โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1)

The101.world

เผยแพร่ 09 ก.ค. 2563 เวลา 03.35 น. • The 101 World
แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น: การเมือง โบราณคดีชาตินิยมอลังการ กับมื้ออาหารที่หายไป (1)

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ทำไมเรื่องราวเกี่ยวกับ "อาหารการกิน" ที่เป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรกๆ ในชีวิตมนุษย์ กลับเป็นสิ่งสุดท้ายที่ถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย?

คำถามนี้เป็นคำถามที่หลอกหลอนฉันมาตลอดนับตั้งแต่สมัยเริ่มเรียนโบราณคดีใหม่ๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ฉันไม่เข้าใจว่าการ "ศึกษามนุษย์" ในอดีตนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด? การสร้างภาพมนุษย์โบราณในประเทศไทยจึงมีแง่มุมเกี่ยวกับการกินอยู่แบบเลือนลางจนแทบจางหาย จนเกิดเป็นภาพ “มนุษย์ไร้ลิ้น"

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ได้?

แรกเริ่มเดิมที ฉันคิดว่าการปฏิเสธการมีตัวตนอยู่ของมิติชีวิตโบราณด้านอาหารการกินในวงการโบราณคดีไทย โดยเฉพาะโบราณคดีกระแสหลักในช่วงสิบกว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบันเป็นไปอย่างชัดเจน ความเห็นจำพวก “หาไปก็ไม่เจอหรอก” หรือ “เศษพืชย่อยสลายไปหมดแล้วมั้ง” และ “ประเด็นไม่เห็นจะน่าสนใจเลย” เรียกได้ว่าเป็นความเห็นมาตรฐานในการศึกษาเรื่องอาหารการกิน

แนวคิดที่ก่อให้เกิดความเห็นเหล่านี้ได้ปฏิเสธถึงการมีตัวตนของข้อมูลด้านอาหารการกินโบราณตั้งแต่ก่อนการขุดค้นเสียอีก ซึ่งความเห็นที่ฉันได้ยินด้วยตัวเองจากนักโบราณคดีไทยในตอนนั้น เกิดขึ้นถี่แบบที่เรียกได้ว่าเป็น “รูปแบบ” ที่แสดงถึงแนวคิดและมุมมองทางโบราณคดีที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังอย่างชัดเจน

อคติทางความคิดเหล่านี้ เป็นผลพวงจากแนวคิดทางการเมืองของไทยในสมัยก่อนที่มีผลต่อแนวคิดทางโบราณคดี โดยนำเอาการศึกษาอดีตมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติ ปัญญาชนระดับผู้นำของรัฐและชนชั้นนำของไทยได้มีการการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ รวมทั้งหน้าที่ของเรื่องราวทางโบราณคดีอย่างเข้มข้นขึ้นในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเล็กน้อย (ประมาณ พ.ศ. 2460) จนถึงช่วงกึ่งพุทธกาลและหลังจากนั้น (หลัง พ.ศ. 2500)

ประวัติศาสตร์แนวคิด-ทฤษฎีทางโบราณคดีของไทยในยุคก่อร่างสร้างตัว รวมถึงงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทยช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยอื่นๆ ที่มีในตอนนี้ ได้ชี้ชัดไปในแนวทางเดียวกันว่า แนวคิดทางโบราณคดีในช่วงหลัง พ.ศ. 2460 จนถึงช่วงหลังกึ่งพุทธกาล ยังคงเป็นแนวคิดทางโบราณคดีที่ทรงพลังและมีอิทธิพลต่องานโบราณคดีกระแสหลักของไทยในปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

การเมืองเรื่องโบราณ

 

“ความเชื่อที่ว่า โบราณคดีเป็นศาสตร์ที่เป็นกลางทางการเมือง เป็นความคิดที่ออกจะไร้เดียงสา ราวกับว่า (วิชาโบราณคดี) เป็นของเล่นฆ่าเวลาของคนร่ำรวย”  เอียน โกลฟเวอร์, ค.ศ. 2003.

