โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แรงงานข้ามชาติ : จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินไทย เส้นทางที่ไม่มีกลีบกุหลาบ

The101.world

เผยแพร่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 03.42 น. • The 101 World
แรงงานข้ามชาติ : จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินไทย เส้นทางที่ไม่มีกลีบกุหลาบ

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ภาพ

 

 

Citizen – จากคนไร้ตัวตน สู่พลเมืองแปลกหน้า

 

ท่ามกลางโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานของไทย แรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 3 ล้านคนในประเทศ[1]ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมประมง ก่อสร้าง หรือกระทั่งงานบ้าน

แต่ถึงแม้ประเทศไทยต้องการแรงงานข้ามชาติเข้ามาช่วยเหลือในหลายภาคส่วน ปัญหาเรื่องทัศนคติต่อกลุ่มคนข้ามชาติ มาตรการทางกฎหมายของรัฐ และปัญหาการฉกฉวยผลประโยชน์จากแรงงาน ยังคงเกิดขึ้นในสังคมตลอดมา

Citizen ภาพยนตร์สั้นฝีมือการกำกับโดยโสรยา นาคะสุวรรณ เป็นเพียงภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาแรงงานข้ามชาติ ว่าด้วยเรื่องขบวนการซื้อขายและปลอมแปลงบัตรประชาชนแก่แรงงาน ผ่านการนำเสนอเรื่องราวของแรงงานหญิงคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเป็นทุกข์เพราะน้องสาวหายตัวไป

 

 

ฉากแรกของ Citizen เริ่มต้นในสถานีตำรวจ ‘เธอ’ เข้ามาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เรื่องของน้องสาว ครั้นผ่านการตอบคำถามจนตำรวจตกลงรับแจ้ง อีกฝ่ายก็บอกแก่ ‘เธอ’ ว่า *“ขอบัตรประชาชนด้วย” *

ภาพถูกตัดกลับไปยังเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นเพื่อบอกเล่าที่มาที่ไปของแรงงานสาว เป็นภาพบรรยากาศในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ ‘เธอ’ กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ล้างปลา คัดแยก และชำแหละทีละตัวอย่างชำนาญ ท่ามกลางเสียงรอกหมุนสายพานลำเลียง และเสียงเครื่องจักรดังเอ็ดอึง

ต่อมาเป็นภาพห้องเช่าเล็กๆ ที่มีแรงงานหญิงข้ามชาติอาศัยอยู่รวมกันราว 4-5 คน ทั้งหมดชวนให้ ‘เธอ’ เข้ามาร่วมวงกินข้าวเย็นหลังเลิกงาน ถามไถ่ข่าวคราวของน้องสาว และแสดงอาการเป็นห่วงสุขภาพของ ‘เธอ’ เมื่อเจ้าตัวส่งเสียงไอเป็นพักๆ

หลังวนเวียนอยู่หน้าสถานีตำรวจหลายครั้ง กลางดึกคืนหนึ่ง ‘เธอ’ ก็ตัดสินใจใช้เงินออมที่มีอยู่ ติดต่อขอซื้อบัตรประชาชนปลอมจากชายแปลกหน้า เพื่อเข้าไปแจ้งความคดีของน้องสาวในที่สุด

“ขอบัตรประชาชนด้วย” ‘เธอ’ หยิบมันออกมาส่งให้กับตำรวจ พร้อมแจ้งว่าตนชื่อ ‘กาญจนา’ ตามที่ระบุไว้บนบัตร

ไม่ว่าก่อนหน้านี้เธอจะเคยเป็นใคร แต่หลังจากนี้ไปเธอคือ ‘กาญจนา’ เป็นประชาชนคนไทยที่มีสิทธิเสียงเท่าเทียมกับคนอื่นทุกประการ

ทว่าในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ ‘กาญจนา’ กลับมารักษาตัวคลินิกต่างด้าว ก้าวเข้ามานั่งรอคิวอย่างเดียวดายในความวุ่นวายของสถานพยาบาล เสียงเพลงภาษาพม่าค่อยๆ ดังขึ้น ราวกับตอกย้ำว่าลึกๆ ตัวเธอเองก็ยังคงรู้สึกแปลกแยกบนแผ่นดินนี้อยู่ดี

