โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

แหกปากไม่เปล่าประโยชน์ : ทำไม อิตาลี ต้องร้องเพลงชาติให้ดังกว่าชาติอื่นๆ?

Main Stand

อัพเดต 30 มิ.ย. 2562 เวลา 13.56 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • ชยันธร ใจมูล

ทุกครั้งในการถ่ายทอดสดฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆ ระดับนานาชาติ เรามักจะเห็นตัวแทนนักเตะแต่ละชาติเข้าแถวร้องเพลงชาติตามธรรมเนียมกันอยู่แล้ว บางชาติทำปากขมุบขมิบ, นักกีฬาบางคนหลับตา, บางรายร้องไห้ด้วยความซาบซึ้ง แต่มีอยู่ทีมชาติหนึ่งที่แสดงออกให้ฮึกเหิมที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อนั่นคือ "อิตาลี"

 

เมื่อเพลงชาติของพวกเขาขึ้นทำนอง ผู้เล่นของทีมชาติอิตาลีจะเริ่มรีดพลังขึ้นมาจากทั่วร่างกายและเปล่งเสียงให้ดังที่สุดในระดับที่ยิ่งกว่าการร้องเพลง แต่มันคือการตะโกนแหกปากแบบสุดเสียง

 

เพลงชาติที่น่ากลัวที่สุด

หลายๆ ประเทศในโลกนี้เลือกใช้เพลงชาติในท่วงทำนองที่ช้าแต่ทรงพลัง และมักจะพูดถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว สละชีพเพื่อชาติ อาทิเพลง The Star-Spangled Banner ของประเทศอเมริกา ที่พูดถึงความรุ่งอรุณของดินแดนแห่งเสรีภาพ, เพลง Das Lied der Deutschen ที่เป็นเพลงชาติของ เยอรมัน ก็จะเชิดชูถึง ความ สามัคคี ยุติธรรม เสรีภาพ ที่ทำให้ประเทศรุ่งเรืองและอยู่เหนือทุกสิ่ง ขณะที่เพลง La Machareal ที่เป็นเพลงชาติสเปนก็มีเนื้อหาไม่ต่างกันนักนั่นคือปลุกเร้าให้ประชาชนในประเทศร่วมช่วยนำพาความรุ่งเรืองมาสู่มาตุภูมิ

Photo : ilmarcopolo.com

แต่สำหรับเพลงชาติ อิตาลี นี้มีเรื่องเล่าและสิ่งที่อยากจะสื่อแตกต่างกันออกไป เพลงที่ถูกนำมาเป็นเพลงชาติมีชื่อว่า Il Canto degli Italiani ที่แปลว่า "เพลงเพื่ออิตาเลียน" มีเนื้อหาที่รุนแรงและดุดันยิ่งกว่า โดยเนื้อหาของเพลงนั้นคือการปลุกเร้าให้พี่น้องชาวอิตาเลียนเข้าร่วมกับกองทัพในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับกรุงโรม ต้องการให้ทุกคนเป็นนักรบในชุดเกราะและพร้อมจะรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น…ไม่เว้นแม้แต่ความตาย 

เนื้อเพลงของเพลงนี้เป็นภาษาอิตาลีที่เมื่อแปลออกมาแล้วจะมีความหมายว่า "เหล่าพี่น้องชาวอิตาลี ประเทศของเราจะอยู่ค้ำฟ้า ด้วยหมวกและชุดเกราะของแม่ทัพ ชิปิโอ ที่ท่านได้สวมไว้ … ชัยชนะอยู่ที่ไหน? จงมอบมันมาให้กับเรา เพราะมันคือทาสรับใช้เพื่อกรุงโรม พระเจ้าสร้างมันขึ้นมาและโปรดให้ข้าเข้าร่วมกับเหล่าวีรชน … เราพร้อมจะตายเพื่อชาติแล้ว ใช่!"

