โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แวะทักทาย “โดฮา” เมืองหลวง “กาตาร์” เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 20 ส.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

แวะทักทาย “โดฮา”  เมืองหลวงกาตาร์เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
เรื่อง/รูป: POGGHI

บทความนี้ ผมเลือกใช้คำว่า “แวะทักทาย” เพราะมีโอกาสไปเยือนกรุงโดฮา (Doha) เมืองหลวงของประเทศกาตาร์ (Qatar) ในรูปแบบที่ไม่ได้ไปนั่งจับเข่าคุยกันนานๆ เป็นเพียงการแวะเที่ยวแบบผิวเผินภายในเวลาจำกัด ยังไม่ได้ทำความรู้จักให้ลึกซึ้งสนิทสนมกับเมืองหลวงแห่งนี้มากนัก 

แต่เวลาที่มี ก็พอจะได้รู้บุคลิกรู้จุดเด่นของกรุงโดฮาอยู่บ้าง ซึ่งว่าไปแล้ว เมืองหลวงของประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็นับว่าเป็นเมืองที่น่ารักน่าแวะไปทักทายอยู่เหมือนกัน

ถ้าเปิดแผนที่ดูตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของกาตาร์ จะพบว่าเป็นดินแดนเล็กๆที่ยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่ของซาอุดิอาระเบียเข้าไปในอ่าวเปอร์เซีย ประเทศแห่งนี้ รวมถึงกรุงโดฮา จึงรายล้อมไปด้วยทะเลอาหรับกว้างไกลสุดสายตา ไม่ได้เป็นภาพความแห้งแล้งแบบทะเลทรายจนต้องขี่อูฐไปมาหาสู่กันไปเสียทั้งหมด (แต่ความจริงแล้ว คนกาตาร์ก็ไม่ได้ขี่อูฐไปทำงานนะ เค้านั่งรถยนต์กันนี่แหละ)

ที่ผ่านมา การแวะมาทักทายชาวกาตาร์ของนักท่องเที่ยวไทย อาจจะยุ่งยากนิดหน่อยเพราะต้องใช้วีซ่า นักเดินทางชาวไทยแทบทั้งหมดจึงมาแวะสนามบินระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องซะมากกว่า โดยส่วนมากไฟลท์ที่คนไทยไปยุโรปก็อาจเลือกแวะพักครึ่งทางที่นี่

แต่จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อนนี้ คือ กาตาร์เจอวิกฤตการณ์โดนชาติอาหรับคว่ำบาตร เพราะเพื่อนๆชาวอาหรับกล่าวหาว่าไปสนับสนุนการก่อการร้ายบ้าง ไปสนิทกับอิหร่านเกินไปบ้าง (อิหร่าน เป็นไม้เบื่อไม้เมากับพี่ใหญ่มะกัน) เรื่องการเมืองระหว่างประเทศวุ่นๆ ทำเอากระทบกับเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย จึงทำให้รัฐบาลต้องแก้เกมด้วยมาตรการ “ฟรีวีซ่า" ซะเลย ประเทศไทยก็ได้รับผลนี้ คนไทยจึงสามารถเที่ยวกาตาร์แบบ non-visa ยาวนานถึง 30 วัน

ดังนั้น หากนโยบายยังต่อเนื่องไปจนถึง ปี 2022 ย่อมหมายถึง ถ้าใครอยากดูฟุตบอลโลกติดขอบสนาม หรืออยู่เก็บบรรยากาศตั้งแต่ต้นจนจบก็ทำได้สบายๆไม่ต้องกลัว ตม.จับตัวส่งกลับ เพราะฟุตบอลโลกครั้งหน้า จัดขึ้นระหว่าง 21 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม 2022 ไปอยู่กาตาร์ตั้งแต่ต้นจนจบโปรแกรมก็ยังเหลือเวลาให้ซื้อของฝากได้อีก 2-3 วันแน่ะ

เอาล่ะ มาทักทายโดฮากันดีกว่าครับ

การมาเยือนเมืองหลวงกาตาร์ มีไฮไลท์อย่างแรกที่ผมไม่อยากให้พลาดชม คือ "Museum of Islamic Art" หรือ "พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม"

ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นับตั้งแต่การก่อสร้างที่แม้จะได้รับอิทธิพลจากศาสนา แต่ก็สร้างเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่มีลักษณะทรงเรขาคณิตแปลกตา แตกต่างจากขนบเดิมๆแบบประเทศอาหรับแห่งอื่น และยังตั้งอยู่ริมทะเลสีเขียวมรกตค่อยๆไล่เฉดเป็นสีฟ้าตัดกับอาคารสีขาวสะท้อนแสง เรียกได้ว่า แค่หามุมยืนถ่ายรูปด้านนอก (ยังไม่ทันเข้าไปดูเลย) ก็เพลิดเพลินได้นานสองนาน

ภายในพิพิธภัณฑ์ก็ตื่นตาตื่นใจได้ไม่แพ้กัน ด้านในจัดแสดงผลงานศิลปะรูปแบบมัลติมีเดียแสงสีเสียงมาครบ โดยมีวัตถุงานศิลป์แสนวิจิตร ทั้งเครื่องประดับ งานกระเบื้อง พรมอาหรับ งานเหล็ก แกะสลักไม้ เซรามิก ฯลฯ ที่ล้วนสร้างสรรค์ด้วยความประณีต 

หลังจากชมของสวยๆงามๆแล้ว อย่าลืมเดินออกไปถ่ายรูปที่ระเบียงด้านนอกฝั่งซ้ายมือ บริเวณนั้นเป็นลานโล่งๆที่คุณจะเห็นทัศนียภาพความเวิ้งว้างอันงดงามของผืนน้ำและกลุ่มตึกสูงระฟ้าที่อยู่ฝั่งตรงข้ามราวกับเป็นฉากของเมืองอนาคตในหนังไซไฟ

