โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แอบตามเธออยู่นะจ๊ะ : อันตรายของการทำให้ ‘สตอล์กเกอร์’ เป็นเรื่องโรแมนติก

The MATTER

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 19.50 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 10.58 น. • Pulse

เวลาแอบปลื้มใคร เราก็อยากจะติดตามความเคลื่อนไหวของเขา แอบทำอะไรดีๆ ให้บ้างบางครั้ง หรือดักเจอตามสถานที่ที่เขาชอบไป ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่โรแมนติกเหมือนในหนังรักหลายๆ เรื่อง แต่ในความเป็นจริงเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำอาจไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของใครเข้าหรือเปล่า

มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างคำว่าแอบชอบกับโรคจิต หากคุณปลาบปลื้มใครสักคน การได้แอบมองเขาอยู่ห่างๆ ก็สบายใจ นั่นถือเป็นการแอบชอบทั่วๆ ไปที่ไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพยายามมีตัวตนจนอีกฝ่ายรู้สึก 'อึดอัด' ชนิดที่ว่าเขาไปไหนก็ต้องตามไปปรากฏตัวที่นั่น หรือเขาทำอะไรกับใครก็จะต้องรู้ไปหมดจน 'น่าขนลุก' เป็นไปได้ว่าคุณหมกมุ่นมากเกินไป จนอาจเข้าข่ายการเป็นสตอล์กเกอร์โดยไม่รู้ตัว

‘แอบชอบ’ หรือ ‘สตอล์กเกอร์’

‘สตอล์กเกอร์’ (stalker) คือ คนที่มีพฤติกรรม ‘สะกดรอยตาม’ หรือตามติดชีวิตคนอื่นมากเกินไปโดยที่เขาไม่ต้องการ จนถึงขั้นที่ ‘รุกล้ำ’ ความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะทางจิตใจหรือกายภาพ พฤติกรรมนี้อาจเกิดได้จากปัญหาทางสุขภาพจิต เพราะการศึกษา 'สิ่งกระตุ้น' ที่ทำให้คนมีพฤติกรรม stalking พบว่า มันเกิดได้จากภาวะทางอารมณ์หลายรูปแบบ ซึ่งหากอิงตามประเภทของศาสตราจารย์พอล มัลเลน (Paul Mullen) ประจำสาขานิติวิทยาศาสตร์จิตเวช จะแบ่งสตอล์กเกอร์ได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

Young curious guy likes millennial beautiful girl looking with interest watching smiling lady sitting nearby in cafe using smartphone, flirt in public place, dating and love at first sight concept
Young curious guy likes millennial beautiful girl looking with interest watching smiling lady sitting nearby in cafe using smartphone, flirt in public place, dating and love at first sight concept

สตอล์กเกอร์ที่ถูกปฏิเสธ (The rejected stalker) แรงจูงใจของคนกลุ่มนี้ มักจะเกิดจากการถูกปฏิเสธความสัมพันธ์หรือถูกบอกเลิกโดยคนที่แอบรักหรืออดีตคนรัก ดังนั้นการสะกดรอยตามจึงถือเป็นการ ‘ชดเชยความสัมพันธ์’ ที่ขาดหายไป พวกเขาจะรู้สึกพึงพอใจที่ได้ใกล้ชิดกับเหยื่อมากขึ้น หรืออีกในนัยหนึ่งก็คือการแก้แค้นเหยื่อที่ปฎิเสธพวกเขาโดยใช้วิธีการรุกรานชีวิตส่วนตัว

สตอล์กเกอร์ที่มีความโกรธเคือง (The resentful stalker) คนกลุ่มนี้มีสาเหตุมาจากความรู้สึกโกรธแค้นหรือเจ็บใจที่ถูกเหยื่อปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น การสะกดรอยตามจึงทำไปเพื่อการแก้แค้นและเอาคืน ซึ่งส่วนใหญ่สตอล์กเกอร์เหล่านี้จะใช้ ‘ความชอบธรรม’ มาเป็นข้ออ้างในสะกดรอยตามเหยื่อ

