โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรงภาพยนตร์ไม่มีวันตาย: มองโลกภาพยนตร์หลังวิกฤต กับ ก้อง ฤทธิ์ดี

The101.world

เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 09.13 น. • The 101 World
โรงภาพยนตร์ไม่มีวันตาย: มองโลกภาพยนตร์หลังวิกฤต กับ ก้อง ฤทธิ์ดี

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพนำจาก commecestbon.com

 

‘ความตายของโรงภาพยนตร์’ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีการชมภาพยนตร์รูปแบบใหม่ เช่นในช่วงการเกิดขึ้นของเทปวิดีโอ ดีวีดี บลูเรย์ ที่ทำให้การชมภาพยนตร์ที่บ้านมีความคมชัดมากขึ้น ได้อรรถรสมากขึ้น แต่การชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ก็ยังยืนหยัดผ่านยุคสมัย และพิสูจน์ว่าเป็นกิจกรรมที่ยังไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีอื่น ทั้งขนาดจอภาพ แสง เสียง บรรยากาศ ความคุ้นเคย 

จนมีการเกิดขึ้นของภาพยนตร์สตรีมมิง ที่ทำให้การชมภาพยนตร์ที่บ้านเข้าถึงคนวงกว้างได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ละแพลตฟอร์มก็พยายามสร้าง original content ที่ผู้ชมจะหาชมไม่ได้จากแพลตฟอร์มอื่น

การระบาดของโควิด-19 นอกจากทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องหยุดชะงักแล้ว ยังทำให้ธุรกิจภาพยนตร์ต้องปรับตัวเมื่อโรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ภาพยนตร์บางเรื่องที่กำลังจะเข้าโรงปรับแผนมาเปิดตัวบนสตรีมมิง ตลาดซื้อขายภาพยนตร์ปรับเปลี่ยนไปอยู่ในช่องทางออนไลน์ และการต้องอยู่บ้านในช่วงโรคระบาดทำให้ผู้คนขลุกอยู่กับการชมภาพยนตร์สตรีมมิง

ทั้งหมดนี้อาจเป็นปัจจัยเร่งไปสู่คำถามที่ว่า การชมภาพยนตร์สตรีมมิงจะเข้ามาแทนที่การชมภาพยนตร์แบบดั้งเดิมหรือไม่ และวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

101 สนทนากับก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ถึงความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก จนถึงวงการภาพยนตร์ไทย และวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

 

โควิด-19 ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดชะงัก รวมถึงวงการภาพยนตร์ ตอนนี้แม้โรงภาพยนตร์จะกลับมาเปิดให้บริการแล้วแต่ก็ยังไม่มีหนังใหม่เข้าฉาย หากเทียบกับวิกฤตอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ สงคราม การก่อการร้าย หรือโรคระบาดอื่นๆ สิ่งที่โลกภาพยนตร์เผชิญอยู่ตอนนี้หนักแค่ไหน

วิกฤตครั้งนี้มีบุคลิกหรือรายละเอียดที่ต่างจากวิกฤตอื่นๆ ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เคยเจอมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก วิกฤตเศรษฐกิจ หรือย้อนไปถึง The Great Depression 1930 รวมถึงวิกฤตในแต่ละประเทศอย่างสงครามกลางเมืองหรือก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกา

โควิดเป็นวิกฤตของทั้งโลก ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เงื่อนไขของวิกฤตนี้ก็แตกต่างจากวิกฤตอื่น ทั้งจากตัวไวรัสเองและความเป็นไปของโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นในวิกฤตอื่นๆ

เท่าที่เห็นวิกฤตครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะหนักกว่าครั้งอื่น เพราะช่วงสงครามโลกโรงหนังก็ยังเปิดอยู่ ในอังกฤษช่วงเวลาสงครามโลกก็ใช้หนังเป็นเครื่องมือในการสร้างขวัญกำลังใจ หรือ propaganda ตอนเกิดสงครามโลกโรงหนังในอเมริกาก็ยังเปิดฉายได้ ช่วงเกิดเหตุก่อการร้ายโรงหนังก็ไม่ได้ปิดนาน

ตอนนี้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องชะงักไป คนทำงานโรงหนังก็ลำบาก หนังสือภาพยนตร์หรือคนเขียนวิจารณ์ยังอาจเขียนในออนไลน์ได้ แต่บรรยากาศโดยรวมซบเซาลง แม้ตอนนี้จะเริ่มคลายตัว แต่อย่างน้อย 3-6 เดือนกว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง อาจต้องรอปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม

 

สภาวะที่มีการปิดตัวของบริษัทในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และคนจำนวนมากตกงาน มองไปข้างหน้าจะส่งผลให้วงการภาพยนตร์ซบเซาแค่ไหนและจะกระทบกระบวนการสร้างภาพยนตร์ในอนาคตไหม