คำกล่าวจากนักโบราณคดีระดับตำนานผู้ล่วงลับอย่าง ศ.ดร. เอียน โกลเวอร์ ยืนยันถึงบทบาททางการเมืองต่อวิชาทางโบราณคดีได้เป็นอย่างดี หากเราละเลยปัจจัยทางการเมืองที่มีผลกับการก่อร่างแนวคิดทางโบราณคดีแล้ว ก็เท่ากับว่าเรากำลัง “ปิดตาอ่านหนังสือครึ่งเล่ม” ทำให้ไม่สามารถมองภาพรวมของแนวคิดทฤษฎีได้อย่างรอบด้าน

ในขณะที่โบราณคดีกระแสหลักของไทยยืนยันถึงการเป็นศาสตร์ที่เป็นกลางทางการเมือง ปฏิเสธถึงอิทธิพลทางการเมืองต่อการดำเนินงานทางวิชาการตลอดมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ต่างจากมุมมองการศึกษาโบราณคดีในระดับสากลอย่างสิ้นเชิงแล้ว โบราณคดีกระแสหลักในไทยยังปฏิเสธแนวคิดและทฤษฎีทางโบราณคดี ทำให้มุมมองทางโบราณคดีในไทยกับโบราณคดีสากลนั้นต่างกันราวกับเป็นมิติคู่ขนาน

 

โบราณคดีชาตินิยมอลังการ

 

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่มา: Wikipedia

 

ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนัก (พ.ศ. 2473) การศึกษาทางโบราณคดีนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของราชบัณฑิตยสภา โดยนักปราชญ์ท่านสำคัญในยุคนั้น คือ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบหน่วยงาน ซึ่งขอบเขตการทำงานโบราณคดีในสมัยนั้น เน้นการศึกษาโบราณศิลปวัตถุเป็นหลัก ตามข้อความที่ปรากฏในปาฐกถาเรื่อง สงวนของโบราณ ในปี พ.ศ. 2573 ความว่า:

“…ของโบราณนั้น ราชบัณฑิตยสภากำหนดเป็น 2 ประเภท คือ ของซึ่งไม่พึงเคลื่อนที่ได้ เป็นต้นว่าเมืองและปราสาทราชวังวัด ทั้งเทวาลัยจนบ่อกรุและสะพานหิน ของโบราณอย่างนี้กำหนดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า โบราณสถาน ส่วนของโบราณซึ่งอาจเอาเคลื่อนที่ไปได้ เป็นต้นว่าศิลาจารึก พระพุทธรูป เทวรูป ตลอดจนเครื่องใช้เครื่องประดับต่างๆ เหล่านี้กำหนดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า โบราณวัตถุ*อันของโบราณที่ควรสงวนนั้นอยู่ในเกณฑ์ 2 อย่าง คือ เป็นของที่สำคัญในพงศาวดารอย่างหนึ่ง กับที่เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์คือแบบอย่างและฝีมือช่างอีกอย่างหนึ่ง… (หน้า 12)”*

การขุดค้นทางโบราณคดีที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นก็เป็นเพื่อ“…การค้น การตรวจ ตรวจหาแนวรากผนังและค้นลวดลาย… (หน้า 16)” เป็นหลัก เมื่อพบโบราณวัตถุตรงตามเกณฑ์แล้วก็รวบรวมไว้ ส่วนโบราณวัตถุที่มีค่าสูงก็จะถูกส่งมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร: “พิพิธภัณฑสถานพระนคร รวบรวมโบราณวัตถุชั้นเยี่ยม เอามาไว้ให้มหาชนชาวประเทศนี้และมีที่มาแต่นานาประเทศได้เห็นโบราณอารยธรรมของประเทศสยาม (หน้า 20)”