สตอล์กเกอร์ที่ต้องการความใกล้ชิด (The intimacy seeking) ความโดดเดี่ยวทำให้สตอล์กเกอร์กลุ่มนี้ต้องการสะกดรอยตามเพื่อสร้างความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด โดยพวกเชื่อว่าการติดตามชีวิตเหยื่อบ่อยๆ จะช่วยให้สนิทกับเหยื่อเพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปที่เจอในชีวิตประจำวัน เช่น คนรู้จัก คนที่ทำงาน คนที่บังเอิญเดินสวนกันบ่อยๆ หรือคนที่มีชื่อเสียงอย่าง ดารา นักร้อง นักแสดง สตอล์กเกอร์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกแฟนคลับวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ศิลปินที่ชื่นชอบจนอยากใกล้ชิดสนิทสนม และนำไปสู่พฤติกรรมการตามติดชีวิตส่วนตัว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเกิดจากอาการหลงผิด (erotomanic) หรือคิดไปเองว่ามีคนกำลังตกหลุมรักตัวเองอยู่

สตอล์กเกอร์ที่ขาดทักษะ (The incompetent stalker) สตอล์กเกอร์กลุ่มนี้ไม่มีพฤติกรรมที่รุนแรง เพียงแต่พวกเขาต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบคนรักหรือเพื่อนก็ได้ โดยลักษณะส่วนมากของพวกเขาจะเป็นพวกที่ขาดทักษะในการเข้าสังคม ขี้อาย เก้ๆ กังๆ พูดไม่เก่ง หรือมีปัญหาทางจิตเวช เช่น โรคออทิสติก (autistic) หรือแอสเพอร์เกอร์ (asperger) เป็นต้น

สตอล์กเกอร์ที่เป็นผู้ล่า (The predatory stalker) สตอล์กเกอร์กลุ่มนี้มีแนวโน้มจะผิดปกติทางจิตรุนแรง หรือเป็นโรคซาดิสต์ (saditic) เพราะพวกเขามักจะทำไปเพื่อตอบสนอง 'ความต้องการทางเพศ' ของตัวเองเป็นหลัก และต้องการที่จะมีอำนาจเหนือเหยื่อ โดยมีการวางแผนและลงมือกระทำอย่างรุนแรง

ลุ่มหลงมากไปอาจคุกคามใครโดยไม่รู้ตัว

มีผลสำรวจจาก Stalking Resource Center ในปี ค.ศ. 2015 ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหยื่อที่ถูกสะกดรอยตามในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ระยะเวลา 1 ปี มีผู้คนจำนวนถึง 7.5 ล้านคนถูกสตอล์กเกอร์สะกดรอยตาม แต่เรื่องที่น่ากลัวก็คือส่วนใหญ่ของสตอล์กเกอร์นั้น เป็น ‘คนรู้จัก’ ของพวกเขาทั้งสิ้น โดยจากการสำรวจยังเผยอีกว่า ผู้หญิง 61% และผู้ชาย 44% ถูกสะกดรอยตามโดย ‘เพื่อน’ หรือ ‘คนใกล้ชิด’ ของพวกเขาเอง

A terrified young woman in an underground parking garage being followed by a sinister man
A terrified young woman in an underground parking garage being followed by a sinister man

การถูกตามติดชีวิตตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องที่ควรนิ่งเฉยหรือปล่อยผ่าน เพราะมันทำให้เหยื่อสามารถเกิดภาวะหวาดระแวง ตัดขาดจากสังคม ไปจนถึงป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเหยื่อจำนวนมากยังเปิดเผยว่า พวกเขารู้สึกเหมือนตัวเองอาจจะถูกทำร้ายหรือถูกฆ่าเอาตอนไหนก็ได้ และมันก็ไม่ใช่ความกังวลที่คิดกันไปเอง เพราะจากรายงานการเก็บข้อมูล มีการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ‘การสะกดรอยตาม’ และ ‘การฆาตกรรม’ เนื่องจากมีเหยื่อผู้หญิงจำนวน 3 ใน 4 ถูกฆาตกรรมโดยคนใกล้ชิดที่แอบสะกดรอยตามพวกเธอ โดย 89% ถูกสะกดรอยตามเป็นระยะเวลาประมาณ 12 เดือนก่อนจะเสียชีวิต

