โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/เตรียมตัวก่อนตาย

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 06 ธ.ค. 2562 เวลา 06.21 น. • เผยแพร่ 06 ธ.ค. 2562 เวลา 06.21 น.
โลก

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง penseeppp@gmail.com

เตรียมตัวก่อนตาย

 

มนุษย์เรานี่ยิ่งเจริญมากเท่าไหร่ ชีวิตก็ยิ่งซับซ้อนยุ่งยาก

ยุ่งยากแม้กระทั่งเรื่องความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น

ผู้เขียนเป็นหนึ่งในชนชั้นกลางชาวกรุง ซึ่งเดี๋ยวนี้พออายุเลยวัยเกษียณมาสักพักก็รู้ตัวว่าชีวิตใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ

และความที่จิตสำนึกลึกๆ กลัวความตาย กลัวความเจ็บปวดทรมาน ก็เลยสนใจเรื่องการเตรียมตัวก่อนตายกัน เพื่อว่าเมื่อถึงวันนั้นทุกอย่างจะได้ราบรื่น

เราเตรียมตัวเรื่องความตายอย่างไร

นอกจากเรื่องทรัพย์สินสมบัติพัสถานแล้วก็เรื่องการเตรียมจิตใจ เรื่องสมบัติพัสถานอาจจะจัดการได้ในเวลาไม่นาน

แต่เรื่องของจิตใจต้องใช้เวลา เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยวางสิ่งที่อยู่ข้างหลังและความพร้อมของใจที่จะจากไป การเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง

รวมทั้งการจัดการกับความเจ็บปวดที่มักจะมาพร้อมความตาย

 

เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อนส่งข้อความจากการสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เรื่องการเตรียมตัวเดินทางครั้งสุดท้าย

มีประเด็นน่าสนใจว่า คนเราไม่ว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ก็ไม่ประเสริฐเท่าการตายอย่างสงบ

พี่สาวของผู้เขียนเล่าว่า เพื่อนสนิทของเธอมีบุญน้อย เสียชีวิตตั้งแต่อายุไม่มาก แต่มีบุญตรงที่ตายอย่างสงบ ที่ว่าตายอย่างสงบก็คือรู้วันตายของตัวเอง และได้เชิญพี่น้องมาพร้อมหน้ากัน เธอกล่าวคำขอบคุณพี่น้องทีละคนในสิ่งที่ทำให้เธอ แล้วเธอก็จากไปอย่างสงบ

คนเราส่วนมากไม่รู้วันตาย มักจะสมองเสื่อมไปก่อน แล้วก็นอนนิ่ง พูดไม่ได้ ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ บางคนเป็นอย่างนี้นาน 3 ปี บางคนนานกว่านั้น เป็นสภาพการตายที่ดูไร้ศักดิ์ศรีและสร้างภาระให้คนที่ต้องดูแล ไม่เหมือนคนที่เจ็บหนักและบอกแพทย์กับคนใกล้ชิดว่า ปล่อยฉันให้หมดลมไปตามธรรมชาติเถิด ฉันสู้ความเจ็บปวดไม่ไหว หรือปล่อยให้ฉันไปเพราะฉันไม่มีเรี่ยวแรงจะอยู่ต่อไป

เพื่อนคนหนึ่งเตรียมตัวมาเกือบสิบปีเพื่อศึกษาเรื่องความตายอย่างสงบเพื่อคุณแม่ของเธอซึ่งอายุมากแล้ว เนื่องจากเธอเห็นการตายของคุณแม่สามีที่ไม่อยู่ในภาวะสงบ คุณแม่ของเธอจากไปเมื่อเดือนที่แล้ว และเธอก็พอใจที่ได้อธิบายให้พี่น้องที่เหลือเข้าใจว่าไม่ควรใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ควรเจาะคอ แม้แพทย์จะบอกว่าถ้าไม่ทำก็จะเสียชีวิต

ในที่สุดพี่น้องก็เชื่อเธอ นำแม่กลับมาบ้าน แม่อยู่ต่อมาอีก 4 เดือน

ในวันที่แม่จะจากไป แม่ได้กลับไปโรงพยาบาลอีกครั้ง เธอจับมือแม่ไว้ มองดูสัญญาณชีพบนเครื่องมอนิเตอร์ และพาแม่จากไปอย่างสงบ สัญญาณค่อยๆ ลดต่ำลงจนหยุด

เธอบอกว่าคุ้มกับการที่เธอศึกษาเรื่องนี้มายาวนาน เธอช่วยแม่ได้สำเร็จ

 

พระอาจารย์ไพศาลกล่าวว่า ไม่มีเงินอะไรที่จะซื้อความตายอย่างสงบได้ มีแต่ความรักที่มอบให้ผู้ป่วย และความไว้วางใจว่าเขาจะไปดี หมายถึงก่อนจะหมดลมก็ไม่ทุกข์ทรมาน หมดลมไปแล้วก็ไปดี อันนี้เป็นสิ่งที่ดี ลูกก็ดี คนรัก พ่อ-แม่ก็ดี จะมอบให้ผู้ป่วย

คนกรุงอย่างเรากังวลกับการตาย เพราะเราอยู่กันอย่างเดียวดาย ห่างเหินกับชุมชน มีเพียงครอบครัวเล็กๆ กับสมาชิกครอบครัวไม่กี่คน

บางคนเดียวดายขนาดนอนเสียชีวิตคนเดียวในคอนโดฯ ไม่มีใครรู้เห็น อีกสองสามวันต่อมาจึงมีคนมาพบ