สังเกตได้จากนิยามของงานโบราณคดีและเป้าหมายของงานโบราณคดีในสมัยนี้ เกิดจากแรงขับทางการเมืองเพื่อสร้างและส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งแนวคิดชาตินิยมมีอิทธิพลมากในการศึกษาเรื่องอดีตจนอาจเรียกได้ว่าแนวทางการทำงานทางโบราณคดีสมัยนี้เป็น “โบราณคดีชาตินิยม” ที่ใช้การเล่าเรื่องอดีตเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของชาติ ให้มีความเป็นอารยะทัดเทียมต่างประเทศ โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่มีการใช้งานหลักฐานทางโบราณคดีในรูปแบบเดียวกัน

ในช่วงเวลานี้ โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ที่มีขอบเขตการศึกษาตั้งแต่การคิดค้นตัวอักษรในสมัยโบราณและวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ยังคงเป็นวิชาเดียวกัน และเป็นนิยามของวิชาโบราณคดีมาตรฐานเพียงรูปแบบเดียว ที่ถูกนำไปเกาะเกี่ยวยึดโยงกับอัตลักษณ์ของชาติและชนชั้นนำไทยอย่างแน่นหนา ผ่านการนำเสนอความอลังการและความสวยงามของโบราณศิลปวัตถุในรูปแบบต่างๆ ตรงกับนิยามของ “โบราณคดีชาตินิยม” ซึ่งเป็นเรื่องราวของชนชาติไทยในสมัยก่อน รวมทั้งแนวคิด "โบราณคดีอลังการ" ที่วัดคุณค่าของโบราณวัตถุผ่านฝีมือช่างและความสวยงามอลังการ เพื่อสร้างเรื่องราวในอดีตที่สอดรับกับการสร้างภาพลักษณ์ของชาติ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนการศึกษาทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่หมายถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก่อนการสร้างตัวอักษร ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยเท่าใดนัก ในสมัยนั้น ชนชั้นนำไทยมีมุมมองต่อสมัยก่อนประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องราวของมนุษย์ที่ “ล้าหลัง” “ป่าเถื่อน” และ “โง่เขลา”

มุมมองนี้ถูกสื่อสารผ่านบทแรกในหนังสือ “พงศาวดารดึกดำบรรพ์” ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ทรงดำริให้จัดพิมพ์หนังสือแปลขึ้นในโอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2466 กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้เลือกหนังสือ และทรงมอบหมายให้ พระอนุมานราชธน (ยศขณะนั้น) เป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อAncient Times — A History of the Early World ผู้เขียนคือ  James Henry Breasted พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) ในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ลัทธิล่าอาณานิคม (Colonialism) กำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด

 

ภาพประกอบรูปชนพื้นเมืองจากหนังสือ Ancient Times (1916).

 

 

J. H. Brested (1928) ที่มา: Wikipedia

 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือสำหรับอ่านทั่วไปที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลักใหญ่ใจความในหนังสือเล่มนี้ใช้แนวคิดของลัทธิอาณานิคม ซึ่งมีแนวคิดเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ ในการอธิบายหลักฐานทางโบราณคดีและจัดให้วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองต่างวัฒนธรรม โดยได้จัดให้ชนพื้นเมืองในแถบแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย เป็นพวกป่าเถื่อนไร้อารยธรรม เช่นเดียวกับมนุษย์โบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ที่เรื่องราวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ไม่ถูกนำไปผนวกรวมกับเรื่องโบราณคดีประวัติศาสตร์ชาติที่ผลิตโดยแนวคิด “โบราณคดีชาตินิยมอลังการ” และไม่ได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการไทยในสมัยนั้น