พอโรงหนังปิด อันดับแรกที่ลำบากคือกองถ่ายภาพยนตร์ต้องหยุดงาน คนที่ทำงานกองถ่ายในประเทศไทยอยู่ในสถานะของฟรีแลนซ์หรือลูกจ้างชั่วคราวอยู่แล้ว ไม่มีสหภาพหรือสวัสดิการรองรับที่ชัดเจน คนในกองถ่ายจึงรับผลแต่แรกเลย เป็นโอกาสดีที่ตอนนี้มีความพยายามพูดถึงเรื่องการมีสหภาพ คนทำงานกองถ่ายภาพยนตร์หรือละครก็เป็นงานครีเอทีฟแบบหนึ่ง แต่กลับไม่มีมาตรการหรือกฎหมายรองรับที่ชัดเจน ไม่มีการรวมตัวที่ชัดเจนเพื่อปกป้องสิทธิต่างๆ รวมถึงเรื่องทำงานเกินเวลา วันละ 12-16 ชั่วโมง พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือ แม้จะมีคนช่วยกันระดมกองทุนขึ้นมาแต่ก็ไม่ได้อยู่ในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจจริง จึงเป็นโอกาสอันดีที่กลับมาพูดถึงคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ถูกลืม

ในระดับโลก แม้แต่ในอเมริกาก็ลำบาก เพราะกองถ่ายและโรงหนังยังไม่เปิด แม้จะเริ่มเปิดบ้างแล้วก็ไม่ใช่ในวงกว้างและยังไม่มีหนังใหม่เข้า เพราะฉะนั้นทุกอย่างซบเซา ชะลอตัวทั้งหมด ทุกคนคิดว่าอย่างน้อยจะอยู่ในภาวะนี้ถึงสิ้นปี

เงื่อนไขที่ทำให้อุตสาหกรรมฟื้นตัว คือ

1. หนังใหม่เข้า ซึ่งหมายถึงหนังฮอลลีวูด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องยนต์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งโลกอยู่ที่ฮอลลีวูด

2. คนดูจะต้องเริ่มมั่นใจในการกลับเข้ามาในโรง ที่พูดกันว่า "เราจะเอาชนะโควิด" ส่วนตัวคิดว่าเราจะประกาศว่าชนะโควิดได้ก็ต่อเมื่อคนเข้าไปดูหนังในโรงโดยไม่กังวล ถ้ามีคนไอหรือจามก็ไม่ได้แตกตื่นตกใจวิ่งหนีออกมา คนในสังคมต้องมีความเชื่อมั่นในกิจกรรมเดิมๆ ที่แสนง่ายดาย อย่างการนั่งอยู่ด้วยกันแบบมนุษย์ทั่วไป จึงจะฟื้นฟูความศรัทธาในมนุษยชาติขึ้นมาได้

หนังใหญ่ของฮอลลีวูดที่ทุกคนรอว่าจะทำให้คนกลับเข้ามาในโรงคือ Tenet ของ Christopher Nolan ที่เลื่อนไปเดือนสิงหาคมแล้ว คนคาดว่าหนังของ Nolan ซึ่งมีแฟนทั่วโลกจะช่วยปั๊มหัวใจกลับขึ้นมา ทำให้ทุกคนกลับเข้าไปอยู่ในโรงภาพยนตร์ ก็ต้องรอดูกันต่อไป

 

ภาพจากภาพยนตร์ Tenet

 

ปีนี้ไม่สามารถจัดเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้ และไม่แน่ว่าเทศกาลอื่นๆ ที่ตามมาจะจัดได้หรือไม่ การไม่มีเทศกาลเหล่านี้สร้างผลกระทบอย่างไรต่อวงการภาพยนต์

เทศกาลหนังในโลกมีเยอะ แต่เทศกาลคานส์คล้ายเป็นหัวใจที่สูบฉีดเลือดออกไป ปั๊มหนังใหม่ๆ สูบฉีดเงินให้หมุนอยู่ในระบบ คนทั่วไปอาจจะมองเทศกาลหนังเมืองคานส์ว่าเป็นงานหรูหราพรมแดง ซึ่งก็ถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือการเป็นตลาดหนังขนาดใหญ่ที่ทุกคนมาซื้อขายหนังนอกเหนือจากหนังฮอลลีวูดที่มีช่องทางของตัวเอง

คานส์เป็นตลาดใหญ่รองรับหนังจากประเทศต่างๆ รวมถึงหนังไทย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในการจัดจำหน่าย เมื่อคานส์จัดไม่ได้เลยเปลี่ยนเป็นตลาดออนไลน์แทน เขาพยายามเลี้ยงให้เครื่องยนต์เดินต่อไป แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนการได้เจอกันจริงๆ ไปนั่งคุย กินข้าว ตกลงกัน จะง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่า

การมี virtual market อย่างน้อยก็ช่วยหล่อเลี้ยงได้ แต่ก็กระทบกับหนังหลายเรื่อง คนที่รอได้ก็รอปีหน้าเลย คนที่รอไม่ได้ก็ต้องหาทางอื่น เช่น ไปลง Netflix หรือสตรีมมิงอื่น

