โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โลกหมุนเร็ว/ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/ราง รถ เรือ กำลังจะเชื่อมต่อกัน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 02.18 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 02.18 น.
โลก

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง penseeppp@gmail.com

ราง รถ เรือ กำลังจะเชื่อมต่อกัน

 

อันที่จริงเมื่อพูดถึงการสัญจรในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ก็เรียกได้ว่ามีความสะดวกพอสมควร

ทั้งนี้ก็เพราะความคิดสร้างสรรค์พลิกแพลงของการแก้ปัญหาคมนาคมแออัดติดขัดด้วยวิธีการต่างๆ

เช่น การมีวินมอเตอร์ไซค์และรถตู้สาธารณะ เชื่อมต่อกับการสัญจรในระบบ ได้แก่รถยนต์ รถเมล์ รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือแม้แต่เรือด่วนและเรือข้ามฟาก

โดยปกติผู้เขียนนั้นชินอยู่กับการใช้พาหนะอยู่ไม่กี่อย่าง ได้แก่ รถยนต์และรถไฟฟ้า แต่ไม่นานมานี้ก็ได้ค้นพบว่าชาวบ้านเขาสัญจรด้วยวิธีอื่นกันมานมนานแล้ว

เรื่องเริ่มมาจากจะไปเยี่ยมญาติที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่อยู่ไกลแสนไกลถึงรังสิต คิดว่าขับรถไปคงจะเหนื่อยเอาเรื่อง

มีผู้แนะนำว่า ชาวบ้านเขาเอารถไปจอดที่ “จอดแล้วจร” ที่ลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกันแล้วก็นั่งรถตู้ไปถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เลย

ผู้เขียนทดลองแล้ว สะดวกสบายเป็นที่น่าพอใจ ก็คิดไว้เลยว่าจะจดจำวิธีนี้ไว้เป็นทางเลือกต่อไป

ต่อมามีเหตุจะต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช อันตัวผู้เขียนนั้นก็อยู่แถวสะพานควาย ถ้าจะไปแบบทื่อๆ ก็คือนั่งแท็กซี่ไป

แต่ก็อีกครั้งที่มีผู้แนะนำให้คนขับรถไปส่งหรือนั่งแท็กซี่ไปลงเรือด่วนที่ท่าน้ำเกียกกายตรงไปยังท่าพรานนก ถึงโรงพยาบาลศิริราชเลย

เรียกว่าหายเชย รู้จักใช้รถตู้และใช้เรือเหมือนชาวบ้านเขาทำกัน สะดวก ไม่ต้องเหนื่อยขับรถ ประหยัดเวลาและประหยัดทรัพย์อีกด้วย

 

การมีทางเลือกในการคมนาคมนั้นดีกับวิถีชีวิตในเมืองหลวง และยังดีกับธุรกิจการงานด้วย เมื่อการคมนาคมเชื่อมต่อดีกว่านี้ เราจะสามารถไปมาหาสู่ญาติที่อยู่กันคนละมุมของกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องย้ายบ้านไปอยู่ใกล้กัน

เช่นเดียวกับหนุ่ม-สาวที่ทำงานไกลบ้านจะไม่ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมงในการเดินทางไปและกลับ

ในอดีตผู้บริหารกรุงเทพมหานครก็คิดและทำหลายอย่างเพื่อบรรเทาความคับคั่งในการจราจร แต่ก็ยังไม่กล้าคิดไปไกลถึงการคมนาคมทางน้ำไปตามคูคลองต่างๆ ที่มีมากมายที่รัชกาลที่ 4 และ 5 ทรงสร้างไว้และเลิกใช้ไปโดยปริยายหลังจากรถยนต์เข้ามาและมีการตัดถนนที่ได้กลายเป็นทางคมนาคมหลัก แม้กรุงเทพมหานครจะมีแผนงานอยู่ในมือ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องพัฒนาสาธารณูปโภคแล้วยังต้องบริหารจัดการคนที่อยู่ริมน้ำอีกด้วย

ไม่ใช่งานช้างธรรมดา แต่เรียกว่าเป็นงานของพญาช้างสาร

 

แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อที่จัดทำโดยกรุงเทพมหานคร ที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 22 สิงหาคม 2561 นับเป็นโครงการฟื้นฟูระบบคลองเพื่อชุมชนเมืองกรุงเทพฯ ที่เป็นลักษณะบูรณาการในด้านที่อยู่อาศัย การพัฒนาอาชีพ การบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม และการคมนาคม รวมอยู่ในแผนเดียว

ในส่วนที่เกี่ยวกับการคมนาคมทางน้ำ ได้มีการทำงานร่วมกับ Urban Design and Development UDDI คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการ “การฟื้นฟูคลองและชุมชน” โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบขนส่งทางคลองโดยชุมชนเป็นเจ้าของ ช่วยสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนและบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพฯ ด้วยการขนส่งทางน้ำ เพราะการขนส่งทางน้ำมีราคาที่ถูกกว่าระบบอื่นๆ และยังสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในบริเวณท่าเรือ เพื่อสร้างรายได้ทั้งระดับบุคคลและชุมชนอีกด้วย

เรื่องการขนส่งทางน้ำมีราคาถูกกว่าระบบอื่นนี้ผู้เขียนเองมีประสบการณ์ตรงจากการโดยสารเรือด่วนเจ้าพระยาไปโรงพยาบาลศิริราชอย่างที่ได้เล่ามาแล้ว จากท่าเกียกกายไปถึงท่าพรานนกจ่ายค่าโดยสารไปเพียง 15 บาทเท่านั้น

จึงอยากชักชวนให้ใช้การขนส่งทางน้ำกันให้มากขึ้น

 

ในผังออกแบบท่าเรือริมคลองที่ UDDI เสนอนั้นมีทั้งท่าเรือระดับชุมชนและระดับย่าน คุณสมบัติที่สำคัญของท่าเรือคือ เข้าถึงได้ง่ายจากชุมชนโดยรอบ ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่อยู่อาศัยหรือย่านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อนุญาตให้เกิดร้านค้าที่ชั้นล่างของอาคารอยู่อาศัยบริเวณท่าเรือได้ ดำเนินการโดยระบบสหกรณ์ชุมชน และมีที่ว่างขนาดใหญ่สำหรับท่าเรือที่อยู่ใกล้กับแนวโครงการระบบรถไฟฟ้า

ที่เห็นเป็นรูปธรรมในแผนคือชุมชนซอยลาดพร้าว 45 และชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2

รองศาสตราจารย์พงศ์พร สุดบรรทัด ที่ปรึกษาของแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อเล่าว่า คณะวิจัยจาก UDDI เสนอให้มีการสร้างท่าเรือและตลาดชุมชนพร้อมกับเริ่มเดินเรือบริการก่อน เพื่อให้เริ่มเกิดความต้องการในการเดินทางและรายได้ก่อนที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเสร็จ และเป็นหลักประกันในรายได้ที่จะนำมาผ่อนชำระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนอย่างผู้เขียนก็ขอมีส่วนได้รับประโยชน์จากท่าเรือที่จะสร้างขึ้นในการเดินทางในแบบ รถ ราง เรือ ไปยังจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และโดยเฉพาะทราบว่าในแผนมีการสร้างท่าเรือสำหรับคลองบางซื่อด้วย

เพราะเหตุว่าคลองบางซื่อนั้นก็อยู่สุดซอยบ้านผู้เขียนนั่นเอง

 

การจราจรในกรุงเทพฯ นั้นติดขัดหนักหนาสาหัส เมื่อใดก็ตามที่การเชื่อมต่อรถ ราง เรือ เกิดขึ้น บนระยะทาง 22 กิโลเมตรของคลองลาดพร้าวที่เชื่อมจากเขตสายไหมไปยังเขตห้วยขวาง และบนคลองบางซื่อระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ก็เชื่อว่าจะบรรเทาการจราจรไปได้ เหมือนกับที่การเดินทางบนแม่น้ำเจ้าพระยา

อีกไม่นานเกินรอ เราจะเหนื่อยน้อยลง และประหยัดมากขึ้นจากการเดินทาง ใครๆ ต่างก็รู้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางในกรุงเทพฯ นั้นสูงมาก

ในอนาคตก็หวังว่าค่าใช้จ่ายจะถูกลงและใช้เวลาน้อยลงกว่าปัจจุบัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0