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรใน พ.ศ. 2475 แผนกโบราณคดีซึ่งเดิมอยู่ใต้บังคับบัญชาของราชบัณฑิตยสภา ได้ถูกโอนย้ายเข้ามาใต้การดูแลของกรมศิลปากร สังกัดกระทรวงธรรมการ มีหลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีคนแรก แต่รูปแบบการทำงานและแนวคิดทางโบราณคดีไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมนัก ณ เวลานั้น กรมศิลปากรได้ดูแลหน่วยงานด้านงานช่างต่างๆ เช่น นาฏศิลป์, ศิลปกรรม (ช่างสิบหมู่), สถาปัตยกรรม, อักษรศาสตร์ ฯลฯ อยู่แล้ว โดยแผนกโบราณคดีถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของกองศิลปวิทยา มีหน้าที่ค้นคว้าและ “บำรุงวิชาการ” ที่ในสมัยนั้นหมายถึงการจัดระเบียบ รวบรวม และเรียบเรียงข้อมูลจากหลักฐานทางโบราณคดีจากทั่วประเทศเป็นหลัก ไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็น “สำนักคิด” ที่สร้างนักวิชาการในนิยามแบบตะวันตก

 

แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น

 

การศึกษาอดีตในเวลานั้นไม่ใช่กิจของคนธรรมดา แต่เป็นกิจกรรมเฉพาะของชนชั้นนำ และปัญญาชนชั้นสูง เพราะในสมัยนั้นเรื่องราวในอดีตถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารเป็นหลัก ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องในอดีตที่สัมพันธ์กับประวัติของชนชั้นนำและที่มาของชาติ ทำให้เรื่องราวในอดีตโดยเฉพาะโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในตอนนั้นเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การศึกษาในประเด็นนี้จึงเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จำกัดอยู่ในระดับผู้นำของรัฐไปโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น ภาพลักษณ์ของชาติที่ถูกสร้างขึ้นจากข้อมูลทางโบราณคดีและศิลปกรรมในสมัยโบราณที่นำเสนอโดยรัฐในเวลานี้ มุ่งการนำเสนอข้อมูลการศึกษาเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สูงส่งของชาติเป็นหลัก โดยใช้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีช่วยส่งเสริมแนวคิดในอุดมคติแบบชาตินิยมอลังการของรัฐ

ตามอุดมคติพุทธศาสนาแบบไทยนั้น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภพภูมิที่ต่ำ ทั้ง เทพยดา นางฟ้า เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภพภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของชาติซึ่งจัดว่ามีฐานะสูงส่งจึงถูกนำเสนอในสถานะเช่นเดียวกับเหล่าทวยเทพในคติไทย เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นจึงผ่านกระบวนการนำเสนอในลักษณะที่ “เป็นทิพย์” หรือ “เหนือคน” ไปพร้อมกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานในช่วงเวลานั้น มักเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพงศาวดาร, หลักฐานจำพวกเทวรูป, รูปเคารพทางศาสนา, รวมทั้งงานศิลป์อันประณีตเสียเป็นส่วนใหญ่

ผลจากแนวคิดข้างต้นนี้ ทำให้การศึกษาในประเด็นใดก็ตามที่อาจจะทำลายหรือลดทอนภาพลักษณ์อันสูงส่งและเหนือคนของประวัติศาสตร์ชาติ เช่น ปัจจัย 4, การกินอยู่, หลับนอน, ป่วยไข้, ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการมีชีวิตของมนุษย์สามัญ ไม่ได้เป็นความสนใจหลักของการศึกษาทางโบราณคดีกระแสหลักของทางการไทยในสมัยนั้น

สรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์โบราณคดีทางการในช่วงนี้ มีลักษณะเด่นคือ “แวววับ จับใจ ไร้ลิ้น”

แวววับ คือ การเน้นคุณค่าความงามทางศิลปกรรมในฐานะศิลปวัตถุ

จับใจ คือ นำคุณค่าทางศิลปกรรมมาส่งเสริมแนวความคิดชาตินิยมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชาติที่มีฐานะสูงส่ง

ไร้ลิ้น คือ ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์สามัญ หรือปัจจัย 4 ที่รวมถึงการกินอยู่ของคนธรรมดา อยู่ในเรื่องอดีตที่ถูกสร้างภายใต้แนวคิดดังกล่าว

 

แวววับ: โบราณคดี = งานช่าง

 