ธุรกิจภาพยนตร์ถูกดิสรัปต์ ถูกกระชากปลั๊กออกด้วยสถานการณ์โควิด พอคานส์ที่เป็นหัวใจสูบฉีดเลือดดับไป ทุกคนก็ระส่ำระสาย ฮอลลีวูดก็แย่ คานส์ก็แย่ แย่ไปทั้งโลก ตอนนี้โรงหนังในไทยเปิดฉายแล้ว แต่ก็ค่อนข้างเงียบ เราเพิ่งจะมาถึงจุดที่แย่ที่สุด ก็ต้องค่อยๆ รอมันฟื้นขึ้นมา ใจเย็นหน่อยและหวังว่าจะไม่เกิดระลอกสอง

 

เมื่อคนกักตัวอยู่บ้านและโรงภาพยนต์ไม่เปิดให้บริการ อาจทำให้คนคุ้นชินกับการชมภาพยนต์สตรีมมิงที่บ้านมากขึ้น สิ่งที่ทุกคนถามคือคนจะไปโรงภาพยนต์น้อยลงไหมเมื่อโควิดบรรเทา

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ และเป็น existential question ของคนดูหนังว่าต้องดูหนังในโรงไหม เมื่อตอนนี้ทุกคนดูจอเล็กจนชินแล้ว คำตอบก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล และอาจจะขึ้นอยู่กับรุ่นของคนดูหนัง ถ้ารุ่นใหม่อาจตอบได้ว่า "ยังไงฉันก็จะดูทางไอแพด ไอโฟน หรือทีวีอยู่แล้ว" ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าหน่อยก็ยังอาจจะบอกว่า "มันก้ำกึ่งนะ โรงหนังก็ยังมีอยู่"

คำถามที่ว่าคนจะดูหนังสตรีมมิงกันหมดไหม เป็นคำถามที่ถามกันมานานแล้ว เหมือนกับตอนที่มีวิดีโอ คนก็บอกว่า "ดูวิดีโอที่บ้านได้แล้ว คนจะดูหนังในโรงไหม" หรือ "ดูดีวีดีได้ชัดมากแล้ว คนจะดูหนังในโรงไหม" แต่ภาพยนต์ดั้งเดิมแบบฉายโรงก็อยู่รอดมาตลอด ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่อย่างไร

จำนวนคนดูหนังในโรงไม่ได้ลดลง เมื่อ 2-3 ปีก่อนในจีนก็ยังสร้างโรงหนังใหม่อยู่เลย พอสตรีมมิงหรือหนังออนไลน์เข้ามา คนกลัวว่าเทคโนโลยีใหม่จะแย่งคนดูจากโรงหนัง แต่พอนึกย้อนไปตอนวิดีโอหรือดีวีดีก็ดูเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นตอนนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคนมากกว่าเดิม คนดูรุ่นใหม่เติบโตมากับจอเล็กและสตรีมมิง ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ดูเป็นผลลบกับโรงหนังมากกว่าเดิม แต่อย่างเกาหลีที่ทำหนังสตรีมมิง-หนังทีวีสนุก ดูกันทั้งโลก Crash Landing On You, Itaewon Class ฯลฯ แต่จำนวนคนดูหนังในโรงของเกาหลีปีที่แล้วก็ไม่ได้ลดลง ยอดจำหน่ายตั๋ว 200 ล้านใบขึ้นไป ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเมืองของคนดูหนังก็ไม่ได้ลดลง อเมริกาอาจจะลดลงนิดหน่อยแต่ไม่เห็นแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2016-2019 ที่สตรีมมิงเข้ามามีบทบาทไม่ได้พิสูจน์ว่าทำให้คนดูหนังโรงน้อยลง

ในปี 2020 ตัวเลข box office ลดลงแน่นอน โรงหนังในอเมริกาปิดไป 3-4 เดือนแล้ว เกาหลีก็ปิดและแม้จะเปิดก็ยังไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเดิม ฝั่งเกาหลีรอ Peninsula ซึ่งเป็นภาคต่อของ Train to Busan ว่าเรื่องนี้จะเป็นความหวังมารีสตาร์ททุกอย่าง

โลกของภาพยนต์หลังจากนี้ การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงหนังกับหนังออนไลน์จะต้องแนบชิดกว่าเดิม เชื่อว่ายังไงหนังโรงก็ยังอยู่ ที่พูดกันว่า “ตายละ โรงหนังทั้งโลกจะต้องปิดหมดเพราะคนดูหนังสตรีมมิง” ยังไงก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

ผู้กำกับหนังจำนวนมากยังทำหนังด้วยความคิดว่าจะฉายโรง ด้วยสุนทรียศาสตร์ ศิลปะ ความเชื่อในสื่อนี้ ผู้กำกับบางคนอาจทำหนังโรงและทำหนังออนไลน์ด้วย เช่น Martin Scorsese ที่ทำหนังโรงมาตลอดชีวิต แต่เรื่อง The Irishman ฉายแบบจำกัดโรงในสหรัฐอเมริกาและมาลง Netflix ด้วย หรือ David Fincher ที่เป็นคนเก่งมาก ก็ทำทั้งหนังออนไลน์และหนังโรง

