โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เส้นทางชีวิต โนโมโคนอฟ (Nomokonov) สุดยอดพลซุ่มยิงโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 26 ก.พ. 2565 เวลา 14.33 น. • เผยแพร่ 26 ก.พ. 2565 เวลา 14.33 น.
nomokonov
เซเมี่ยน ดานิโลวิช โนโมโคนอฟ (Semyon Danilovich Nomokonov) ชายในกลางรูปภาพที่ถูกห้อมล้อม (ภาพจาก https://thesanghakommune.org/2017/02/28/semyon-nomokonov-1900-1973-evenk-soviet-sniper/)

มหาสงครามของผู้รักชาติ หรือ The Great Patriotic War นำพาให้ชายหญิงในสหภาพโซเวียตนับล้านเข้าสู่กองทัพในฐานะทหารที่ต้องออกรบปกป้องประเทศชาติ เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันกรีฑาทัพบุกมายังมาตุภูมิรัสเซีย ข้าศึกถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วจนสามารถรุกเข้าสู่หน้าประตูของกรุงมอสโคว์ เมืองสำคัญต่าง ๆ ถูกยึดครอง ประชาชนจำนวนมากถูกสังหาร บางส่วนถูกนำไปเป็นแรงงานทาส ทุกที่ที่ทหารนาซีเคลื่อนพลผ่านนั่นคือหายนะต่อทุกชีวิตที่อยู่ในบริเวณนั้น

โจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต ณ ขณะนั้นรู้ดีว่าก่อนที่เขาจะหยุดข้าศึกได้ เขาจะต้องหยุดให้ประชาชนของตนเองเลิกกลัวและระดมพลจากทุกภาคส่วนของประเทศเข้ามาเสริมกำลังเป็นการด่วน การโฆษณาชวนเชื่อและการสร้างแรงบัลดาลใจได้รับการโหมโฆษณาและประกาศผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย การชูธงว่าทุกคนในชาติต้องร่วมสู้ศึกเพื่อมาตุภูมิรัสเซียดีกว่าการชูนโยบายสู้เพื่อความภักดีหรือสละชีพเพื่อท่านผู้นำ ซึ่งประชาชนทั้งเกลียดและกลัวสตาลินอย่างมาก ทางเลือกของประชาชนทุกคนในดินแดนแห่งนี้มีไม่มาก ในตอนแรกพวกเขาคิดว่าการบุกเข้ามาของพวกนาซีดูเหมือนจะเป็นการปลดปล่อยพวกเขาจากระบอบคอมมิวนิสต์ และพวกบอลเชวิคที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นทาส

ทหารเยอรมันได้รับการต้อนรับจากหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ ที่เคลื่อนพลเข้ามาโดยชาวโซเวียต แต่พวกเขาก็หารู้ไม่ว่าสำหรับฮิตเลอร์และอุดมการณ์นาซีของเขาแล้ว ชนชาติสลาฟ คือชนชาติชั้นต่ำที่จะต้องถูกกำจัดออกไป และชนชาติอารยันจะต้องเข้าไปยึดครองผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ของโซเวียตแทนพวกสลาฟ

ด้วยเหตุนี้ ท่าทีพวกนาซีเยอรมันจึงเผยธาตุแท้ของตนเองตามความประสงค์ของท่านผู้นำ สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะการกำจัดคนเชื้อสายยิวในเขตพื้นที่ที่เยอรมันยึดโครงโดยหน่วยเอสเอส เริ่มขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ความตายมีให้เห็นทุกหนแห่งหรือทุกมุมของเมืองและในหมู่บ้าน

