โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โฉมหน้าใหม่ห้องสมุด เมื่อโลกมุ่งสู่ยุคดิจิทัล

TK park

อัพเดต 22 ส.ค. 2561 เวลา 04.45 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2561 เวลา 17.00 น.

อะไรคือสิ่งที่หายไปจากภาพนี้ ?
Photo :  (1) Tom Rossiter from the book Building Ideas: An Architectural Guide to the University of Chicago
(2) Facebook/Bexar Bibliotech(3)-(4) Mitch Altman/Flickr

 

          ราวศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคทองของห้องสมุดอเมริกัน บริษัท สนี้ด (Snead Bookshelf Company) ได้พัฒนาระบบจัดการชั้นหนังสือขนาดใหญ่ ทุกวันนี้ผลงานดังกล่าวยังสามารถพบเห็นได้ในห้องสมุดมีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่นที่ฮาร์วาร์ด โคลัมเบีย วาติกัน และไบรอันพาร์คในเมืองนิวยอร์ก นอกเหนือจากการจัดระบบมัดหนังสือเก่าๆ จำนวนมหาศาล สนี้ด ยังมีบริการขนย้ายหนังสือออกจากห้องสมุดก่อนที่ชั้นหนังสือจะพังลงมา แล้วนำไปจัดเก็บยังสถานที่ที่มีโครงสร้างแข็งแรงพอ

          ไม่นานมานี้ห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์กพยายามจะย้ายชั้นหนังสือออกจากห้องสมุดสาขาหลัก โดยเหลือหนังสือให้บริการในพื้นที่เพียงเล็กน้อย และถ่ายเทหนังสือหมวดการวิจัยออกไปไว้ที่นิวเจอร์ซีย์ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนปรับเปลี่ยนห้องสมุดจากสถานที่ที่มุ่งเก็บหนังสือเป็นหลัก เปิดกว้างไปสู่พื้นที่ที่มุ่งเน้นการให้บริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการกำจัดชั้นหนังสือซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของ โถงกุหลาบ (Rose Reading Room) ถูกวิจารณ์จากวิศวกรว่า “เป็นเหมือนการเลื่อยขาโต๊ะดินเนอร์ในขณะที่อาหารกำลังเสิร์ฟ” เสียงคัดค้านจากเหล่านักปราชญ์และกลุ่มผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ทำให้การบูรณะห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์กต้องหยุดชะงัก มีการทบทวนแผนการปรับปรุงห้องสมุดอีกครั้ง โดยเสนอให้ยังคงเก็บรักษาหนังสือไว้ในพื้นที่ให้บริการ

          การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเพียงก้าวย่างหนึ่งท่ามกลางวิกฤตอัตลักษณ์ของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในยุคของสนี้ดห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือเป็นเรื่องซึ่งอยู่นอกเหนือจินตนาการ แต่มันกลับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ห้องสมุดก็ไม่ต่างจากสถาบันอันทรงเกียรติอื่นๆ ทั้งสำนักพิมพ์ นิตยสาร และมหาวิทยาลัย ที่ล้วนกำลังยืนอยู่ริมโตรกผาในยามรุ่งอรุณของยุคดิจิทัล ห้องสมุดจะทำหน้าที่อะไร หากไม่ใช่เก็บรักษาและให้บริการยืมคืนหนังสือ? เมื่อส่วนที่เป็นหัวใจถูกเชือดเฉือนออกไป ห้องสมุดจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร?