ส่วนสตูดิโอซึ่งเคยทำแต่หนังโรงก็อาจคิดว่าหลังจากฉายโรงหนึ่งเดือนก็มาลงออนไลน์เลย เมื่อก่อนฉายโรงแล้วรอหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะมาลงสตรีมมิง เดี๋ยวนี้แม้แต่หนังไทยผ่านไป 3 เดือนก็ลง Netflix แล้ว

ความสัมพันธ์เหล่านี้จะเกื้อกูลแนบชิดและพึ่งพากันมากขึ้น คนดูก็อาจต้องเลือกดูทั้งหนังโรงและหนังออนไลน์ แต่เชื่อว่าโรงหนังและการดูหนังในโรงเป็นประสบการณ์ร่วมที่น่าจะยังอยู่ต่อไป ไม่น่าจะหายไป

ไม่นานมานี้ได้คุยกับคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เขาบอกว่าการดูหนังในโรงจะยิ่งพิเศษกว่าเดิม คนจะรู้สึกว่าการดูหนังในโรงมันขลัง มีมนต์เสน่ห์กว่าเดิม เป็นโอกาสที่พิเศษกว่าเดิม ขณะที่การดูหนังออนไลน์กลายเป็นกิจกรรมที่เราเปิดทีวีทิ้งไว้แล้วเดินไปเดินมาได้ เพราะฉะนั้นการอยู่ร่วมกันระหว่างสองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไป แต่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่โรงหนังจะหายไป

 

 

ที่ผ่านมามีผู้กำกับดังบางท่านแสดงออกชัดเจนว่าไม่ยอมรับการฉายภาพยนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิง มองยังไงกับความเห็นที่ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มาทำลายศิลปะภาพยนตร์

ศิลปะภาพยนตร์คือศิลปะของภาพเคลื่อนไหว ศิลปะของการเล่าเรื่อง ขนาดของจอหรือช่องทางที่จะทำให้ภาพเคลื่อนไหวนั้นไปสู่ผู้ชมก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หนังทีวีก็มีมาตั้งแต่เก่าแก่แล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าสื่อของภาพเคลื่อนไหวกว้างขวางและยิ่งใหญ่พอที่จะรองรับสุนทรียศาสตร์ที่เกิดจากความแตกต่างในเชิงการออกแบบภาพหรือการเล่าเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นจอใหญ่มาก จอเล็ก หรือแม้กระทั่งจอโทรศัพท์

คนทำหนังหลายคนพูดเลยว่าถ้าคุณดูหนังผมในจอเล็กมันก็ไม่ใช่ เพราะเราออกแบบทุกอย่างมาเพื่อให้อยู่บนจอใหญ่ ในขณะเดียวกันก็มีผู้กำกับอย่าง Alfonso Cuaron ที่กำกับเรื่อง Roma ฉายบน Netflix จนโด่งดังเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เห็นได้ชัดว่าเขาออกแบบหนังเรื่องนี้ด้วยความคิดว่าจะฉายบนจอใหญ่ การวางองค์ประกอบภาพ วิธีการเล่าเรื่อง จังหวะ การตัดต่อ ฯลฯ ทำมาเพื่อจอใหญ่ และในอเมริกาก็ได้ฉายเรื่องนี้ในจอใหญ่ เมืองไทยยังโชคดีที่เขาเอามาฉายที่สกาลาช่วงหนึ่งพร้อมกับ Netflix คนก็เลือกดูได้ว่าจะดูจอใหญ่หรือจอเล็ก

มีคนสร้างงานอีกจำนวนมากที่ยังเชื่อในภาษาของภาพยนต์ในแบบจอใหญ่ดั้งเดิม แม้ว่าจะถูกนำไปฉายในจอเล็ก นักเรียนภาพยนตร์ก็ถูกปูพื้นฐานให้เชื่อใน black bone หรือ foundation ของศิลปะภาพยนตร์ในแบบที่ต้องฉายจอใหญ่ ฉะนั้นหนังสตรีมมิงไม่ได้ทำให้สุนทรียศาสตร์ของศิลปะภาพยนตร์เสียไป

หลายคนพูดว่าพอคนดูหนังจอเล็กเยอะขึ้น คนทำหนังก็จะคิดใหม่ เช่น ไม่ค่อยมีภาพกว้าง มีแต่ภาพแคบ เพราะจอมันเล็ก ไปถ่ายวิวกว้างๆ แล้วจะเห็นทุกอย่างเล็ก เลยต้องถ่ายใกล้หน่อยจะได้เห็นชัด หรือบทพูดต้องเยอะขึ้น เพราะคนดูเดินไปเดินมา ลุกไปกินน้ำ ลุกไปเข้าห้องน้ำ บทพูดจึงอาจต้องเยอะหน่อยเพื่อคนจะตามเรื่องได้ ซึ่งก็อาจจะมีหนังหรือซีรีส์บางประเภททำแบบนี้ แต่มันก็เป็นพาร์ทหนึ่งของภาพยนตร์ ยังมีอีกหลายพาร์ทที่เป็นศิลปะมากๆ พาร์ทที่เป็นศิลปะกลางๆ พาร์ทที่อยากจะลึกซึ้งเรื่องภาพ พาร์ทที่ลึกซึ้งเรื่องปรัชญา