การระดมพลทหารเข้าสู่กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตดำเนินไปอย่างรีบเร่งเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ของสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานั้น ประชาชนในแต่ละภูมิภาคซึ่งมีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรมถูกเกณฑ์เข้าสู่กองทัพ นั่นจึงทำให้ทหารโซเวียตมีจุดเด่นตรงที่ในกองทัพของพวกเขามีความหลากหลายทั้งเพศ วัย และเชื้อชาติ แต่พวกเขาก็มารวมกันและรบใต้ร่มธงผืนเดียวกัน และสิ่งนี้เองได้ก่อให้เกิดวีรกรรมของทหารหลากหลายเชื้อชาติ เพศและวัย ซึ่งถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การทำสงครามในช่วงนั้น

และนี่คือเรื่องราวของพลซุ่มยิงจากดินแดนอันห่างไกลในไซบีเรีย ที่แม้จะมีอายุมากแล้วในคราวที่เข้าร่วมรบในกองทัพ แต่เขาก็สร้างตำนานและแสดงฝีมือในการรบให้ทั้งมิตรยกย่องและศัตรูเกรงขาม

พลแม่นปืน “เจ้าตาเหยี่ยว”

เซเมี่ยน ดานิโลวิช โนโมโคนอฟ (Semyon Danilovich Nomokonov) เกิดวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1900 ในหมู่บ้านเดลยูน (Delyun Village) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขต สเตรเทนสกี้ (Sretensky) ภูมิภาค ทรานส์-ไบคาล (Trans-Baikal) เขาคือลูกหลานของชนเผ่า เอเวงค์ (Evenk) หรือ เอเวงกิ (Ewenki) เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาตุงกูซิก (Tungusic) อันเป็นภาษาที่ใช้พูดในไซบีเรียตะวันออกและแมนจูเรีย เขาเติบโตขึ้นมาและเรียนรู้วิถีแห่งนักล่าของชนเผ่าพื้นเมือง

ชนเผ่าเอเวงค์เป็นเผ่าที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์และอพยพเร่ร่อนตั้งถิ่นฐานไปในที่ต่าง ๆ ครอบครัวของโนโมโคนอฟมีฐานะยากจน แต่ก็เลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า เขาเกิดและเติบโตมาในสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้วแบบไซบีเรียและออกล่าสัตว์ในป่าไทก้า อันเป็นชื่อเรียกของป่าในเขตหนาวซึ่งมีลักษณะเป็นป่าสนเขาซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยต้นไพน์ สพรูสและลาตช์ เขาติดตามพ่อออกไปล่าสัตว์และเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิตในป่าจนกระทั่งเขาอายุ 7 ขวบ พ่อจึงสอนวิธียิงปืนให้แก่เขา 

จากการฟังและดูพ่อใช้อาวุธปืนล่าสัตว์รวมถึงการเรียนรู้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของปืน เขาดูแลปืนคู่กายของพ่อเป็นอย่างดีและแทบจะกินกับนอนกับปืนกระบอกนี้เลยทีเดียว เขาแสดงฝีมือการยิงปืนโดยไม่ทำให้พ่อต้องผิดหวัง ทุกนัดที่ยิงออกไปเข้าเป้าหมายอย่างแม่นยำ ปืนที่เขาใช้ก็ไร้ซึ่งกล้องเล็งหรือเครื่องช่วยในการเล็งเป้าใด ๆ มันเป็นการเล็งยิงแบบประณีตตามที่พ่อของโนโมโคนอฟเคยสอนมา ฝีมือยิงปืนของเขาแสดงให้คนในเผ่าประจักษ์ จนทุก ๆ คนพร้อมใจกันตั้งฉายาให้เขาว่า “เจ้าตาเหยี่ยว”

