โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โพลเชื่อ ครม.สัญจรมีนัย มทภ.2 เร่งปัดล็อบบี้ม็อบ

ไทยโพสต์

อัพเดต 22 ก.ค. 2561 เวลา 17.25 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2561 เวลา 17.01 น. • ไทยโพสต์

                            โพลเชื่อครม.สัญจรมีนัย มทภ.2เร่งปัดล็อบบี้ม็อบ

    "บิ๊กตู่-ครม." เยือนถิ่นอุบลฯ-อำนาจเจริญ เครื่องบินยังไม่ทันลงแตะพื้นดิน สวนดุสิตโพลเผยประชาชนเชื่อไปแล้ว ครม.สัญจรมีนัยทางการเมือง หวังหยั่งเสียงประชาชนก่อนเลือกตั้ง แม่ทัพภาค 2 เชื่ออาจารย์-นักศึกษา ม.อุบลฯ ไม่ป่วนช่วงนายกฯ  มาที่มหา'ลัย รัฐบาลจ่อกดปุ่มอนุมัติโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 1.1 หมื่นล้าน ดันโครงข่ายคมนาคมทางอากาศและรางคู่ "สรรเสริญ" ย้ำเดินหน้าแก้จน-เจ็บ-แล้ง      

ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะไปตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานี และอำนาจเจริญ      

เรื่องดังกล่าว พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ค. นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุม ครม.นอกสถานที่ ณ จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจังหวัดราชธานีเจริญศรีโสธร (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) โดยการตรวจราชการนั้น ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแพทย์แผนไทยที่มีมาตรฐานบูรณาการกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติ และการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดคือ 

“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่า การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ  การค้าชายแดนได้มาตรฐานสากล     

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สภาพปัญหาของพื้นที่ที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและต้องเร่งแก้ไข คือ รายได้ของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะ จ.ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญนั้นติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศ มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาน้อย เกิดภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ครม.จะได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัด ได้แก่ 

1.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางถนน ทางอากาศ และทางราง เช่น ขยายช่องจราจร ขยายสนามบิน ศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ 

2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น จัดทำแก้มลิง อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำ 

3.การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร 

4.การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น พัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์ สนับสนุนศูนย์การแพทย์แผนไทย 

5. การส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เป็นต้น โดยนายกฯ เน้นย้ำว่าการลงพื้นที่และประชุม ครม.นอกสถานที่ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการติดตามรับฟังปัญหาและความเดือดร้อนโดยตรงจากประชาชน โดยขออย่ามองเป็นเรื่องการเมือง      

ขณะที่เฟซบุ๊กสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ได้โพสต์ถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ระบุว่า กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 2 เสนอ ครม.สัญจร งบ 1 หมื่นล้าน พัฒนา 5 หมวดหลัก เน้นโครงข่ายคมนาคม ทางอากาศและรางคู่ พร้อมดันอำนาจเจริญเป็นเมืองแห่งสมุนไพร      

ทั้งนี้ ยังระบุว่า 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง 2 ประกอบด้วย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ เสนอโครงการพัฒนาต่อ ครม.สัญจรอุบลราชธานี วันที่ 24 กรกฎาคมนี้ งบประมาณกว่า 11,000 ล้านบาท พัฒนา 5 หมวดหลัก เน้นโครงข่ายคมนาคม เสนอสร้างถนนวงแหวนแห่งที่ 2 ฟื้นสนามบินเลิงนกทา จ.ยโสธร รถไฟรางคู่วาริน-ช่องเม็ก เชื่อมถึงชายแดนไทย-ลาว นอกจากนี้ยังมีการอ้างไว้ด้วยว่า ทาง 4 จังหวัดจะเสนอโครงการพัฒนา 5 หมวดหลัก คือ 

1.โลจิสติกส์ หรือการคมนาคม เช่น ขยายสนามบิน รถไฟทางคู่ 

2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ปัญหาน้ำท่วม 

3.ยกระดับการเป็นเกษตรอินทรีย์นำร่อง 4 จังหวัด โดยเฉพาะยโสธรและอำนาจเจริญ เน้นเกษตรปลอดภัยและลดรายจ่ายของประชาชน 

4.พัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชื่อมโยง ทั้งศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสานตอนล่าง 2 เชื่อมสามเหลี่ยมมรกตกับประเทศเพื่อนบ้าน 

