โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โควิด-19: ส่องมาตรการกักตัว-ตรวจสอบสิงคโปร์ เหตุใดจึงต้องเข้มงวดมากขนาดนั้น

TODAY

อัพเดต 04 เม.ย. 2563 เวลา 14.34 น. • เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 14.27 น. • Workpoint News
โควิด-19: ส่องมาตรการกักตัว-ตรวจสอบสิงคโปร์ เหตุใดจึงต้องเข้มงวดมากขนาดนั้น

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศในเอเชีย จะเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการจัดการที่เป็นระบบมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่เราต้องยอมรับว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลสิงคโปร์ใช้ในการควบคุมการระบาดนั้น ค่อนข้างได้ผล เนื่องจากมีความชัดเจนและเด็ดขาด รวมถึงมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนที่ค่อนข้างรุนแรง เราจะย้อนกลับไปดูว่า ที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

กักตัว 14 วัน

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้ประกาศการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาในประเทศ พร้อมกับแนะนำให้ชาวสิงคโปร์หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน

 

 

ตามข้อกำหนด ผู้ที่เดินทางเข้าสิงคโปร์หลังเวลา 23.59 น. ของวันที่ 20 มี.ค. ทั้งชาวสิงคโปร์ ชาวต่างชาติที่ถือบัตรผู้พำนักถาวร วีซ่าระยะยาว วีซ่าระยะสั้น ทุกประเภท จะต้องกักตัวที่บ้าน (Stay-Home Notice) เป็นเวลา 14 วัน โดยห้ามออกจากบ้านหรือที่พักโดยเด็ดขาด หลังจากเดินทางเข้าสิงคโปร์ แต่ไม่นับรวมถึงผู้ที่ไม่ออกจากพื้นที่เปลี่ยนเครื่อง ไม่ต้องกักตัว

นอกจากนี้ ผู้มาเยือนระยะสั้นทุกคนที่ถือสัญชาติประเทศกลุ่มอาเซียน ต้องยื่นเอกสารข้อมูลสุขภาพของตนเองที่สถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศที่ตนเองพำนักอยู่ จากนั้นสถานทูตสิงคโปร์ ส่งข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้แต่ต้องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน พร้อมยื่นเอกสารการจองที่พักในสิงคโปร์ สำหรับการพักแรม 14 วัน ให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบิน และเมื่อเดินทางเข้าสิงคโปร์แล้วจะต้องกักตัวเองในที่พักเป็นเวลา 14 วัน โดยห้ามออกนอกที่พัก และผู้ฝ่าฝืนมีโทษ และไม่อนุญาตให้เดินทางกลับ ก่อนครบ 14 วัน

มาตรการใหม่นี้ยังบังคับใช้กับผู้ถือบัตรอนุญาตทำงานในสิงคโปร์ทุกคนที่มีประวัติการเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยโทษของผู้ฝ่าฝืน ได้แก่ การถอนใบอนุญาตทำงานหรือถิ่นพำนักในสิงคโปร์สำหรับชาวต่างชาติ ในขณะชาวสิงคโปร์จะโดนดำเนินคดีภายใต้ พรบ.โรคระบาด

 

ข้อความติดตามตัว

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ Stay-Home Notice จะได้รับข้อความทางโทรศัพท์จากทางการหลายครั้งต่อวัน และจะต้องส่งข้อมูลโลเคชั่นและจีพีเอสกลับ เพื่อระบุตำแหน่งของตน นอกจากนั้น ยังอาจถูกสุ่มโทร และอาจมีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้าน เมื่อเราได้รับโทรศัพท์ เราจะต้องถ่ายภาพของสิ่งที่อยู่รอบตัวและส่งกลับ เพื่อระบุสถานที่ที่เราอยู่ ณ ขณะนั้น

 

 

นอกจากนั้น เรายังจำเป็นจะต้องตรวจสอบสภาพร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการวัดอุณหภูมิ 2 ครั้งต่อวัน เพื่อเช็คอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น การไอ และหายใจไม่สะดวก