ค.ศ. 1919 เขาแต่งงาน และอาศัยอยู่ในกระท่อมเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำยูรูลกี (Urulgi) เขามีลูก 6 คนและเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ชีวิตของเขาดูเหมือนจะเป็นชีวิตง่าย ๆ และอาศัยอยู่กับธรรมชาติเฉกเช่นที่เขาเคยเติบโตมา แต่ทว่า สิ่งเลวร้ายที่สุดก็มาพรากชีวิตคนในครอบครัวเขาไป การระบาดของโรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) พรากชีวิตลูกชายของเขา 4 คน และลูกสาวอีก 1 คน ไม่เพียงเท่านั้น ภรรยาของเขาก็ติดเชื้อเช่นกัน โนโมโคนอฟพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาชีวิตคู่ชีวิตของเขาเอาไว้แต่สุดท้ายเธอก็จากไปอีกคน นั่นจึงทำให้ 8 ชีวิตที่เคยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันอย่างอบอุ่น เหลือเพียงสองคนเท่านั้นคือโนโมโคนอฟ กับลูกชายของเขา โวลอดย่า

โนโมโคนอฟแต่งงานใหม่อีกครั้งกับมาร์ธา โนโมโคนอฟเข้ามาทำงานเป็นคนงานในโรงไม้ ชีวิตของเขาดูเหมือนจะไปได้สวย เขาตื่นเช้าไปทำงานและกลับมาอยู่กับครอบครัวทุกวัน เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในแบบคนหาเช้ากินค่ำ แต่แล้วความสงบสุขที่เคยเป็นมากลับต้องถูกขัดจังหวะจากไฟสงครามที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาสู่รัสเซีย เมื่อมีคำสั่งให้ระดมพลเป็นการเร่งด่วน ผู้ชายทุกคนในเขตพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัยต้องไปรายงานตัวทันที

เข้าร่วมสงคราม

สงครามครั้งแรกในชีวิตของโนโมโคนอฟคือ สงครามโซเวียต-ญี่ปุ่น (สงครามความคัดแย้งปัญหาพรมแดน เมื่อ ค.ศ. 1932-1939) เขาถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบในการรบบริเวณพรมแดนโซเวียต-ญี่ปุ่น เขาสำแดงฝีมือการยิงปืนให้เพื่อนทหารได้เห็นเป็นขวัญตา โนโมโคนอฟหาใช่ทหารที่หยิบอาวุธขึ้นมายิงเข้าใส่ข้าศึกแบบสะเปะสะปะ ทุกนัดที่เขายิงออกไปจะต้องปลิดชีพข้าศึกหนึ่งคนเสมอ

กระสุนทุกนัดในตับกระสุนปืนแบบโมซิน นากองท์ (Mosin Nagant Rifle) เขาใช้มันได้อย่างคุ้มค่า และตลอดช่วงเวลาในสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น เขาใช้ปืนเล็กยาวประจำกาย สังหารนายทหารญี่ปุ่นได้ถึง 8 นาย จนกระทั่งสงครามยุติญี่ปุ่นและโซเวียตเจรจาสงบศึก เขาจึงได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุขกับครอบครัวอีกครั้ง แต่ช่วงเวลาแห่งสันติสุขก็แสนสั้นเหลือเกินเพราะสงครามครั้งใหญ่บนแผ่นดินเกิดของเขากำลังจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า

มิถุนายน ค.ศ. 1941 กองทัพนาซีเยอรมันและมิตรประเทศอักษะยกทัพบุกสหภาพโซเวียตแบบไม่ทันตั้งตัว ในตอนนั้นกองทัพโซเวียตปราชัยแทบทุกสมรภูมิ กำลังทหารนับล้านไม่ตายก็ถูกจับเป็นเชลยสงคราม นั่นจึงทำให้ชีวิตของ โนโมโคนอฟ หนุ่มใหย่วัย 41 ปี ณ เวลานั้น จำต้องหวนกลับสู่แนวหน้าอีกครั้ง ด้วยวัยที่สูงขึ้นของเขาจึงทำให้นายทหารไม่ต้องการจะนำเขาออกไปรบเพราะกลัวว่าจะเป็นภาระของเพื่อนทหารวัยหนุ่มคนอื่น ๆ ก็เลยให้เขาทำหน้าที่ในแนวหลังของสนับสนุนแก่หน่วย และคอยดูแลทหารบาดเจ็บที่สถานีพยาบาล นอกจากนี้เขายังมีหน้าที่ทำไม้ค้ำยันเวลาเดินให้แก่ทหารที่บาดเจ็บอีกด้วย

ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1941 ขณะที่เขากำลังทำหน้าที่พยุงทหารคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บไปส่งยังสถานีพยาบาล ระหว่างทางเขาสังเกตเห็นทหารเยอรมันกำลังเล็งปืนมาที่เขา เขาและทหารบาดเจ็บพุ่งลงพื้นหมอบลง เขาคว้าปืนเล็กยาวประจำกายของตนเองออกมา และเล็งไปที่ทหารข้าศึกคนนั้นที่กำลังระดมยิงใส่ โนโมโคนอฟหาได้หวาดหวั่นต่อลูกปืนที่พุ่งผ่านตัวเขาไป เขาเล็งและลั่นไกส่งกระสุนสังหารไปยังทหารเยอรมันจนชะตาขาด ฝีมือในการยิงปืนของเขาที่เคยสร้างผลงานมาแล้วในสงครามกับญี่ปุ่น ยังไม่ตกหล่นหรือร่วงโรยไปตามวัยแต่อย่างใดและนั่นจึงทำให้เขาถูกย้ายไปทำหน้าที่ในหมวดซุ่มยิงทันที

ราวกับพยัคฆ์ติดปีก หรือ สัตว์นักล่าหวนคืนสู่พงไพร ทักษะและความชำนาญในการใช้ปืนของโนโมโคนอฟที่สะสมมาตั้งแต่ยังเด็กก็ถูกนำออกมาใช้ล่าพวกนาซีทันที เขาถูกบรรจุอยู่ในกองพลปืนเล็กยาวที่ 221 (221st Rifle Division) อาวุธปืนที่เขาใช้งานตลอดอาชีพทหารของเขาก็ยังเป็นปืนเล็กยาวโมซิน นากองท์แบบไม่ติดกล้องเล็งเช่นเดิม ปืนรุ่นนี้เป็นปืนที่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ในช่วงกองทัพจักรวรรดิรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1882-1891และเมื่อมันมาอยู่ในเมืองของโนโมโคนอฟแล้ว สิ่งใดที่เข้ามาอยู่ในศูนย์เล็งของปืนที่เขากำลังเล็งอยู่ สิ่งนั้นจะต้องถูกยิงกระจุยทันที!

เพื่อนทหารของเขาที่ทำหน้าที่พลชี้เป้ากล่าวว่า “เมื่อเขาออกไปเผชิญหน้ากับศัตรู ตัวของเขาทั้งกายและใจแทบจะหยุดนิ่งไปในทันที เขาไม่เคลื่อนไหวแทบจะไม่กระพริบตา หรือแม้แต่เสียงลมหายใจก็แทบจะไม่ได้ยิน ราวกับว่าเขากำลังอยู่คนละโลกกับเรา” บ่อยครั้งที่การออกไปซุ่มยิงข้าศึกดำเนินไปในระหว่างที่มีการรบติดพัน เสียงของปืนและระเบิดพุ่งผ่านจุดที่เขาซุ่มอยู่ แต่ก็หาทำให้สมาธิที่กำลังจดจ่ออยู่กับการฆ่าของเขาเสียลงได้ หากเขาได้ซุ่มรอเพื่อยิงใครสักคนแล้วย่อมหมายความว่าเขาก็จะต้องยิงสังหารเป็นศพให้ได้

