำให้มันประกบกันได้เป็นเนื้อเดียวอยู่ เช่น พยายามทำให้คนอื่นเข้าใจตัวเราอย่างที่เราเป็น และในขณะเดียวกัน ก็พยายามมองตัวเองอย่างที่เป็นจริง และปรับปรุงสิ่งที่เราคิดว่ายังไม่ดีพอให้ดีเหมือนที่ต้องการ  ซึ่งความพยายามเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา 
แต่หาก layer ทั้งสามต่างกันมาก ประกบทาบกันไม่ได้ ความยากลำบาก ความสับสน และอึดอัด ในการหลายตัวตนที่แท้จริงก็จะทำให้เกิด ความเครียด ความกระวนกระวายใจ จนอาจไปถึงอาการซึมเศร้าได้   
ปัญหาจะยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก หากข้อ 3  “เราอยากให้คนอื่นคิดว่าเราเป็นอย่างไร” นั้น มีความหลากหลายแปรเปลี่ยนไปตาม platform ของ social media  ตามสังคมหรือ community online vs offline บ้าง เช่นใน Facebook เป็นคนหนึ่ง ใน Instagram ก็อีกคน ใน Line ใน Snapchat ใน Twitter ก็อีกคน กลายเป็นหลายมิติที่ของตัวตนที่ต้องสับเปลี่ยนไปมาในแต่ละวัน 
ดังนั้น ถ้าหากจะตำหนิว่าโลกโซเชียลทำให้คนเราสับสนความเป็นตัวตนมากขึ้น ก็คงเพราะว่า โลกโซเชียล เปิดโอกาสให้เราสามารถสร้าง layer ที่ 3 หรือเลือกสร้างภาพสื่อออกไปได้แทบไม่จำกัด และบางคนก็ใช้ feature นี้ สร้างภาพใน layer ที่ 3 จนห่างจากความเป็นจริงที่เป็นอยู่เสียลิบลับ
แต่เป็นไปได้อีกว่า ถึงแม้บางคนไม่คิดจะสร้างภาพใดๆเลย แต่ผลที่ปรากฏออกไปก็เหมือนสร้างภาพอยู่ดี ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของคนมองสิ่งที่อยู่บนโลก online ต่างจาก offline 
ในโลกของ online สิ่งใดก็ตามที่โพสลงไป ดูเหมือนเป็นการประกาศ และสิ่งที่โพสนั้นมันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ในขณะที่ในโลก offline เวลาเราเจอตัวจริง เราถือเป็นสถานการณ์หนึ่ง หรือเหตุการณ์หนึ่งเพียงชั่วคราว ที่เกิดขึ้นและผ่านไป 
คนที่ตกอยู่ในความเศร้า เวลาเข้าสังคมอาจทำตัวไม่เศร้า แต่คนที่อยู่รอบข้างย่อมรู้ดีว่า นั่นแค่เป็นบุคลิกและมารยาทในการเข้าสังคม แต่ถ้าคนเดียวกันนี้โพสเรื่องร่าเริงบนโลกโซเชียล จะถูกมองว่าเขาเปลี่ยนไป และคงหายเศร้าแล้ว จนกระทั่งคนที่อ่านโพส มาเจอตัวจริงที่ยังซึมเศร้าอยู่ จะมีอาการงงว่า “ไหนเห็นว่าดีขึ้นแล้วไง” และมองไปว่า ที่โพสไปนั้นคือการสร้างภาพ
ทั้งๆที่จริงก็เป็นได้เสมอว่า คนเรามีอารมณ์ดีขึ้นหรือแย่ลงเปลี่ยนไปในแต่ละชั่วโมง การโพสในชั่วโมงที่อารมณ์ดี ไม่ได้หมายความว่า เราคือคนอารมณ์ดีจริงๆ  แต่คนเรามักตีความการโพสเช่นนั้นว่านั่นคือการประกาศการเปลี่ยนแปลง 
และนั่นทำให้ประเด็นการตีความตัวตน online และ offfline มีความสับสนเพิ่มอีก ดีที่สุดคือ ทำให้ทั้งสาม layer เป็นเรื่องเดียวกัน ทุกอย่างก็ง่าย   
ถึงอาจจะไม่ง่ายสำหรับหลายคนก็ตาม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0