โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โรควัณโรค โรคอันตราย แต่รักษาให้หายได้

ช่อง 7

อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 04.24 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 04.24 น. • Ch7
โรควัณโรค โรคอันตราย แต่รักษาให้หายได้
โรควัณโรค โรคอันตราย แต่รักษาให้หายได้

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก
สาเหตุ    
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็น acid fast bacillus (AFB) ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา
ระบาดวิทยา
เด็กมักจะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นวัณโรคระยะแพร่เชื้อ โดยเชื้อจะออกมากับการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ ในห้องที่ทึบอับแสง เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ ถ้าเสมหะที่มีเชื้อลงสู่พื้นที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน เชื้อจะกระจายอยู่ในอากาศ และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจเอาเชื้อเข้าไป บางครั้งเชื้ออาจผ่านจากแม่ไปยังลูกในท้องโดยผ่านทางรกได้
ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นกับเด็กที่มีฐานะยากจน อยู่ในชุมชนแออัด ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และตรวจไม่พบวัณโรคในปอดโดย X-rays จะทราบว่าติดเชื้อวัณโรคได้โดยการทดสอบทูเบอร์คิวลินจะให้ผลบวก ผู้ป่วยวัณโรคในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาในระยะเด็ก ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดมีอาการของโรคได้แก่ การติดเชื้อในวัยทารก และในวัยหนุ่มสาว การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ(ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้น) ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะการติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด และโรคขาดอาหาร
ระยะฟักตัว
จากเมื่อแรกรับเชื้อจนถึงเมื่อให้ผลทดสอบทูเบอร์คิวลินเป็นบวกประมาณ 2-10 สัปดาห์ ระยะที่มีโอกาสเกิดอาการของโรคได้มากที่สุดคือ ในสองปีแรกหลังติดเชื้อโดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อที่เข้าไปจะซ่อนตัวอยู่เงียบๆ โดยไม่ทำให้เกิดอาการของโรค ถ้าร่างกายอยู่ในสภาพที่แข็งแรงดี ถ้าสุขภาพทรุดโทรมลงหรือมีภาวะเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เชื้อที่สงบนิ่งอยู่ก็จะออกมาทำให้เกิดอาการของโรคได้ ในระยะห่างจากการได้รับเชื้อเข้าไปเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
อาการและอาการแสดง
ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อ จะไม่มีอาการของโรคเมื่อทดสอบทูเบอร์คิวลินได้ผลบวก (ซึ่งเป็นการแสดงว่าเด็กติดเชื้อวัณโรค) การตรวจ X-rays ของปอดก็จะไม่พบผิดปกติในระยะแรก ถ้าเด็กมีสุขภาพและภาวะโภชนาการดี โรคจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้รับเชื้อ อาการที่จะพบได้เร็วที่สุดประมาณ 1-6 เดือนหลังติดเชื้อ ที่จะพบได้บ่อย คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขั้วปอด ที่คอ และที่อื่นๆ แล้วจึงพบผิดปกติที่ปอดและอวัยวะอื่นๆ
วัณโรคปอด
เด็กเกือบทั้งหมดที่เป็นวัณโรคจะเริ่มต้นเป็นจุดที่ปอดก่อน เด็กจะมีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บางคนมีอาการไอเรื้อรัง บางคนมีไอซ้อนๆ กันคล้ายไอกรน เด็กโตบางคนอาจบ่นเจ็บหน้าอก และเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากจะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง
ในเด็กโตจะเริ่มด้วยอาการเป็นไข้ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึมมากจนถึงไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการชัก มีอัตราตายสูงและมีความพิการเหลืออยู่ถ้าได้รับการรักษาช้า
วัณโรคของต่อมน้ำเหลือง
จะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบโต และบางรายจะโตมากจนมีแผลแตกออกมา มีหนองข้นไหลออกมา เป็นแผลเรื้อรัง อาจจะลุกลามมีต่อมน้ำเหลืองโตติดๆ กันหลายเม็ดถ้าไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านวัณโรคโดยเนิ่นๆ แผลจะไม่หาย
การวินิจฉัยโรค