วีรกรรมซุ่มยิง

โดยปกติแล้วโนโมโคนอฟจะออกไปซุ่มยิงข้าศึกที่ระยะ 300 ถึง 500 เมตร แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาจำต้องซุ่มยิงที่ระยะ 1,000 เมตร เขาพรางตนเองด้วยการสวมชุดล่าสัตว์พื้นเมืองคล้ายกับชุดกิลลี่ที่พรานและพลซุ่มยิงสวมใส่ในยุคปัจจุบัน เขาสวมรองเท้าที่ทำจากผมม้าซึ่งมันช่วยให้เขาเหยียบย่ำลงไปบนผืนดินหรือในภูมิประเทศต่าง ๆ โดยแทบจะไร้เสียง และอีกหนึ่งสิ่งที่แปลกมากในวิธีการซุ่มยิงของโนโมโคนอฟก็คือ เขาจะพกพากระจกและใช้มันเพื่อสะท้อนแสง

นี่อาจจะเป็นวิธีที่สวนทางกับการซุ่มยิงทั้งหมดทั้งมวล เพราะพลซุ่มยิงมักจะหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่มีพื้นผิวโลหะหรือสิ่งที่สามารถสะท้อนแสงได้ทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าแสงสะท้อนจะทำให้เผยตำแหน่งที่ซ่อนของตนเองได้ แต่สำหรับโนโมโคนอฟ เขาสามารถฉกฉวยจังหวะที่ข้าศึกคิดว่ามองเห็นเขาแล้วและกำลังจะเล็งยิงใส่ โนโมโคนอฟใช้วินาทีอันน้อยนิดนี้ในการหลอกล่อให้ข้าศึกเผยตำแหน่งตนเองและยิงใส่ข้าศึกก่อนที่ข้าศึกจะมีโอกาสลั่นไก

นอกจากนี้ โนโมโคนอฟยังหลอกล่อข้าศึกด้วยการนำหมวกเหล็กทหารราบโซเวียตมาใช้ล่อเป้าปืนซุ่มยิงข้าศึก โดยเขาจะนำหุ่นที่สวมเครื่องแบบทหารโซเวียตและสวมหมวกเหล็กเอาไว้ แล้วทำทีว่าโผล่หัวขึ้นมาจากที่กำบังเพื่อล่อให้ข้าศึกยิงใส่ อันจะทำให้เขาทราบตำแหน่งที่ซุ่มยิงของข้าศึก ในช่วงปลาย ค.ศ. 1941 เขาแสดงวีรกรรมช่วยชีวิตผู้บังคับบัญชาของเขาโดยการยิงทหารเยอรมันที่อยู่บนเนินและกำลังยิงถล่มที่มั่นที่ผู้บังคับบัญชาเขาตั้งมั่นอยู่

กระสุนสังหารของโนโมโคนอฟยิงทหารเยอรมันเสียชีวิตไป 8 นาย ฝีมือการยิงปืนของเขายังช่วยชีวิตเพื่อนทหารในหน่วยเอาไว้หลายต่อหลายครั้ง เขาได้เลื่อนยศเป็นจ่าและทำหน้าที่เป็นครูฝึกพลซุ่มยิงอีกด้วย

ครั้งหนึ่งในการรบบริเวณป่าแห่งหนึ่งในลิธัวเนีย เขาออกไปเผชิญหน้ากับพลซุ่มยิงเยอรมันที่ยิงเพื่อนทหารของเขาเสียชีวิตและนอนบาดเจ็บอยู่ในสนามรบหลายนาย ไม่มีใครมองเห็นพลซุ่มยิงข้าศึกและไม่รู้เลยว่ามันยิงมาจากทางไหน แต่เมื่อจ่าโนโมโคนอฟถูกเรียกตัวมาในบริเวณนั้นเขาแหงนมองดูป่าและสภาพโดยรอบ สัญชาตญาณของนักล่าที่สั่งสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กรู้ทันทีว่า ถ้าหากเป็นเขามารอซุ่มยิงเหยื่อในป่าเช่นนี้เขาควรจะอยู่ตรงไหนถึงจะได้เปรียบที่สุด

