โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โตแล้วทำไมยังติดผ้าห่มเน่า? เหตุผลที่เรามีข้าวของอุ่นหัวใจและยังเก็บเอาไว้ข้างกาย

The MATTER

อัพเดต 20 ธ.ค. 2561 เวลา 06.06 น. • เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2561 เวลา 12.05 น. • Pulse

เราทุกคนมีความทรงจำ แต่สิ่งของสำคัญบางอย่าง เช่น พวกหมอนเน่าๆ ผ้าห่มเก่าๆ ตุ้กตาขาดๆ ก็อาจะเลอะเทอะ เหลืองอ๋อย ของพวกนี้เป็นของที่มีค่า เป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นกับเรา ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งของเชิงสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่าน (transitional) จากช่วงเวลาหนึ่งสู่อีกสถานะ จากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นผู้ใหญ่

สิ่งของจากวัยเด็กเลยเป็นสิ่งของที่ก้ำกึ่งเนอะ แง่หนึ่งคือ ของพวกนี้เป็นของสำคัญต่อความรู้สึก บางคนติดมากหน่อยก็ถึงขั้นนอนไม่หลับถ้าไม่มีของอันนั้น ในอีกแง่ การยังติดของเก่าๆ พวกนั้น เราก็จะเขินๆ ว่า เออ โตป่านนี้แล้วยังทำตัวเหมือนเด็กอยู่เลย พวกของเล่น ผ้าห่มเก่าพวกนี้มีความหมายต่อจิตใจของเราอย่างลึกซึ้ง เรียกว่าเป็นสิ่งของแห่งการเปลี่ยนผ่าน (transitional object) เป็นของที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะผูกพัน และเรียนรู้ที่จะทิ้งไปเพื่อก้าวเข้าสู่สถานะอื่นๆ—ฟังดูเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญของชีวิตเลยนะเนี่ย

ดังนั้น เลยไม่แปลกว่าคนที่ติดหมอนเน่าจะรู้สึกเขินๆ หน่อย ที่ตัวเองยังคงติดผ้าห่มขาดๆ นักจิตวิทยาบอกว่าการเก็บวัตถุความทรงจำเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของคนเจนวาย ยุคสมัยที่เราใช้ชีวิตค่อนข้างโดดเดี่ยว ห่างไกลจากเพื่อนฝูงและครอบครัว การมีวัตถุแห่งความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย นอกจากของเล่นสมัยเด็กแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็น transitional object เป็นของสำคัญที่เราเก็บไว้เพื่อระลึกถึงใครบางคน ถึงอะไรบางอย่าง ถึงห้วงเวลาที่ผ่านไป

ew.com
ew.com

ภาพจาก : ew.com

เรียนรู้ที่จะรัก และละทิ้งไป

วันหนึ่งเด็กน้อยก็ต้องผละออกจากอ้อมอกแม่ เด็กๆ ในช่วงวัยประมาณ 1 ขวบ เรื่อยไปจนถึง 3-4 ขวบ เมื่อถึงเวลาที่แม่ไม่ได้อยู่ดูแลให้ความอบอุ่นแล้ว เด็กจึงหันไปหาและสร้างความผูกพันกับวัตถุสิ่งของที่ให้ความ ‘อบอุ่น’ เด็กในช่วงวัยนี้จึงมักอุ้มของพวกผ้าห่ม หมอน ตุ๊กตาไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เด็กๆ จะรู้สึกว่ากลิ่นและสัมผัสที่คุ้นเคยให้ความรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ

แต่ฟังก์ชั่นสำคัญนอกจากการให้ความสบายใจแล้ว วัตถุเหล่านี้ตามชื่อ transitional object คือเป็นวัตถุสำหรับการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้คือ เรียนรู้ที่จะย้ายและพัฒนาความสัมพันธ์ เด็กจะติดอยู่กับข้าวของเหล่านั้นอยู่พักหนึ่ง โอบกอด ขบเคี้ยว ก่อนที่สุดท้ายถึงค่อยเรียนรู้ที่จะทิ้งไป และก้าวไปสู่สถานะใหม่ๆ จากเด็กน้อย สู่วัยรุ่น หลายครั้งเช่นใน Toy Story ที่แอนดี้ต้องทิ้งของเล่นทั้งหมดไป การละทิ้ง—เปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปสู่สถานะใหม่ๆ จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก แต่ก็ต้องทำ

เหมือนบทเรียนของการเป็นผู้ใหญ่เลยเนอะ เราเรียนรู้ที่จะขุดพรวนความสัมพันธ์ ก่อนที่วันหนึ่งเราต้องยุติมันลงและย้ายไปสู่ความสัมพันธ์อื่นๆ

เจ็บปวด แต่จำเป็น

We Believe 2016
We Believe 2016

ภาพจาก : We Believe 2016

ในโลกแห่งความอ้างว้าง เราต่างต้องการข้าวของอุ่นหัวใจ

นักจิตวิทยาบอกว่า คนที่ยังติดหมอนเก่า ผ้าห่มโทรมๆ ตั้งแต่สมัยเด็ก ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่ต้องแก้ไขแต่อย่างใด แถมยังตั้งข้อสังเกตว่า คนยุคมิลเลเนียนดูจะมีพฤติกรรมเก็บ transitional object ไว้เพื่อสร้างความอบอุ่นใจ ความปลอดภัย และใช้ช่วยรับมือกับความรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต

ตามปกติแล้ว การเข้ามหาวิทยาลัยคือการละทิ้งความเป็นเด็กครั้งใหญ่ Stanley Goldstein นักจิตวิทยาคลินิกเด็ก และอาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่า หนึ่งในสามของนักศึกษาในคลาส (ส่วนใหญ่เป็นเด็กปีหนึ่ง) เอาข้าวของวัยเด็กจากบ้านมาไว้ที่มหาวิทยาลัยด้วย Vivian C. Seltzer นักจิตวิทยาและอาจารย์ด้านพัฒนาการมนุษย์บอกว่า การที่เด็กวัยรุ่นยุคนี้พกของวัยเด็กดูจะเป็นปรากฏการณ์ของคนทั้งเจเนอร์เรชั่น เธออธิบายว่าเด็กยุคนี้เมื่อต้องย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่ก็มักจะพกเพื่อนเก่าไปเพื่อช่วยชุบชูกำลังใจ ไม่ว่าจะการออกจากบ้านไปอยู่หอ หรือการย้ายจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่สำหรับการทำงานใหม่ การสร้างบรรยาการเดิมๆ เป็นการช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความกลัวต่างๆ ได้ดีขึ้น

paulcholinger.com
paulcholinger.com

ภาพจาก : paulcholinger.com

สำหรับเราแล้ว เมื่อเราโตขึ้น เรามักจะมีข้าวของที่ทำหน้าที่ไม่ต่างกับผ้าห่มเก่าๆ เรามักเก็บภาพถ่ายของคนที่เรารักไว้ แบงก์ใบแรกที่ได้จากการทำงาน นาฬิกาเรือนเก่าของคนที่เรารักผู้จากไป ข้าวของที่เราใช้นำอดีตที่อบอุ่นคุ้นเคยบางช่วงกลับมาอีกครั้ง หลายครั้งที่ถ้าเราผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ข้าวของเหล่านี้มักจะทำหน้าที่เยียวยาบาดแผลนั้นๆ เป็นสิ่งที่เรานั่งมองแล้วยิ้มทั้งน้ำตา ก่อนจะลุกขึ้นสู้ต่อไป

ความทรงจำงดงามเสมอ

อ้างอิงข้อมูลจาก

mentalhelp.net

chicagotribune.com

psychcentral.com

Illustration by Yanin Jomwong

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0