โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โจทย์ใหญ่ "โรงไฟฟ้าชุมชน" ส่วนแบ่งรายได้-วัตถุดิบ-ผลต่อสิ่งแวดล้อม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 ต.ค. 2562 เวลา 07.39 น. • เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 07.25 น.
กราฟิกโรงไฟฟ้า

ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น “การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาเป็นประธาน ให้ข้อมูลผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

นายสนธิรัตน์ ระบุว่า ผลจากการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน จะถูกนำไปสรุปแนวทางดำเนินงานที่ชัดเจนออกมาภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศนโยบายเพื่อดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในเฟสแรก ประมาณ 250 แห่ง และในจำนวนนี้จะมีโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบเร่งด่วน นำร่องเกิดขึ้นก่อน 10-20 แห่งภายในกลางปี 2563

สำหรับรูปแบบการพัฒนาที่ พพ.นำเสนอ มี 7 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 2.ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์) 3.ชีวมวล 4.ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ 5.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ 7.พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นรูปแบบการร่วมทุนให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% (หุ้นบุริมสิทธิ) ที่เหลือเป็นเอกชน 90% โดยสามารถดึงภาครัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นในส่วนของเอกชนได้ด้วย ระยะเวลาสนับสนุน 20-25 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ “อาจ” ปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ภายหลัง และยังไม่นับรวมโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ในด้านงบประมาณนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (บอร์ดกองทุนอนุรักษ์) ลดรายจ่ายเงินกองทุน ปีงบประมาณ 2563-2567 ลง 10,000 ล้านบาท เหลือ 50,000 ล้านบาท (จากเดิม 60,000 ล้านบาท) เนื่องจากให้สอดรับกับประมาณการแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตทุกรูปแบบ

สำหรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน สามารถยื่นขอเงินสนับสนุนจากกองทุนนี้ได้ “แต่ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตและใช้เอง โดยต้องไม่มีการขายเข้าระบบเท่านั้น” ซึ่งจะอยู่ในเงื่อนไขแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในข้อที่ 7 กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุนยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มเศรษฐกิจฐานรากผลจากการระดมความเห็นภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่างเห็นด้วยที่จะผลักดันโครงการนี้ โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของถือหุ้นสัดส่วน 10-30% เพื่อสร้างรายได้จากการขายเชื้อเพลิงที่มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ และได้ส่วนแบ่งราย อย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย แต่ “ยัง” ต้องพิจารณาให้สอดรับกับอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT (Feed in Tariff)

ตัวแทนจากบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) (UAC) เตรียมเสนอจัดตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ใช้พืชพลังงาน 2 โรง รวม 3 เมกะวัตต์ ที่ จ.ขอนแก่น ส่วนบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) (NER) มีโครงการโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส 2 โครงการ โครงการละ 2 เมกะวัตต์ ใช้หญ้าเนเปียร์และมูลสัตว์เป็นเชื้อเพลิง โดยโรงแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จพฤศจิกายนนี้ และโรงที่ 2 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

ด้าน นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ในฐานะประธานกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลคงต้องตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัด สร้างกรอบการทำงานให้สมดุลกับทุกฝ่าย เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสมากขึ้น ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งเอกชนก็พร้อมที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งมีข้อควรระวัง จะต้องมองผลรอบด้านโดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม และการเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแต่ละโรงได้อย่างเพียงพอ เพื่อให้การดำเนินงานไม่สะดุด รวมถึงเรื่องการกำหนดราคาและค่าตอบแทนแต่ละส่วนด้วย

อีกด้านหนึ่งมีผู้ประกอบการที่เคยลงทุนแล้ว “ขาดทุน” จนต้องปิดกิจการ หรือล้มโครงการเพราะรัฐไม่รับซื้อ หรือเพราะเหตุผลใดก็ตาม ยังคงตั้งคำถามต่อภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0