ซีรีส์แบบที่มีแต่เรื่อง ไม่มีสไตล์ ไม่มีฟอร์แมต เป็นแค่ subset ของสิ่งอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ภาพยนตร์

                                        

หลังจากนี้เราจะเห็นหนังที่สร้างสำหรับแพลตฟอร์มสตรีมมิงได้รับการต้อนรับในเวทีระดับโลกมากขึ้นหรือเปล่า

ตอนนี้หลายเทศกาลก็เริ่มแล้ว แต่ยังถูกแปะป้ายว่าเป็นหนังซีรีส์ เทศกาลใหญ่ๆ จะมีเซกชันของหนังซีรีส์ เพราะผู้กำกับเก่งๆ หลายคนก็ไปทำซีรีส์ อย่าง Twin Peaks ของ David Lynch ซึ่งเป็นหนังจอเล็กแต่หลายสำนักยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีหลังนี้

พื้นที่ของหนังจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงมีมากขึ้นแน่นอนและด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจทำให้มากขึ้นไปอีก เช่น ปีนี้ออสการ์ยอมให้หนังที่ตอนแรกจะฉายโรงแล้วไม่ได้ฉายจนต้องไปลงจอเล็ก มีสิทธิ์ชิงรางวัลออสการ์ จากเดิมที่ออสการ์ให้เฉพาะหนังที่เข้าโรงใหญ่เท่านั้น รวมถึงการที่ Netflix เป็นสตูดิโอที่มีเพาเวอร์ มีเงินให้คนทำหนังมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลถึงการเมืองเรื่องรางวัลหรือการเมืองการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ

ปีที่แล้ว Netflix มีหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์อย่าง The Irishman ปีก่อนหน้านั้นก็มี Roma เราจะเห็นว่าสตรีมมิงมีพลังมากขึ้น

 

ที่บอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างการชมหนังในโรงภาพยนตร์กับการชมสตรีมมิงที่บ้านจะแนบชิดกันมากขึ้น เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคตเราจะรับชมหนังใหม่ผ่านสตรีมมิงมากขึ้น หรือบริษัทภาพยนตร์เลือกเปิดตัวหนังใหม่ผ่านสตีมมิงไปเลย

เป็นไปได้และเป็นไปแล้วที่หนังใหม่จะลงสตรีมมิงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งทางเลือกน้อย ในอเมริกาตอนที่โควิดหนักๆ หนังการ์ตูน Trolls World Tour ก็ไม่รอแล้ว เอาลงสตรีมมิงแบบจ่ายเงินดูไปเลย แล้วก็ได้เงินเยอะแยะ ฉะนั้นการฉายทางสตรีมมิงไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคู่แข่งกัน

ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น หากเราเป็นคนทำหนังที่มีหนังดีประมาณหนึ่งแต่ไม่ค่อยดัง เราก็อาจตัดสินใจเอาหนังลงสตรีมมิงไปเลย แต่หนังสตรีมมิงก็มีปัญหา คล้ายเราเดินเข้าไปในร้านวิดีโอ จะรู้ได้อย่างไรว่าหนังดีอยู่ตรงไหน จะรู้ได้ยังไงว่าอัลกอริทึมจัดหนังอะไรมาให้

หนังดีๆ หลายเรื่องจมหายไปในร้านวิดีโอหรือในเมนูของสตรีมมิง ถ้าคุณเป็น Martin Scorsese ที่ทำ The Irishman หรือ Alfonso Cuaron ที่ได้รางวัลออสการ์มาแล้วทำ Roma พอลงสตรีมมิงคนก็แห่ไปดูเพราะชื่อคุณและแรงโปรโมทของหนัง แต่ถ้าเป็นคนทำหนังใหม่หรือไม่ดังมาก ลงสตรีมมิงแล้วก็หายหมด ไม่มีใครหาเจอหรอก โห…มีเมนูมาให้เลือก 30 เรื่อง สุดท้ายก็ดูหนังเกาหลีอยู่ดี เพราะขี้เกียจกดหา

คนทำหนังก็คิดว่าสตรีมมิงเป็นทางออก แต่ก็มีปัจจัยด้านลบแบบนี้ หนังจมหายไปกับอัลกอริทึม เพราะชื่อคุณไม่สามารถเบียดขึ้นมาสู้ได้ ตอนนี้ Netflix มี Spike Lee คนก็แห่ไปดู ก่อนจะไปดูหนังอะไรก็ไม่รู้ที่ซ่อนอยู่

