โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"โควิด-19" ไวรัสร้าย ตรวจหาเชื้อยาก คนติดไม่มีอาการ แฝงแพร่เชื้อทวีคูณ

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 00.50 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2563 เวลา 11.44 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ถึงเวลาที่คนไทยต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากไม่เดินทางไปประเทศพื้นที่เสี่ยงแล้ว ต้องระวังคนไทยด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยว หรือคนที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้เชื้อไวรัสโควิด-19 จะระบาดมีคนติดเชื้อเป็นร้อยเป็นพันในเมืองไทยเมื่อใด? แต่มีความเป็นได้สูงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขอเตือนทุกคนอย่าประมาท ยิ่งเกิดเคสของปู่ย่าไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วติดเชื้อ นำเชื้อกลับมาติดหลานชายวัย 8 ขวบ แม้ขณะนี้ผลตรวจผู้คนแวดล้อม ทั้ง 97 คน จากจำนวน 101 คน มีผลเป็นลบ แต่ในช่วงระยะเวลา 14 วัน อย่าเพิ่งไว้วางใจ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ไม่ต้องการให้คนตื่นตระหนก แต่อยากให้รู้จักเชื้อไวรัสร้ายกาจตัวนี้ เพื่อการรับมือในอนาคต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรรมการให้คำปรึกษาเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ย่ิงทำให้รู้สึกกลัวเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคนี้มีลักษณะเฉพาะ โดยคนๆ หนึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ในขณะไม่มีอาการใดๆ เลยให้เห็น จนแทบไม่รู้เลยว่าสามารถแพร่เชื้อได้ เป็นการแพร่เชื้อช่วงระยะฟักตัวก่อนมีอาการ และจากข้อมูลในจีนพบว่า 1.2% ของคนไข้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือประมาณ 7 หมื่นกว่าคน ไม่มีอาการบ่งบอกใดๆ

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมาศาสตราจารย์ Linfa wang ชาวสิงคโปร์ ที่เป็นคนรู้เรื่องนี้ดีที่สุด ได้รายงานออกมาแล้วว่าการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ควรตรวจภูมิคุ้มกันในเลือด เพราะหากมีคนติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น จึงไม่สามารถตรวจหาเจอเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้โดยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) เป็นสาเหตุทำให้คนติดเชื้อมีการแพร่เชื้อมากขึ้น และขณะนี้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ของ รพ.จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ Linfa wang ใช้วิธีการตรวจเลือดแบบง่ายๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าใครติดเชื้อไปแล้ว แม้ไม่มีอาการก็ตาม และดูว่าใครได้รับการติดเชื้อมาใหม่ๆ ซึ่งมีโอกาสแพร่เชื้อได้

“การตรวจด้วยวิธี PCR เมื่อผลออกมาเป็นลบก็ต้องเป็นลบ หากบวกก็ต้องเป็นบวกเสมอไป ซึ่งมีความยากในการตรวจหาจากธรรมชาติของเชื้อไวรัสตัวนี้ เพราะเชื้อลงไปที่ปอด ถ้าเอาน้ำในจมูกหรือในคอมาตรวจ ก็ได้ผลลบ ต้องตรวจจากเสมหะที่ไปอยู่ในปอดลึกๆ เท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาผลการตรวจเชื้อไวัสตัวนี้ทำไม่ได้ 100% อีกอย่างการใช้วิธีให้ได้น้ำล้างจากจมูกและคอไปตรวจ ต้องเอาไม้ล้วงเข้าไปลึกๆ เข้าโพรงจมูกด้านลึก อาจทำให้เจ็บจึงค่อนข้างยากลำบาก และที่ผ่านมาได้ปรากฏมาแล้ว จากการตรวจได้ผลลบปลอม กรณีคนไข้จีน ใน รพ.มหาราชเชียงใหม่ จนมาเก็บครั้งที่ 3 ส่องกล้องที่ปอดเพื่อเอาน้ำที่ปอดมาตรวจ กระทั่งพบเชื้อ”

จากความยากในการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น แม้ว่าคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง อาจไม่ไปตรวจหาเชื้อ แต่หากใครมีอาการ จะพบว่าการตรวจหาเชื้อครั้งเดียวไม่เพียงพอ อย่างกรณีที่เกิดใน รพ.บี.แคร์ ซึ่งลูกชายของคนติดเชื้อไปตรวจครั้งแรกไม่พบ ดังนั้นจะต้องตรวจซ้ำ เพราะไม่ได้หมายความว่าไม่ติดเชื้อ เนื่องจากมีการคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ ถือเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง อาจกักบริเวณอยู่ที่บ้าน และตรวจเป็นระยะในช่วง 14 วัน