รัฐมนตรีมหาดไทย เค. จันมุกัม อธิบายความจำเป็นของมาตรการลงโทษ หลังจากมีผู้แสดงความเห็นว่าค่อนข้างเข้มงวดและรุนแรง แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้ รัฐบาลต้องการความร่วมมือจากทุกคน ประชาชนต้องรู้ว่า เราจะไม่ลังเลที่จะจัดการอย่างเฉียบขาด

ในกรณีการกักกันโรคที่โรคพยาบาลนั้น สิงคโปร์มีศูนย์รองรับขนาด 330 เตียง ซึ่งเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปีที่แล้ว ความพร้อมในจุดนี้เกิดจากการถอดบทเรียนเมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดเมื่อปี 2003 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตในสิงคโปร์ 33 ราย

ทางการยังช่วยให้พลเมืองระมัดระวังการติดเชื้อได้ดีขึ้น โดยเปิดเผยข้อมูลการระบาดอย่างละเอียดในทันที เช่น คนป่วยมีอายุเท่าไร เพศใด สัญชาติอะไร อาศัยอยู่ที่ไหน เดินทางอย่างไร ทำงานที่ไหน และมีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ อย่างไร

 

กักตัวที่โรงแรม

นอกจากนั้น ทางการสิงคโปร์ยังประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 25 มี.ค. จะต้องกักตัว (Stay-Home Notice) เป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้แทนที่จะเป็นบ้านหรือที่พักของบุคคลนั้น เพื่อลดการนำเข้าเชื้อไวรัสจากนอกประเทศ

 

 

กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม เพื่อจัดหาห้องพักให้แก่ผู้ที่ต้องกักตัว รวมถึงการรับส่งจากสนามบินไปยังโรงแรมโดยตรง ทั้งนี้ ผู้ถูกกักตัวจะได้รับห้องพักและห้องน้ำส่วนตัว รวมถึงมื้ออาหารทุกมื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคลอื่นโดยตรง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทางการสิงคโปร์ได้จองห้องพักตามโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ไว้มากกว่า 7,500 ห้อง โดยโรงแรมที่ได้รับเลือกยังรวมถึงเครือโรงแรมหรูอย่าง "ฮิลตัน เวิลด์ไวด์ โฮลดิงส์" "อินเตอร์คอนทิเนนทัล โฮเทลส์ กรุ๊ป" และ "แอคคอร์" และโรงแรมบนเกาะเซนโตซา อย่าง "แชงกรีลา ราซา เซนโตซา"

ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวราว 1,200 คนที่กักตนเองในโรงแรมต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลจัดไว้ให้ โดยระหว่างการกักตัว สมาชิกในครอบครัวสามารถมาที่โรงแรมได้ เพื่อนำของใช้ส่วนตัว สิ่งบันเทิง และขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ มาให้ผู้กักตัวได้ แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับผู้ที่ถูกกักตัวโดยเด็ดขาด

มาตรการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการของรัฐบาล ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัส หลังเที่ยวบินจากต่างประเทศถูกระงับ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกสอง ที่มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี เช่น การยกเลิกเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์สำหรับโรงแรม ร้านค้า ศูนย์การค้า และอื่นๆ ในปีนี้

 

นักสืบโควิด

นอกเหนือจากมาตรการกักตัวแล้ว สิงคโปร์ยังมีการตั้งทีมเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คล้าย "นักสืบ" ที่จะประจำตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อพูดคุยกับคนไข้ว่าพวกเขาเดินทางมายังโรงพยาบาลเมื่อใด เคยพบหรืออยู่กับใครก่อนหน้านี้บ้าง หลังจากได้ผลตรวจของคนไข้ว่าติดเชื้อ พวกเขาจะส่งข้อมูลไปให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่หาข้อมูลต่อจากคนไข้

 

 