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การสะกดรอยตามในประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็น ‘อาชญากรรม’ ภายใต้กฎหมายของ 50 รัฐ ส่วนในประเทศไทย การสะกดรอยตามไม่ว่าจะเป็นการดักฟังทางโทรศัพท์ การแอบถ่ายภาพ การแอบบันทึกเสียง แอบตามไปยังตำแหน่งที่อยู่ จนถึงการแอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น และอาจได้รับโทษทางกฎหมายเช่นเดียวกัน

แม้แต่โลกออนไลน์ก็ไม่ปลอดภัย

เคยสำรวจตัวเองบ้างหรือเปล่าว่าเราติดการอัพเดตชีวิตตัวเองมากเกินไป? ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร ก็เห็นจะต้องโพสต์หรือสแนปบอกให้คนอื่นรู้ไปหมด อย่าง "ดีใจจังพรุ่งนี้จะได้ไปทะเลแล้ว" "ง่วงจังนอนดีกว่า" "เลิกงานแล้วเพิ่งได้กลับบ้าน" ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียแบบนี้อาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อของสตอล์กเกอร์โดยไม่รู้ตัว

A mature man is surrounded by computer displays, he's closely watching a monitor.
On the screens & reflections there are scrolling thumbnail photos and crowds of people with data; he uses a touch screen to see information surrounding these IDs.
A mature man is surrounded by computer displays, he's closely watching a monitor. On the screens & reflections there are scrolling thumbnail photos and crowds of people with data; he uses a touch screen to see information surrounding these IDs.

การสะกดรอยตามไม่ได้มีแค่ในชีวิตจริงเท่านั้น แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้บนโลกออนไลน์เช่นกัน มีเหยื่อจำนวน 1 ใน 4 เผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘cyber stalking’ หรือการสะกดรอยตามบนไซเบอร์ แม้จะฟังดูไม่มีภัยอันตรายใดๆ กับการที่แค่มีคนเข้ามา ‘สอดแนม’ บัญชีโซเชียลมีเดียของเราตลอดเวลา แต่ที่จริงมันน่ากังวลตรงที่อะไรเหล่านี้อาจทำให้พวกสตอล์กเกอร์รู้ข้อมูลส่วนตัว ชีวิตประจำวัน กิจกรรมที่ชอบทำ ไปจนถึงสถานที่ที่เราอยู่เลยก็ได้

เพราะไม่ว่าจะเป็นการโพสต์รูป โพสต์ข้อความ แชร์ข้อมูล แชร์กิจกรรมส่วนตัว ไปจนถึงการเช็คอินสถานที่ มันก็ถือเป็นการเปิด ‘ช่องโหว่’ ให้สตอล์กเกอร์เข้าถึงตัวเราง่ายขึ้นทั้งนั้น บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้น ‘แฮ็ก’ เข้าไปในบัญชีส่วนตัว เพื่อกระทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเราเอง อย่างการแบล็คเมล์ ข่มขู่ หรือทำลายชื่อเสียง ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่การเลิกใช้โซเชียลมีเดีย แต่อาจจะต้องมีการระมัดระวังและคิดให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนจะเปิดเผยข้อมูลอะไรให้คนอื่นรู้

การโรแมนติไซส์สตอล์กเกอร์ใน ‘ป๊อปคัลเจอร์’

ภาพลักษณ์ของสตอล์กเกอร์มักจะถูกนำเสนอใน ‘แง่บวก’ ผ่านวัฒนธรรมป๊อปโดยที่เราไม่ได้สังเกต ทั้งในละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ และเพลง ที่มีเนื้อหาของการแอบชอบใครสักคนของตัวละครหนึ่ง แต่ทำได้แค่ติดตาม เฝ้าดู แอบทำอะไรเพื่อเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว อย่างเอาของที่เขาชอบไปวางไว้ให้บนโต๊ะ แอบส่งข้อความหาโดยไม่เปิดเผยตัว สืบชีวิตประจำวันของเขา หรือแอบไปดักเจอโดยทำเป็นว่าบังเอิญ แต่ที่ไม่มีใครรู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่น่ากลัวหรือน่าขนลุก นั่นก็เพราะว่าความพยายามและความทุ่มเทเหล่านั้นถูกทำให้ดูเป็นเรื่องราวน่ารัก ‘โรแมนติก’ จนใครก็อยากเอาใจช่วยให้คนนั้นได้สมหวังไวๆ