ในผู้ที่มีอาการเข้าได้กับวัณโรค การวินิจฉัยที่แน่นอนได้จากการเพาะแยกเชื้อ M. tuberculosis จากน้ำล้างกระเพาะ (gastric wash) ในตอนเช้า ทั้งนี้เพราะเด็กมักจะกลืนเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคลงในกระเพาะเวลากลางคืน หรือจากเสมหะ จากน้ำในเยื่อหุ้มปอด น้ำไขสันหลัง (ในรายเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) เนื่องจากเชื้อวัณโรคเจริญเติบโตช้า ดังนั้นการเพาะเชื้อต้องใช้เวลานานถึง 10 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวิธีที่อาจใช้เวลาเพียง 2-3 สัปดาห์ หรือสั้นกว่านี้ การทดสอบทูเบอร์คิวลิน เป็นวิธี skin test ที่ทำได้ง่ายที่สุดในการตรวจสภาวะของการติดเชื้อวัณโรคในผู้ที่ไม่มีอาการ การทดสอบที่ให้ผลบวกแสดงว่ามีการติดเชื้อ M. tuberculosis โดยทั่วไปแล้วในเด็กส่วนใหญ่หลังจากได้รับเชื้อแล้ว 3-6 สัปดาห์ จึงจะให้ปฏิกิริยาทูเบอร์คิวลินเป็นบวก บางรายอาจนานถึง 3 เดือนได้ และปฏิกิริยาบวกนี้จะคงอยู่ตลอดไป ถึงแม้จะได้ยารักษาวัณโรคแล้วก็ตาม
การรักษา
ปัจจุบันมียารักษาวัณโรคที่ได้ผลดีหลายชนิด การรักษาจะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยา และเพิ่มประสิทธิภาพของยา ยาที่ใช้ได้แก่ Streptomycin, Pyrazinamide, Rifampin, Isoniacid, Ethambutol การรักษาจะได้ผลดีถ้ามารับการรักษาเสียแต่ระยะเริ่มแรก และจะต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และจะต้องดูแลให้พักผ่อนและให้อาหารที่มีโปรตีนสูงและมีไวตามิน เพื่อช่วยเพิ่มความต้านทานโรค
การแยกผู้ป่วย
ผู้ป่วยเด็กโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องแยก ถ้าได้รับยารักษาวัณโรคแล้ว เพราะเด็กมักไม่พบมีแผลในปอด และไม่ค่อยจะไอมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กจะกลืนเสมหะลงในกระเพาะในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีแผลในปอด (cavities) และตรวจแยกเชื้อ M. tuberculosis ได้จากเสมหะ ให้แยกประมาณ 1-2 เดือนจนแน่ใจว่ามีผลจากยา ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจเพาะเชื้อจากเสมหะได้น้อยลง อาการไอน้อยลง ต้องไม่ให้ผู้ป่วยบ้วนเสมหะลงตามพื้น ต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อในเสมหะ
การป้องกัน
1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาวัณโรค
2) ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ที่ตรวจได้ผลทูเบอร์คิวลินบวกแพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกัน Isoniacid นาน 2-3 เดือน
3) ให้วัคซีน BCG ป้องกัน ในประเทศที่มีโรควัณโรคชุกชุม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มให้ BCG วัคซีนตั้งแต่แรกเกิด วัคซีน BCG ถึงแม้จะมีประสิทธิผลแตกต่างกันจากการศึกษาในที่ต่างๆ ตั้งแต่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ไปจนถึงร้อยละ 80 แต่ที่ได้ผลชัดเจน คือ ป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจาย และวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ในประเทศไทยให้วัคซีน BCG เมื่อแรกเกิด
การค้นหาผู้ป่วย
การค้นหาผู้ป่วย เนื่องจากเด็กมักจะได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่สัมผัสใกล้ชิด ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยวัณโรคจึงต้องสอบสวนค้นหาโรคในผู้ใกล้ชิดให้พบ และให้การรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
และเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 มิ.ย. 2562 ที่ ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณตึกสยามินทร์ชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 ร่วมกันรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของ น.ส. บุตรศรัณย์ ซึ่งผลตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อยจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอดร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด
สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง
ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว คือ 1. อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลงสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ 2. ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใด ๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น 3. แม้การตรวจร่างกายจะปกติแต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่งเช่นน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุเบื่ออาหารมีไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
ขอบคุณ : กรมควบคุมโรค

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0