จากนั้น ทีมสืบสวนอาชญากรรมของสิงคโปร์ก็จะเข้ามาร่วมด้วย โดยกรมสืบสวนอาชญากรรมจะประชุมกับกระทรวงสาธารณสุขทุกวันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดตามสืบเสาะหาผู้เสี่ยงติดเชื้อเป็นงานที่เพิ่มมาจากที่ตำรวจสิงคโปร์ทำอยู่ประจำอยู่แล้ว นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสิงคโปร์ถึงมีอัตราการก่ออาชญากรรมต่ำมาก บางครั้งตำรวจก็ยังขอความช่วยเหลือจากหน่วยปราบปรามยาเสพติด และหน่วยข่าวกรอง

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนอาชญากรรมสิงคโปร์ ระบุ โดยเฉลี่ยแล้วมีเจ้าหน้าที่ 30- 50 คนที่ทำงานติดตามสอบสวนคนในแต่ละวัน แต่บางครั้งก็มากกว่า 100 คน

ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลสิงคโปร์เห็นได้ชัดจากกรณีของหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ "จูลี่" ซึ่งไปโรงพยาบาลหลังจากเวียนหัวและมีไข้เมื่อต้นเดือน ก.พ. ในอีกไม่ถึง 1 ชั่วโมงต่อมา แพทย์แจ้งว่าเธอติดเชื้อไวรัสโคโรนา

ขณะเธอนอนอยู่บนเตียง เจ้าหน้าที่โทรมาถามข้อมูลว่า เธอทำอะไรและพบใครบ้างในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องการทราบถึงคนที่เธอมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คนที่เธอใช้เวลาด้วยมากกว่าครึ่งชั่วโมง และอยู่ใกล้ในระยะ 2 เมตร

เธอใช้เวลาคุยกับเจ้าหน้าที่เกือบ 3 ชั่วโมง และระบุชื่อคน 50 คน ทั้งหมดได้รับการติดต่อจากกระทรวงสาธารณสุข และทั้งหมดก็กักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน และพบว่าไม่มีใครแสดงอาการแต่อย่างใด

 

มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ประกาศการเพิ่มมาตรการที่มีความเข้มงวดขึ้น ที่เรียกว่า "มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์" เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดในชุมชน ที่จะนำไปสู่การลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเตรียมผ่อนคลายมาตรการบางอย่างลง โดยในเบื้องต้นจะบังคับใช้เป็นเวลา 1 เดือน เริ่มวันที่ 7 เม.ย. นี้

 

 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงการบังคับใช้มาตรการ สถานประกอบการต้องหยุดการดำเนินงานภายในสำนักงาน ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้ายขายของชำ โรงพยาบาล คลินิก สถาบันการเงิน ระบบขนส่งสาธารณะ และกิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค

ขณะที่โรงเรียนและศูนย์รับเลี้ยงเด็กปิดการเรียนการสอน และเริ่มจัดการเรียนการสอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาและเนิร์สเซอรีจะเปิดให้บริการเป็นรายกรณี เฉพาะผู้ปกครองซึ่งไม่สามารถหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูบุตรหลานได้

องค์การอนามัยโลก กล่าวชื่นชมวิธีการรับมือของสิงคโปร์ตั้งแต่ยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีการแกะรอยทันท่วงทีก่อนที่จะเชื้อจะแพร่ระบาดในชุมชน มีระบบสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มจะทำตามคำขอของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ (Infectious Diseases Act) ของสิงคโปร์ ยังกำหนดอีกด้วยว่า หากใครก็ตามจะปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือรัฐในการรวบรวมหาข้อมูล จะมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 2 แสนบาท หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และเคยมีสองสามีภรรยาชาวจีนที่ถูกดำเนิคดีทางกฎหมายมาแล้วหลังให้ข้อมูลเท็จกับเจ้าหน้าที่

แต่กระบวนการเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่มีจำนวนประชากรมาก ระบบสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีระบบการสอดส่องที่ดี นั่นหมายความว่าการตามตัวผู้ติดเชื้อกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0