โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรค SIDS ภาวะหลับไม่ตื่นในทารก พ่อแม่ควรรู้ไว้

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2562 เวลา 03.00 น. • Motherhood.co.th Blog
โรค SIDS ภาวะหลับไม่ตื่นในทารก พ่อแม่ควรรู้ไว้

โรค SIDS ภาวะหลับไม่ตื่นในทารก พ่อแม่ควรรู้ไว้

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอ่อนทั้งหลายย่อมมีความกังวลเรื่องสุขภาพของลูกเป็นธรรมดา วันนี้เราจะจึงขอแนะนำให้รู้จักกับ "โรค SIDS" ที่อาจก่อให้เกิดภาวะหลับไม่ตื่นในทารกได้ เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตลูกน้อยมากกว่าสามพันคนต่อปี แม้ว่าฟังชื่อแล้วรู้สึกน่ากลัว และในทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ก็จะทำให้รู้วิธีป้องกัน และลดความเสี่ยงลงไปได้มากเลยค่ะ

ภาวะหลับไม่ตื่นในทารกคืออะไร?

โรค SIDS (ซิดส์) ย่อมาจาก Sudden Infant Death Syndrome หรือที่เรียกกันว่า โรคไหลตายในทารก (Cot death) อาการหลับไม่ตื่นในทารกนี้ สามารถเกิดขึ้นกับทารกที่มีสุขภาพปกติดี โดยทารกจะไม่ปรากฏอาการใดนำมาก่อน เช่น ร้องงอแงหรือเคลื่อนไหวใด ๆ แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่นำลูกน้อยเข้านอนแล้ว ลูกก็หลับไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย ซึ่งเป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ และสามารถเกิดได้กับทารกทุกคนและทุกช่วงเวลา จากสถิติพบว่าโรคไหลตายในทารกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 40-50 ในทารกที่มีอายุ 1 เดือน ถึงอายุ 1 ปี โดยส่วนใหญ่เกิดกับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ประมาณร้อยละ 90 ในประเทศที่กำลังพัฒนาอัตราการเกิดโรคไหลตายในเด็กจะเพิ่มขึ้น 10 เท่า พบทารกเสียชีวิต 10 คน ในทารกเกิดใหม่ 1000 คน

แม้แต่กับเด็กที่มีสุขภาพดีมาตลอดก็มีโอกาสหลับไม่ตื่นได้
แม้แต่กับเด็กที่มีสุขภาพดีมาตลอดก็มีโอกาสหลับไม่ตื่นได้

สาเหตุของโรค

ในปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พัฒนาการที่ผิดปกติของทารก ความเครียดจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น การให้ทารกนอนคว่ำ อยู่ในสภาพอากาศร้อน ได้รับควันบุหรี่ ขาดอากาศหายใจ การกดทับขณะนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ หรืออาจมีวัตถุนิ่ม ๆ ไปกีดขวางอุดทางเดินหายใจขณะทารกนอนหลับ เนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการคลื่นไหวของศีรษะได้ดี นอกจากนี้ อาจเกิดจากภาวะทารกคลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย รวมถึงภาวะการติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ และโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงมาจากการนอน

อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการทำให้เกิดโรค SIDS ในเด็กทารกที่เรามักพบได้บ่อยคือ เด็กมีการนอนที่สุ่มเสี่ยง ดังนี้

  • การนอนคว่ำ พ่อแม่อาจไม่ทราบว่าท่านอนที่อันตรายมากที่สุดสำหรับเด็กคือการนอนคว่ำ จากการวิจัยพบว่าการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกโดยไม่ทราบสาเหตุ ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ "ให้เด็กนอนหงาย" (Back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งพบว่าอัตราการตายจากโรค SIDS ลดลงอย่างชัดเจน ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กนอนหงาย เพราะเด็กจะสามารถหายใจเอาอากาศที่มีปริมาณออกซิเจนได้มากกว่าเด็กที่นอนคว่ำ
  • ถูกนอนทับ สำนักงานความปลอดภัยในผู้บริโภค (CPSC) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รายงานการตายของเด็กทารก 58 ราย ที่เกิดจากการถูกนอนทับ (Overlying) โดยผู้ร่วมเตียง หากคุณพ่อคุณแม่นอนเตียงเดียวกับทารก ก็จะมีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน คนที่มีความเสี่ยงในการนอนทับเด็กทารกคือคนอ้วนมาก ๆ คนที่กินยานอนหลับ ยาทำให้ง่วง เช่น ยาแก้หวัด ยากล่อมประสาท คนเมาเหล้า และเด็กโต เพราะคนเหล่านี้มักหลับสนิทเกินไป หากนอนทับแล้วจะไม่รู้สึกตัวเลย
  • การนอนบนโซฟา มุมระหว่างพนักพิงและเบาะที่นั่งของโซฟาอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ หากเด็กตะแคงหน้าคว่ำเข้าหามุมและกดทับใบหน้า จมูก เด็กทารกไม่มีความสามารถจะพลิกตัวกลับได้เอง จึงเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจในเวลาไม่นาน
  • เครื่องนอนที่ไม่เหมาะสม การใช้เบาะ ฟูก หมอน หรือผ้าห่มนุ่ม ๆ หนา ๆ หรือขนาดใหญ่จนเกินไป หน้าเด็กอาจคว่ำลงไปแล้วกดจมูกและปากลงบนเครื่องนอน เป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้ หากจะใช้ผ้าห่มต้องเลือกที่มีเนื้อผ้าบาง และต้องสอดลงใต้เบาะสามด้าน เพื่อไม่ให้ผ้าห่มหลุดลุ่ยมากดใบหน้าเด็ก ส่วนเครื่องนอน ของเล่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเส้นสายต้องระวังไม่ให้มีความยาวจนเกินไป เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดการรัดคอเด็กได้
บางครั้งหมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตา อาจมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น
บางครั้งหมอน ผ้าห่ม หรือตุ๊กตา อาจมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น

