โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

แรงงานไทย “แก่ก่อนรวย” ธปท.แนะวัยกลางคนเพิ่มทักษะ-เร่งการออม

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 16 ส.ค. 2561 เวลา 02.55 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ธปท.เผยผลการศึกษา ระบุไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ขณะที่คนสูงอายุของส่วนใหญ่ยากจน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้หลังเกษียณ หวั่นกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ สำรวจภาคแรงงาน พบหญิงไทยออกจากงานเร็ว เพราะต้องดูแลลูก คนชรา หรือคนป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลการศึกษาสังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย จัดทำขึ้นโดย นางสาวจารีย์ ปิ่นทอง นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกร นางสาวปภัสสร แสวงสุขสันต์ เศรษฐกรอาวุโส ธปท. และนางธนภรณ์ จิตินันทน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายนโยบายการเงิน ธปท. ซึ่งข้อสรุปงานวิจัย พบว่า ความท้าทายของสังคมสูงวัยของไทยมีความท้าทายหนักกว่าปัญหาสังคมสูงวัยในหลายประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

โดยจากการศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่าการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จากการบริโภคของภาคครัวเรือนที่มีโอกาสชะลอลง จากอัตราการเติบโตของประชากรลดลง ขณะที่รูปแบบ การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุมักแตกต่างจากรูปแบบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ โดยการใช้จ่ายในการเข้าสังคมหรือการทำงานลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น การลดลงของจำนวนแรงงานจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะส่งผลโดยรวมต่อภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลิตภาพแรงงานที่ลดลง โดยจากการศึกษา พบว่าหากจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรของประเทศชะลอลง 5.5%

สำหรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย คาดว่า จะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสูงวัยในเวลาเพียง 20 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาตั้งแต่ 18-115 ปี และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุไทยกับประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุด ขณะที่แรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าประเทศอื่นๆ โดยสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีของไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 7% ของประชากรรวมเป็น 13% ในปี 2563 หรือใน 2 ปีข้างหน้า และภายในปี 2578 ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่ Hyper-aged society หรือสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงโดยเฉลี่ยสูงกว่า 12,500 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี

นอกจากนั้น ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า นอกจากรายได้ต่อหัวที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นแล้ว ผู้สูงอายุของไทยที่ “เรียนสูง” มีเพียง 12% ของผู้สูงอายุโดยรวม ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก ทำให้แรงงานไทยมีแนวโน้ม “แก่ก่อนรวย” สูง และต้องพึ่งพาภาครัฐและครอบครัวมากขึ้น ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยจากกรณีนี้ อาจรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ขณะเดียวกันหากพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยของไทย หากเทียบกับประเทศอื่นในบริเวณใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แม้ประเทศเหล่านี้จะมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามานาน แต่สังคมสูงวัยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่ไทย ซึ่งกำลังเผชิญปัญหานี้ในอัตราที่เร็วกว่าแต่ยังไม่มีความตระหนักถึงความท้าทายข้างหน้านี้และเตรียมตัวรับมืออย่างเป็นรูปธรรมมากพอ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า อัตราการจ้างงานของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยหดตัวเฉลี่ย 0.04% ต่อปี โดยกลุ่มที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งมีประมาณ 30.7 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า วัยแรงงานดังกล่าวจะทยอยเปลี่ยนผ่านเป็นผู้สูงอายุ ส่งผลให้สัดส่วนระหว่างจำนวนประชากรผู้พึ่งพิงต่อประชากรที่สามารถหารายได้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนแรงงานไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเกษียณอายุและออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยเกษียณ โดยแรงงานไทยประมาณปีละ 300,000 คน จะเริ่มออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55-59 ปี

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า แรงงานผู้หญิงของไทยถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มหยุดทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี เนื่องจากมีทักษะไม่สูงนัก โดยกลุ่มที่จบการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมี 5.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 81% ของผู้หญิงที่ออกจากตลาดแรงงานทั้งหมด สาเหตุหลักคือการออกไปดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทยจะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึง 55-59 ปี ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าว ธปท.ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเห็นว่าประเทศไทยควรเน้นแก้ไข 2 ด้าน คือการเพิ่มทักษะของแรงงานไทย และการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งการเพิ่มทักษะเดิมที่แรงงานมีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และการเสริมทักษะใหม่ให้แรงงานวัยกลางคน.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0