โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โรคตาขี้เกียจ อันตรายกับเด็กกว่าที่เราคิด

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 26 ส.ค. 2562 เวลา 04.45 น. • Motherhood.co.th Blog
โรคตาขี้เกียจ อันตรายกับเด็กกว่าที่เราคิด

โรคตาขี้เกียจ อันตรายกับเด็กกว่าที่เราคิด

ดวงตาของคนเราถือเป็นอวัยวะที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว หากลูกมีปัญหาเรื่องดวงตาย่อมเป็นเรื่องใหญ่ "โรคตาขี้เกียจ" ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่คนไทยมักจะมองข้ามไป เพราะมองดูเผินๆจะเหมือนอาการตาเหล่ตาเขทั่วไป ไม่ค่อยมีใครตระหนักถึงผลกระทบที่มีอย่างจริงจัง เต็มที่ก็จะมองว่าทำให้เสียบุคลิก ทั้งที่ความจริงแล้วจำเป็นต้องได้รับการรักษา ไม่เช่นนั้นแล้วปล่อยไว้อาจจะถึงขั้นตาบอดได้ วันนี้ Motherhood จะขอพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับอาการตาขี้เกียจใจเด็กกันค่ะ

ตาขี้เกียจ หรือ Amblyopia/Lazy Eye มักจะพบในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
ตาขี้เกียจ หรือ Amblyopia/Lazy Eye มักจะพบในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี

โรคตาขี้เกียจ คืออะไร?

โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye - Amblyopia) สามารถพบได้ประมาณ 3-5 % เกิดจากปัจจัยที่ทำให้ตาข้างนั้นๆมองเห็นไม่ชัดในช่วง 7 ขวบปีแรกของเด็ก เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กกำลังมีพัฒนาการการมองเห็น ทำให้การรับภาพของตาข้างนั้นลดน้อยลง มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกมีอาการเป็นตาขี้เกียจควรรีบเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 7 ขวบ

สาเหตุของโรค

กรณีแรกเกิดจากเด็กที่มีอาการตาเข ตาเหล่อยู่แล้ว เมื่อเด็กมีอาการตาเข ตาเหล่ เขาก็จะเลือกมองภาพด้วยตาเพียงข้างเดียว เพื่อไม่ให้เห็นภาพซ้อน ทำให้ตาอีกข้างที่ไม่ถูกใช้งานเกิดการมองเห็นน้อยลง จนมองไม่ชัดได้ในที่สุด

อีกกรณีคือ เด็กเป็นโรคสายตาสั้น ยาว เอียงที่มากเกินไป หรือไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ถ้าค่าสายตาห่างกันมากๆจะยิ่งทำให้ตาขี้เกียจพัฒนาขึ้น เช่น ข้างซ้ายตาสั้น 100 ข้างขวาสั้น 800 ก็จะมองเห็นต่างกัน ส่งผลให้เด็กต้องเลือกมองข้างเดียว อาการแบบนี้ควรรีบตัดแว่นตั้งแต่เริ่มเกิดอาการใหม่ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการตาขี้เกียจรุนแรงขึ้น

โรคตาที่ทำให้บดบังการมองเห็นก็มีส่วนมากเช่นกัน เช่น โรคต้อกระจก หนังตาตก สาเหตุนี้มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด เมื่อการมองเห็นแย่ลงจะถูกปิดกั้นการมองเห็นโดยสิ้นเชิง รวมทั้งโรคของจอประสาทตาและประสาทตาด้วย

อาการของโรค

อาการตาขี้เกียจนั้น พ่อแม่หรือผู้อื่นจะไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติในดวงตาของเด็กได้ และตัวเด็กเองก็อาจแยกออกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติจากดวงตาได้ชัดเจน แต่เราจะรู้ได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เด็กที่เป็นโรคนี้จะเพ่งมองสิ่งต่างๆมากเป็นพิเศษ หรืออาจจะมองเห็นไม่ค่อยชัดในที่มืด พ่อแม่อาจเริ่มสังเกตอาการของเด็กได้ตั้งแต่หลังคลอดไม่กี่สัปดาห์ แต่ในเด็กบางคนอาจไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสายตาอย่างละเอียดเป็นหลัก ถ้าหากสังเกตถึงความผิดปกติได้เองก็ควรรีบพาไปพบแพทย์

สิ่งที่บ่งบอกชักคือดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก
สิ่งที่บ่งบอกชักคือดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก

ควรไปหาหมอเมื่อไหร่?