การที่แผนกโบราณคดีอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลหน่วยงานศิลปกรรมของชาติ อาจเป็นการบ่งชี้โดยนัยว่า รัฐไทยในสมัยนั้นได้จัดประเภทให้ “โบราณคดี” เป็น “งานช่าง” หรือ “สกุลช่างศิลปะ” แขนงหนึ่ง เช่นเดียวกับหน่วยช่างศิลป์ต่างๆ ในสังกัดกรมศิลปากร

มุมมองที่ว่า “โบราณคดี” เป็น “งานช่าง” ไม่ใช่มุมมองใหม่ แต่เป็นค่านิยมเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่คราวที่แผนกโบราณคดียังอยู่ใต้การบังคับบัญชาของราชบัณฑิตยสภาแล้ว ดังความในปาฐกถาเรื่องสงวนของโบราณ ในปี พ.ศ. 2573 เกี่ยวกับเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในการประเมินของโบราณที่มีคุณค่าที่ควรสงวนรักษา คือ ต้องเป็นของที่มีความเกี่ยวข้องกับพงศาวดารและ “…เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์ คือ แบบอย่าง และฝีมือช่าง… (หน้า 12)

เมื่อต้องศึกษาโบราณวัตถุและศิลปศาสตร์เกี่ยวกับเกี่ยวกับฝีมือช่างที่เกี่ยวกับงานศิลปะแบบไทยประเพณีจากหลักฐานทางโบราณคดีจำพวก พระพุทธรูป, วัด, วัง ฯลฯ ซึ่งเป็นของสวยงาม “แวววับ” ตามเกณฑ์ของลักษณะหลักฐานทางโบราณคดีในตอนนั้น และ “…เป็นของสำคัญในทางศิลปศาสตร์ คือ แบบอย่าง และฝีมือช่าง…” ทำให้นักโบราณคดีในสมัยแรกเริ่มต้องเรียนรู้เทคนิคความรู้เชิงช่างศิลป์ไทยประเพณีในแขนงต่างๆ ในการทำงาน วิชาโบราณคดีจึงถูกนำไปผูกติดกับความรู้วิชาช่างศิลป์ไทยประเพณี จนซึมซับคติการเรียนรู้และเริ่มก่อร่างองค์ความรู้ขึ้นมาในฐานะของ "งานช่าง" แบบไทยประเพณีสกุลหนึ่ง

การสร้างอดีตอลังการในรูปแบบนี้ ทำให้เกิดการจัดลำดับชั้นและคุณค่าของหลักฐานทางวัฒนธรรมในอดีตขึ้น ในความเข้าใจของคนไทยทั่วไปมาจนถึงปัจจุบัน ของที่ “เข้านิยาม” มักจะเป็นของในศิลปะไทยประเพณี, ปิดทอง, ตกแต่งด้วยลายไทย, ฯลฯ ดังความหมายในนิยามข้างต้น ทำให้โบราณวัตถุสถานชนิดอื่นที่ไม่เข้ากับนิยามดังกล่าว ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับหลักฐานในกลุ่มแรก หลายครั้งก็ไม่ได้ถูกเก็บรักษา จนทำให้หลักฐานเหล่านี้เสื่อมสภาพหรือถูกทำลายไปในที่สุด ดังที่เห็นในหลายกรณี เช่น การเรื้อถอนชุมชนป้อมมหากาฬ การทาสีพระพุทธรูปและโบสถ์ปูนตำให้มีสีทองจนเนื้อวัสดุกัดกร่อนเสื่อมสภาพจากความชื้นสะสม ไปจนถึงการรื้อถอนอาคารไม้ประวัติศาสตร์ที่จังหวัดแพร่ ก็เพราะมีค่านิยมนี้เอง

ค่านิยมนี้ได้ถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อมาเป็นเวลายาวนาน เพราะแนวคิดทางการเมืองแบบชาตินิยมอยู่เบื้องหลัง

 

