โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โวยราวกันตก "แอร์พอร์ตลิงก์" 13 ล้าน เกรดเหมือนตามทางเท้า พบเจ้าของเดียวกับเรือตรวจการณ์ กทม.

Manager Online

อัพเดต 18 ต.ค. 2561 เวลา 17.01 น. • เผยแพร่ 18 ต.ค. 2561 เวลา 17.01 น. • MGR Online

ชาวเน็ตวิจารณ์ แผงราวสแตนเลสกันตก สถานีแอร์พอร์ต ลิงก์ พญาไท เป็นราวกั้นคล้ายตามทางเท้า-เกาะกลาง ราคา 13 ล้าน กังขาแพงเกินไปหรือไม่ พบผู้ชนะประมูลเป็นบริษัทไอที เจ้าของเดียวกับเรือตรวจการณ์ กทม. ที่เคยจอดทิ้งไว้ที่อยุธยานานกว่า 1 ปี

วันนี้ (18 ต.ค.) เฟซบุ๊ก AirportLink ที่รัก ได้เผยแพร่ภาพแผงราวสแตนเลสกันตก บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งมีลักษณะเป็นราวสแตนเลสคล้ายราวกันคนข้ามถนนบริเวณทางเท้าหรือเกาะกลางถนน ไม่ใช่ประตูกั้นชานชาลาแบบพีเอสดี (Platform Screen Doors) เหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน)

ทั้งนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ประกวดราคาจ้างติดตั้งแผงกั้นราวสแตนเลสกันตกที่ชั้นชานชาลาสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ตามประกาศเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 พบว่าผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา ได้แก่ บริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 13,456,900 บาท และได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ออกมาหลากหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งกรณีที่สงสัยว่าทำไมไม่ใช่ประตูกั้นชานชาลาแบบพีเอสดี ซึ่งก็มีคนเห็นต่างว่า สาเหตุที่ใช้แผงราวสแตนเลส เพราะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งด้วยความเร็วสูงมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกรงว่ากระจกจะแตก และยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงชิงกันเซ็งก็ใช้แผงราวสแตนเลสกันตกเหมือนกัน บ้างก็วิจารณ์ว่าราคาติดตั้งกว่า 13 ล้านบาท ตกสถานีละ 1.6 ล้านบาทแพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับสภาพที่เห็น

- ชาวเน็ตสงสัย "บริษัทไอที ทำไมไปขายราวสแตนเลส?"

อีกประเด็นหนึ่งที่ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย คือ บริษัทผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทไอที ทำไมไปขายราวสแตนเลสได้ โดยข้อมูลในเว็บไซต์บริษัทผู้ชนะการประมูล ระบุว่า "บริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด เดิมเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในนาม ห้างหุ้นส่วนจำกัด เหรียญทอง อินเตอร์เทรดดิ้ง ในปี 2533 และมีการพัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทฯ ดังนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีทุกประเภท ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์สารสนเทศ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสารครบวงจร นอกจากธุรกิจด้านไอทีแล้ว พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจด้านวิศวกรรม อาทิ งานบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ สถานีสูบน้ำพระโขนง เป็นต้น"

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2533 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 252 ซอยลาดพร้าว 64 ถนนลาดพร้าว แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ หมวดธุรกิจ การขายส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์จำหน่ายเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ มีนายชัยธพัชร์ เหล่าศิริรัตน์ (ชื่อเดิมคือ นายกิตติชัย เหล่าศิริรัตน์) และนางวัลลดา เหล่าศิริรัตน์ เป็นกรรมการบริษัท มีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ นายชัยธพัชร์ นางวัลลดา และ นายชัชวาล ใหญ่เลิศ ในปี 2560 มีรายได้รวม 374.96 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18.21 ล้านบาท

- เคยชนะประมูล "เรือตรวจการณ์ไฟไหม้ กทม." จอดทิ้งไว้กว่า 1 ปี

สำหรับบริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด ก่อนหน้านี้ชนะการประกวดราคาจัดซื้อเรือตรวจการณ์ 3 ลำ จากสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติภารกิจป้องกันการกระทำผิดทางน้ำ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ ในแม่น้ำเจ้าพระบาและคลองบางกอกน้อย วงเงินกว่า 44 ล้านบาท แต่พบว่าเรือตรวจการณ์ลำใหญ่ ความยาว 25 เมตร มูลค่ากว่า 26 ล้านบาท หลังจากต่อเรือเสร็จและส่งมอบได้เพียงไม่นานก็เกิดเพลิงไหม้เครื่องยนต์ ทำให้ต้องจอดทิ้งไว้ที่ท่าเทียบเรือหน้าวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นานกว่า 1 ปี เพราะรออะไหล่จากต่างประเทศ

สำหรับชื่อของ นายชัยธพัชร์ เหล่าศิริรัตน์ ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่า ก่อนหน้านี้ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบกรณีสำนักเทศกิจ กทม. จัดซื้อเรือตรวจการณ์ 3 ลำ วงเงินกว่า 44 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2559 หลังสำนักเทศกิจ กทม. ได้สืบราคากลางจากบริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีนายพิสิษฐ์ เหล่าศิริรัตน์ (ชื่อเดิมคือ นายไพโรจน์ เหล่าศิริรัตน์) กรรมการผู้มีอำนาจ เป็นบิดาของนายชัยธพัชร์ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท แกรนด์ไลน์ อินโนเวชั่น จำกัด ผู้ชนะการเสนอราคา

อย่างไรก็ตาม เลขานุการของนายพิสิษฐ์ ยืนยันว่าบริษัท ริเวอร์ฯ ไม่ได้เข้าเกี่ยวข้อง หรือเข้าไปดำเนินการประมูลจัดซื้อเรือตรวจการณ์ทั้ง 3 ลำดังกล่าว เพราะรู้ข้อกฏหมายเกี่ยวกับการฮั้วประมูลดี จึงไม่ได้เข้าไปประมูลด้วย แต่ยืนยันว่านายชัยธพัชร์ เป็นบุตรของนายพิสิษฐ์จริง ส่วน พ.ต.อ.พิชัย เกรียงวัฒนศิริ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ระบุว่า ในการประมูลดังกล่าว ไม่มีชื่อของบริษัท ริเวอร์ฯ เข้าไปร่วมประมูลแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงหนึ่งใน 5 บริษัทที่นำสืบราคากลางในช่วงการร่างขอบเขตของงาน (TOR) เท่านั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0