การที่คนหรือสื่อพูดถึงหนังก็เช่นกัน หนังโรงจะถูกรีวิวไม่ว่าแง่บวกหรือลบ แต่ทุกคนอยากแลกเปลี่ยน เป็นวัฒนธรรมการถกเถียง เป็นกิจกรรมเชิงสติปัญญาของการพูดถึงหนัง พอเป็นหนังสตรีมมิง คนจะพูดถึงแต่หนังดัง หนัง-ซีรีส์ระดับกลางหรือเล็กจะไม่ได้รับการเขียนถึงหรือมีน้อยมาก ไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ

สตรีมมิงมีข้อดี เป็นทางอยู่รอดในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีทางอื่น แต่โลกนี้มีหนังเยอะเกินไปมานานแล้ว และสตรีมมิงทำให้เราเห็นความเยอะนั้น ทำให้เห็นว่าเราถูกรายล้อมด้วยหนังจำนวนมากเกินไป แล้วเราจะไปเลือกได้อย่างไร ถ้าคุณเป็นคนสร้าง คุณจะไปอยู่จุดไหนในมหาสมุทร ในขณะที่โรงหนังแบบดั้งเดิม มีสถานะที่ทางชัดเจนกว่า

ฉะนั้นความสัมพันธ์ของโรงหนังและสตรีมมิงจะใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นด้วยเงื่อนไขในแบบของมันเอง คนทำหนังก็ต้องลองคิดดูว่าจะอยู่ตรงไหน

 

ภาพจากภาพยนตร์ Roma

 

แต่ก็มีความคิดที่ว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงเปิดโอกาสให้หนังฟอร์มเล็กมีพื้นที่ฉายมากขึ้นหรือทำให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น

จริงๆ แล้วสตรีมมิงหรือแม้แต่ YouTube ที่มีมาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็เปิดสนามเด็กเล่นให้ทุกคนเข้าไปเล่นได้ เป็นประชาธิปไตยของเรื่องเล่า ใครจะเล่าอะไรก็ได้ เราจะทำหนังวันนี้แล้วก็โหลดลง YouTube ก็ได้ ทุกคนมีเสียง มีสิทธิที่จะพูดออกไป

แต่พอมันเยอะขนาดนั้น คนดูเดินเข้าไปในร้านขนมที่มีสีสันเต็มไปหมดเราจะหยิบอันไหนที่มันเด่นออกมา เป็นหรือเปล่าเวลากดดู Netflix หรือ YouTube ไปประมาณ 15 นาทีแล้วไม่รู้จะดูอะไร กดซ้ายกดขวาไปเรื่อยๆ เขาเรียกว่า ‘สัมภเวสีที่วนอยู่ในหน้าเมนู’ ไปลงที่ไหนก็ไม่ได้ ผ่านไปครึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่ได้ดูสักเรื่อง สุดท้ายก็ไปทำอย่างอื่น

การที่เปิดพื้นที่ให้คนเล่นมันก็ดี ขณะเดียวกันคนเล่นต้องรู้ว่าอยู่ในสถานการณ์ซึ่งคุณเป็นหนึ่งในตัวเลือกจากนับร้อยตัวเลือก ถ้าหนังดีจริง เบียดผ่านทุกอย่างขึ้นมาจนคนจำได้ก็ดี แต่ว่าถ้าหนังดีจริง แล้วใช้แพลตฟอร์มอื่นมันก็จะช่วยไหม วิธีดั้งเดิมที่จะสร้างโปรไฟล์และชื่อเสียงคือต้องไปเทศกาลหนังซึ่งดีกว่าแน่นอน หรือถ้าหนังได้เข้าโรงแล้วมีคนเขียนถึงเยอะก็ดีกว่าแน่นอน แต่ก็ต้องไปสู้รบตบมือเพื่อจะได้เข้าโรง ถ้าลงสตรีมมิง คุณขายในราคาถูกกว่า ได้เงินน้อยกว่า และต้องไปเบียดในอัลกอริทึมเยอะแยะ แน่ใจได้อย่างไรว่าคนจะมาดู

ถ้าเปรียบเทียบว่าเป็นประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งมีพรรคเยอะแยะ พรรคเล็กมีนโยบายดีมาก แต่ยากที่คนหมู่มากจะมองเห็น อาจจะมีคนแค่กลุ่มหนึ่งที่มองเห็นคุณ มันก็มีข้อดีข้อเสีย นี่เป็นโลกการดูหนังปัจจุบัน คนดูจะต้องทำงานหนักขึ้น คนสร้างก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นเดียวกัน

 

หากมองว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างขึ้น แล้วคนทำหนังไทยได้รับโอกาสหรือทุนจากสตรีมมิงเหล่านี้แค่ไหน จะเป็นโอกาสสำหรับคนทำหนังทางเลือกในไทยหรือสุดท้ายเขาก็มุ่งไปหาผู้กำกับคนดังเหมือนเดิม