“สิ่งที่เราสนใจและอยากสื่อผ่านตัวละครคือ เมื่อแรงงานไปซื้อและสวมรอยบัตรประชาชนของคนที่อาจไม่มีชีวิตอยู่แล้วเพื่อให้ได้รับสิทธิ์เท่าคนไทย เขาต้องรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคนๆ นั้นทั้งหมด ต้องจำรายละเอียดให้ได้ทั้งหมด เปลี่ยนอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อกลายเป็นคนใหม่” โสรยา นาคะสุวรรณ ผู้กำกับกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์

โสรยาเล่าว่า Citizen เป็นหนังที่ถ่ายทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย หลังได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวก้อย ซึ่งเป็นโครงการเผยแพร่และสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนชายขอบผ่านสื่อภาพยนตร์

เหตุที่เลือกหยิบประเด็นบัตรประชาชนปลอมของแรงงานข้ามชาติมานำเสนอ เพราะเป็นปัญหาร้อนแรงในช่วงปีนั้น ทั้งยังมีความน่าสนใจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติ ขบวนการฉกฉวยผลประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายและสถานะของแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงความขัดแย้งในใจของเหล่าแรงงานที่ต้องเลือกระหว่างการรักษา ‘ตัวตนที่แท้จริง’ แต่ไร้สิทธิ ไร้เสียงของตัวเอง กับ ‘ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่’ ชื่อใหม่ วันเดือนปีเกิดใหม่ ในฐานะประชาชนของอีกประเทศ

“เราคิดว่ามันน่าสนใจมากจากการที่แรงงานเหล่านี้เคยเป็นคนไร้ตัวตน แต่ยอมสวมรอยใครบางคนเพื่อให้มีตัวตนขึ้นมาบนแผ่นดินไทย”

แก่นเรื่องของ Citizen สะท้อนให้ผู้ชมเห็นว่าสถานะคนต่างถิ่นที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน ความปลอดภัย และความยุติธรรมในประเทศ อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้แรงงานส่วนหนึ่งเลือกใช้ช่องทางผิดกฎหมาย เพื่อให้ได้สิทธิและเสียงตามที่มนุษย์คนหนึ่งสมควรได้รับ

 

จากจอเงิน สู่โลกความเป็นจริง

 

เรื่องราวของ ‘กาญจนา’ เกิดขึ้นและจบลงภายใน 12 นาทีตามความยาวของภาพยนตร์ แต่ชีวิตของแรงงานข้ามชาติอีกหลายคนยังคงดำเนินต่อไปพร้อมปัญหาอีกหลายด้าน

เอ มี อู (A Me Oo) คือหนึ่งในแรงงานหญิงข้ามชาติชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ปีกว่า  เธอเล่าว่าครอบครัวของตนมีฐานะยากจน บิดาเป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องใช้ค่ารักษาจำนวนมาก ทั้งยังต้องส่งเสียน้องให้เรียนหนังสือ ทำให้เธอเลือกเป็นตัวแทนของบ้าน เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเล ทำหน้าที่คล้ายกับตัวละครกาญจนา คือล้างปลา แล่ปลา เพื่อรอการแปรรูปต่อไป

“เหตุผลที่เลือกเข้ามาทำงานในไทย เพราะรู้สึกว่าประเทศไทยคล้ายกับพม่า ทั้งวัฒนธรรม อาหาร ต่างกันแค่รายได้ ที่ไทยมีรายได้สูงกว่าที่พม่ามาก” เอ มี อู เล่าเป็นภาษาพม่า

“แต่ตอนเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านนายหน้า ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ประมาณล้านกว่าจัต หรือตีเป็นเงินไทยราว 10,000 – 20,000 บาท

“มารู้ทีหลังว่าค่าใช้จ่ายในการเข้าประเทศตามที่รัฐบาลกำหนดไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่สุดท้าย เราก็ยอมให้นายหน้าไป เพราะอย่างไรเราก็เข้ามาทำงานแล้ว”

เธอกล่าวว่าค่าใช้จ่ายที่นายหน้าเรียกเก็บจากแรงงานมีหลายด้านปะปนกันไป เช่น ค่าทำพาสปอร์ต  ค่าสัญญากับนายหน้า ค่าเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ค่าขอวีซ่าทำงาน และอื่นๆ เป็นหลักประกันว่าสามารถเข้ามาอยู่ในไทยได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เรื่องราคาจะสูงกว่าที่ทางการกำหนดหรือไม่ก็สุดรู้

