โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

โควิดเปิดพื้นที่ "เฮลท์เทค" ไทย อว.-สวทช. เดินหน้าหนุนเต็มสูบ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 05 ส.ค. 2565 เวลา 06.35 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 03.40 น.
20-2

สถานการณ์แรกเมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดในไทย คือ“ความขาดแคลน” ไปเสียทุกอย่าง ยิ่งเมื่อ“โรงงานโลก” อย่างจีนล็อกดาวน์

“ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์” ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และที่ปรึกษาอาวุโส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า โควิด-19 ทำให้ทุกคนตระหนักว่า ไทยไม่มีโรงงานผลิตเครื่องช่วยหายใจ ชุด PPE หน้ากากอนามัยก็ขาดแคลน ขาดทุกอย่าง ทาง สวทช.และรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการในไทยสามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ได้ ลดการนำเข้า เพิ่มศักยภาพระยะยาวในการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

“ไทยต้องผลิตเองให้ได้ ไม่ใช่แค่วิจัยได้อย่างเดียว ซึ่งคนไทยทำได้ แต่กระบวนการอีโคซิสเต็มยังทำได้ไม่ค่อยดี”

อีกอุปสรรคสำคัญ คือ ความเชื่อของผู้ใช้งาน ที่เลือกจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า แต่ในช่วงโควิด-19 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่เปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทยได้โชว์ศักยภาพ เนื่องจากเกิดการขาดแคลนไปทั่วโลก ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ได้ จึงทำให้ผู้ใช้ได้เห็นศักยภาพผลงานของคนไทย ในส่วน สวทช. ก็มีอยู่กว่า 20 โครงการที่กำลังทยอยเปิดตัว ตั้งแต่แอปพลิเคชั่นสำหรับติดตามผู้ป่วย หน้ากากอนามัย 4 ชั้นที่ฆ่าเชื้อไวรัสได้

รวมถึงเครื่องเอกซเรย์ที่เริ่มใช้ในโรงพยาบาลสนามหลายแห่งแล้ว ซีทีสแกน เครื่องวัดอุณหภูมิและยังมีเครื่องช่วยหายใจที่กำลังพัฒนาหรือในส่วนของเอกชนเองก็มีการผนึกกำลังสร้างนวัตกรรม อาทิ HapyBot ของ บมจ.เน็ตเบย์ ที่สร้างหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะแบ่งเบาภาระงาน มอบให้กับโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ก็พัฒนาขึ้นโดยคนไทย แม้จะใช้ชิ้นส่วนของต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็เคลื่อนไหวคล่องแคล่วใช้ได้ทั้งงานขนส่ง สื่อสารแบบเห็นหน้า มี AI ช่วยตัดสินใจจึงหลบหลีกสิ่งขีดขวางได้อัตโนมัติ และถูกกว่าใช้หุ่นยนต์จากต่างประเทศกว่า 50%

“กลไกที่ สวทช. และกระทรวงการอุดมศึกษาฯกำลังพยายามผลักดัน คือ กลไกบัญชีนวัตกรรม เพื่อให้รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อผลงานคนไทยที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมรับรองว่ามีสเป็กเทียบเท่ากับต่างประเทศอย่างน้อย 30% และผลักดันให้มีการลดภาษีของชิ้นส่วนที่จะนำไปใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีอัตราที่ลดลงกว่าในปัจจุบัน เพราะหากยังมีอัตราสูงกว่าอุปกรณ์สำเร็จรูป ก็จะไม่จูงใจให้เกิดการผลิตใช้เอง แต่เลือกจะนำเข้าแบบสำเร็จรูปมาใช้แทน ซึ่งไม่ได้ช่วยแค่สตาร์ตอัพ แต่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมดด้วย”

นอกจากนี้ยังพยายามเสนอแนวคิดการส่งเสริมด้านบุคลากรให้ทาง BOI พิจารณา เพื่อให้สิทธิประโยชน์ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0