โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โตโยต้ากินรวบรถตู้ "คอมมิวเตอร์ ใหม่"มาทันเดดไลน์

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 17 มิ.ย. 2562 เวลา 01.40 น.

โตโยต้ายังคง กินรวบตลาดรถตู้โดยสาร เปิดตัว “คอมมิวเตอร์ โฉมใหม่” ทันก่อนเดดไลน์บังคับเปลี่ยนเป็น“มินิบัส” ตั้งแต่ 30 กันยายนนี้ ส่วนกลุ่มวิ่งระหว่างจังหวัดส่ง “โคสเตอร์” ขายทุกดีลเลอร์ จากนั้นเดือนสิงหาคมเตรียมนำเข้า “มาเจสตี้” เจาะลูกค้าใช้งานส่วนบุคคล

พี่ใหญ่ “โตโยต้า” ที่มักจับจังหวะการบังคับใช้กฎหมายใหม่ของภาครัฐได้ถูกเวลากับธุรกิจของตนเองเสมอ ล่าสุดเปิดตัวรถตู้โฉมใหม่ในรอบ 15 ปี ทั้ง “คอมมิวเตอร์”ฐานล้อยาวหลังคาสูง และ “ไฮเอซ” รถตู้ช่วงสั้นหลังคาเตี้ย ซึ่งราคาขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยลูกค้าที่ซื้อไปจดทะเบียนวิ่งเป็นรถโดยสารเส้นทางหมวด 1 ในกรุงเทพ ยังดำเนินการได้ทันก่อนเดดไลน์ วันที่ 30 กันยายนนี้ ส่วนรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัดที่อายุเกิน 10 ปีต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส โตโยต้า สั่งนำเข้า “โคสเตอร์” จากญี่ปุ่นราคา 1.96 ล้านบาท มาถล่มคู่แข่งหน้าใหม่ ทั้ง ฮุนได และไทยรุ่ง

ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดอายุรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี และถ้าจดทะเบียนใหม่ต้องเปลี่ยนเป็น “มินิบัส”แทน ซึ่งนโยบายนี้ให้เวลาผู้ประกอบการค่อยๆปรับตัว คือเริ่มเปลี่ยนในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และหมวด 3 ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เฉพาะเส้นทางที่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทางก่อน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560

อย่างไรก็ตามในเส้นทางหมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค รวมถึงเส้นทางหมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ที่ไม่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งที่จะเข้าหลักเกณฑ์ปี 2562 ยังนำ “รถตู้โดยสาร” มาเปลี่ยนทดแทนคันเดิมได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 (ยังไม่ต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัส) แต่กำหนดเงื่อนไขต้องเป็นรถใหม่ หรือรถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี และจะมีระยะเวลาในการวิ่งบริการในเส้นทางรวมแล้วไม่เกิน 10 ปี นับจากวันที่จดทะเบียนรถครั้งแรก

 

 

ดังนั้นวินรถตู้ที่วิ่งประจำเส้นทางในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล ยังซื้อรถตู้มาจดทะเบียนในเส้นทางดังกล่าวได้ หรือยังไม่ต้องควักเงินระดับ 2 ล้านบาทเพื่อซื้อรถมินิบัส เพียงแต่ต้องจดทะเบียนก่อนวันที่ 30 เดือนกันยายนี้เท่านั้น

“โตโยต้า” ที่ครองเจ้าตลาดรถตู้โดยสารในเมืองไทยมาอย่างเบ็ดเสร็จ ยอดขายระดับหมื่นคันต่อปี หรือนับ2 ปีหลังคือปี 2560 ขายไป 9,564 คัน และ ปี2561 ทำได้ 8,896 คัน ซึ่งส่วนมากเป็นรถตู้หลังคาสูง “คอมมิวเตอร์” ที่ประกอบในเมืองไทย ณ โรงงานโตโยต้าออโต้เวิคส (TAW) สำโรง จังหวัดสมุทรปราการ

ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดตัว คอมมิวเตอร์ โฉมใหม่ อย่างเป็นทางการซึ่งถือเป็นการโมเดลเชนจ์ในรอบ 15 ปี โดยเจเนอเรชันที่ 6 นี้ขยับขนาดตัวถังใหญ่ขึ้น และย้ายตำแหน่งเครื่องยนต์มาไว้ด้านหน้า (Semi-Bonnet) วางเครื่องยนต์ดีเซล รหัส 1GD ขนาด 2.8 ลิตร 163 แรงม้า มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา 6 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รองรับนํ้ามันไบโอดีเซล บี20

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน คอมมิวเตอร์ ใหม่ จึงตอบรับข้อกำหนดความปลอด ภัยด้วยระบบ ABS ทางออกฉุกเฉิน และการใช้วัสดุป้องกันการลามไฟ เพื่อความอุ่นใจในทุกการขับขี่ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานใหม่แห่งการเดินทาง 

