โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"โอม" กับ "โอมเพี้ยง (หาย)" มีความหมายอย่างไร

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 พ.ค. 2565 เวลา 04.10 น. • เผยแพร่ 13 พ.ค. 2565 เวลา 04.09 น.
ภาพปก-โอม

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2548 สหายจากสำนักวัดกลางบางแก้ว นครปฐม ได้เชิญพระคเณศที่สร้างจากสำนักนี้มาให้ผมบูชาองค์หนึ่ง ผมได้จัดที่บูชาไว้ใกล้ๆ กับที่นั่งเขียนหนังสือ คนที่มาเยี่ยมเยือนก็ทักถามขอทราบว่าบูชาอย่างไร ผมก็บอกว่าในส่วนตัวผมก็ยกมือพนมนมัสการภาวนาว่า “หริ โอมศรี คณปตเย นมะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระคณบดีผู้มีศรี” แล้วมีคนหนึ่งถามว่า“โอม” นั้นคืออะไร

คำว่า “โอม” เป็นคำชินหูเด็กบ้านนอกในสมัยก่อน เมื่อเด็กหกล้มมีอาการเจ็บตรงไหนไปบอกผู้ใหญ่ ท่านก็จะมาลูบๆ ตรงที่เจ็บแล้วเป่า “โอมเพี้ยงหาย” เด็กก็ดูจะหายเจ็บเอาทีเดียว ครั้นต่อมาได้ศึกษาเรียนรู้อะไรมากขึ้น จึงได้ทราบว่า “โอม” เป็นคำใช้นำมนต์สำคัญๆ ของพราหมณ์ คนไทยรู้จักคำว่า “โอม” มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะมีปรากฏในโองการแช่งน้ำ หรือจะว่าไปอีกทีก็ตั้งแต่รู้จักพราหมณ์นั่นเทียว

ต้นเรื่องที่จะเกิดคำว่า “โอม” มีกล่าวกันต่างๆ บ้างก็ว่าเป็นอักษรที่นับถือกันมาแต่ยุคไตรเพท บางตำราอธิบายว่า “โอม” ประกอบขึ้นด้วยสำเนียงสามคือ “อ อุ ม” ต่อมาในยุคปุราณะเกิดนับถือพระเป็นเจ้าทั้งสามขึ้น พราหมณ์จึงได้กำหนดสำเนียงทั้งสามนั้นว่าตรงกับพระเป็นเจ้าองค์ใด

ในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 มีคำอธิบายว่า โอม เป็นคำย่อจาก อ อุ ม ข้างพราหมณ์หมายความว่าพระเจ้าทั้งสาม คือ อ = พระวิษณุ, อุ = พระศิวะ, ม = พระพรหม; ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาเป็นพระรัตนตรัย คือ อ = อรหํ (พระพุทธ), อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรม), ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์), เมื่อเข้าสนธิจึงเป็น “โอม” นับถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำภาวนาหรือกล่าวรับด้วยความนับถือ เช่นเดียวกับ “สาธุ”

คำอธิบายนี้ได้ใช้ต่อมาเพียงแต่ตัดตอนท้ายออกให้สั้นลง เป็นคำอธิบายด้านเดียว เพราะตามเอกสารอื่น เช่น ในหนังสือ Ganesh ที่แต่งโดย A. Getty อธิบายไว้อีกอย่างหนึ่งว่า อ = พระพรหม, อุ = พระวิษณุ, ม = พระศิวะ

เหตุที่มีความหมายต่างกันเช่นนี้ เนื่องมาจากผู้อธิบายนับถือพระเป็นเจ้าองค์ใดเป็นใหญ่ ก็ยกย่องพระเป็นเจ้าองค์นั้นไว้ต้น ถ้านับถือพระพรหมเป็นใหญ่ก็อธิบายว่า อ = พระพรหม ถ้านับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ก็อธิบายว่า อ = พระวิษณุ

เรื่องคำว่า “โอม” ยังไม่ยุติ นักปราชญ์บางท่านแย้งว่าคำ “โอม” ที่ว่าแผลงมาจาก “อ อุ ม” นั้นผิด ที่จริงคำ อ อุ ม ต่างหากที่แผลงไปจาก “โอม” คือคำ “โอม” มีมาก่อน อ อุ ม อนึ่งคำว่า “โอม” เป็นคำอุทาน มนุษย์เลียนคำนี้มาจากเสียงน้ำทะเล เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพัด เสียงโอมเป็นเสียงแรกที่มนุษย์รู้สึกว่าเป็นเครื่องแสดงความพิลึกมหึมา มนุษย์เข้าใจว่าเสียงโอมนั้นเป็นเสียงธรรมชาติหรือเสียงพระเจ้าที่จะประสาทความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่โลก มนุษย์จึงเลียนเอาเสียงนี้มาใช้เริ่มต้นเวทมนตร์เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้คำว่า “โอม” ในภาษาต่างๆ ก็มีรูปร่างต่างๆ กันไป ยิ่งในลัทธิลามะด้วยแล้ว คำอธิบายความหมายก็จะยิ่งพิสดารออกไปอีก กล่าวเฉพาะที่ไทยเอามาใช้ก็มีแปลกๆ เช่น มนต์ป้องกันการกระทำจากศัตรูบทหนึ่งว่า“มะ คือตัวกู อุ คือตัวนาย อะ จะทำร้ายกูมิได้” และคาถาอาพัดเหล้าขึ้นต้นว่า “โอม ตึกๆ ตักๆ หินผาหักอยู่ข้างในหัวกู หัวกูคือหมวกเหล็ก ตัวกูยังเหล็กเพชร ตัวกูคงแก่ไม้รวก ฉมวก แหลน หลาว หอก และดาบ หน้าไม้ปืนไฟ ครูกูชื่อพระมหาทมึ่นคือพื้นธรณี บ่มิสะเทือนหวาดไหว โอม นโมพุทธายะ โอม นโมธัมมายะ โอม นโมสังฆายะ ฯลฯ”

อย่างไรก็ตามเมื่อไทยนำมาใช้เป็นคาถา ได้ใช้สลับที่กันเสียก็มีเช่นที่เห็นในเหรียญเกจิอาจารย์ที่เป็นอักษรขอม ใช้ว่า มะ อะ อุ ก็มี อุ อะ มะ ก็มี ที่ยกมากล่าวก็เพื่อให้เห็นว่าคำอธิบายในพจนานุกรมนั้นเป็นคำอธิบายพอให้ทราบโดยสรุป ถ้าต้องการรู้รายละเอียดก็จะต้องศึกษาอีกมาก

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0