เสาแห่งอารยธรรม ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก, 1907
Photo : New York Public Library

 

          ไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายรัดเข็มขัดเริ่มส่งผลกระทบด้านลบต่อห้องสมุดสาธารณะ ปี 2012 งบประมาณสำหรับห้องสมุดลดลงถึง 40% ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม ในปี 2009 สภาท้องถิ่นลงมติให้ปิดห้องสมุดฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นหนึ่งในห้องสมุดระบบคาร์เนกีของรัฐเพนซิลเวเนีย ส่วนฝั่งสหราชอาณาจักรก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ในปี 2012 ห้องสมุดสาธารณะกว่า 200 แห่งจำเป็นต้องปิดตัวลง

          นี่ไม่ใช่ยุคถดถอยครั้งแรกของห้องสมุด ครั้งหนึ่งอาณาจักรโรมันได้สร้างห้องสมุดกระจายทั่วตั้งแต่สเปนไปจนถึงตะวันออกไกล แต่เมื่อเข้าสู่ต้นยุคกลางก็ถูกต่อต้านและทำลาย ดังที่หนังสือ ห้องสมุด: ประวัติศาสตร์ที่ไม่เงียบงัน ของแมทธิว แบทเทิลส์ (Matthew Battles) เรียกหายนะนี้ว่า biblioclasms

          หากกล่าวถึงความตกต่ำของห้องสมุด คนโดยทั่วไปคงจะนึกถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ซึ่งคาดว่าเก็บรักษาจารึกชุดยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของยุคเฮเลนนิก ทำให้เรื่องราวจำนวนมากสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์  มีข้อสันนิษฐานที่โน้มเอียงว่า ผู้ลอบวางเพลิงน่าจะเป็นคริสเตียนผู้คลั่งศาสนา ซึ่งมองว่าการเผาห้องสมุดเป็นการตอบโต้ผู้บุกรุกนอกรีตชาวอาหรับ อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดยุคโบราณหาได้มอดไหม้ไปเพราะน้ำมือของคนบางคนหรือบางกลุ่ม หากแต่เพราะสายลมแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่าน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และการไม่เห็นชอบของรัฐบาลท้องถิ่น

          ในยุคดิจิทัลห้องสมุดจะหมดความสำคัญหรือไม่? สิ่งแรกๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ หน้าจอและอุปกรณ์การสื่อสารจะเบียดขับหนังสือจนหมดไป แต่ในอีกด้านหนึ่งอุปกรณ์เล็กๆ ที่มาพร้อมกับการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต จะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงความรู้ที่กว้างขวางและหลากหลายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ถ้าการอุบัติของดิจิทัลในปัจจุบันได้นำมาซึ่งแสงสว่างใหม่ๆ ซึ่งยังคงร่องรอยของห้องสมุดอยู่ นี่จะไม่เรียกว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นหรอกหรือ?

ภาพการเผาห้องสมุดอเล็กซานเดรียที่จินตนาการขึ้นในศตวรรษที่ 19
Photo : courtesy Ambrose Dudley/The Stapleton Collection/The Bridgeman Art Library

 

          จริงอยู่ว่าห้องสมุดนั้นมีมายาวนานตั้งแต่สมัยอเล็กซานเดรีย แต่เมื่อย้อนมองไปไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ก็มีอีกหลายเหตุการณ์สำคัญ ที่ได้ช่วยวางรากฐานของห้องสมุดให้มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน

          ปี 1888 นักอุตสาหกรรมชาวอเมริกัน-สก็อตทิช นามว่าแอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) ได้อุปถัมภ์ห้องสมุดในเบรดด็อค เพนซิลเวเนีย ซึ่งมีอุโมงค์ใต้ดินเชื่อมต่อกับโรงงานเหล็กของเขา เมื่อครั้งที่คาร์เนกียังเป็นแรงงานอพยพเขาได้รับประโยชน์มหาศาลจากห้องสมุดที่พิทส์เบิร์ก หนึ่งทศวรรษถัดมาเมื่อเขากลายเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก คาร์เนกีจึงอุทิศทรัพย์สมบัติมากมายเพื่อก่อสร้างห้องสมุด ซึ่งต่อมาเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของระบบห้องสมุดสาธารณะในอเมริกา กล่าวคือ มีห้องสมุดคาร์เนกีประมาณ 2,500 แห่งกระจายจากรัฐเมนไปจนถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย

          แม้ว่ารสนิยมและแนวทางการออกแบบจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่แนวคิดบางอย่างของห้องสมุดคาร์เนกีก็ยังคงอยู่ในหัวใจของผู้คนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบันไดที่พาผู้อ่านโบยบินขึ้นไปยังโถงอาคารอันงดงามราวกับอยู่ในวิหารแห่งการเรียนรู้ การจัดเรียงชั้นหนังสือที่เอื้อต่อการสุ่มหาหนังสือ และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การยึดหลักให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคของมนุษย์และเปิดกว้างสำหรับทุกคน ห้องสมุดคาร์เนกีเป็นตัวอย่างที่นักสังคมวิทยาเรียกว่า พื้นที่ที่สาม (Third Place) ที่ซึ่งไม่ใช่ที่ทำงาน บ้าน หรือมหาวิทยาลัย ที่ซึ่งพลเมืองสามารถเข้าถึงเพื่อรวมตัวกันเสวนาอย่างเสรี อุดมคตินี้ยังคงพบเห็นได้ในการออกแบบของห้องสมุดในปัจจุบัน แม้ว่าจะถูกสร้างอยู่ในย่านการค้า หรือวอลมาร์ทก็ตาม

ห้องสมุดคาร์เนกีแห่งแรก ที่เบรดด็อค เพนซิลเวเนีย ซึ่งปิดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้
Photo : Website northbraddockborough.com

ห้องสมุดในวอลมาร์ท ที่แม็คอัลเลน รัฐเท็กซัส
Photo : ©Lara Swimmer Photography

 

          แน่นอนว่า เป้าหมายพื้นฐานของการออกแบบห้องสมุดคาร์เนกีคือการเข้าถึงขุมทรัพย์ความรู้ที่มีค่าและจินตนาการ แต่หากว่าคาร์เนกียังคงมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและโปรแกรมการให้บริการอีบุ๊คดีๆ อาจจะเพียงพอสำหรับความฝันที่กว้างไกลของเขาก็เป็นได้

          ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ห้องสมุดพยายามสร้างพันธกิจใหม่โดยการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ดังเช่นการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กระจายอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่อาจดูเหมือนว่ามันจะมากจนเกินไป ปัจจุบันชาวอเมริกันสามในสี่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ที่บ้านทั้งจากบรอดแบนด์และเครือข่ายโทรศัพท์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การให้บริการออนไลน์สาธารณะในพื้นที่ห้องสมุด ก็อาจยังไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับทศวรรษนับแต่นี้ต่อไป

          ห้องสมุดต้องเริ่มหาตัวตนที่สมเหตุสมผลเพื่อความอยู่รอดขององค์กร โดยการเป็นหน่วยย่อยที่ช่วยสร้างประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นพื้นที่ที่สามที่เน้นเรื่องการเรียนรู้ ทั่วสหรัฐอเมริกา บรรณารักษ์ได้ทดลองหนทางขยายภารกิจห้องสมุดออกไป เช่นการเปิด เมกเกอร์สเปซ (maker space) ซึ่งอาจปราศจากชั้นหนังสือ แต่ได้รวมเอาเทคโนโลยีทั้งเก่าและใหม่ ตั้งแต่จักรเย็บผ้าไปจนถึงเครื่องพิมพ์สามมิติ และสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการพัฒนาและแบ่งปันทักษะซึ่งไม่สามารถฝึกฝนผ่านทางอินเทอร์เน็ต

เมคเกอร์สเปซหรือเรียกอีกชื่อว่าแฟ็บแล็บ (Fab Lab) ที่ห้องสมุดสาธารณะในเมืองฟาแยตต์วิลล์
Photo : Fayetteville Free Library FabLab

 

