โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อย

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 10.06 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 10.06 น.
dlf07160962p1

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย อ.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล

ในปัจจุบัน การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในบ้านเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัตว์เลี้ยงสามารถอยู่เป็นเพื่อนเราได้ สามารถช่วยคลายเครียด ทำให้มีความเพลิดเพลิน ช่วยเราทำงานบางชนิดได้ สัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมได้แก่ แมว สุนัข นก กระต่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงสัตว์มีส่วนช่วยในการบำบัดโรคได้ (pet therapy) โดยเชื่อว่าผู้ป่วยที่ได้สัมผัสสัตว์เลี้ยงในขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล จะทำให้ผู้ป่วยเหล่านั้นมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีกำลังใจในการรักษาโรคต่าง ๆ ที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงก็อาจนำโรคมาสู่คนได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้งสัตว์เลี้ยงก็เป็นรังโรคของเชื้อโรคหลายชนิด โดยที่เชื้อโรคเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดโรคในสัตว์ แต่เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้ติดมายังคน สามารถทำให้เราเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงโรคติดเชื้อที่พบบ่อยที่มาจากสัตว์เลี้ยงที่เรานิยมเลี้ยงกัน

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคนี้มีการระบาดในปีที่ผ่านมา โรคนี้นับเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก เพราะถ้าคนเป็นมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส rabies คนสามารถติดเชื้อโดยถูกสัตว์กัด หรือถูกสัตว์เลียที่บริเวณเยื่อเมือกหรือบริเวณแผลเปิด โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ซึ่งหมายความว่า พบได้ในสุนัข แมว หนู ค้างคาว ฯลฯ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายไหลมาก กลัวแสง กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว แล้วซึมลงในที่สุด การป้องกันโรคนี้ทำได้โดย

1.พาสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ

2.หากถูกสัตว์กัด ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำสบู่อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงรับอิมมูนโกลบูลิน

3.ถ้าสังเกตอาการของสุนัขหรือแมวที่กัดได้ ควรสังเกตอย่างน้อย 10 วัน ถ้าภายใน 10 วัน สัตว์เสียชีวิต ควรติดต่อทางสถานเสาวภา เพื่อนำสัตว์ไปตรวจว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่

โรคท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรีย

มีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดสามารถติดต่อจากสุนัขหรือแมวมายังคนได้ ที่พบบ่อย เช่น เชื้อ campylobacter เชื้อ salmonella การติดเชื้อเกิดจากการที่คนไปสัมผัสกับมูลของสัตว์ แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก อาการที่พบคือ อาจมีไข้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว รวมถึงอาจถ่ายเป็นมูกเลือดได้ ในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติ มักจะหายเองได้ การรักษาเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองให้น้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือในเด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรงได้ เช่น มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไปมีการติดเชื้อตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เชื้อ salmonella อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อในข้อ หรือในกระดูก

*การติดเชื้อพยาธิของสัตว์ *

เชื้อพยาธิของสุนัขหรือแมวอาจมาติดคนได้ โดยไข่ของพยาธิปนเปื้อนมากับมูลของสัตว์เหล่านี้ แล้วคนติดโดยการกินไข่ของพยาธิเข้าไป อาการที่พบคือตัวพยาธิจะไชไปตามที่ต่าง ๆ เช่นที่ผิวหนังก็จะทำให้เกิดอาการคัน อาจไปที่ทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการไอ หอบ เป็นต้น ถ้าไปที่ตา ก็จะทำให้การมองเห็นผิดปกติได้

การติดเชื้อราของสัตว์

เชื้อราของสัตว์ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและขน ซึ่งติดมายังคนได้ถ้าไปสัมผัสกับผิวหนังของสัตว์ที่ติดเชื้อ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังที่เรียกว่าโรคกลาก ลักษณะเป็นวงแดง ๆ และคัน เชื้อรานี้อาจพบได้ในผิวของสุนัข แมว หรือกระต่าย

โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)

โรคนี้เกิดจากเชื้อปรสิตชื่อว่า toxoplasma โดยปกติจะพบเชื้อนี้ในอุจจาระของแมว คนติดเชื้อนี้จากแมว โดยไปสัมผัสมูลของแมว แล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก หรือเชื้อจากมูลของแมวไปปนเปื้อนในดินและในผักที่รับประทาน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาจไม่มีอาการ หรือมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต แล้วหายเอง ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้มีอาการปอดอักเสบ ที่สำคัญคือมีการติดเชื้อในสมองทำให้มีอาการอ่อนแรงของแขนขาได้ ในหญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ ซึ่งอาจแท้งได้ ทารกที่เกิดมาอาจมี

ความพิการแต่กำเนิด เช่น มีการอักเสบของจอประสาทตา มีศีรษะเล็ก มีอาการชัก มีตับม้ามโต เป็นต้น ทารกบางคนที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด แต่มามีอาการในวัยเด็ก เช่น มีอาการชัก พัฒนาการช้า ตาบอด เป็นต้น ดังนั้นจึงมีการแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรไปสัมผัสมูลของแมว

*โรคฉี่หนู (Leptospirosis) *

โรคนี้ตามชื่อเกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของหนู เช่นไปย่ำน้ำที่มีการปนเปื้อนของปัสสาวะหนู แต่พบว่าสามารถพบในปัสสาวะสุนัขได้เช่นกัน เชื้อนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเลปโตสไปรา (leptospira) อาการที่เกิดคือ มีไข้สูง ปวดน่อง ตาแดง ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีภาวะไตวาย ตับอักเสบ และไอเป็นเลือดได้

โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)

เป็นโรคที่ติดจากนกที่เลี้ยง เช่น นกแก้ว นกพาราคีต โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่เรียกว่า คลามัยเดีย (chlamydia psittaci) เชื้ออาจพบในมูลของนก ตามขนของนก แล้วคนหายใจเอาเชื้อนี้เข้าไป อาการของโรคจะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้ง ๆ เจ็บหน้าอก มีอาการของปอดอักเสบ เป็นต้น

โดยสรุปโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราไปสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลของสัตว์ ดังนั้น การป้องกันที่สำคัญคือพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจกับสัตวแพทย์เป็นระยะ รวมถึงการให้วัคซีนในสัตว์อย่างเหมาะสม นอกจากนี้แล้วควรมีการล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ หากถูกสัตว์กัดและมีแผลลึก มีเลือดออกควรไปพบแพทย์

หมายเหตุ : อ.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0