ในสังคมต่างจังหวัดผู้คนใกล้ชิดกัน เป็นเหมือนญาติกันทั้งหมู่บ้าน

คุณน้าของผู้เขียนมาจากจังหวัดราชบุรี เล่าว่า เมื่อมีคนใกล้ตาย เขาจะไปบอกแม่แก่ที่นับถือกันให้มาพาผู้ใกล้ตายไปดี

ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าคนผู้นั้นกำลังจะไป คุณน้าบอกว่าเขาดูสีหน้าสีตารู้ เช่น มุมปากตก สีผิวเปลี่ยน แม่แก่จะเอากระทงดอกไม้ให้ถือและให้พนมมือ สวดมนต์ตาม บอกให้คิดถึงสิ่งดีๆ ก่อนจากไป

ล่าสุดมีญาติฝ่ายสามีของคุณน้าเป็นมะเร็ง? หมอให้กลับบ้าน ก็กลับมาอยู่บ้าน 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะไปเรียกแม่แก่มา

เป็นเรื่องเรียบง่ายที่ทำกันมาช้านาน เป็นภูมิปัญญา หรือจะเรียกว่าสัญชาตญาณก็ได้ของสังคมโบราณที่สืบทอดกันมา ไม่ต้องมาศึกษาหาความรู้กันเหมือนคนเมืองสมัยใหม่

การเตรียมจิตให้พร้อมก่อนตายสำหรับคนกรุงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะคนกรุงอยู่ห่างศาสนา คนเราจะไปสงบย่อมต้องคิดถึงสิ่งที่ทำมาตลอดชีวิตว่าทำบุญทำบาปอะไรไว้บ้าง คนชนบทส่วนใหญ่อยู่ใกล้ศาสนา อาจจะไม่ต้องทบทวนเรื่องบุญหรือบาปมากเท่าคนกรุง ที่ยุ่งอยู่กับการทำมาหากินจนไม่ได้หยุดคิดว่าวันหนึ่งๆ ทำบุญหรือทำบาปอะไรบ้าง

เมื่อได้เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวก่อนตายจึงตระหนักว่าเราต้องทำดีตั้งแต่วันนี้เพื่อเก็บสิ่งดีๆ ไว้บอกใจตนเองก่อนจากไป

 

การเตรียมตัวก่อนตายอีกอย่างคือการฝึกเป็นมิตรกับความเจ็บปวด

พระอาจารย์ไพศาลกล่าวว่า

“เป็นมิตรหมายความว่าต่างคนต่างอยู่ ความเจ็บปวดก็อยู่ไป ฉันไม่ทำอะไรกับเธอ ฉันไม่ทะเลาะกับเธอ ต่างคนต่างอยู่แล้วกัน แล้วแผ่เมตตาให้ความเจ็บปวด แผ่เมตตาให้อวัยวะที่มันติดขัด ตรงนี้จะช่วยให้ใจเราสงบ ความปวดมันทำอะไรเราไม่ได้ถ้าเรารู้ทัน แล้วอยู่กับเขา อยู่อย่างเป็นมิตรกับเขา ถ้าเราผลักไสความเจ็บปวดเราจะทุกข์ เพราะทุกข์เกิดจากการผลักไส”

การแผ่เมตตาเป็นเรื่องต้องฝึก ฝึกไปทีละขั้น ลองทำกับกรณีเล็กๆ เช่นยุงกัดก่อนก็ได้ ขณะนี้ผู้เขียนกำลังฝึกเมตตายุงอยู่ เพื่อว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะรู้วิธีแผ่เมตตากับความเจ็บปวด

พระอาจารย์ไพศาลยังบอกกับเราว่า ท่านเห็นด้วยกับการใช้ยาระงับปวดบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดทำให้เบลอ ให้เรารู้เนื้อรู้ตัว แล้วก็ให้มั่นใจว่าเมื่อวินาทีนั้นมาถึง เราจะพามันไปได้ มันแค่ก้าวเดียวถ้าพร้อมที่จะก้าว ไปก็ไปได้ดี แต่ส่วนใหญ่คนเราจะไม่แน่ใจและจะกลัว

ท่านบอกว่า อีกฟากหนึ่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เหมือนกับเด็กที่อยู่ในท้องแม่ ไม่อยากออกมา ต้องให้แม่เบ่ง แล้วให้หมอดึงออกมา เด็กนึกว่าออกมามันจะน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วออกมามันจะดีขึ้นเพราะข้างนอกดีกว่าในท้อง เด็กคิดแต่ว่าอยู่ในท้องจะวิเศษสุด พอออกมาเด็กเลยร้องเพราะตกใจ แต่จริงๆ แล้วข้างนอกดีกว่าข้างในไม่อึดอัดวิ่งเล่นได้

ท่านบอกว่า คนที่กลัวตายเพราะคิดว่าข้างหน้ามันแย่ แต่ถ้าหากเขาเต็มใจก้าวออกไปเลย ก็จะพบว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด คนที่ไม่มั่นใจเพราะกลัวว่าความตายมันสิ้นสุด ที่จริงมันเป็นการเปลี่ยนสภาพจากดักแด้เป็นผีเสื้อ เหมือนก้อนน้ำแข็งที่ละลายไป…

บางทีเมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะต้องมีใครสักคนที่เข้าใจเราและเราไว้ใจมาช่วยดึงเราให้ก้าวออกไป เหมือนคุณหมอช่วยดึงทารกออกจากท้องแม่ คนคนนั้นอาจเป็นพระสงฆ์ หรือเป็นเพื่อนรักของเรา ลูกของเรา หรือแม้แต่หลานของเราก็เป็นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0