สตรีมมิงอย่าง Netflix ให้เงินสร้างหนังเยอะ แต่สำหรับไทยเขาใช้วิธีซื้อคอนเทนต์ที่มีอยู่แล้ว เช่น ซีรีส์ที่เคยฉายช่องต่างๆ ที่ให้เงินทำจริงๆ ตอนนี้มีแค่เรื่องเดียวคือ เคว้ง (The Stranded) ที่ฉายไปปีที่แล้ว

Netflix หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงอื่นๆ เป็นแหล่งเงินระดับนานาชาติซึ่งคนไทยมีสิทธิเข้าถึงมากขึ้น แต่ก็ต้องไปวัดกันด้วยฝีมือและคุณภาพอยู่ดี และมันก็ไม่ง่าย ขณะที่แต่ก่อนคุณแข่งเพื่อหาแหล่งเงินในประเทศไทย แต่พอเป็นแหล่งเงินสากลเท่ากับว่าคุณต้องแข่งกับคนทั้งโลก

คนทำหนังไทยประสบปัญหามาตลอด ด้วยแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้ฟู่ฟ่าเหมือนที่อื่น ตลาดไม่ได้โตมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นในรอบ 10 ปี หนังในระบบอาจจะดีกว่าหน่อยแต่ก็ต้องดิ้นรนเหมือนกันในช่วงหลัง หนังนอกระบบยิ่งหนัก หาเงินซัพพอร์ตได้ลำบากขึ้น

ตอนนี้สตรีมมิงดูเป็นความหวัง แต่เท่าที่เห็นก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ต้องต่อสู้กัน มีความยากง่ายในแบบของมันเอง ตามหลักฐานคือมีแค่เรื่องเดียวที่ได้ทุนจาก Netflix

 

ล่าสุดโรงภาพยนตร์สกาลาได้ปิดตัวลง มองว่าการจากไปของโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ กำลังบอกอะไรเรา ถือว่าเป็นหมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงได้ไหม

ทุกคนก็เห็นว่าเป็นการสิ้นสุดของโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดยังพอมีอยู่ แต่ในเชิงสัญลักษณ์ก็ดูเศร้าเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่คือสัญลักษณ์ของกิจกรรมแบบหนึ่ง เป็นยุคสมัยหนึ่ง 

พูดกันตามตรงสกาลาไม่ได้อยู่ในช่วงรุ่งเรืองที่สุดเหมือนที่เคยเป็นมาแต่ก่อนอยู่แล้ว เขาก็รู้ตัว ฝืนมาได้ถึงตรงนี้ถือว่าเก่งมากแล้ว

น่าเสียใจที่สกาลาจะต้องไป เพราะการดูหนังในโรงใหญ่ๆ แบบนี้ไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคและรูปแบบเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โรงหนังอย่างสกาลามันไม่มีที่ทาง คุณฉายหนังได้แค่วันละ 5 รอบ ขณะที่โรง multiplex ฉายได้หลายสิบรอบ โครงสร้างและระบบธุรกิจแบบนี้ไม่มีที่ทางในทุนนิยมปัจจุบันซึ่งฉาบฉวยกว่า อาศัยความเร็ว และตอบสนองรสนิยมการใช้ชีวิตซึ่งด่วนและเร็วกว่า

สกาลาเชยไปจริงๆ แต่ก็น่าเสียดายถ้าเราจะต้องเร็วทุกอย่าง แม้สกาลาจะดูเก่าหน่อย แต่ก็ยังดีที่มีชอยส์ให้เรา ตอนนี้ไม่มีชอยส์แล้ว น่าเสียดาย

 

ภาพโดย เมธิชัย เตียวนะ

 

สิ่งที่พูดกันมานานว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนคนทำหนังหรือพื้นที่ในการดูหนัง คิดว่าควรเริ่มทำที่ตรงไหน เป็นไปได้ไหมที่ภาคเอกชนจะสร้างเครือข่ายในการสนับสนุนกันขึ้นมาเอง เพราะอาจหวังการสนับสนุนอย่างเป็นระบบจากภาครัฐได้ยาก 

เรื่องนี้พูดกันมานานว่ารัฐบาลควรจะสนับสนุนอย่างไร ซึ่งมีหลายกระแส รัฐบาลไทย นักการเมืองไทยหรือข้าราชการมักจะอ้างเกาหลีว่า 20 ปีที่แล้วยังตามหลังเราอยู่ แต่ตอนนี้เป็นมหาอำนาจในทุกอย่างรวมทั้งทางวัฒนธรรม ทำไมเราทำอย่างนี้บ้างไม่ได้ 

เกาหลีมีโครงการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เขาไขปริศนาสำคัญได้ว่าภาพยนตร์เป็น ‘วัฒนธรรม’ หรือ ‘การค้า’ เกาหลีบอก "กูจะเอาทั้งสองอย่าง" การค้าก็คือขายได้ คนดูกันทั่วโลก ขณะที่วัฒนธรรมคือได้ทั้งปาล์มทองคำ ได้ทั้งออสการ์ นักวิจารณ์ชื่นชอบ มีตำราเกี่ยวกับภาพยนตร์เกาหลีมากมายออกมา หอภาพยนตร์เกาหลีก็มีผลงานบูรณะหนังเก่าๆ มากมาย มันไปได้ทั้งสองทางพร้อมกันโดยที่ไม่ต้องเลือก

