โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โตยมาหมู่สู เฮาจะปาไปผ่อฝรั่ง : แรกเมื่อคณะมิชชันนารี "ชนผิวขาว" ถึงเชียงใหม่ สมัยร.4

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 14 พ.ย. 2565 เวลา 03.26 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2565 เวลา 17.54 น.
ภาพปก-แมคกิลวารี
(ซ้าย) ศ. ดร. แมคกิลวารี, (ขวา)โซเฟีย แบรดเลย์ ลูกสาวคนโตของหมอแบรดเลย์ หรือหมอบลัดเลย์ และเธอยังเป็นภรรยาของ ดร. แมคกิลวารี ที่ได้ร่วมกันเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่เชียงใหม่ (ภาพจาก A half century among the Siamese and the Lao : an autobiography)

ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยามนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมา มักบันทึกถึงสิ่งที่พบเห็นต่าง ๆ ในดินแดนแถบนี้ไว้ หนึ่งในนั้นคือ ศ. ดร. แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาสมัยรัชกาลที่ 4 มีตอนหนึ่งที่ท่านได้เดินทางไปเชียงใหม่ เมื่อแรกชาวเชียงใหม่เห็น “ชนผิวขาว” ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจ เรียกกระแสฮือฮาในยุคนั้นได้ไม่น้อย

ศ. ดร. แมคกิลวารี พร้อมคณะมิชชันนารีเดินทางถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2410 เมื่อมาถึงคณะมิชชันนารีจำต้องไปพักที่ศาลาแห่งหนึ่งเป็นการชั่วคราวในระหว่างรอเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่เสด็จออกไปทำสงคราม ศาลาแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านนอกทางประตูเมืองทิศตะวันออก เป็นศาลาชั่วคราวสร้างไว้เป็นที่ทำบุญ สร้างโดยข้าราชการจากเมืองระแหง (Rahêng) เป็นศาลาที่แข็งแรง ปูพื้นด้วยไม้สัก และมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง มีผนัง 3 ด้าน ด้านหน้ามีชานกว้าง 6 ฟุต และมีห้อง 1 ห้อง ขนาดประมาณ 12X20 ฟุต ต่อมาภายหลังเรียกศาลาแห่งนี้ว่า “ศาลาย่าแสงคำมา”

คณะมิชชันนารีใช้ห้อง ๆ เดียวนี้เป็นทั้งที่เก็บสัมภาระ ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร และใช้สำหรับสอนหนังสือ ในห้องมีของครบครัน ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน หีบ รวมถึงออร์แกน ส่วนห้องครัวและห้องน้ำนั้นนั้นอยู่บริเวณลานศาลา เป็นอาคารก่อสร้างแบบง่าย ๆ สร้างด้วยไม้ไผ่ ซึ่งคณะมิชชันนารีต้องอาศัยอยู่ที่ศาลาแห่งนี้นานมากกว่า 1 ปี กว่าจะได้ย้ายไปอยู่ในที่พำนักแห่งใหม่ที่เจ้าหลวงจัดหาให้

คณะมิชชันนารีคณะนี้ไม่ใช่คณะแรกที่มาถึงเชียงใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มีคณะมิชชันนารีเดินทางมาเชียงใหม่หลายครั้งแล้ว แต่ตอนที่ ศ. ดร. แมคกิลวารี และคณะมาถึงเชียงใหม่ก็ยังได้รับความสนใจจากชาวเมืองเชียงใหม่อย่างมาก เพราะพวกฝรั่งยังไม่เป็นที่คุ้นเคยของชาวเมือง ต่างพากันมาดูคณะมิชชันนารีด้วยความตื่นเต้น

ศ. ดร. แมคกิลวารี บันทึกว่า “The news of the arrival of white foreigners soon spread far and wide” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวเชียงใหม่ตื่นตัวมากเมื่อเห็นพวก “ชนผิวขาว” เข้ามาในเชียงใหม่ จนเกิดการพูดปากต่อปาก เกิดกระแสข่าวเล่าลือกันไปว่า “There is a white woman and children! We must go and see them” ชาวเชียงใหม่รีบแห่กันมาดูคณะมิชชันนารีเพื่อให้ได้เห็นกับตาตนเองสักครั้ง โดยพวกเขาเรียกชนผิวขาวว่า“กุลวาขาว”ชาวเชียงใหม่ที่แหกันมานั้นทุกคนเป็นคนป่า (backwoodsman) หรือพวกบ้านนอก และทุกคนล้วนอ้างว่าต้องการมาชมผิวขาวเพราะพวกตนเป็นคนป่าคนบ้านนอก ไม่เคยเห็นสิ่งแปลกใหม่จึงรีบมาดูไว้ก่อน

ชาวเชียงใหม่แห่มาที่ศาลาแห่งนี้จำนวนมาก ถึงขนาดที่แห่กันมาจนแน่นชานศาลาลามไปถึงบริเวณลานนอกศาลา ศ. ดร. แมคกิลวารี บันทึกไว้ว่า หากวันนี้คนแน่นมากจนบดบังวิสัยที่จะมองเห็นคณะมิชชันนารีได้ชัด วันพรุ่งนี้พวกเขาเดินทางมาใหม่ มุ่งมั่นจะต้องมาดูคณะมิชชันนารีให้เห็นอย่างชัดเจน ในช่วงแรกชาวเชียงใหม่ถามคณะมิชชันนารีว่า เป็นใคร? มาทำอะไรที่นี่?

ช่วงเวลาที่ชาวเชียงใหม่ชอบมาดูคณะมิชชันนารีมากที่สุดคือเวลารับประทานอาหาร พวกเขาใคร่รู้ว่าชนผิวขาวรับประทานอาหารชนิดใด และรับประทานอาหารแบบใด จนทำให้คณะมิชชันนารีไม่มีเวลารับประทานอาหารกลางวันอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีคนมานั่งจ้องพวกเขาอยู่ได้เลย

พวกเขามักจะหยิบมีด ส้อม และขนมปังขึ้นมาสอบถามว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้คืออะไร ถามไปต่าง ๆ นานา เพราะล้วนแต่เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวเชียงใหม่เสียทั้งหมด และมีคำกล่าวตามที่ ศ. ดร. แมคกิลวารี บันทึกไว้ว่า

“They don’t sit on the floor to eat, nor use their fingers, as we do!”

“สูเขาบ่นั่งปื้นกิ๋นข้าว บ่ใจ้มือกิ๋นข้าวเหมือนหมู่เฮา!”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

Daniel McGilvary. (1912). A half century among the Siamese and the Lao : an autobiography. New York ; Chicago [etc.] : Fleming H. Revell Company.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0