โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โบนัส ปี 62 บริษัทยักษ์ใหญ่ จ่ายกันเท่าไร?

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2562 เวลา 03.00 น.

โค้งสุดท้ายปี 2562 กำลังจะหมดลงแล้ว หลายคนคงตั้งตารอประกาศข่าวดีจากบริษัทกันอยู่ ว่าปีนี้จะได้โบนัสหรือไม่ แต่สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่แล้ว ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี คงไม่ต้องลุ้นว่าจะได้หรือเปล่า แต่คำถามที่น่าจะอยากรู้มากกว่า ก็คือ ปีนี้จะได้โบนัสสักกี่เดือนกันนะ?

ในประเด็นนี้บวรนันท์ ทองกัลยานายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT)ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับฐานเศรษฐกิจเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสโดยตรงซึ่ง บวรนันท์ ได้บอกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ แม้ปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าเป้า แต่ผู้ประกอบการยังคงที่จะปรับอัตราเงินเดือนขึ้นให้กับพนักงาน ซึ่งในปี 2563 จะปรับขึ้นราว 5.07% สำหรับการจ่ายโบนัสนั้น ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เท่าของเงินเดือน

สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้สำรวจเช่นเดียวกัน และสรุปคาดการณ์การปรับขึ้นเงินเดือนไว้ว่าประเทศไทยยังคงตัวอยู่ที่ 5%

สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เห็นชัดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับไทยค่อนข้างมาก เพราะนอกจากรายได้จากการส่งออกที่สูงกว่า 9 แสนล้านบาทแล้ว ยังเกิดการจ้างงานมหาศาล และดึงเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศนั้น แนวโน้มในปี 2563 จะมีการจ่ายโบนัสสูงที่สุด เฉลี่ย 3.6 เท่าของเงินเดือน

ทั้งนี้"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์"ได้รวบรวม และพาไปเปิดกระเป๋าเงินของแต่ละบริษัทกันว่า ปีนี้จะจ่ายหนัก จ่ายจริงกันเท่าไรบ้าง

ขอเริ่มจากฟากฝั่งของรัฐวิสาหกิจที่จ่ายโบนัสสูงลิ่ว เริ่มจาก บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน) หรือทอท. ที่ออกมาประกาศโบนัสเป็นรายแรกๆ เลยก็ว่าได้ โดยประกาศจ่ายโบนัสสูงถึง7.25 เท่าของเงินเดือนซึ่งแม้จะจ่ายน้อยกว่าปีก่อนที่รับกันไป 7.75 เท่าของเงินเดือน แต่อย่างไรก็ทำให้หลายคนอิจฉาหนักมากอยู่ดี

สาเหตุที่ทำให้ ทอท.ยังคงจ่ายโบนัสในอัตราที่สูง ปัจจัยสำคัญมาจากรายได้ที่สูงขึ้น โดยเพียงแค่ 9 เดือนของปี 2562 ทอท.ก็โกยรายได้ทะลุ 6.2 หมื่นล้านบาทไปแล้ว แถมมากกว่าปีที่ผ่านมาราวๆ 2 พันล้านบาท และปีหน้ายังมีแนวโน้มได้โบนัสอีกแน่นอน เพราะ ทอท.มีแผนเพิ่มรายได้ขึ้นอีกจากโปรเจ็กต์ขยายสนามบินเฟส 2 และ 3 รวมถึงยังมีสัมปทานดิวตี้ฟรีทั้ง 4 สนามบิน (สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่) และเตรียมรับมอบจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.)อีก 4 แห่ง (อุดรธานี, บุรีรัมย์, ชุมพร, ตาก)

..คงต้องรอลุ้นกันอีกทีว่าปีหน้าจะได้กันสักเท่าไร

และแน่นอนว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูประกาศโบนัสทีไร รัฐวิสาหกิจนี้อีกแห่งที่ขึ้นแท่นให้คนตาร้อนอยู่เสมอ ก็คือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ที่ขณะนี้ดูแลทางด่วนทั้งหมด 8 แห่ง ทำให้ปีที่ผ่านมาโกยรายได้ไปเบาๆ เฉียด 1.8 หมื่นล้านบาท

ด้วยแนวโน้มการใช้รถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้ของ กทพ.ด้วย โดยปี 2562 นี้ กทพ. ได้ประกาศเป็นขวัญถุงให้กับพนักงานในช่วงโค้งสุดท้าย รับเนาะๆ5 เท่าของเงินเดือน เท่ากับปีที่ผ่านมา

ยังอยู่ที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่มาที่ฝั่งธนาคารกันบ้าง เทียบกันชัดๆ ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส. และธนาคารออมสิน เพราะปีนี้ทั้งสองแห่งต่างออกมามาตรการการเงินมาเพียบ ส่วนเรื่องของโบนัสนั้นคู่คี่สูสี ธนาคารออมสินขอปรับโบนัสขึ้นอีกหนึ่งเท่าของเงินเดือน มาเป็น 7 เท่าของเงินเดือน เท่ากับ ธอส.เป๊ะๆ ส่วน ธอส.ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 7 เดือน