จากนั้น เราก็มาต่อกันที่ "Karata Culture Village" หมู่บ้านวัฒนธรรมคาราต้า (ห้ามอ่านเป็น ‘คาระตะ’ นะครับ .. ไม่มีอะไรหรอก เดี๋ยวจะดูเหมือนไปเที่ยวญี่ปุ่นแทน ..ฮ่า)

แม้มีชื่อว่า หมู่บ้านวัฒนธรรม แต่หมู่บ้านนี้ ไม่ใช่หมู่บ้านเก่าแก่หรือชุมชนโบราณอะไรแนวนั้น ตรงกันข้ามเลยล่ะ เพราะที่นี่เป็นรูปแบบคล้ายศูนย์ศิลปวัฒนธรรมใหม่ๆที่รวมความหลากหลาย มีทั้งโรงละคร เวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง แหล่งพักผ่อนริมทะเล งานประติมากรรมร่วมสมัย ร้านค้าร้านอาหาร สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศต้องการสร้าง คาราต้า เพื่อให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ และกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเลยนะครับ เพราะว่ากันตามตรงวัฒนธรรม - อารยธรรม - ประวัติศาสตร์ ของกาตาร์ ไม่ได้ยิ่งใหญ่อลังการแบบประเทศอาหรับหรือแอฟริกันละแวกนั้น การสร้างพื้นที่ให้วัฒนธรรมประเทศอื่นมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ้าง ก็ย่อมเป็นประโยชน์แน่นอน

ปิดท้าย โดฮายามบ่าย-ยามเย็น ต้องแวะไปชมสีสันของชีวิตที่ Souq Waqif (ซูค วากิฟ) ซึ่งความหมายของ Souq หรือ Souk ในประเทศแถบอาหรับและแอฟริกันตอนเหนือ ก็เปรียบได้กับ ‘ตลาด’ นั่นเองครับ 

แต่ตลาดในประเทศโซนนี้มีบุคลิกเฉพาะตัว มันเหมือนเป็นย่านการค้าแลกเปลี่ยนที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ลองนึกภาพนักเดินทางในอดีตขี่ม้า-ขี่อูฐรอนแรมมาเจอตลาดในหมู่บ้านกลางทะเลทรายอะไรแนวนั้น มีสินค้าข้าวของ ที่พักร้านอาหารแบบอาหรับสไตล์เต็มไปหมด … นั่นแหละครับบุคลิกเท่ๆของซูค

ซูค วากิฟ เป็นซูคเก่าแก่ที่มีมาเนิ่นนานนับศตวรรษ แต่การรีโนเวทครั้งใหญ่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก็เปลี่ยนแปลงโฉมให้กลายเป็นตลาดใหม่ไปแล้ว เพียงแต่ก็ยังอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสไตล์กาตารีดั้งเดิมเอาไว้

ไปเที่ยวซูค จะทำอะไรดี ? คำตอบ คือ ก็ไม่ต้องทำหรือคิดอะไรมากมายครับ แค่ไปเดินเล่นชมวิถีชีวิตผู้คน ลัดเลาะไปตามตรอก ถนน เดินดูข้าวของ หรือจะช้อปสินค้าที่ระลึกติดไม้ติดมือ แล้วก็หาอะไรที่น่าอร่อยนั่งกิน มีทั้งสไตล์ท้องถิ่น หรือร้านค้าทันสมัยให้เลือกแค่นั้นก็สนุกแล้ว เป็นการปิดท้ายโปรแกรมเดย์ทริปไปแบบสวยๆ

ภาพรวมคร่าวๆนี้ คงพอจะรู้จัก “โดฮา” เมืองหลวงของกาตาร์ได้ดีกว่าเดิมไม่มากก็น้อยนะครับ ซึ่งขอบอกเลยว่า ชาวกาตาร์เป็นอีกหนึ่งชนชาติที่ผมคิดว่าอัธยาศัยดี มีความเป็นมิตร และการเที่ยวในเมืองก็ปลอดภัยมากครับ

ดังนั้น ไหนๆนักท่องเที่ยวไทยก็สามารถเที่ยวกาตาร์ได้แบบไม่ต้องใช้วีซ่าแล้ว ใครมีโอกาสไปต่อเครื่องที่โดฮา แล้วมีเวลาเหลือๆ ก็อยากแนะนำให้ลองแวะไปทักทายเมืองหลวงแห่งนี้ดู

ไปแล้วจะเราฮาหรือไม่ฮาไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ .. โดฮา!

ข้อมูลการท่องเที่ยว
สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ส จัดบริการเดย์ทัวร์ กรุงโดฮาให้แก่นักท่องเที่ยวเอาไว้ (ผมไม่ได้ค่าโฆษณานะครับ แต่นี่เป็นวิธีที่ง่ายสุด คุ้มสุดแล้ว) ลองหาเคาเตอร์ Doha City Tour หรือ ติดต่อไปก่อนที่ https://discoverqatar.qatarairways.com/qa-en/transittours/ เราก็จะได้ทัวร์แบบวันเดย์ทริป ในราคาแสนถูก แค่ 40 เหรียญกาตาร์ (ประมาณ 364 บาทเท่านั้น) นั่งรถบัสไปพร้อมกับนักท่องเที่ยวอื่นๆ หรือ ถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัว ก็มีบริการทัวร์พร้อมคนขับแบบส่วนตัว ราคา 250 เหรียญกาตาร์ (2,280 บาท)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0