พ่อแม่จะป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร?

แม้ว่าสาเหตุการเกิดโรคไหลตายในทารกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากสถิติหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศแถบเอเชีย ชี้ให้เห็นว่า การตายของทารกจากโรคนี้ ลดลงกว่าร้อยละ 50 หลังจากที่มีการรณรงค์การป้องกันปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ในการเกิดโรค ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยป้องกันได้ตามข้อแนะนำต่อไปนี้

  • จากการวิจัยพบว่า การนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหลับไม่ตื่นในทารก จึงควรให้ทารกนอนในท่านอนหงาย เพราะจะหายใจนำอากาศเข้าปอดได้ดีกว่า และป้องกันไม่ให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจที่อาจเกิดในท่านอนคว่ำ ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อว่าการนอนคว่ำจะลดอัตราการสำลักน้ำลายขณะหลับ แม้แต่ท่าตะแคงก็ไม่แนะนำให้ทารกนอน เนื่องจากทารกอาจพลิกไปอยู่ในท่านอนคว่ำได้
  • เนื่องจากทารกยังไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะได้สมบูรณ์ จึงยังไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองเมื่อมีสิ่งกีดขวางมาอุดกั้นทางเดินหายใจ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดที่นอนของลูกให้เหมาะสม ตามที่ได้แนะนำไปก่อนแล้วในข้างต้น
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกนอนร่วมเตียงกับผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่ยังสามารถให้นอนในเปลแยกภายในห้องเดียวกันได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันทารกโดนทับจนหายใจไม่ออก
  • อุณหภูมิของห้องนอนทารกไม่ควรอุ่นหรือเย็นเกินไป เนื่องจากอากาศที่ร้อนจะทำให้ทารกไม่สบายตัว และหายใจลำบากมากขึ้น ส่วนอากาศที่เย็นเกินไปอาจทำให้ทารกป่วยได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับทารกคือ 25-26 องศาเซลเซียส
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมของควันไฟโดยเฉพาะควันบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุหลักของการหายใจที่ผิดปกติของทารกอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้หรือหลอดลมตีบเฉียบพลัน
  • คุณพ่อคุณแม่อาจใช้จุกนมหลอกให้ทารกดูด เพื่อให้ทารกหลับสบายขึ้น เพราะการดูดจุกนมมีส่วนช่วยให้ทารกหายใจได้สม่ำเสมอ
  • ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถึงแม้ยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่านมแม่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคไหลตายในทารกได้ แต่การศึกษาวิจัยพบว่านมแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไหลตายในทารกได้
  • หากจะติด baby monitor เพื่อความมั่นใจก็เป็นทางเลือกเสริมที่ดี เพราะสามารถสอดส่องความปลอดภัยของทารกได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การติดตั้ง baby monitor ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง
การติดตั้ง baby monitor ก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

ป้องกันแล้วจะได้ผลมากแค่ไหน?

การป้องกันเหล่านี้เป็นเพียงกรลดปัจจัยเสี่ยงให้น้อยลงเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีเด็กที่เสียชีวิตจากโรค SIDS อยู่เสมอ Motherhood เองก็หวังว่าเราอาจค้นพบสาเหตุการเกิดโรคไหลตายในทารกและวินิจฉัยอาการได้ทัน เพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวไหนต้องเกิดความสูญเสียอีก

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0