โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โซเชียลเดือด! 'อ.เกษียร' ตอก 'หมอวรงค์' แสดงความเห็นปมฮ่องกง-จีนโดยปราศจากความรู้

สยามรัฐ

อัพเดต 19 ส.ค. 2562 เวลา 01.27 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2562 เวลา 01.27 น. • สยามรัฐออนไลน์
โซเชียลเดือด! 'อ.เกษียร' ตอก 'หมอวรงค์' แสดงความเห็นปมฮ่องกง-จีนโดยปราศจากความรู้

นายเกษียร เตชะพีระ กีรตยาจารย์ แห่งมหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ โพสต์แสดงความเห็นเรื่อง 'ฮ่องกงVSจีน ความเห็นที่ปราศจากความรู้ของหมอวรงค์'ความว่า…

ฮ่องกง vs. จีน: ความเห็นที่ปราศจากความรู้ของหมอวรงค์
%%%%
สิ่งที่หมอวรงค์กล่าวออกมาเกี่ยวกับสถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง เป็นความเห็น (opinion) ที่อิงอาศัยการตีความเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเมืองไทยในแบบชาตินิยมคับแคบและต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งในการกล่าวหนแรกและที่เขียนตอบผมนั้น หมอวรงค์ไม่ได้แสดงความรู้ความเข้าใจหรือข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์และภูมิหลังที่เป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนเลย

นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายและน่าวิตกที่คนที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรได้แสดงแต่ความเห็นที่เจือด้วยอคติ ความหวาดระแวงแต่ไร้ฐานความรู้ความเข้าใจรองรับต่อสาธารณชนอย่างพร่ำเพรื่อบ่อยครั้ง

ผมตั้งใจจะนำข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และความเป็นมาของความสัมพันธ์ระยะใกล้ระหว่างฮ่องกงกับจีนมาเผยแพร่ต่อไปในวาระโอกาสอันควรใกล้ ๆ นี้ แต่เฉพาะหน้า ขอชี้แจงเบื้องต้นให้เข้าใจว่า:

๑) ทางการจีนและคณะผู้บริหารฮ่องกงซึ่งจีนยึดกุมกระบวนการคัดเลือกนั้นได้ "เบี้ยว" และ "เลื่อนเวลา" โรดแมปการเลือกตั้งผู้ว่าการและสมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาะฮ่องกงโดยตรงตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงดังที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายพื้นฐานหรือรัฐธรรมนูญของฮ่องกงที่ได้ตกลงกันไว้ หลายรอบหลายครั้ง โดยอ้าง "การตีความใหม่" จนเลื่อนจากปี ค.ศ. ๒๐๐๗ (ครบรอบสิบปีที่อังกฤษถอนตัวจากการบริหารฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗) มาจนถึงปี ค.ศ. ๒๐๑๗ (เป็นเวลายี่สิบปี)

๒)ในกระบวนการดังกล่าว ท้ายที่สุด ทางการจีนภายใต้สีจิ้นผิงได้ตีความใหม่หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของเติ้งเสี่ยวผิง ที่ยืนยันรับรองไว้ต่อฮ่องกงและไต้หวันต่อไป โดยบอกว่าในวลีนี้ หลัก "สองระบบ" ส่วนหลังนั้นด้อยค่า ต่ำกว่าและต้องขึ้นกับหลัก "หนึ่งประเทศ" ส่วนแรก อีกทั้งคณะกรรมการประจำของสภาประชาชนแห่งชาติจีนยังได้ลงมติ ๘.๓๑ (๓๑ สิงหา ๒๐๑๔) โดยยอมให้มีการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง แต่กำกับโดยคณะกรรมการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการที่นิยมปักกิ่งและมาจากภาคธุรกิจ อีกทั้งตั้งเกณฑ์คุณสมบัติผู้สมัครไว้สูงลิ่ว ทำให้ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตย (ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในฮ่องกง) จำนวนหนึ่งมิอาจรับสมัครลงแข่งขันเลือกตั้งได้

๓) ชาวฮ่องกงภายใต้การบริหารของอังกฤษได้ค่อย ๆ สร้างเอกลักษณ์ของฮ่องกงและความเป็นพลเมืองของรัฐเกาะเสรีแห่งนี้ขึ้นจากประสบการณ์การดำรงชีวิตจริงในเกาะนี้ตามลำดับโดยเฉพาะตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นต้นมา จนกล่าวได้ว่ามีสำนึกความเป็นพลเมืองฮ่องกงที่ต่างหากจากชาตินิยมอำนาจนิยมแบบทางการจีน การประท้วงระลอกก่อนของ "ขบวนการร่ม"(ยืดเยื้อ ๗๙ วันในปี ค.ศ. ๒๐๑๔) และการประท้วงระลอกปัจจุบัน (ยังนิรนาม และสรุปบทเรียนจากขบวนการร่ม ตรงไร้แกนนำ มีลักษณะเป็นไปเองสูง อาศัยโซเชียล มีเดียนัดแนะจัดตั้งเคลื่อนไหว เยาวชนเป็นกองหน้า รากหญ้าเป็นกองหนุน มีผู้เข้าร่วมสูงสุดถึง ๑.๗ ล้านคนในการชุมนุมจากประชากรฮ่องกง ๗ ล้านกว่าคน ฯลฯ https://asia.nikkei.com/…/Hong-Kong-protesters-defy-ban-to-…) นั้นคือการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของสำนึกพลเมืองฮ่องกงที่ต่างหากจากเอกลักษณ์/รากเหง้าชาตินิยมอำนาจนิยมจีนของพรรคคอมมิวนิสต์

ข้อมูลความเข้าใจเบื้องต้นทั้งหมดนี้ หมอวรงค์ไม่มีหรือไม่แสดงให้ปรากฏในคำวิจารณ์เลื่อนลอยเรื่อง "ชังชาติ" "ชักศึกเข้าบ้าน" ของตัวเองเลย คำกล่าวของหมอเหล่านี้ไร้ความหมายในเมื่อมันตั้งอยู่บนความไม่รู้ อคติ อวิชชาที่ไม่รู้ประสีประสาเรื่อง "ชาติจีน" และ "บ้านฮ่องกง" ที่เป็นจริงด้วยซ้ำไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0