จับใจ: โบราณคดีไทย หลัง พ.ศ. 2475 ถึง ช่วง พ.ศ. 2490

 

หลวงวิจิตรวาทการในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรคนแรก ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีแนวคิดทางโบราณคดีเช่นเดียวกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ ให้ความสำคัญกับหลักฐานทางศิลปกรรมโบราณมากกว่าหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอื่น ซึ่งค่านิยมดังกล่าว ได้ส่งผลถึงรูปแบบการทำงาน และการตีความทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากร ดังปรากฏความในปาฐกถา เรื่อง การศิลปากรในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัด แสดงในที่ประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร ณ หอประชุมศิลปากร วันเสาร์ ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2478 ความว่า:

“…การที่ประชาชนหมู่ใด จะสามารถมีศิลปของตนเองได้ ประชาชนหมู่นั้นจะต้องก่อร่างสร้างตัวมานาน มีวัฒนธรรมอันสูงและมีคนฉลาดมาแล้วแต่ก่อน ชาติไทยเราแม้จะเป็นชาติเล็กกำลังน้อย แต่เมื่อชาวต่างประเทศได้เข้ามาแลเห็นศิลปกรรมของเรา ก็ต้องยอมรับว่าชาติไทยมิใช่ชาติป่าเถื่อน ตรงกันข้าม ศิลปกรรมกระทำให้ชาติไทยได้รับยกย่องขึ้นสู่ฐานะพิเศษ… (หน้า 38)

"…ในการที่เราจะได้รับความนับถือของนานาชาตินั้น เราก็ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเรามีอารยธรรมและวัฒนธรรม การที่จะแสดงได้เช่นนี้ ก็จะต้องอาศัยศิลปเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ… (หน้า 41) …เรายิ่งมีของเก่าซึ่งจะแสดงให้เห็นอายุยืนยาวมากเพียงไร ยิ่งเป็นเกียรติยศแก่บ้านเมืองเพียงนั้น เพราะของเก่าที่มีอยู่นั้น เป็นเครื่องแสดงว่าเราเจริญมาแต่โบราณ… (หน้า 44)”

การนำเอาข้อมูลที่ได้จากการศึกษาอดีตโดยให้ความสำคัญเฉพาะหลักฐานที่มีลักษณะสวยงามตามนิยามศิลปในสมัยนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชาติที่รัฐต้องการนำเสนอ ซึ่งเป็นการทำงานโบราณคดีในแบบชาตินิยม ที่ใช้โบราณวัตถุสถานในการ “จับใจ” ประชาชน และโลกภายนอก

 

ภาพถ่ายวัดพระศรีสรรเพชญ์ (1987) ที่การท่องเที่ยวไทยใช้ในการประชาสัมพันธ์ (The US Library of Congress)

 

ไร้ลิ้น (สิ้นเสียง?)

 

ในช่วงเวลานี้ ความสนใจวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้เริ่มก่อตัวขึ้น แต่การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก็ยังใช้กรอบคิด “เชิงช่าง” ในการศึกษาเทคนิคการผลิตโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และจัดลำดับรูปแบบโบราณวัตถุที่พบเพื่อจัดลำดับประวัติวัฒนธรรม (Cultural History) ซึ่งมีแนวคิดหลักที่คล้ายกับการจัดรูปแบบในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคก่อนหน้า

มุมมองดังกล่าวได้ปรากฏความผ่านจดหมายที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ถวาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัติวงศ์ในปี พ.ศ. 2477 เนื้อความในลายพระหัตถ์ตอนหนึ่ง อธิบายเทคนิคการทำเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับฝีมือช่างในปัจจุบัน “…อันนี้เป็นเหตุให้นักปราชญ์วิชาก่อนประวัติศาสตร์บัญญัติ เรียกฝีมือทำเครื่องมือหินเป็นชื่อต่างๆ (อย่างเดียวกับที่เราเรียกลายรดน้ำอย่างหนึ่งว่า “แบบครูวัดเชิงหวาย”) ฉะนั้น” (หน้า 19)