*ภาพแทนของสตอล์กเกอร์ในฐานะบุคคลที่ใครๆ ก็เห็นอกเห็นใจ *

ทำให้พวกเขาเกิดความชอบธรรมในโลกของความเป็นจริง

ดร.จูเลีย ลิปป์แมน (Julia Lippman) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า มันมีความเชื่อมโยงกันระหว่างการทำให้สตอล์กเกอร์ดูเป็นเรื่องโรแมนติกในวัฒนธรรมป๊อป กับการรับรู้พฤติกรรมเหล่านี้ของคนทั่วไปในชีวิตจริง ซึ่งการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Bustle ของเธอได้ชี้ให้เห็นว่า “การที่สื่อนำเสนอภาพลักษณ์เชิงบวกของการสะกดรอยตาม โดยให้รางวัลคนเหล่านี้ด้วยการ ‘จีบสาวติด’ สามารถชี้นำให้ผู้คนมองสตอล์กเกอร์ในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น”

อย่างเรื่อง 'You' บน Netflix ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่า ซีรีส์เรื่องนี้กำลังโรแมนติไซส์สตอล์กเกอร์อยู่หรือไม่ เนื่องจากพฤติกรรมการสะกดรอยตามของพระเอกในเรื่อง ได้สะท้อนให้เห็นว่าพระเอกหมกหมุ่นและสนใจอยู่แต่กับชีวิตของนางเอกเพียงคนเดียว อย่างการแฮ็กมือถือนางเอก แอบมองดูนางเอกผ่านหน้าต่าง หรือกีดกันผู้คนที่เขามองว่าไม่คู่ควรไม่ให้เข้าใกล้นางเอก ทำให้ผู้ชมหลายคนรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ซื่อสัตย์ โรแมนติก และเข้าใจผิดว่านี่คือการกระทำที่พระเอกกำลัง 'ปกป้อง' นางเอกอยู่

ดร.จูเลีย ยังเสริมอีกว่า สื่อโทรทัศน์ชอบนำเสนอภาพลักษณ์การสะกดรอยตามเหมือนเป็นการแอบรักทั่วๆ ไปของหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ (romcom) ซึ่งถ้าหากเป้าหมายไม่ตกหลุมรักกลับ พวกเขาทำเหมือนกับว่าความรักครั้งนี้เป็นเรื่องที่ ‘ยากลำบาก’ เหลือเกินกว่าจะได้มา และจะต้องพยายามเอาชนะให้ได้ในท้ายที่สุด

ด้วยการนำเสนอเรื่องราวความรักที่ต้องแลกกับความมานะพยายามมากมาย จึงทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่มองการกระทำที่ ‘ยิ่งใหญ่’ เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องโรแมนติก และหากอีกฝ่ายปฏิเสธหรือไม่ตอบสนองกลับก็จะถูกมองว่าเป็นคนใจร้าย แต่ภาพลักษณ์ที่ดูสวยงามนี้แหละที่อาจทำให้พฤติกรรมสะกดรอยตามเพิ่งสูงขึ้น รวมไปถึงลดโอกาสในการร้องขอความช่วยเหลือของเหยื่อ เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มเคยชินและหันมามองว่าพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน

เห็นได้ชัดว่าเส้นแบ่งระหว่างความรักและความลุ่มหลงถือเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสังคม เพราะถ้าให้พูดกันตามตรง มันก็ดูเป็นอะไรที่น่ารักดีกับการที่ใครบางคนพยายามพิสูจน์ความรักแบบเงียบๆ แต่หากมันมีการคุกคามหรือรุกล้ำชีวิตส่วนตัวกันเกิดขึ้น จนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดลำบากใจ การกระทำเหล่านั้นก็อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องน่ากลัวหรือน่าขนลุกไปเลยทันที

อ้างอิงข้อมูลจาก

joinonelove.org (2) (3) (4)

bustle.com

dailynews.co.th

stalkingriskprofile.com

westerncourier.com

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0