และ 5.ชูศักยภาพส่งเสริมเขตการค้าชายแดนให้เติบโต และพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 จากอุบลราชธานี-สาละวัน เชื่อมโยงการค้าและท่องเที่ยวกับเพื่อนบ้าน      

ด้านการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ก่อนที่นายกฯและหัวหน้า คสช.จะเดินทางมาถึงพื้นที่ พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึงกรณีนักวิชาการในพื้นที่ระบุมีการส่งทหารมากดดันคณะอาจารย์นักวิชาการ รวมถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงประชุม ครม.สัญจรว่า ไม่ได้ไปกดดันอะไรเพราะนายกรัฐมนตรีมาประชุม ครม.สัญจรที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ ทางมหาวิทยาลัยก็ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องของสถานที่ และที่ผ่านมาหลายจังหวัดก็ให้ใช้สถานศึกษาในการจัดประชุม ครม.สัญจร เมื่อมีการประชุม เราก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาความปลอดภัย ที่จะต้องประสานงานกันทั้งตำรวจ พลเรือน และทหาร ยืนยันไม่มีใครไปกดดันไม่ให้ทำอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้ เจ้าหน้าที่เพียงแต่เข้าไปพูดคุยชี้แจง เพราะบางครั้งจะต้องปิดการจราจรเส้นทางเข้า-ออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ใช้มหาวิทยาลัย     

เมื่อถามว่า ไม่ได้ห้ามการแสดงออกทางการเมือง ของคณะอาจารย์ นักวิชาการและนักศึกษาใช่หรือไม่ พล.ท.ธรากรกล่าวว่า ต้องดูเป็นกรณีว่าการเคลื่อนไหวผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของการเป็นเจ้าภาพของจังหวัดอุบลราชธานี       

"จังหวัดเป็นเจ้าภาพที่ดี ก็ต้องแสดงออกให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ทั้งนี้เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเคลื่อนไหวของคณะอาจารย์และนักศึกษา เพียงแต่เราขอความร่วมมือหลายอย่าง ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าภาพที่ดีภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีงานแห่เทียนเข้าพรรษาอีกด้วย นายกรัฐมนตรีเดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อมาศึกษาในกลุ่มจังหวัดว่าจะพัฒนาพื้นที่อย่างไร ทั้งเรื่องของคมนาคม การขนส่ง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ไม่ได้มาดูด ส.ส.ในพื้นที่อย่างที่ฝ่ายการเมืองพยายามสร้างกระแส"  แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าว          

วันเดียวกันนี้ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,132 คน ระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม 2561 สรุปผลได้ ดังนี้     

ผลสำรวจได้ถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร? กับ ครม.สัญจร ที่จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีพบว่า คนส่วนใหญ่มองว่าอยากให้การลงพื้นที่เป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างแท้จริง 50.22% ตามมาด้วย อันดับ 2 อาจมีนัยทางการเมืองเกี่ยวกับการหาเสียง ดูด ส.ส.ตามที่เป็นข่าว 33.38%, อันดับ 3 ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง หรือหาประโยชน์จากเรื่องนี้ 26.74%          

สำหรับคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าการจัด ครม.สัญจรครั้งนี้มีนัยทางการเมืองหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ตอบว่า มีนัยทางการเมือง  61.21% โดยมองว่าเป็นการลงพื้นที่เพื่อหยั่งเสียงประชาชน มีความข้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ต้องการดูกระแสตอบรับของประชาชน, อันดับ 2 ตอบว่าไม่มี 38.79% เพราะเป็นการประชุม ครม.สัญจรปกติ ไม่น่ามีนัยแฝง รัฐบาลต้องการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น           

และเมื่อถามว่า ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กับ กระแสข่าวการประชุมครั้งนี้ว่าเป็นการ “ดูด ส.ส.” คนส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่แน่ใจ 47.70% เพราะไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหว ยังไม่ชัดเจน  และอันดับ 2 ตอบว่าเห็นด้วย 31.01% เพราะรัฐบาลต้องการสร้างฐานเสียง ขยายกลุ่มนักการเมืองที่มีอยู่ หาสมาชิกเพิ่มเพื่อให้ตรงใจประชาชน.      

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0