“หลังเข้ามาได้ก็กังวลเรื่องเงิน เรื่องที่อยู่ เราจะทำงานไหวไหม จะคุยกับใครรู้เรื่องหรือเปล่า เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย”

เอ มี อู ยอมรับว่าอยากมีเพื่อนเป็นชาวไทยสักคนไว้คอยแนะนำ ช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ แต่ด้วยความที่โรงงานของเธอแยกกลุ่มแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทยเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ทำให้เธอไม่มีโอกาสได้พูดคุยพบปะกับคนไทยคนอื่น นอกเสียจากหัวหน้างานในแผนกตนเอง

“บางครั้งเราคุยกับเขาไม่เข้าใจ เขาก็มีตำหนิบ้าง ดุด่าบ้าง”

การแยกกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในโรงงานอาจง่ายต่อการบริหารจัดการ  แต่เพราะไม่ได้อยู่ร่วมคลุกคลี ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน ทำให้แรงงานไทยส่วนหนึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อแรงงานเพื่อนบ้าน ยืนยันด้วยข้อมูลจากรายงานของทีดีอาร์ไอ[2] ที่ระบุว่า แรงงานไทยบางส่วนคิดว่าแรงงานเพื่อนบ้านมาจากชนชาติด้อยกว่าและไม่ใช่พลเมืองของประเทศ แรงงานไทยจึงสมควรได้รับสถานะ เงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ เหนือกว่าอย่างชอบธรรม

แม้ เอ มี อู จะได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับแรงงานไทย หากใช่ว่าเธอจะไม่มีปัญหาในการทำงานเลย กฎเกณฑ์บางข้อของนายจ้าง เช่น การงดให้ค่าแรงหรือไม่มีสวัสดิการช่วยเหลือผู้หญิงที่ลาคลอด การกำหนดจำนวนครั้ง จำนวนคน และระยะเวลาในการเข้าห้องน้ำ โดยไม่ได้คำนึงถึงสุขอนามัยของผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนหรือหญิงตั้งครรภ์ ก็ทำให้เธอและเพื่อนแรงงานหญิงอีกหลายคนรู้สึกหนักใจ

นอกจากนี้ เอ มี อู เผยว่าแรงงานชาวพม่าหลายคนยังถูกคนไทยเข้าใจผิดและตำหนิว่าเป็นคนไม่มีมารยาทอยู่ด้วยซ้ำ

“เราอยากให้คนไทยเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของไทยกับพม่า เพราะสิ่งที่คนไทยมองว่าไม่มีมารยาท บางครั้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับเรา เช่น การกอดอกต่อหน้าคนพูด นั่นแปลว่าคนพม่ากำลังตั้งใจฟัง หรือการชี้นิ้วใส่คน คนพม่าก็ไม่ได้ถือว่าหยาบคาย” ตัวแทนเสียงจากแรงงานชาวพม่ากล่าว

“เราพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนไทย แต่ก็อยากให้คนไทยเปิดใจ เรียนรู้เรื่องของเราบ้าง”

 

จากสื่อและการศึกษา สู่อคติต่อคนข้ามชาติ

 

“ถ้าพูดกันจริงๆ ตอนนี้แรงงานข้ามชาติก็ยังเข้าไม่ถึงหลักสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร”

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เปิดประเด็นถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่ายังมีความท้าทายด้านการทำงานต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ เพราะคนไทยบางกลุ่ม--  โดยเฉพาะคนทำงานระดับนโยบายยังมีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติ

“บางครั้งเรามีกระบวนการเรียกร้องสิทธิให้แรงงานข้ามชาติ คนก็ว่าจะเรียกร้องอะไรให้พวกต่างด้าวนักหนา ต่อให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ให้แรงงานใช้ คุณไม่ได้ใช้เองอยู่ดี”

สุธาสินียังเชื่อมโยงปัญหาในชีวิตจริงกับฉากตอนท้ายในภาพยนตร์ Citizen ที่ตัวละครไปเข้ารับการรักษาในคลินิกต่างด้าวว่า เป็นภาพสะท้อนระบบสาธารณสุขบางแห่งในประเทศไทย ซึ่งแบ่งแยกมาตรฐานการให้บริการคนไทยและคนข้ามชาติออกจากกัน

“ที่สมุทรสาคร ถ้าเป็นแรงงานข้ามชาติมาตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ก็ต้องใช้พื้นที่นอกโรงพยาบาล ไม่ให้เข้าในอาคาร หรือถ้าเจ็บป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล ก็มีส่วนแยกสำหรับแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ”

