โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โรดโชว์สหรัฐปลุกลงทุน "ดิจิทัล" "พุทธิพงษ์" ปั้น EECd ไทยฮับอาเซียน"64

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 14 ธ.ค. 2562 เวลา 08.29 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2562 เวลา 09.37 น.
78988093_983245642031226_2326707797128904704_n

รมว.ดีอีเอส นำทัพโรดโชว์สหรัฐ MOU 5-6 บริษัทดิจิทัลปักฐาน EECd พร้อมหารือบีโอไอปรับสิทธิประโยชน์ ดูด “Data Center” ลงทุนไทย มั่นใจ ปี”64 ขึ้นแท่น “ฮับอาเซียน”

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2563 จะเดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักจูงการลงทุนกับบริษัทอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยขณะนี้มีบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างน้อย 10 บริษัท ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่ง 5 รายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลกในด้านดิจิทัลของสหรัฐ

“ในปี 2563 อุตสาหกรรมดิจิทัลจะทำการย้ายฐาน โดยเฉพาะบริษัทสหรัฐจะย้ายฐานการลงทุนจากจีน ซึ่งเขากำลังเลือกอยู่ระหว่างไทย หรือเวียดนาม เราต้องการที่จะดึงบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เข้ามาลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ที่ศรีราชา ให้เป็นรูปธรรม”

ตามแผนการโรดโชว์ของกระทรวงจะเดินทางไปยังสหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น เป็น 3 ประเทศเป้าหมายหลัก ด้วยการเปิดกว้างให้กับทุกประเทศที่สนใจที่จะเข้ามาลงทุน เช่น เกาหลีใต้ โดยจะไปสหรัฐเป็นประเทศแรกช่วงกลางเดือนมกราคม ต่อจากนั้นจะเป็นจีนและญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงได้ส่งทีมไปสำรวจความต้องการของบริษัทเป้าหมาย โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของสหรัฐ ตอบรับกลับมาแล้ว และมี 5-6 บริษัทได้ส่งทีมงานมาพูดคุยเพื่อเดินทางไปพบกับผู้บริหาร ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมที่อยู่ในการพัฒนาคลาวด์-ซอฟต์แวร์-ระบบสื่อสารอัตโนมัติ

“บริษัทยักษ์ใหญ่ 5-6 รายของสหรัฐตอบตกลงที่จะพบกัน และมีแนวทางที่จะร่วมมือและพร้อมที่จะมาลงนาม MOU เพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมในปี 2564 หรืออย่างน้อยในปี 2563 จะต้องมีบริษัทชั้นนำด้านดิจิทัลมาเซ็น MOU เพื่อเข้ามาลงทุนในไทยให้ได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว

ขอชัดเจน BOI

ล่าสุดทางกระทรวงดิจิทัลฯได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเสนอความเห็นและขอความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจกรรมอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยนายพุทธิพงษ์ต้องการให้มีการปรับปรุงประเภทของกิจการ การแยกประเภทให้ชัดเจน ในเรื่องของ 1) อุตสาหกรรมประเภทดิจิทัลที่จะได้รับการส่งเสริมลงทุนมีประเภทใดบ้าง อาทิ data center 2) เรื่องสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะกิจการประเภทอุตสาหกรรมดิจิทัล จะเพิ่มการขอรับส่งเสริมได้อย่างไร เนื่องจากแนวโน้มปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้กำลังจะย้ายฐานลงทุนออกจากจีน เข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ประเทศไทยมีความพร้อม แต่ประเภทกิจการที่มีอยู่เข้าใจยาก ถ้าใช้ไม้บรรทัดเดิมเทียบเคียงวัดเหมือนเดิม การดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยไม่ง่าย เพราะคู่แข่งไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนเดิมแล้ว แต่มีการให้ในเรื่องอื่น ๆ นอกจากภาษี เช่น การจ้างงาน work permit การอนุญาตให้แรงงานทักษะสูงมาทำงาน โดยไม่ต้องรายงานการพำนักอาศัย (ตม.30) รวมถึงการสนับสนุนไปถึงครอบครัว เช่น โรงเรียนนานาชาติ ถ้าเรามีสิทธิประโยชน์แบบสั่งตัดในแต่ละประเภทของอุตสาหกรรมดิจิทัลก็จะเป็นอาวุธดึงนักลงทุนให้เข้ามาในไทยได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว

หัวใจหลักที่กระทรวงกำลังผลักดันคือ government cloud ที่ CAT เป็นผู้ดำเนินการ ที่ต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยไม่รั่วไหล และเรื่อง data center ที่ต้องหารือ BOI เพื่อผลักดันให้สนับสนุนการแบ่งประเภทการลงทุนของ data center ให้ชัดเจน โดยปรับปรุงสิทธิประโยชน์ สามารถมาใช้ local data ได้ แต่ต้องมาลงทุน data center ในไทย เพราะที่ผ่านมาการสนับสนุนลงทุน data center ในไทยต้องวิเคราะห์หาสาเหตุที่ไม่จูงใจ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการผลักดันให้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น กฎหมายลูกของพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ เพื่อตีกรอบให้เข้ามาใช้ data center ในเมืองไทย

ปี”64 ขึ้นฮับดิจิทัลอาเซียน

ส่วนการจะเป็นฮับของอาเซียนได้นั้น ประเทศไทยจะต้องมี “ดิจิทัลพาร์ค” บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจะต้องเข้ามาลงทุนและใช้ไทยเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D), ดาต้าเซ็นเตอร์, โชว์รูม ใช้เป็นเลปออฟฟิศเมืองไทยให้ได้ ทางกระทรวงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2564 จะต้องประกาศให้ได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องของการผลักดันการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจให้คนรุ่นใหม่ แรงงานรุ่นใหม่ ๆ เซ็กเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น และสำคัญมากในอนาคต

“ในอนาคตเมื่อ 5G มาถึงไทยก็จะมีอุตสาหกรรมรองรับ 5G เกิดขึ้นทุกรูปแบบ มีอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ถูกปฏิวัติใหม่ จึงต้องมีระบบควบคุมสัญญาณต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนการผลิตแบบเดิม AI เพื่อการวิเคราะห์ในโรงงาน IOT หรือ smart home ในบ้าน ทุกอย่างต้องใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจต่าง ๆ ด้านดิจิทัลจะวิ่งเข้ามาที่ประเทศไทย เพราะสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเจาะตลาดภูมิภาคนี้ได้ ดังนั้นหากในไตรมาส 1-2 ปี 2563 เรายังไม่สามารถดึงบริษัทด้านดิจิทัลชั้นนำมาลงนาม MOU ได้จะลำบาก เนื่องจาก EECd ที่อยู่ใน EEC จำเป็นต้องเรียกความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดภาพใหญ่ เราต้องจุดประกายขึ้นมาให้ได้” นายพุทธิพงษ์กล่าว

เตรียมเปิดประมูล EECd ใหม่

ในเดือนมกราคม 2563 บริษัท กสท โทรคมนาคม (CAT) จะต้องเปิดประมูล โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้ได้ หลังจากที่เคยเปิดประมูลหาผู้ร่วมลงทุนไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฏไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจ ทั้งนี้ โครงการ EECd พื้นที่ 700 ไร่ เบื้องต้นมีพื้นที่พร้อมที่จะพัฒนาจำนวน 569 ไร่ พื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา โดยการเปิดประมูลครั้งใหม่จะทำการปรับเกณฑ์ใน TOR อาทิ การแบ่งจ่ายรายได้ให้กับรัฐ หรือระยะเวลาการก่อสร้างเฟสแรก ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0