โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โควิดสะท้อนเหลื่อมล้ำ จำนำ 'สากกะเบือยันผ้าถุง'

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 11 ก.ค. 2563 เวลา 11.45 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. 2563 เวลา 11.45 น.
ชั้น 5 (1)

ชั้น 5 ประชาชาติ กฤษณา ไพฑูรย์

ภาพความสนุกสนานของเด็ก ๆ ต้อนรับการเปิดเทอมเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้สร้างรอยยิ้มแห่งความสุขให้คนในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย

แต่เบื้องหลังรอยยิ้มของเด็ก ๆ กลับพบความหน้าชื่นอกตรมของผู้ปกครองหลายคน

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง การส่งออกติดลบ มาเจออีกเด้งกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบ

พ่อแม่มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจถูกลดเวลาทำงาน ลดเงินเดือน หรือถึงขั้นตกงาน ขณะที่พ่อค้าแม่ค้ายอดขายลดลง เพราะกำลังซื้อหายไป เงินที่รัฐบาลจ่าย 5,000 บาท ต่อเนื่องกัน 3 เดือน จับจ่ายกันหมดไปแล้ว

สะท้อนผ่านการนำสิ่งของเครื่องใช้มาตึ๊งแปะโป้งกับโรงรับจำนำทั่วประเทศได้อย่างชัดเจน ถึงขั้นต้องนำเครื่องมือทำมาหากิน อย่างซึ้งนึ่งขนม ถาดใส่กับข้าว ครกหิน กระทะทองเหลือง ชานหมาก เครื่องเงิน รวมถึงผ้าไหม ไปจำนำกันเลยทีเดียว

ส่วนทองคำ อัญมณี นำมาจำนำน้อยลง เพราะส่วนใหญ่ได้ไถ่ถอนออกไปขายในช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นสูง โดยการนำทองคำมาจำนำได้บาทละ 20,000 บาท ยังต้องเสียดอกเบี้ย หากขายจะได้บาทละ 24,800 บาท ทำให้เมื่อเศรษฐกิจดิ่ง ชอร์ตเงินอย่างหนัก จึงไม่เหลือของมีค่าให้มาจำนำ

โดยภาพรวมจำนวนคนที่นำสิ่งของมาจำนำเพิ่มขึ้น แต่วงเงินในการจำนำลดลง เห็นได้ชัดเจนในเมืองหลวงอย่าง กทม. ที่มีคนต่างจังหวัดหอบลูกจูงหลานเข้ามาทำงาน และเรียนหนังสือ ทางสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครออกมาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงรับจำนำ กทม.ทั้ง 21 แห่ง มีสต๊อกทรัพย์ที่ประชาชนมาจำนำถึงเดือน มิ.ย. 2563 จำนวน 334,808 ราย คิดเป็นเงิน 5,012 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 19,253 ราย คิดเป็นเงิน 178 ล้านบาท

ปี 2563 เตรียมวงเงินไว้ 2,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. มียอดจำนำ 114,555 ราย คิดเป็นเงิน 1,100 ล้านบาท วงเงินลดลงจากปี 2562 ประมาณ 3% เนื่องจากมีไถ่ถอนทองรูปพรรณออกไปขายจำนวนมาก ช่วงที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น โดยช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. มีทรัพย์จำนำถึง 78,522 ราย คิดเป็นเงิน 720 ล้านบาท

สำหรับทรัพย์ที่จำนำมากสุด คือ ทองคำ 85% ลดลงจากปีที่แล้ว 5% รองลงมาเป็นอัญมณีและเพชรพลอย 11% ส่วนเบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2% เป็น 4% เพราะเศรษฐกิจไม่ดี โดยพื้นที่ที่มีการนำทรัพย์ไปจำนำมากสุด คือ เขตมีนบุรี หนองจอก และเทเวศร์

ขณะที่สถานธนานุบาลในต่างจังหวัด เช่น โรงรับจำนำของเทศบาลนครภูเก็ต บอกว่า ปัจจุบันการนำทรัพย์สินมาจำนำไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะสถานประกอบการหลายแห่งปิดตัว แรงงานต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในภูเก็ตทยอยกลับจังหวัดบ้านเกิด ส่งผลให้แต่ละวัน สถานธนานุบาลมีเงินหมุนเวียนกว่าวันละ 5 ล้านบาท จากการจำนำทรัพย์สินและไถ่คืน ซึ่งทรัพย์จำนำ 90% เป็นทองรูปพรรณ อีก 40% เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องมือช่าง

ด้านโรงรับจำนำเทศบาลเมืองมหาสารคามระบุว่า จำนวนลูกค้ามาใช้บริการในช่วงเปิดภาคเรียนปีนี้มีปริมาณลดลง 20% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนหลายกลุ่มอาชีพไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง แม้จะสำรองเงินไว้รวมแล้วกว่า 120 ล้านบาท แต่ลูกค้าที่มีทองคำจำนำไว้ได้มาไถ่ออกไปขายจำนวนมาก เพราะราคาทองคำในตลาดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ส่วนโรงรับจำนำนครพิษณุโลกบอกว่า ปีนี้มีประชาชนนำทรัพย์มาจำนำมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม ส่วนใหญ่เป็นทองคำ 99% และเครื่องประดับมีราคามาฝากไว้ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบอาชีพ แต่วงเงินจำนำไม่สูงมาก เพราะมีไถ่ทองไปขาย เพราะได้ราคาสูงขึ้น และบางรายขอเพิ่มยอดเงินหลังราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เพราะสามารถจำนำสูงสุดได้ถึงบาทละ 9,500 บาท

เทศบาลตำบลแม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง บอกว่า ปีนี้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจซบเซา จึงเพิ่มวงเงินจากปีที่แล้ว 20 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้บริการมากช่วงเปิดเทอม โดยทรัพย์จำนำเป็นทองรูปพรรณ นอกนั้นเป็นเครื่องจักรกลการเกษตร และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น สว่าน มอเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาพสะท้อนยังปรากฏผ่านการกู้เงินนอกระบบรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินในระบบต่างหยุดการปล่อยกู้ และมีวงเงินมูลหนี้พุ่งสูงขึ้น สะท้อนผ่านสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาส 1/2563 สูงเกินร้อยละ 80.1 หลายแบงก์มีนโยบาย “กาหัว” หลายอาชีพที่มี “ความเสี่ยง” ที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความเดือดร้อนยากลำบากที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสังคมไทยส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินเกินตัวของคนบางส่วน โดยไม่มีการเก็บออมเงินไว้ใช้ยามจำเป็น

ที่สำคัญ ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้ายิ่งถ่างให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย และคนจนห่างกันออกไปทุกที

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0