โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โควิด-19 ถ่างความเหลื่อมล้ำ ภาวะ "สองเสี่ยง" แรงงาน-ลูกจ้างรายวัน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 ก.ค. 2563 เวลา 12.41 น. • เผยแพร่ 16 ก.ค. 2563 เวลา 13.15 น.
แรงงานไทย

คอลัมน์ ดุลยธรรม ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมืองได้เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกิดสถานการณ์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างหลังมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำก้าวกระโดด การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสมช่วงก่อนหน้านี้ แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นชัดเจน

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ส่งผลให้โครงสร้างของกลุ่มทุนในไทยเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเดียวกับวิกฤตปี 2540 ส่งผลต่อกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แตกต่างกันไป โดยกลุ่มอาชีพทักษะสูง รายได้สูง สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้มากกว่าอาชีพที่ใช้ทักษะกลางหรือทักษะต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย เช่น ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ธุรกิจในสถานบันเทิง ค้าขายและบริการ สนามมวย ผับบาร์ อาบอบนวด เป็นต้น หรืองานที่ต้องใช้ทักษะระดับกลาง เช่น ลูกจ้างแรงงานในสายการผลิตของโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานส่งออก เนื่องจากส่งออกของไทยหดตัวรุนแรง

จึงไม่น่าแปลกใจว่าวิกฤตโควิดจะส่งผลต่อลูกจ้างกลุ่มรายได้ระดับกลางและระดับต่ำรุนแรงกว่า ขณะนี้กว่าร้อยละ 40-50 ของกลุ่มลูกจ้างที่จัดว่ามีเงินเดือนต่ำและค่อนข้างต่ำเจอภาวะ “สองเสี่ยง” คือ ปิดเมืองก็เสี่ยงจากการสูญเสียรายได้เปิดเมืองก็เสี่ยงติดเชื้อ โดยกลุ่มลูกจ้างรายวันและอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบเหมาช่วงได้รับผลกระทบมากที่สุด มีการทยอยเลิกจ้างจำนวนมาก โดยไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้างตามกฎหมาย

ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานคือ สามารถเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพได้ดี ทั้งระบบราง เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรม ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การทำให้ไทยมีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง มีกฎระเบียบโปร่งใสเป็นมาตรฐานสากล ผ่อนคลายกฎระเบียบไม่จำเป็นในการลงทุน การจัดการด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ

จากงานศึกษาวิจัยภายใต้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ของเนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู, ศุภนิจ ปิยะพรมดี, พรพจ ปรปักษ์ขาม,นฎา วะสี พบว่า แรงงานไทยที่อยู่ในกิจการที่ถูกปิดชั่วคราวมีประมาณ 6.1 ล้านคน โดยเกือบ 4 ล้านคน อยู่ในภาคการค้า ธุรกิจอาหาร และโรงแรม รองลงมาเป็นกิจการด้านการศึกษาและบริการส่วนบุคคล ในการผ่อนปรนระยะแรก แรงงานได้กลับไปทำงานราว 0.87-2.37 ล้านคน ในระยะต่อมาเมื่อศูนย์การค้าและตลาดนัดเปิดเต็มตัว แรงงานอีก 1.7 ล้าน น่าจะได้กลับเข้างาน หากนายจ้างยังต้องการจ้างงานอยู่

งานวิจัยดังกล่าวได้พัฒนาดัชนีใหม่ 2 ตัว ซึ่งสร้างจากลักษณะงานที่ทำ ได้แก่

(1) ดัชนีวัดความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน (flexible work location)

(2) ดัชนีโอกาสที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นในการทำงาน (physical proximity)

ดัชนีทั้งคู่เกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้โดยตรง ตัวแรกวัดความเสี่ยงของลูกจ้างในการสูญเสียรายได้จากการทำงาน รวมคะแนนจากดัชนีย่อย 2 ตัว ได้แก่ ดัชนีด้านลักษณะงานที่ผูกติดกับเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องกล สถานที่ หรือยานยนต์ (machine dependent) และดัชนีด้านลักษณะงานที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น งานที่ใช้คอมพิวเตอร์มาก หรือเน้นวิเคราะห์ข้อมูล (ICT enabled)

ส่วนดัชนีตัวที่ 2 วัดความเสี่ยงในการระบาดของโรค โดยวัดว่างานที่ทำต้องติดต่อกับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด เป็นงานบริการ หรือให้ความช่วยเหลือกับบุคคลอื่นหรือไม่ จากการวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย 2 ดัชนีนี้ ตามกลุ่มอาชีพหลักพบว่า กลุ่มผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการ ผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ทักษะสูง มีค่าดัชนีความง่ายในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะงานไม่ได้ผูกติดกับเครื่องมือหรือสถานที่ และเอื้อต่อการใช้ ICT ส่วนกลุ่มพนักงานบริการและขายสินค้า มีค่าดัชนีด้านการสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นสูงที่สุด เกษตรกรและผู้ปฏิบัติการด้านเครื่องจักรในโรงงาน ค่าดัชนีด้านงานที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มอื่นต่ำที่สุด แต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการรักษาเศรษฐกิจหรือรักษาชีวิตคน แต่ต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่สามารถรักษาระบบเศรษฐกิจ จ้างงาน การมีรายได้ พร้อมกับการรักษาชีวิตผู้คนและป้องกันการแพร่ระบาดไปได้พร้อมกัน จึงขอแนะนำให้นำเอาดัชนีความเสี่ยงด้าน flexible work location และ physical proximity มาไขว้กัน ทำให้ผู้บริหารประเทศทราบว่า กลุ่มคนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบต่างกัน และเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้สูงมักจะมีลักษณะงานที่ทำงานจากที่บ้าน และสัมผัสทางกายภาพน้อย จะเปิดหรือปิดเมืองก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

เช่น ผู้บริหาร กลุ่มนักลงทุนในตลาดการเงิน งานที่ปรึกษา งานวิชาการ อาจารย์ระดับอุดมศึกษา งานเกี่ยวกับ ICT และธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ขณะที่บางกลุ่มจะเปิดหรือปิดเมืองก็มีความเสี่ยง เช่น งานร้านอาหาร งานในสถานบันเทิงต่าง ๆ งานในบ่อนการพนันและสนามมวย งานในสถานอาบอบนวดและสปา กิจการร้านตัดผมและเสริมสวย บุคลากรทางการแพทย์มัคคุเทศก์ ครู เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0