“เรายังเตรียมข้อเสนอทางการเงินสุดพิเศษที่ร่วมมือกับ โตโยต้า ลีสซิ่ง ประเทศไทย ดาวน์เพียง 10% หรือผ่อนนาน 84 เดือน เพื่อช่วยให้ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายในการผ่อนต่อเดือน” นายวุฒิกรกล่าว

สำหรับคอมมิวเตอร์ โฉมใหม่ วางเบาะโดยสาร 15 ที่นั่ง พร้อมทางออกฉุกเฉิน ส่วนบันไดกว้างขึ้นเพิ่มความสะดวกสบายง่ายต่อการขึ้น-ลง ช่องลมแอร์ครบทุกที่นั่ง พร้อมพื้นที่เก็บของเหนือศีรษะ

ระบบความปลอดภัยจัดถุงลมนิรภัย 3 ตำแหน่ง โครงสร้างห้องโดยสารที่ได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษ เพื่อช่วยป้องกันการยุบตัวของห้องโดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไฟกะพริบเมื่อเบรกกะทันหันพร้อมระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน ระบบป้องกันล้อล็อก ระบบควบคุมการทรงตัว ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC และดิสก์เบรก 4 ล้อ

คอมมิวเตอร์ โฉมใหม่ ราคาขยับขึ้นเล็กน้อยจากรุ่นเดิมที่ใช้ดีเซล 3.0 ลิตร โดยรุ่นเกียร์อัตโนมัติขาย 1.299 ล้านบาท (เดิม 1.244 ล้านบาท) เกียร์ธรรมดา 1.269 ล้านบาท(เดิม 1.208 ล้านบาท)

ขณะที่ “ไฮเอซ” รถตู้ช่วงสั้นหลังคาเตี้ย 12 ที่นั่งที่ยอดขายน้อยกว่าและเป็นรถนำเข้า ส่วนเครื่องยนต์ 1GD บล็อกเดียวกับคอมมิวเตอร์ แต่ให้กำลัง 177 แรงม้า มีให้เลือกเฉพาะเกียร์ธรรมดา รุ่น GLราคา 1.079 ล้านบาท (เดิม 1.015 ล้านบาท) ส่วน Eco ตู้ทึบ (มีเฉพาะสีขาว) 9.99 แสนบาท (เดิม 9.49 แสนบาท) พร้อมทำตลาดในเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนรถตู้โดยสารแบบสาธารณะ เมื่อถึงกำหนดทุกคันทุกเส้นทาง(หมวด 1-4) ต้องเปลี่ยนเป็น มินิบัส โตโยต้า ก็มีโปรดักต์ไว้รองรับคือ “โคสเตอร์” (Coaster) มินิบัส 20 ที่นั่ง ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น วางเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล 4.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 136 แรงม้า ที่ 3,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 353 นิวตัน-เมตร ที่ 1,600 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ราคา 1,960,000 บาท

 

ด้านคู่แข่งของโตโยต้า โคสเตอร์ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้า และแจ้งเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการเจาะกลุ่มรถตู้ที่ต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัสเช่นกัน คือ “ฮุนได ทรัค แอนด์ บัส” จากเกาหลีที่ลงทุนมาตั้งโรงงานประกอบในไทยส่งมินิบัสรุ่น“เคานท์ตี้” รองรับ 18 + 1 ที่นั่ง มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล 3.9 ลิตร 140 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 สปีด ราคา 1.991 ล้านบาท

แบรนด์คนไทย “ไทยรุ่ง ทีอาร์ ทราเวลเลอร์” มินิบัสรองรับ 20 + 1 ที่นั่ง ใช้แชสซีส์และเครื่องยนต์ของอีซูซู พร้อมทั้งศูนย์บริการของอีซูซุทั่วประเทศ วางเครื่องยนต์ดีเซล 5.2 ลิตร 150 แรงม้า ประกบเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ราคา 2.15 ล้านบาท ซึ่งทั้ง ฮุนได และไทยรุ่ง เมื่อเจอการขยับของพี่ใหญ่ “โตโยต้า” อาจจะดำเนินธุรกิจเหนื่อยยิ่งขึ้น

อาวุธเด็ดของโตโยต้า ยังไม่หมด เพราะในเดือนสิงหาคมนี้ เตรียมเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วย “มาเจสตี้” รถตู้ที่ใช้พื้นฐานเดียวกับ “ไฮเอซ” แต่ปรับให้หรูหรามากขึ้นและลดจำนวนเบาะนั่งลงมาเหลือ 11 ที่นั่งโดยจะนำเข้ามาทำตลาดแทน “เวนจูรี” ที่ปัจจุบันขายอยู่ในราคา 1.367 - 1.662 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าไม่ว่ากฎหมายจะออกมารูปแบบไหนหรือใครต้องการใช้รถประเภทใดโตโยต้าสามารถตอบสนองได้ทั้งหมด 

 

หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,479 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0