ในประเด็นการกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้อยู่ที่บ้าน ซึ่งไม่แน่ใจจะอยู่บ้านหรือไม่ และอาจไม่ยอมแยกตัวกับคนในครอบครัว จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อได้ จึงอยากให้มีการกักตัวอย่างมิดชิดในโรงพยาบาล อย่างประเทศสิงคโปร์ และจีน ซึ่งการจะส่งข้าวส่งน้ำต้องอยู่ห่าง 2 เมตร ส่วนห้องน้ำต้องแยกออกมา หรือกรณีห้องน้ำรวม ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างดี และกรณีของประเทศสิงคโปร์มีมาตรการเด็ดขาด หากเป็นชาวต่างชาติฝ่าฝืนจะโดนยึดพาสปอร์ต และปรับจับเข้าคุกลงโทษหนัก หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ รวมถึงกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง ไม่ปฏิบัติตามแม้ติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีโอกาสในการแพร่เชื้อได้

“ขณะนี้ประเทศไทย ได้ประกาศให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ห้ามปกปิดข้อมูล และสถานพยาบาลต้องรายงานกรมควบคุมโรค เมื่อพบผู้ต้องสงสัย ไม่เช่นนั้นมีความผิดตามกฎหมาย หรือประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์แจ้งความได้ กรณีมีคนฝ่าฝืน เพราะเชื้อนี้หากมีคน 100 คนติดเชื้อ จะมีคน 20 คน อาการหนัก แสดงว่าหากคน 1 พันคนติดเชื้อมีอาการหนัก ก็เท่ากับว่ามีคนติดเชื้อ 1 หมื่นคน หรือประมาณ 10-20% หากปล่อยให้แพร่เชื้อจนคนติดเชื้อ 1 หมื่นคน ภายในเวลาอันรวดเร็ว หากถึงเวลานั้นจะเกิดความวุ่นวายจนโรงพยาบาลแออัด จากคนไข้มีอาการหนัก”

ส่วนการประเมินว่าไทยจะมีการระบาดเข้าสู่เฟส 3 หรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้ แต่หากคนมีอาการจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชัดเจน 10 คน แสดงว่ามีคนติดเชื้อ 100 คน เพราะฉะนั้นคำนิยามต้องเฝ้าระวังไม่ใช่เฉพาะการสัมผัสกับชาวต่างชาติ แต่หากไปสัมผัสอยู่ร่วมกับคนป่วยจนมีอาการขึ้นมา จึงเรียกว่าผู้ติดเชื้อ ดังนั้นจึงบอกไม่ได้กรณีคนไปสัมผัสคนติดเชื้อ "ปู่ย่าหลาน" 3 คนล่าสุด จะปลอดภัย หากยังไม่แสดงอาการออกมา จะต้องติดตามให้ครบ 14 วัน หากระหว่าง 14 วัน มีอาการขึ้นมา

สรุปว่าเคสล่าสุด โอกาสจะเกิด "ซุปเปอร์สเปรดเดอร์" (Super-spreader) ก็เป็นไปได้ตลอด เมื่อคนที่รับเชื้อไปแล้ว ไปอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถแพร่เชื้อได้จำนวนมาก เช่น อยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน อย่างการระบาดในสิงคโปร์และเกาหลี ซึ่งมีการจัดกิจกรรมอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานๆ ในห้องพื้นที่จำกัด หรือบางคนที่ติดเชื้อมีความผิดปกติทางปอด หากทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพูด และมีอาการไอ ยิ่งทำให้การแพร่เชื้อมากขึ้นไปกันใหญ่

“การจะเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ มีการแพร่เชื้อมากหรือไม่ อยู่ที่พฤติกรรม กิจกรรม และระยะเวลาใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ หากบางคนมีเชื้อแรง ก็ทำให้คนอื่นติดเชื้อต่อ ภายใน 4-5 นาที โดยเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ สามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 20-50 องศาฯ เป็นเวลา 9 วัน บนพื้นผิวต่างๆ ดังนั้นอยากเรียกร้องไปยังคนไทย ที่ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ได้รู้ว่าโรคนี้ตรวจจับยากว่าใครเป็นหรือไม่ หากรู้ตัวว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรกักตัวเอง เพราะตัวเองย่อมรู้ตัวเองมากที่สุด จะหวังพึ่งหมอพยาบาลเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้”

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0