สำหรับภาคเอกชนนั้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แม้ปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรได้คาดการณ์ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยอยู่ในภาวะซบเซา หดตัวกว่า 2.7% เมื่อเทียบกับปริมาณรถยนต์ก็ราวๆ 1.1 ล้านคัน จากปัจจัยลบด้านสงครามการค้าที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า รวมถึงยังมีข่าวคราวการหยุดจ้างงานชั่วคราวจากบางบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ ที่ทำให้หายใจไม่คล่องกัน​ และพากันกังวลว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตเพราะขนาดอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ยังส่งสัญญาณค่อนไปทางลบแบบนี้

แต่พอเริ่มเข้าไตรมาสสี่ ก็มีหลายสื่อโซเชียลมีเดียออกมาเรียกเสียงฮือฮา ปล่อยข่าวโบนัสของบริษัทต่างๆ มาเป็นระลอก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของข่าวการจ่ายโบนัสของทุกๆ ปี ต้องบอกว่าเยอะจริง จ่ายหนัก ทำคนทั่วประเทศตาลุกวาว อิจฉาไปตามๆ กัน

เริ่มจากบริษัทที่เปย์โบนัสให้พนักงานมากที่สุด (เท่าที่รวบรวมได้) ในปี 2563 นี้ต้องยกให้ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ในไทย เพราะจ่ายโบนัสกว่า8.45 เท่าของเงินเดือน และยังบวกเงินพิเศษเพิ่มเติมให้อีก 40,000 บาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นทั้งตัวโบนัส และเงินพิเศษ

ตามมาติดๆ กับบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์(ประเทศไทย) จำกัด หรือ AAT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กับบริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ในการผลิตรถยนต์ โดยในปีที่ผ่านมาผลิตรถยนต์ครบ 3 ล้านคันแล้ว การเติบโตที่เกิดขึ้นเรื่อยมาทำให้ปี 2561 จ่ายโบนัสไปถึง 8 เท่าของเงินเดือน พ่วงด้วยเงินพิเศษเพิ่มเติมอีก 40,000 บาท

สำหรับปี 2562 นี้ AAT ขอจ่ายต่างจากปีก่อนสักเล็กน้อย โดยเปย์เพิ่มอีก 0.5 ให้พนักงานเฮกันจนเจ็บคอ เพราะรับไปถึง 8.05 เท่าของเงินเดือน แถมเงินพิเศษให้อีก 22,000 บาท

ด้านบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก็ไม่น้อยหน้า จ่ายโบนัสเพลินๆ 8 เท่าของเงินเดือน บวกเงินเพิ่มอีก 24,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.5 เท่าของเงินเดือน และเพิ่มเงินให้อีก 4,000 บาทด้วย

ปิดฝั่งอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยบริษัทมิตซูบิชิ อิเลคทริคไทย ออโต้-พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ ขอลดจ่ายโบนัสในปี2562 ลงเหลือ 7.5 เท่าของเงินเดือน จากเดิมที่เคยให้ 8.5 เท่าของเงินเดือน แถมเงินพิเศษอีก 7,000 บาท ซึ่งยังเท่าเดิม แม้จะดูตัวเลขลดลง แต่ก็ยังคงสูงมากอยู่ดี เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ

นอกจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สร้างรายได้ให้กับไทยแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา พืชเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ออกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ส่งตลาดหลักอย่างจีน ที่ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับอุตสาหกรรมยางพาราในไทยนั้น มียักษ์ใหญ่อยู่ราว 5 บริษัท หรือที่เรียกกันว่า"5 เสือยางพารา"หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และด้วยความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น กับมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล ทำให้อุตสาหกรรมนี้ยังคงดูสดใส ส่งผลให้บริษัท ไทยฮั้วยางพาราฯ ยังคงได้รับอานิสงส์ดีมานด์ของตลาดโลกทำให้*ยังคงเปย์โบนัสให้พนักงานเท่ากับปีก่อนที่ 2.5 เท่าของเงินเดือน *

และขอปิดท้ายกับยักษ์ใหญ่ที่ครองธุรกิจหลายเซ็กเมนต์ เช่น ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจอาหาร เป็นต้น จำหน่ายทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างเครือซีพีเอฟ(CPF) ที่ปีนี้จ่ายโบนัสให้พนักงานราว 2 เดือน

จาก 10 บริษัทที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น เป็นเพียงส่วนเดียวของบริษัทในไทยที่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานเท่านั้น หลังจากลองบวกลบคูณหารจำนวนเท่าของเงินเดือนกันที่จะได้รับแล้ว คงต้องบอกเลยว่าแอบอิจฉานิดๆ แต่สำหรับเงินก้อนที่มาก้อนใหญ่นี้ อาจจะทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ได้เงินก้อนโตแล้วจะเอาไปทำอะไรดี ซื้อของ ท่องเที่ยว จ่ายหนี้ ฝากธนาคาร หรืออยากจะเพิ่มพูนเงินที่มีอยู่ในมือ ควรจะเอาไปลงทุนรูปแบบไหนที่จะคุ้มค่าที่สุด

นี่คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อ และต้องรอบคอบกันสักหน่อย เพราะการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมอ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0