          บรรณารักษ์รุ่นใหม่ที่สนใจด้านศิลปะได้รวมตัวกันก่อตั้ง ห้องสมุดในฐานะโครงการบ่มเพาะ เพื่อที่จะนำเสนอสิ่งที่ต่างออกไป แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดพื้นที่ที่สามก็ตาม มีการรวบรวมโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะจากห้องสมุดจากทั่วประเทศ เช่น โครงการดนตรีท้องถิ่น ของห้องสมุดสาธารณะไอโอวา ซึ่งบรรณารักษ์ได้บันทึกบทเพลงของศิลปินท้องถิ่นและให้บริการออนไลน์ฟรีแก่สมาชิก ส่วนห้องสมุดศิลปะ บรูคลินมี โครงการสเกตช์บุ๊ค รถหนังสือเคลื่อนที่ซึ่งจัดแสดงผลงานภาพสเกตช์ของศิลปินมืออาชีพ เพื่อให้คนทั่วประเทศได้ชื่นชม นี่จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะจินตนาการถึงห้องสมุดชุมชนในฐานะสถานที่เยียวยาจิตวิญญาณและสวนสนุกแห่งจินตนาการ หลังจากวันที่หนังสือเล่มได้หายไปจากห้องสมุดแล้ว

          ทั้งเมกเกอร์สเปซและห้องสมุดในฐานะศูนย์บ่มเพาะได้ทำให้เห็นว่า งานศิลปะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมให้ผู้ใช้บริการสร้างเนื้อหาได้ด้วยตนเอง ห้องสมุดที่มีงบประมาณเริ่มเป็นแม่ข่ายเทคโนยีด้านการตีพิมพ์หนังสือเอง (self-publishing) และการตีพิมพ์ตามคำสั่งซื้อ (print-on-demand) เช่น Espresso Book Machine นี่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งพื้นที่ห้องสมุดสามารถให้บริการเพื่อการสร้างสรรค์มากขึ้น และเฉื่อยชาน้อยกว่าห้องสมุดแบบเดิมที่มีเพียงกิจกรรมอ่านและดูเท่านั้น

ไอเดียบ็อกซ์ ที่ห้องสมุดประชาชนโอ๊คพาร์ค รัฐอิลลินอยส์ พื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการแบบมีปฏิสัมพันธ์หมุนเวียนและที่พักอาศัยของศิลปิน
Photo : Oak Park Public Library/Flickr

 

          ในระดับที่กว้างขึ้น ห้องสมุดสาธารณะบอสตันได้จัดทำ ห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะแห่งอเมริกา โดยรวบรวมทรัพยากรดิจิทัลด้านประวัติศาสตร์ทั่วประเทศ ทั้งจากห้องสมุดและคอลเลกชั่นส่วนตัว จำพวกภาพถ่ายครอบครัว หรือกล่องเก็บจดหมายเก่าๆ ผู้ก่อตั้งคือแดน โคเฮน (Dan Cohen) มีความมุ่งหมายที่จะทำงานร่วมกับห้องสมุดท้องถิ่นเพื่อจัดเก็บทรัพยากร และนำเสนอด้วยเทคโนโลยีผ่านทางหน้าจอแบบสัมผัส ซึ่งออกแบบให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นคว้าประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงของชุมชน “เราหลงรักแนวคิดที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอาณาจักรของดิจิทัลและโลกกายภาพ” เขากล่าว

          การให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ผู้ใช้บริการได้สร้างขึ้น ตรงกับอุดมคติบางด้านของห้องสมุดอเล็กซานเดรีย ซึ่งได้รวบรวมความรู้ จินตนาการ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ของมนุษย์ ห้องสมุดท้องถิ่นเป็นจุดเชื่อมต่อชุมชนให้ได้สัมผัสกับเรื่องราวไกลโพ้น เป็นสถานที่ซึ่งผู้คนสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นไปพร้อมกับแผ่กระจายวัฒนธรรมของตน