เนื้อเพลงของเพลงนี้ได้ประพันธ์ขึ้นในปี 1847 จากนักศึกษาคนหนึ่งในเมืองเจนัวที่ชื่อว่า กอฟเฟรโด้ มาเมลี และเมื่อประกอบเข้ากับจังหวะดนตรีในแบบของชาติที่เจริญด้านศิลปะและรสนิยมอย่าง อิตาลี พวกเขาเลือกจะใช้ทำนองที่เร็วและจังหวะที่ชวนฮึกเหิมซึ่งทำให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ใช้ปลุกเร้าคนในประเทศได้อย่างไร้ที่ติ ซึ่งสถานการณ์ในตอนที่ กอฟเฟรโด้ แต่งเพลงนี้นั้นคือช่วงเวลาที่ประชาชนในประเทศต่อสู้เพื่อการรวมชาติและการทำสงครามปลดแอกจากจักรวรรดิออสเตรีย ก่อนจะถูกบรรจุให้เป็นเพลงชาติในวันที่ 12 ตุลาคม ปี 1946 และถูกบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2005 

 

ทำไมต้องร้องดัง

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ Main Stand ไว้ถึงเรื่องธรรมชาติของคน อิตาลี ว่ามี DNA ของการเป็นศิลปินสูงมาก ชอบสร้างสรรค์ และโดดเด่นเรื่องจินตนาการมาตามสายเลือด ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะอินกับศิลปะอย่าง ดนตรีเป็นพิเศษ และอย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นคือเพลงชาติ อิตาลี นั้นมีเนื้อหาที่ดุดันและหยิ่งผยองในความยิ่งใหญ่ของตนเอง บวกกับดนตรีที่ปลุกเร้ามันก็เป็นไปได้ว่าผู้เล่นของทีมชาติอิตาลีในแทบทุกชนิดกีฬาจะสามารถเข้าถึงเพลงชาติได้อย่างง่ายได้ เมื่อพวกเขาจินตนาการได้ถึงการออกรบของเพื่อสร้างเกียรติให้ประเทศได้เหมือนในอดีตที่กล่าวไว้ในเพลงชาติ 

"จุดเด่นของคนอิตาลีคือ มีจินตนาการที่ดี และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเก่ง" ดร.วิทย์ ย้ำถึงจุดนี้อีกครั้ง  

Photo : www.dailymail.co.uk

นอกจากนี้คน อิตาลี จะเป็นชาวยุโรปที่แปลกไปจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะ เยอรมัน ที่แตกต่างกันสุดขั้ว สำหรับชาวอิตาลีพวกเขาจะไม่ค่อยจริงจังกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากมายนัก และมักจะทำตัวสบายๆ หากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่กดดันหรือจริงจัง แต่เมื่อสถานการณ์นั้นมาถึงพวกเขาจะแสดงความสามารถที่แท้จริงออกมา และการร้องเพลงชาติให้เสียงดังนั้นเป็นเหมือนการปลุกเร้าวิญญาณนักสู้ในตัวให้ตื่นขึ้น แม้ก่อนหน้านี้ในตอนซ้อมพวกเขาอาจจะมีทีเล่นเล่นทีจริงบ้าง ทว่าเมื่อเดินลงสู่สนามผู้เล่นชาวอิตาลีจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคนทันที …

มีตัวอย่างให้เห็นมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องชี้เป็นชี้ตายนักฟุตบอลของ อิตาลี สามารถรีดศักยภาพออกมาด้นสดจนประสบความสำเร็จได้หลายครั้งแม้จะไม่ชนะเสมอไปแต่ส่วนใหญ่ อิตาลี มักจะเอาตัวรอดในสถานการณ์ยากๆ ได้เป็นประจำ

Photo : @UEFAEURO

นับตั้งแต่การแข่งขันยูโร 2000 เป็นต้นมาทีมชาติ อิตาลี ชนะจุดโทษได้ 4 จาก 7 ครั้งและ 1 ในนั้นคือในฟุตบอลโลก 2006 พวกเขาดวลจุดโทษชนะ ฝรั่งเศส จนกลายเป็นแชมป์โลกสมัย 4 ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก (เป็นรองแค่ บราซิล) นอกจากนี้ในเรื่องของรายละเอียดเกม ในเกมที่พบกับ เยอรมัน ในฟุตบอลโลก 2006  ทั้งที่เยอรมันในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เป็นทั้งเจ้าภาพ เป็นทีมที่เล่นได้แข็งแกร่งที่สุด ผู้เล่นมีคุณภาพสูง แถมในเกมนั้น เยอรมัน ก็เป็นฝ่ายบุกกดอิตาลีเกือบทั้งเกม แต่ อิตาลี ก็ใช้ประสิทธิภาพที่มีบวกเขากับการด้นสดที่แม่นยำและมีคุณภาพจนได้ 2 ประตู และเอาชนะไปได้ 2-0 นอกจากนี้ยังมีเกมที่ชนะ เยอรมัน 2-1 ในฟุตบอลยูโร 2012 ซึ่ง อิตาลี อยู่ในสภาพที่เป็นรองยิ่งกว่าในปี 2006 ขณะที่ เยอรมัน มีคุณภาพยิ่งกว่าปี 2006 ซึ่ง 2 ประตูที่ อิตาลี ได้มาจากการเล่นของผู้เล่นไม่กี่คนและจังหวะไม่กี่จังหวะจนกระทั่งเกิดประตูผีจับยัดของ มาริโอ บาโลเตลลี่ ที่เหมา 2 ในเกมดังกล่าว 