ในเวลานี้ นิยามของโบราณวัตถุได้เปลี่ยนไปเล็กน้อย ในนิยามของหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในหนังสือเรื่อง แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ โดย พระยาอนุมานราชธน (เขียนในราวช่วงปี พ.ศ. 2481) ได้รวมเอา “…สิ่งต่างๆ ที่ถือว่าเป็นของเก่า จะเป็นอาวุธ ถ้วยโถโอชามและเครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ตาม รวมทั้งที่เป็นของแตกหักปากบิ่นไม่เป็นชิ้นดี สุดแล้วแต่จะขุดค้นหาได้…” (หน้า 8) เป็นนิยามหนึ่งของโบราณวัตถุด้วย

 

รูปขวานหินขัด จากหนังสือ เรื่องก่อนประวัติศาสตร์ โดย กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.

 

แม้นิยามของโบราณวัตถุจะเปลี่ยนไปรวมของที่ไม่มีลักษณะเป็น “ศิลปวัตถุ” เอาไว้ด้วย แต่พระยาอนุมานราชธนก็ยังมีแนวคิดหลัก คือ นำเสนอคุณค่าของโบราณวัตถุในฐานะศิลปวัตถุ ตามแนวคิดดั้งเดิม ดังปรากฏความในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “…ศิลปวัตถุ ได้แก่สิ่งของที่มนุษย์คิดประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมือ ทำอย่างประณีตบรรจง เพ่งเล็งถึงความงามตามที่เจ้าของผู้สร้างเห็นว่าดีงาม…โบราณวัตถุที่มีอยู่ในสถานพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มักเป็นศิลปวัตถุด้วยในตัว โบราณวัตถุและศิลปวัตถุจึงเป็นของคู่กันไป…” (หน้า 8)

แม้นิยามของโบราณวัตถุในช่วงนี้จะมีพัฒนาการ โดยรวมเอาของโบราณที่มีสภาพแตกหักแต่สามารถบ่งบอกเรื่องราวในอดีตเอาไว้ด้วย แต่ก็ยังไม่ได้มีวิธีการศึกษาและสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีตอย่างรอบด้าน นิยามในการศึกษาโดยเน้น “งานช่าง” และ “ศิลปวัตถุ” อยู่เช่นเดิม ทำให้เรื่องราวของมนุษย์ในอดีตที่ถูกสร้างขึ้นนั้นยังคง “ไร้ลิ้น” ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการกินอยู่ และไร้เสียงที่จะสื่อสารเรื่องราวต่างๆ กับคนปัจจุบันได้

 

พระยาอนุมานราชธน ที่มา: Wikipedia

 

 

บทบาทใหม่ของแนวคิดวิทยาศาสตร์ในการศึกษาอดีต

 

ขณะนั้น การศึกษาทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และโบราณคดียังเป็นวิชาเดียวกัน และยังดำรงสถานะแนวคิดกระแสหลักของงานโบราณคดีไทยโดยไม่สามารถแยกวิชาทั้งสองออกจากกันได้อย่างชัดเจน การศึกษาทางโบราณคดีโดยใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ยังคงเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงวิชาโบราณคดีในสมัยนั้น ที่ยังมองการศึกษาอดีตว่าเป็น “ศิลป์” มากกว่า “วิทยาศาสตร์” โดยเฉพาะการใช้วิทยาศาสตร์นั้นยังจำกัดอยู่ในสายงานสมัยก่อนประวัติศาสตร์เท่านั้น

แต่การผนวกเอาแนวคิดแหละหลักทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในงานโบราณคดีสมัยนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่พระยาอนุมานราชธน ได้ระบุไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า “…โบราณคดีเป็นเรื่องศึกษาตามแนววิทยาศาสตร์ หมายความว่าจะต้องทำการค้นคว้าหาหลักฐานอย่างมีระเบียบแบบแผน มีหลักสำหรับสอบสวนพิจารณาชอบด้วยเหตุผล ไม่ใช่ค้นคว้ากันอย่างธรรมดา…” (หน้า 7)