ถ้าคุยกับคนเกาหลี เขาจะบ่นว่ามีปัญหานู่นนี่ แต่สำหรับคนนอกที่มองเข้าไปเห็นว่ามันประสบความสำเร็จทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยทำไม่ได้ ไทยพอจะสนับสนุนการค้า ก็ขายๆๆ แต่ไม่สนับสนุนคนหน้าใหม่หรือไม่ฟูมฟักคนเก่งที่อายุไม่มาก อย่างหนังนักเรียน หนังอินดี้

การมีนโยบายที่สนับสนุนสองสิ่งนี้คู่กันนั้นทำยาก เกาหลีมีเสรีภาพในการแสดงออก คุณจะทำหนังอะไรก็ได้ ด่ารัฐบาลแค่ไหนก็ได้ เอาประวัติศาสตร์การลอบสังหาร การปฏิวัติ หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูมาทำเป็นหนังได้หมด อย่างเรื่อง A Taxi Driver ก็เป็นเรื่องปฏิวัติกวางจูและส่งไปออสการ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ในเชิงธุรกิจ ช่วงแรกเกาหลีกำหนดโควตาว่าโรงต้องฉายหนังเกาหลี ให้เงินสนับสนุนคนทำหนังทั้งคนเก่าคนใหม่ มีโมเดลที่หน่วยงานสนับสนุนภาพยนตร์สามารถไปลงทุนในหนังและได้เงินกลับมาด้วย เขามีโมเดลซับซ้อนมากและเราส่งคนไปเรียนมาหลายรอบ ก็เอากลับมาใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง

ปริศนาหลักคือเราต้องเห็นว่าภาพยนตร์เป็นทั้งวัฒนธรรม-การแสดงออกทางศิลปะ และการค้า แม้ส่วนตัวผมจะเอียงมาทางสายวัฒนธรรมมากกว่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองอย่างต้องไปคู่กัน

คุณเซนเซอร์หนังไม่ได้ ต้องปล่อยให้เขาทำอย่างที่อยากทำ อย่าไปอ้างแค่ Crash Landing on You หรือ Itaewon Class เกาหลีเขาทำหนังด่าประเทศตัวเองได้และไม่มีใครไปว่าชังชาติ ถ้าจะอ้างเกาหลีก็ต้องอ้างให้ครบ อย่าไปอ้างแค่ครึ่งเดียว

ส่วนเรื่องสถานที่ฉายหนัง หนังอินดี้มีปัญหาเพราะโรงภาพยนตร์ถูกกำหนดด้วยระบบธุรกิจ หนังเล็กๆ ที่ดีก็ไม่ค่อยมีที่ทางในโรงใหญ่ หอภาพยนตร์ก็ฉายทุกอย่างและฟรีด้วย อาจจะไกลหน่อยแต่เราก็พยายามจะฉายหนังที่หลากหลาย คำถามที่ว่าควรจะมีพื้นที่ฉายหนังสาธารณะไหม ก็ควรจะมี แต่ในเชิงการบริหารจัดการต้องไปคิดเยอะ มันยาก เพราะในทางธุรกิจอยู่ไม่ได้ หอภาพยนตร์อยู่ได้เพราะการฉายหนังเป็นงานหนึ่งแต่ไม่ใช่งานหลัก เราทำงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ด้วย

สมมติจะไปเช่าโรงแถวสยามแล้วฉายหนังเล็กๆ หน่อยก็ลำบาก ที่ทาง  Documentary Club ทำก็พออยู่ได้ เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ถ้าจะให้รัฐมาทำต้องคิดดีๆ เพราะต้องมีเงื่อนไขกฎเกณฑ์มากมาย

ถ้าถามคนในอุตสาหกรรมหนังบางคนจะบอกเลยว่าสิ่งที่รัฐควรทำคือไม่ต้องมายุ่ง เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ให้เราทำเองดีที่สุด ขณะที่อีกเสียงหนึ่งก็บอกว่าเราต้องการเงินช่วยเหลือ เสียงก็แตกกันพอสมควรว่าจะทำอย่างไร 

ตอนนี้รัฐต้องคิดให้ตกว่าจะสนับสนุนฝั่งไหน ฝั่งวัฒนธรรมหรือพาณิชย์ คำตอบในเชิงอุดมคติคือควรจะไปด้วยกันทั้งสองอย่าง หาช่องทางที่ทั้งสองอย่างนี้จะไม่ตีกัน เราคุยกันมา 20 ปีแล้วยังคุยกันได้ต่อ เมื่อมีปัจจัยใหม่ๆ มีผู้เล่นใหม่ๆ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0