โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โรควิตกกังวล ภัยเงียบคนไทย กรมสุขภาพจิตเผยป่วย 1.4 แสนราย

Khaosod

อัพเดต 23 ก.ย 2561 เวลา 11.36 น. • เผยแพร่ 23 ก.ย 2561 เวลา 11.36 น.
โรควิตกกังวล
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต (แฟ้มภาพ)

อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยคนไทย 1.4 แสนรายป่วย โรควิตกกังวล สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุล ของสารสื่อประสาทในสมอง มีอาการกระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ฯลฯ แพทย์แนะวิธีสังเกต ห่วงผู้ป่วยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่มาพบแพทย์ 

โรควิตกกังวล  /  เมื่อวันที่ 23 ก.ย. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช ยังมีในกลุ่มของ โรควิตกกังวล (anxiety disorders) ซึ่งผู้ป่วยจะมีจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย ที่พบได้บ่อย คือ โรควิตกกังวลทั่วไป (general anxiety disorder)

ซึ่งในคนปกติทั่วไปอาจเกิดความวิตกกังวลได้ เช่น กังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน เรื่องการเข้าทำงานใหม่ แต่ว่าจะเป็นไม่นานอาการจะหายไปเอง แต่ในผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป จะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน อาการเด่นที่สำคัญคือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวลเกินกว่าเหตุ ในหลายๆเรื่องในเวลาเดียวกัน

ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ และจะมีอาการทางกายปรากกฎร่วมด้วย อย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

เผยคนไทยป่วย1.4แสนราย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 140,000 คน สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไป เกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจ หรือความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง

เป็นโรคที่ประชาชนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อย คิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ หรือคิดว่าเกิดมาจากตัวเองคิดมากไปเอง ไม่ได้เจ็บป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์ เพื่อรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษา และต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วย เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน

ที่น่าเป็นห่วงก็คือการซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเอง เพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่นนอนไม่หลับ ความกังวล ปวดศีรษะ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่า นอกจากจะไม่ได้ผล หรือได้ผลเพียงชั่วขณะ ยังอาจทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ จึงขอให้ผู้ที่มีปัญหาและอาการที่กล่าวมา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรืออาจโทรขอรับคำปรึกษาทางสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

แพทย์ห่วงลามป่วยซึมเศร้า-แนะวิธีดูแล

ด้านนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าวว่า โรควิตกกังวลทั่วไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคทางใจและทางกาย ตามมาอีกหลายโรคได้แก่ โรคซึมเศร้า นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ

สำหรับผู้ที่กำลังมีอาการวิตกกังวลในขณะนี้ มีวิธีช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ดังนี้ 1. พักผ่อนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้

2.รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยารักษาโรค หรือสมุนไพรต่างๆตามร้านขายยาทั่วไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน 3. ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักการปล่อยวาง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น

“ประการสำคัญ ญาติหรือคนรอบข้าง ควรทำความเข้าใจ ว่าอาการของผู้ป่วยไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ หรือคิดมากไปเอง ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกาย และเกี่ยวกับพื้นฐานสุขภาพจิตของแต่ละบุคลด้วย จึงควรเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว” ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนม กล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0