          ในขณะที่ห้องสมุดสาธารณะต้องการปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัลด้วยการให้บริการเทคโนโลยีและพื้นที่ที่สามแต่กลับต้องอยู่ภายใต้นโยบายรัดเข็มขัด ห้องสมุดมหาวิทยาลัยซึ่งมีอุดมคติเดียวกันแต่มีเงินทุนมากกว่า ได้นำหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่น เช่น ห้องสมุดเจมส์ บี ฮันท์ และห้องสมุดเจอาร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจว่า ห้องสมุดมหาวิทยาลัยจะเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการทำงานแบบร่วมมือและเป็นจุดเข้าถึงเทคโนโลยี

          ห้องสมุดฮันท์ สร้างเสร็จเมื่อปีต้นปี 2013 จัดเก็บหนังสือหลากหลายสาขาโดยใช้หุ่นยนต์คล้ายกับระบบของศูนย์กระจายสินค้าดังเช่นวอลมาร์ท หุ่นยนต์ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อวัน สามารถลำเลียงหนังสือตามคำสั่งคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โมบายภายใน 2-5 นาที ห้องสมุดตั้งหุ่นยนต์ไว้ด้านหน้าทางเข้าตึก มันกลายเป็นวัตถุจัดแสดงที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และเด็กๆ

บริเวณด้านหน้าห้องสมุดฮันท์  ซึ่งจัดการห้องสมุดด้วยระบบหุ่นยนต์
Photo : ©Jeff Goldberg/Esto

 

          ห้องสมุดได้ทดลองพัฒนาพื้นที่ให้อุดมไปด้วยเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานแบบร่วมมือ ผู้ใช้บริการสามารถขีดเขียนกำแพงและเฟอร์นิเจอร์ มีห้องเงียบและห้องที่สามารถใช้เสียงได้ ภาพลักษณ์ของห้องสมุดไม่ได้น่าเกรงขามเช่นเดิม ห้องสมุดฮันท์พยายามสร้างรูปแบบการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลายพร้อมทั้งเทคโนโลยีเฉพาะด้านให้เพียงพอต่อการรองรับหลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัย “เราพบว่า นักศึกษาแต่ละสาขาวิชามีพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมือนกัน” ซูซาน นัทเทอร์ (Susan Nutter) บรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัยกล่าว

          ตัวอย่างเช่น การสร้างห้อง Visualization Lab จำนวน 4 ห้อง ซึ่งนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้หน้าจอ Micro tiles เพื่อทำโครงงานร่วมกัน เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เห็นภาพ เอกสาร วิดีโอ และเว็บไซต์ จำนวนมาก เป็นที่สนใจของหน่วยงานซึ่งจัดฝึกอบรมนักศึกษาวิชาทหารโดยการจำลองสถานการณ์การรบแบบเสมือนจริง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกมในท้องถิ่น ยังขอใช้ห้องแล็บเพื่อการศึกษาวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย

นักศึกษาเรียนรู้สถานการณ์จำลองในห้องVisualization Lab ของห้องสมุดฮันท์
Photo : Website ncsu.edu

 

          ห้องสมุดสุดไฮเทคสำหรับอนาคตอาจเป็นเช่นห้องสมุดฮันท์ แต่หากตอนนี้เราเดินเข้าไปที่ห้องสมุดสาธารณะของอเมริกา เราจะพบกับการให้บริการหลักๆ ของห้องสมุด 3 ด้าน คือ เก็บทรัพยากรหนังสือกระดาษที่ถูกใช้งานน้อยเต็มที สนับสนุนผู้ใช้บริการให้ใช้เฟซบุ๊คด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และเป็นที่พักพิงของคนไร้บ้าน