"ถ้าเราไปย้อนดูว่าอิตาลี ชนะเยอรมันได้อย่างไรในเกมนั้น จะเห็นว่าประตูที่ได้ท้ายเกมคือลูกยิงผีจับยัด แล้วมันสะท้อนอะไรประตูปลดล็อคที่อิตาลีได้ในวันนั้น? ลูกยิงที่มาจากการยิงเปรี้ยงเดียวหาย ในนาทีที่ 119 จะหมดเวลาอยู่แล้ว มันสะท้อนถึงจินตนาการและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีมาก ของชาวอิตาลี" ด็อกเตอร์วิทย์ ว่าถึงเกมในวันนั้นเมื่อปี 2006 

ไม่ใช่แค่การคิดขึ้นมาเองของคนวงนอกเท่านั้น เพราะหลังจากที่เยอรมันแพ้ อิตาลี ในปี 2012 สื่ออันดับ 1 ของประเทศเยอรมันอย่าง "บิลด์" ยังพูดถึงการร้องเพลงชาติของนักเตะทีมพวกเขาด้วย โดยสื่อดังกล่าวเทียบกับปฎิกิริยาในการร้องเพลงชาติของผู้เล่นอิตาลีในวันนั้น กับปฎิกิริยาการร้องเพลงชาติของแข้งเยอรมัน ซึ่งต่างกันมากจนเป็นการสื่อออกมากลายๆ ว่า อิตาลี ชนะตั้งแต่ร้องเพลงชาติก่อนลงสนามแล้ว

Photo : dailymail.co.uk

"มันเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่งที่นักเตะของเราไม่ได้ร้องเพลงชาติกัน" ฮานส์ ปีเตอร์ อูห์ล นักกฎหมายของเยอรมันกล่าว ก่อนที่อดีตนักเตะชุดแชมป์โลกอย่าง ฟร๊านซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ ก็เสริมไปในทิศทางเดียวกันว่า "เมื่อเพลงชาติเริ่มขึ้นทุกคนต้องเปล่งให้สุดเสียงและช่วยกันร้องพร้อมๆ กัน" 

โดย บิลด์ นำทีมชุดปี 2012 ไปเทียบกับทีมเยอรมันตะวันตกชุดแชมป์โลกปี 1990 ว่าต่างกันมาก และนั่นเป็นเหตุที่ว่าทำไมทีมชุดที่เต็มไปด้วยคุณภาพในปี 2012 จึงไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ยูโร

"แน่นอนผมเชื่อเสมอว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นเมื่อผู้คนร้องเพลงชาติด้วยใจจริงและแสดงถึงความภักดีต่อประเทศ การแสดงอารมณ์คือสิ่งที่จำเป็นอย่างที่สุด" ฮานส์ ปีเตอร์ ฟรีดิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของเยอรมันว่าไว้ในรายการวิทยุของช่อง บาเยิร์น 2 เรดิโอ

จากจุดนี้เห็นได้ชัดว่าการร้องเพลงชาติให้สุดเสียงคือสิ่งที่มีผลไม่น้อย ไม่ใช่เยอรมันไม่รักชาติเพียงแต่พวกเขาไม่แสดงออกถึงความฮึกเหิมมาพอ … สำหรับชาว อิตาลี เรียกได้ว่ายามศึกเรารบยามสงบเรารักก็คงจะไม่ผิดนัก ไม่ว่าใครจะพร้อมหรือไม่ก็ตามหากเพลงชาติขึ้นพวกเขาจะลงไปสู้ด้วยทุกสิ่งที่มี ด้วยจินตนาการและไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของพวกเขา …

 

ความรักชาติที่พิสูจน์ได้

ไม่ใช่ในแง่ของความรู้สึกเท่านั้นที่บอกว่าการร้องเพลงชาติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีงานวิจัยรองรับว่าการร้องเพลงชาติสามารถส่งผลต่อผลการแข่งขันได้อย่างแท้จริง

Photo : medium.com

งานวิจัยดังกล่าวมาจากมหาวิทยาลัย สแตฟฟอร์ดเชียร์ โดยมีการลงสำรวจค้นคว้าทั้ง 51 เกมในศึกยูโร 2016 เพื่อสังเกตถึงปฎิกิริยาของนักเตะแต่ละชาติที่ร้องเพลงชาติ ซึ่งพวกเขาพบว่าทีมชาติใดที่มีนักเตะที่แสดงอารมณ์ร่วมผ่านการออกเสียงและสีหน้า รวมถึงการรวมพลังอาทิการโอบไหล่ร้องเพลงไปพร้อมๆ กัน จะได้ผลการแข่งขันที่ดีกว่า 

"เราค้นพบว่าการร้องเพลงชาติด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านนั้นสามารถทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ชนะได้หรือไม่?" แมทธิว สเลเทอร์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวเริ่ม

"จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้องเต็ม 100% แต่ผลลัพธ์ของงานวิจัยพบว่าทีมที่ร้องเพลงชาติด้วยอารมณ์ร่วมและความรักที่มากกว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะเป็นทีมที่เสียประตูน้อยลง"

งานวิจัยดังกล่าวได้ถูกนำไปตีพิมพ์ในงานวารสารอย่าง  European Journal of Sport Science และมีการค้นคว้าเพิ่มเติมว่าผลกระทบของแพสชั่นในการร้องเพลงชาติจะส่งผลถึงชัยชนะมากขึ้นเมื่ออยู่ในการแข่งขันรอบน็อคเอาต์ที่จะเห็นผลชัดมาก ทว่าสำหรับรอบแบ่งกลุ่มนั้นถือว่ายังไม่ส่งผลมากเท่าไรนัก 

"การร้องเพลงชาติให้ดังสั่นเป็นการแสดงคาแร็คเตอร์และเร่งเราให้ตัวเราดูมีความอันตรายมากขึ้น มันคือการข่มขวัญผู้ต่อสู้ เรื่องนี้มันคล้ายๆ การเต้น ฮาก้า ของทีมรักบี้ของทีมชาตินิวซีแลนด์นั่นแหละ มันส่งผลคล้ายๆ กัน ตัวของคุณจะใหญ่ในสายตาของคู่แข่ง มันเป็นเช่นนั้นเอง" มิสเตอร์ สเลเทอร์ กล่าวปิดท้าย   

Photo : www.sportbible.com

เห็นได้ชัดว่าการตั้งใจทำอะไรแบบมุ่งมั่นถึงขีดสุดในทุกๆ ด้านสามารถนำพาความสำเร็จมาสู่มาตุภูมิได้ สำหรับฟุตบอลหรือการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ นั้นมีสิ่งสำคัญหลายอย่างประกอบกันทั้งเรื่องของการเตรียมตัว, การซ้อม, การเรียนรู้จากคู่แข่ง และคุณภาพของตัวผู้แข่งขันเอง อย่างไรก็ตามจงอย่ามองข้ามรายละเอียดเล็กๆอย่างการร้องเพลงชาติเป็นอันขาด แม้จะมีเปอร์เซนต์เปลี่ยนผลการแข่งขันไม่มากนัก แต่มันก็เป็นความน้อยนิดที่มหาศาล เพราะต่อให้ไม่ชนะมันก็ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศที่จะลงสนาม…แล้วแบบนี้จะไม่สู้ได้อย่างไร 

 

แหล่งอ้างอิง

http://www.sport.net/italy-players-and-mascots-show-the-passion-of-football-by-belting-out-national-anthem-prior-to-world-cup-qualifier-against-spain_537290
https://www.theguardian.com/football/2012/jul/02/germany-euro-2012-singing
https://www.explore-italian-culture.com/italian-national-anthem.html
https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/footballers-sing-national-anthem-passion-win-football-games-match-a8391036.html
http://www.sportbible.com/football/fails-barcelonas-famous-la-masia-academy-is-sick-20190626?source=facebook

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0