แนวคิดดังกล่าวของพระยาอนุมานราชธนมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางความคิดในวงวิชาการในช่วงต่อมา (ช่อง พ.ศ. 2490 - หลัง พ.ศ. 2500) เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นไม่นานนัก ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง พระยาอนุมานราชธนได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ควบคุมการทำงานโบราณคดีอาชีพทั่วประเทศไทย และหลังจากนั้นก็ได้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและวางหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะโบราณคดี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านแนวคิดทฤษฎีทางโบราณคดีจาก “งานช่าง” ไปสู่การเป็น “วิทยาศาสตร์” ในเวลาต่อมา. (มีต่อ)

 

 

ขอขอบคุณ คุณยุกติ มุกดาวิจิตร, คุณจรัสนภา สุรินทร์เลิศ, คุณนรุตม์ โล้กูลประกิจ.

อ้างอิง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2505. ปาฐกถาเรื่อง สงวนของโบราณ พ.ศ. 2573. ในหนังสือ นิพนธ์บางเรื่องของ หลวงวิจิตรวาทการ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิจิตรวาทการ.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 2497. เรื่องก่อนประวัติศาสตร์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนจรดทะเบียน (นายกุย กุยยกานนท์).

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต. 2559.  โบราณคดีของโบราณคดี. ในหนังสือ บ้านเชียง: ปฐมบทโบราณคดีไทย. โอ.เอส.พรินติ้งเฮาส์. หน้า 11- 60.

ชาตรี ประกิตนนทการ. 2561. งานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะยุคต้นสงครามเย็น: สำนักศิลปากรกับแนวคิดชาตินิยมสายกลาง. หน้าจั่ว. 15: 40-89.

พระยาอนุมานราชธน. 2503. พงศาวดารดึกดำบรรพ์ (อารยธรรมยุคดึกดำบรรพ์). ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น.

พระยาอนุมานราชธน. 2515. เรื่อง แหลมอินโดจีนสมัยโบราณ. สำนักพิมพ์บรรณาคาร.

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ . 2014. ว่าด้วยแนวทางของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยโบราณ. ดำรงวิชาการ. 13(1): 205-238.

หลวงวิจิตรวาทการ. 2505. ปาฐกถา เรื่อง การศิลปากรในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ข้าหลวงประจำจังหวัด แสดงในที่ประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร ณ หอประชุมศิลปากร, วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2478. ในหนังสือ นิพนธ์บางเรื่องของ หลวงวิจิตรวาทการ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงวิจิตรวาทการ.

ศรัณย์ ทองปาน. 2005. การพิมพ์ ของร้อน และครู : ข้อสังคมบางประการว่าด้วยการฝึกหัดและถ่ายทอดวิชาช่างในสังคมไทย. ดำรงวิชาการ. 4(1): 24 - 38.

อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล. 2559 โบราณคดีชาตินิยม. ในหนังสือ บ้านเชียง: ปฐมบทโบราณคดีไทย. โอ.เอส. พรินติ้งเฮาส์. หน้า 61- 80.

Breasted, J. H. 1916. Ancient times, a history of the early world. Ginn and company, Boston.

Glover, I. C. 2003. National and Political Uses of Archaeology in Southeast Asia. Indonesia and the Malay World. 31(89): 16-30.

Peleggi, M. 2002. The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia. White Lotus, Bangkok.

Shoocongdej, R. 2008. The Impact of Colonialism and Nationalism in the Archaeology of Thailand. In Selective Remembrances: Archaeology in the Construction, Commemoration, and Consecration of National Pasts. : University of Chicago Press.

Winichakul, T. 2000. ‘Siwilai’: A Geographical Discourse of Civilizational Thinking in the Late Ninetheenth and Early Twentieth-Century” Siam. Journal of Asian Studies. 59 (3): 528-549.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0