          ที่ห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์ก กระแสเทคโนโลยีได้ผลักชั้นหนังสือออกไปตั้งอยู่ในมุมที่ไม่มีใครสนใจ แทบดูไม่ออกเลยว่าครั้งหนึ่งมันเคยยึดกุมพื้นที่นี้มายาวนาน คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะยังคงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับคนจนหรือผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากที่บ้านหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ แต่ขณะนี้กราฟจำนวนผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้กับจำนวนคนไร้บ้านในอเมริกาแทบจะใกล้เคียงกัน

          การอุดช่องว่างทางสังคมโดยการให้แหล่งพักพิง ห้องอาบน้ำ และบริการพื้นฐานสำหรับคนตกยากไม่ใช่ส่วนหนึ่งของพันธกิจห้องสมุด และอาจลดทอนเป้าหมายที่แท้จริงซึ่งควรจะเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนบางทีนี่อาจจะเป็นเหตุผลให้ห้องสมุดในออร์เรนจ์เคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ออกข้อห้ามไม่ให้นอนในห้องสมุดและไม่ให้ผู้มีกลิ่นตัวเข้ามาใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวห้องสมุดมีวาระสำคัญที่จะนำความรู้ไปให้ถึงมือคนจน ผู้อพยพ และผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ถ้าไม่มีทรัพยากรที่ดีพอความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ไม่อาจหมดไป

          แน่นอนว่า การปรับปรุงห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์กสาขาหลักยังคงดำเนินต่อไป คาดกันว่าแนวทางที่จะออกมาก็คือ การอนุรักษ์ชั้นหนังสือแบบสนี้ดไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด แม้ว่ามันจะมีข้อจำกัดในการใช้งานในปัจจุบัน บางทีห้องสมุดสาธารณะนิวยอร์กอาจมีโมเดลเดียวกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแนวคิดแบบโหยหาอดีตและอนาคตนิยมมาบรรจบกัน คล้ายกับที่ห้องสมุดในนอร์ธแคโรไลนา ครอบครัวพากันมาดูหุ่นยนต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ดังนั้นแล้วนักท่องเที่ยวในศตวรรษหน้าก็อาจมาที่นี่เพื่อชื่นชมชั้นหนังสือ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งโอบอุ้มความรุ่งเรืองทางปัญญาของเมืองนี้

          ตั้งแต่สมัยอเล็กซานเดรีย เราไปห้องสมุดเพื่อมองย้อนกลับไปยังภูมิปัญญาและจินตนาการในอดีต สิ่งเหล่านี้ถูกผูกติดกับสัญญะของหนังสือมานับศตวรรษ แต่มันก็สามารถแปรเปลี่ยนไปได้ในยุคปัจจุบัน ห้องสมุดในอนาคตควรเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราทุ่มเทเวลาเพื่อมองหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนลืมนึกถึงโทรศัพท์ที่อยู่ในกระเป๋าหรือภาระนับร้อยพันที่รออยู่

          ท่ามกลางการท้าทายของยุคดิจิทัล หากยังคงมีห้องสมุดที่เน้นหนังสือเหลือรอดอยู่บ้าง ที่แห่งนั้นก็ควรได้รับการยกย่องให้เป็นอาศรมสำหรับการเรียนรู้เรื่องราวยุคโบราณ ตัวอย่างเช่นห้องสมุด Book Mountain ของเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่งสร้างไม่นานมานี้ ซึ่งภาคภูมิใจกับการมีหนังสือกระดาษ ห้องสมุดตั้งอยู่ติดกับย่านที่พักอาศัยที่เรียกว่า Library Quarter ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของ วิหารแห่งปัญญา

ห้องสมุด Book Mountain ประเทศเนเธอร์แลนด์
Photo : © scagliolabrakkee.nl via MVRDV

 

          การรักษาห้องสมุดให้ยังคงเป็นสถาบันที่อยู่คู่กับชุมชน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและสำนึกการมีส่วนร่วมของพลเมือง ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าคนต้องการเทคโนโลยีมากกว่าหนังสือกระดาษ ห้องสมุดก็จำเป็นต้องตอบสนองตาม แม้ว่ามันจะทำให้ความหมายของห้องสมุดเปลี่ยนไป