1. เมื่อพบความผิดปกติ ดังนี้

  • คลอดก่อนกำหนด
  • มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการ
  • มีโรคประจำตัวที่สัมพันธ์กับตา
  • มีความผิดปกติของตาที่สังเกตได้ เช่น มองไม่เห็น หนังตาตก ตาเหล่ สายตาสั้น น้ำตาไหล ตาแดง มีจุดขาวกลางตาดำ
  • สมาชิกในครอบครัวเคยมีความผิดปกติทางตา

2. เมื่อถึงวัยที่ควรตรวจ ดังนี้

  • ครั้งแรก เมื่อมีอายุ 3-6 เดือน แพทย์จะตรวจสอบการตอบสนองทางการมองเห็นว่าปกติหรือไม่ กลอกตาผิดปกติหรือไม่ ตาเหล่หรือไม่ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยนี้ หากตรวจพบและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆจะเป็นการดีกว่า
  • ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 3 ขวบ เด็กในวัยนี้สามารถวัดค่าการมองเห็นเป็นค่ามาตรฐานได้เป็นครั้งแรก โรคตาที่พบบ่อยในเด็กวัยนี้คือ ตาขี้เกียจ และตาเหล่
  • ครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 5-6 ขวบ เด็กวัยนี้เริ่มใช้สายตาเพิ่มขึ้น ควรตรวจวัดสายตาว่าจำเป็นต้องใส่แว่นหรือไม่ รวมทั้งถ้าตรวจพบโรคตาขี้เกียจจะได้รีบรักษา
  • ครั้งต่อๆไป ควรรับการตรวจทุกๆ 1- 2 ปี ไปจนถึงอายุ 18 ปี ขึ้นอยู่กับอาการและความผิดปกติ
เทคนิคในการตรวจจะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นหลัก
เทคนิคในการตรวจจะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเป็นหลัก

การรักษาโรคตาขี้เกียจ

เมื่อตรวจพบว่าลูกเป็นโรคตาขี้เกียจ ให้รีบรักษาตั้งแต่เขาอายุยังน้อย เพราะยิ่งได้รับการรักษาเร็วก็จะยิ่งหายเร็ว แต่ถ้ารักษาช้า อาจรักษาไม่หาย การรักษาอาการตาขี้เกียจเบื้องต้นมีดังนี้

  • สวมแว่นตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ ช่วยแก้ไขปัญหาสายตาของผู้ป่วยที่มีความต่างระหว่างสายตาทั้ง 2 ข้างมาก จึงทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนและสั่งการสมองให้ทำงานประสานกับดวงตาข้างที่อ่อนแอมากขึ้น เพื่อพัฒนาสายตาทั้ง 2 ข้างให้มีการทำงานเท่ากันและเป็นไปตามปกติ
  • ผ่าตัด ถ้าลูกมีความผิดปกติอื่นที่ดวงตา เช่น ต้อกระจก หนังตาตก การผ่าตัดเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด เพราะจะช่วยให้เขามองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องกระตุ้นดวงตาข้างที่มีปัญหาร่วมด้วย เพื่อให้ใช้งานได้ปกติมากที่สุด
  • กระตุ้นการใช้งานตาข้างที่มีอาการด้วยตัวเอง เช่น ปิดตาข้างที่ดี ใช้เพียงตาขี้เกียจในการมอง หรือใช้ยาหยอดตาที่ทำให้ตาข้างปกติมัวชั่วคราว จะทำให้ลูกใช้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจมากขึ้น ถ้าลูกโตขึ้นมาหน่อยก็สามารถใช้วิธีบริหารดวงตาด้วยการปิดตาข้างหนึ่งแล้วมองด้วยตาข้างที่มีปัญหาเป็นประจำ

อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังได้ระบุวิธีการใหม่ 3 วิธีในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นที่เกิดจากภาวตาขี้เกียจ

  • แว่นตาดิจิตอล เด็กๆสามารถสวมแว่นตาดิจิตอลที่ตัวเลนส์ได้รับการออกแบบด้วยจอแสดงผลที่ทำจากคริสตัลเหลว แว่นตาดิจิตอลนี้ เราสามารถตั้งค่าให้เลนส์หนึ่งให้มัวมากขึ้นได้ เหมือนการใช้งานแผ่นปิดตาตามปกติ มันจะช่วยทำให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ใช้งานมากขึ้น ทัศนวิสัยของเด็กจะดีขึ้นในอัตราเดียวกันกับการใช้แผ่นปิดตาแบบดั้งเดิม เด็กๆที่ได้ลองใช้แว่นตาดิจิตอลจะชอบมากกว่าเพราะมันไม่เป็นกาวเหนียวติดรอบตาเหมือนกับแผ่นปิดตา
  • เกมสำหรับเด็ก ในเท็กซัส นักวิจัยที่มูลนิธิเรตินาแห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ได้ทำการศึกษาเรื่องการใช้เกมสำหรับเด็กที่มีอาการตาขี้เกียจ ในขณะที่เล่นเกมผจญภัยชนิดนี้ เด็กๆจะสวมแว่นตาพิเศษที่ทำให้ตาแต่ละข้างสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ หลังจากเล่นเกมหนึ่งชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 5 วันในช่วง 2 สัปดาห์ ผลปรากฏว่ามีการพัฒนาอาการตาขี้เกียจดีขึ้นเป็นสองเท่าของแผ่นปิดตาแบบดั้งเดิม ด้วยวิวัฒนาการของแว่นตาสำหรับวิดีโอเกมและชุดหูฟังแบบเสมือนจริงนี้
  • ลดการเคลื่อนไหวของตา ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และมหาวิทยาลัย Dalhousie ทีมนักวิจัยที่ศึกษาสัตว์ที่มีอาการตาขี้เกียจ ได้ค้นพบแนวทางในการรักษาแบบใหม่ พวกเขาพบว่าการหยุดชะงักชั่วคราวของการเคลื่อนไหวของจอประสาทตาจะทำให้ตาแข็งแรงขึ้นและทำให้ตาสามารถกลับสู่การมองเห็นตามปกติ จากการทดสอบติดตามผลพบว่าสามารถแก้ไข ปัญหาได้อย่างถาวร ไอเดีียนี้เกิดจากการศึกษาภายใต้ความมืดทั้งหมดเป็นเวลา 10 วัน อย่างไรก็ตามการใช้วิธีนี้เพื่อรักษามนุษย์อาจเป็นไปได้ยากเพราะจะต้องพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้เทียบกับการวิจัยที่ใช้งานกับสัตว์มาก่อน
แนวทางในการรักษาคือต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง
แนวทางในการรักษาคือต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของอาการตาขี้เกียจ

หากเด็กที่มีภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลาอาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงไปจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร โดยพบอาการตาบอดถาวรในผู้ใหญ่ที่เกิดตาขี้เกียจได้ประมาณ 2.9 เปอร์เซ็นต์

การมองเห็นที่ดีส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของลูกน้อย ถ้าไม่รีบแก้ปัญหา อาจส่งผลให้มีอาการต่างๆ เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าสายตา ดังนั้น การดูแลลูกเพื่อป้องกันโรคร้ายทางตาจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นใส่ใจตลอดนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0