โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

โลกต้องรู้ไทย!ไทยบูมอินทรีย์ทั่วประเทศ

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 06.47 น.

กระหึ่ม! เทรนด์อินทรีย์มาแรง “อ.ยักษ์” รมช.ประกาศกร้าว อีก 2 ปีข้างหน้าไทยตั้งเป้าพื้นที่อินทรีย์ 5 ล้านไร่ พร้อมย้ำความยิ่งใหญ่ด้วยงาน “มหกรรมเกษตรอินทรีย์ “เกษตรอินทรีย์ ดินดีวิถีไทย อาหารปลอดภัย สู่การเกษตรยั่งยืน” ถัดมาอีก 1 วัน แตกหักนายทุนค้าสารเคมี “จำกัดการใช้”

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ “เกษตรอินทรีย์ ดินดีวิถีไทย อาหารปลอดภัย สู่การเกษตรยั่งยืน” ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคาร 8 กรมพัฒนาที่ดิน ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในปี 2564 มีเป้าหมายเกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 5 ล้านไร่ เกษตรอินทรีย์มีเป้าหมายจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อแรงกดดันจากการแข่งขัน จะทำอย่างไรให้เกษตรอินทรีย์มีพื้นที่มากกว่า 6 แสนไร่ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง

โดยการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ “เกษตรอินทรีย์ ดินดีวิถีไทย อาหารปลอดภัย สู่การเกษตรยั่งยืน” ขึ้นในวันที่ 27 – 28 เมษายน 2562 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

“การทำเกษตรกรรมยั่งยืนมี 2 เรื่องที่สำคัญ คือความอุดมสมบูรณ์ของดิน การทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืนทุกรูปแบบ เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน ถ้านำ AgriMap ช่วยในงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนและทำให้ดินสมบูรณ์ทุกพื้นที่เป้าหมาย และ 2 คือวันดินโลก ทั่วโลกยกย่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งนานาชาติได้ประจักษ์และเห็นว่าพระราชดำริแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะทำให้โลกเกิดการพัฒนาภาคการเกษตรแบบยั่งยืนได้ โดยวันดินโลกปี 2562 “Stop Soil Erosion, Save our Future” ดำเนินการรณรงค์ 100 กว่าล้านไร่ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทั้งหมดนี้ผมเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จะประสบผลสำเร็จ เกิดผลที่เป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้กับภาคเกษตรได้อย่างแท้จริง” นายวิวัฒน์ กล่าว

นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายพิเศษ และการเสวนนาตีแผ่คัมภีร์ เคล็ดลับการทำเกษตรอินทรีย์ให้ประสบผลสำเร็จ โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ นิทรรศการเกษตรอินทรีย์ และสวนสืบสานศาสตร์พระราชา การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของดีภาคอีสาน การบริการตรวจวิเคราะห์ดิน การร่วมประกาศปฏิญญาสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดินจึงขอเชิญชวนผู้สนใจทุกท่านมาเที่ยวงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์ และเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) เป็นโอกาสดีที่จะได้รวมพลคนหัวใจเกษตรอินทรีย์ รวมพลังทำดินดี ผลิตอาหารปลอดภัย ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่ผลิตอาหารปลอดภัยที่ดีสุดของโลก

นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนเข้าร่วมงานวิ่ง “CESRA Country Road Run” ในวันที่ 28 เมษายน 2562 อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาหมอดินอาสาและบริหารจัดการเครือข่าย กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน โทร/โทรสาร 02-579-4194 และสามารถเข้าร่วมงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์“เกษตรอินทรีย์ ดินดีวิถีไทย อาหารปลอดภัย สู่การเกษตรยั่งยืน” ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ตามวันและเวลาดังกล่าว

ด้านนายอนันต์  สุวรรณรัตน์  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่  พาราควอท  ไกลโฟเซต  และคลอร์ไพริฟอส  โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดและคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติเห็นชอบใน 6 มาตรการจำกัดการใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ  โดยกรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 5 ฉบับซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ทั้ง 6 มาตรการในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจากนุเบกษา  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน  

ภายหลังจากประกาศฯ ทั้ง 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เกษตรกรผู้ใช้  ผู้รับจ้างพ่น  ผู้ขาย  ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต  และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องปฎิบัติตามมาตรการดังกล่าว  โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ใช้และผู้รับจ้างพ่นสารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องผ่านการอบรม และหรือผ่านการทดสอบความรู้ตามหลักสูตรการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย  โดยกรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมวิทยากร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 240 คน  โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 2 รุ่น  รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 24 เมษายน นี้  ส่วนรุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 25 เมษายน  เพื่อไปอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร  การยางแห่งประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย  จำนวน 2,000 คน เพื่อไปอบรมเกษตรกร  โดยมีกำหนดจัดอบรมเพื่อสร้างวิทยากรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2562

 

ทั้งนี้ วิทยากรที่ผ่านการอบรมทั้งหมดจะต้องไปอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรจำนวน 1.5 ล้านคน ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกพืช 6 ชนิด ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลัง   ข้าวโพด  ยางพารา  อ้อย  และไม้ผล   โดยเนื้อหาที่อบรมประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้ / อันตรายจากการใช้ ความเป็นพิษต่อร่างกาย   สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม / การใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย  โดยกำหนดจัดอบรมเกษตรกรดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2562    สำหรับผู้รับจ้างพ่น  จำนวน 50,000 คน กรมวิชาการเกษตรจะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม  2562 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร   กรมวิชาการเกษตร 

นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย  ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน  กำนัน  และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล  จำนวน 79,988 คน  โดยจะจัดอบรมเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด  และบทบาทหน้าที่  ความสำคัญของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ  ในช่วงระว่างเดือนมิถุนายน  2562

ตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้กำหนดพืชที่ให้ใช้พาราควอต  และไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชในการปลูกอ้อย  ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด  และไม้ผล เท่านั้น  ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก  พืชไร่  และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล   รวมทั้งได้กำหนดพื้นที่ห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยห้ามใช้ในพื้นที่ปลูกพืชผักหรือพืชสมุนไพร พื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่สาธารณะ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย  กรมทางหลวงชนบท ที่ใช้สารกำจัดวัชพืช เพื่อกำจัดวัชพืชข้างทางรถไฟ และข้างถนน กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย  แต่ต้องมาขออนุญาตเพื่อใช้สารกำจัดวัชพืช ตามพื้นที่และปริมาณที่กำหนดโดยตรงต่อกรมวิชาการเกษตร

“ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม  ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด  ส่วนผู้รับจ้างพ่นก็จะต้องผ่านการอบรมเช่นเดียวกัน  โดยต้องมีใบอนุญาตรับจ้างพ่น”  นายอนันต์ กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0