จ่าโนโมโคนอฟ หันมาบอกให้ทุกคนหลบอยู่ที่กำบัง และเขาก้มลงจูบปืนเล็กยาวโมซิน นากองท์คู่ใจของเขาหนึ่งครั้ง และค่อย ๆ คืบคลานหายเข้าไปในป่าเพียงลำพัง เพื่อนทหารทุกคนที่อยู่ตรงนั้นไม่มีใครรู้ว่าเขากำลังจะไปไหน ความเงียบสงัดเข้าปกคลุมไปทั่วบริเวณทุกคนต่างจดจ่อกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ ทั้งหน่วยขยับไปไหนไม่ได้เพราะรู้ดีว่าคมกระสุนปืนเยอรมันสามารถพุ่งทะลุร่างของพวกเขาได้หากขยับตัวออกไปแบบไม่ระมัดระวัง

แต่ทันใดนั้นเองมีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด มันเป็นเสียงดังสนั่นป่าหลังจากที่มันเงียบมานาน แต่สิ้นเสียงปืนจางหายไปได้สักครู่ ชายร่างเล็กในชุดพรางก็เดินกลับมายังแนวทหารโซเวียตโดยที่ปากของเขาคาบกล้องยาสูบและปืนโมซิน นากองท์ ปืนคู่ใจสะพายอยู่ด้านหลัง ส่วนในมือของเขาถือปืนซุ่มยิงเยอรมันแบบ เกแวฮ์ร 43 (Gewehr 43) ที่ยึดมาได้จากร่างอันไร้วิญญาณของพลซุ่มยิงเยอรมัน ทุกครั้งที่เขาซุ่มยิงทหารเยอรมันเสียชีวิต เขาจะทำรอยจารึกเอาไว้บนกล้องยาสูบของเขา นั่นจึงเป็นที่มาของ “1 ศพ 1 สูบ”

ปีศาจแห่งป่าไทก้า

ชื่อเสียงของจ่าโนโมโคนอฟเลื่องลือในหมู่ทหารโซเวียต หนังสือพิมพ์ของกองทัพแดงตีพิมพ์ภาพของเขากับปืนซุ่มยิงคู่ใจและเขียนเรื่องราวความสำเร็จในการสังหารผู้รุกรานที่บังอาจบุกเข้ามายังดินแดนรัสเซีย กองทัพแดงโฆษณาว่าแม้เขาจะอายุมากกว่าเพื่อน ๆ ทหารในหน่วยตนเอง แต่เขาก็เป็นแบบอย่างให้กับทหารทุกคนในเรื่องของความอดทนและความมุ่งมั่นที่จะขับไล่ข้าศึกออกไป และนำชัยชนะมาสู่สหภาพโซเวียต

ขณะที่ฝ่ายเยอรมันเองก็ครั่นคร้ามต่อฝีมือการซุ่มยิงของเขาเป็นอย่างมากและเรียกเขาว่า “ไทก้า ชามาน” (Taiga Shaman) หมายถึง“ปีศาจแห่งป่าไทก้า” มีการบันทึกยอดการสังหารของเขาอยู่ที่จำนวน 638 ศพ แต่ข้อมูลบางแห่งก็อยู่ที่ 620 ศพ แต่จำนวนก็ไม่น้อยไปกว่า 600 ศพ แม้จะมีความสามารถในการรบ แต่เขาก็บาดเจ็บในการรบถึง 8 ครั้งด้วยกัน และเมื่ออาการบาดเจ็บพอทุเลาลง เขาก็ยังกลับมาทำหน้าที่เป็นพลซุ่มยิงต่อไปจนสิ้นสุดสงคราม

ตลอดช่วงสงครามจากวีรกรรมและความกล้าหาญของเขา นั่นจึงทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญมากมายรวมทั้งเหรียญอิสริยาภรณ์เลนิน (Order of Lenin) อันเป็นเหรียญกล้าหาญสูงสุดของทหารโซเวียต เมื่อเขาเกษียณจากกองทัพและกลับไปที่หมู่บ้านของเขาในไซบีเรียเพื่อเริ่มต้นชีวิตที่เรียบง่ายและสงบสุขอีกครั้ง แต่เนื่องจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารถ่ายทำบทความและข่าวเกี่ยวกับตัวเขาตลอดช่วงสงคราม มันจึงทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักทั่วสหภาพโซเวียต

นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังเชิญเขาไปบรรยายในโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้ทำเพื่อแผ่นดินมาตุภูมิ เขาได้รับการสรรเสริญอย่างมากจากประชาชนนอกจากนี้ที่บ้านของเขายังมีพัสดุสิ่งของและจดหมายจากประชาชนที่เขียนจดหมาย และมอบของที่ระลึกให้แก่เขา และขอบคุณในความเสียสละของเขาตลอดช่วงสงคราม

แต่แล้ววันหนึ่งมีจดหมายฉบับหนึ่งเขียนมาหาเขาที่บ้าน มันเป็นจดหมายที่เขียนมาจากประเทศเยอรมัน มันคือจดหมายของคุณแม่ชาวเยอรมันผู้โศกเศร้าคนหนึ่งที่เขียนมาถามเขาว่า“คุณคือคนที่ยิงลูกฉันตายใช่ไหม” เพราะเธอคิดว่าลูกชายของเธอกุสตาฟ เออร์ลิค อาจจะเป็นเหยื่อคมกระสุนของเขา และในจดหมายฉบับนี้ยังย้อนถามพลซุ่มยิงจากป่าไทก้าคนนี้อีกว่า “คุณรู้สึกอย่างไรที่ได้ฆ่าคนเยอรมันตายไปหลายร้อยคน”

จ่าโนโมโคนอฟเมื่อได้ทราบความหมายที่แท้จริงจากข้อความในจดหมายที่ถูกเขียนเป็นภาษาเยอรมันฉบับนี้ทำให้เขารู้สึกโกรธไม่น้อย เขารีบหาผู้รู้ภาษาเยอรมันมาเขียนจดหมายตอบกลับไปยังหญิงเยอรมันคนนี้ทันที ซึ่งในข้อความจดหมายที่เขียนนั้นความว่า

“ผมไม่เคยรู้สึกสนุกกับการยิงใคร แต่มันเป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำ บางทีถ้าคุณได้มาเห็นความหายนะและความโหดร้ายที่กระทำโดยกองทัพนาซีเยอรมันบนแผ่นดินของเรา คุณอาจจะไม่ถามผมเช่นนี้”

เซเมี่ยน ดานิโลวิช โนโมโคนอฟ มีลูกกับภรรยาใหม่อีก 9 คน และใช้ชีวิตที่เหลืออย่างสงบ ในเมืองบ้านเกิดของเขาจะจัดงานรำลึกถึงวีรกรรมของเขาทุกปี และมีการจัดการแข่งขันยิงปืนเพื่อเป็นเกียรติแก่โนโมโคนอฟอีกด้วย โนโมโคนอฟลาโลกนี้ไปอย่างสงบในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1973 ด้วยวัย 73 ปี

อ้างอิง :

Adrian Chan-Wyles. (2017). SEMYON NOMOKONOV (1900-1973) EVENK SOVIET SNIPER, from https://thesanghakommune.org/2017/02/28/semyon-nomokonov-1900-1973-evenk-soviet-sniper/

Wikipedia. (2019). Semyon Nomokonov, from https://en.wikipedia.org/wiki/Semyon_Nomokonov

Semyon Nomokonov. (2018), from https://alchetron.com/Semyon-Nomokonov

360 Germans Siberian sniper Nomokonova. (2019), from https://bashny.net/t/en/284682

Semen Danilovich Nomokonov: biography, awards, memory. Snipers of the Great Patriotic War. (2019), from https://erch2014.com/obrazovanie/90447-semen-danilovich-nomokonov-biografiya-nagrady-pamyat-snaypery-velikoy-otechestvennoy-voyny.html

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0