          แมทธิว แบทเทิลส์ ผู้ตีพิมพ์หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ห้องสมุดเชื่อว่า อนาคตของห้องสมุดจะต้องไม่ถูกกำหนดโดยปราชญ์ผู้โหยหาอดีตหรือบรรณารักษ์ที่หวังแต่จะรักษาการงานของตัวเอง แต่จำเป็นจะต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจร่วมกับชุมชน “บรรณารักษ์ นักปราชญ์ และผู้กำหนดนโยบายต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงสนทนา แต่จะต้องคำนึงถึงบริบทของชุมชนเป็นสำคัญ” เขากล่าว “ถ้าคุณไม่ทำเช่นนี้ จะเสียเวลาไปกับการประชุมร่วมกับผู้บริหารห้องสมุด สุดท้ายแล้วก็จะวกกลับไปหาวิธีการที่จะรักษาห้องสมุดเอาไว้ ใครๆ ก็จะพูดว่า ‘เรารู้ว่าเราต้องเปลี่ยน แต่เราไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร’ แล้วบทสนทนาก็จะวนในอ่างอยู่อย่างนั้น”

          ในปี 1990 รัฐบาลอียิปต์ภายใต้การปกครองของฮอสนี มูบารัค ตัดสินใจที่จะสร้างห้องสมุดอเล็กซานเดรียขึ้นมาใหม่ ออกแบบโดยบริษัทจากนอร์เวย์ สร้างเสร็จเมื่อปี 2002 ด้วยมูลค่าประมาณ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าห้องสมุดแห่งใหม่จะถูกคาดหวังให้เป็นภาพสะท้อนของอดีต แต่ก็มีแนวทางหลายอย่างที่ทันสมัย ห้องสมุดร่วมมือกับหน่วยจัดเก็บข้อมูลอินเทอร์เน็ต เพื่อสำเนาเนื้อหาเว็บไซต์ที่จัดทำตั้งแต่ปี 1996 เก็บเป็นไฟล์ออนไลน์ ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางของโครงการดิจิไทซ์จดหมายเหตุอียิปต์และอาหรับโบราณอีกด้วย

          แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ในช่วงเริ่มต้นห้องสมุดประสบกับปัญหางบประมาณ ทรัพยากรหนังสือยังด้อยกว่าห้องสมุดแห่งชาติ บางครั้งก็จัดเก็บข้อมูลเป็นภาษาละติน ในขณะเดียวกันได้เกิดความไม่สงบทางการเมือง กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลบุกเข้าทำลายห้องสมุดบางส่วน ผู้อำนวยการห้องสมุดถูกสอบสวนเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น เงินบริจาคสูญหายไป และไม่นานมานี้มีการทวีตภาพร้านขายของที่ระลึกของห้องสมุดที่เต็มไปด้วยเศษแก้วแตกกระจายอันเนื่องมาจากกระสุนปืน และมีเจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย

          ประวัติศาสตร์อาจเกิดขึ้นซ้ำรอย ห้องสมุดจะอยู่รอดได้ถ้าสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน มันคงเป็นโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์ หากระบบห้องสมุดสาธารณะซึ่งคาร์เนกีได้ริเริ่มและทุ่มเทต้องพังครืนในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง แต่มันก็มีความเป็นไปได้เช่นนั้นจริงๆ ท้ายที่สุดแล้วมันขึ้นอยู่กับเราทุกคน ที่จะยกระดับอนุสรณ์ที่ได้สร้างมาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป 

Bibliotheca Alexandrina ห้องสมุดอเล็กซานเดรียที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่
Photo Courtesy of Snøhetta

แปลและเรียบเรียงจาก

What Will Become of the Library? How it will evolve as the world goes digital. By Michael Agresta,April 30, 2014

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0