ในรายงานทัศนคติของบุคคลากรด้านสาธารณสุขที่มีต่อแรงงานข้ามชาติของทีดีอาร์ไอบ่งชี้ว่า ความคิดเห็นของคนทำงานแตกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งเต็มใจให้การรักษาพยาบาลแรงงานข้ามชาติด้วยมาตรฐานการรักษาแบบเดียวกับคนไทย แต่อีกทางก็ยังไม่แน่ใจ ว่าแรงงานเหล่านี้ควรได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพครอบคลุมหรือทัดเทียมกับคนในประเทศหรือไม่

ทั้งนี้ หากมองภาพรวมทัศนคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคง จะพบว่า คนส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องการเข้ามาแย่งงานผู้ประกอบการท้องถิ่น แย่งอาชีพคนไทย และเรื่องการก่ออาชญากรรมจากพวกแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

เสถียร ทันพรม ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ให้ความเห็นว่า ทัศนคติดังกล่าวเป็นผลพวงจากการนำเสนอข่าวด้านลบของสื่อมวลชนมาอย่างยาวนาน

“สื่อมักจะนำเสนอข่าวแรงงานข้ามชาติในแง่ร้ายก่อน” เสถียรกล่าว และเสริมว่าต่อให้คดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยแรงงานข้ามชาติมีน้อยมาก ทว่าเมื่อใดก็ตามที่แรงงานทำผิด เรื่องราวจะถูกประโคมผ่านสื่อทุกช่องทาง

“เวลาสื่อนำเสนอเรื่องแบบนี้ไปสู่สังคม จะทำให้คนซึมซับแต่ภาพความโหดร้ายและเหมารวม ตีตรากลุ่มแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ”

ในงานวิจัยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ปี 2019[3] พบว่าคนไทยกว่าร้อยละ 77 ของประชากร คิดว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของเหตุอาชญากรรมมาจากแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกัน รายงานของ ILO อีกฉบับ ในปี 2018[4] ที่สำรวจการนำเสนอของสื่อมวลชน พบว่า คำที่เชื่อมโยงถึงข่าวแรงงานข้ามชาติมักเป็นคำเชิงลบ อาทิ ‘ผิดกฎหมาย’ ‘โจร’ ‘ต่างด้าว’ ‘อันธพาล’

สาเหตุที่สื่อนำเสนอเช่นนั้น เพราะคนทำงานขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องแรงงานข้ามชาติ เข้าถึงแหล่งข่าวได้จำกัด ทำให้นำเสนอเรื่องราวแต่มุมเดิมๆ อย่างอาชญากรรมและการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เมื่อผนวกรวมเข้ากับกลุ่มผู้รับสารมีความรู้เท่าทันสื่อน้อย จึงเกิดเป็นทัศนคติเชิงลบโดยปริยาย

ไม่เพียงแค่สื่อเท่านั้นที่กล่อมเกลาความคิดคน การศึกษายังสามารถสร้างความขัดแย้งทางอ้อม ผ่านการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ด้วยแนวคิดชาตินิยมที่เน้นเรื่องราวความขัดแย้งในอดีต ไทยรบกับพม่า พม่าเผาเมืองไทย ทำให้คนส่วนหนึ่งติดภาพความเป็นศัตรูของประเทศเพื่อนบ้าน ยึดมั่นต่อความเป็นชนชาติที่เหนือกว่า จนอาจมองข้ามบริบทยุคสมัย และเกิดอคติต่อคนข้ามชาติ

“สมัย (ภาพยนตร์) พระนเรศวรกำลังดัง แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์บางคนไม่กล้าออกจากบ้านเลยนะ” เสถียรเล่า “บางคนอาจจะนำเรื่องเหล่านี้มาล้อเล่นกับแรงงาน แต่คำพูดเล่นบางคำ มันเป็นการตอกย้ำเรื่องราวและอคติบางอย่างว่า ‘มึงเคยเผาบ้านเผาเมืองกู’”

เสถียรยังชี้ให้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับความละเอียดอ่อนของภาษา โดยยกตัวอย่างคำว่า ‘ต่างด้าว’ ที่เคยเป็นคำความหมายดี แต่บัดนี้กลับกลายเป็นคำเชิงลบเพราะคนมักใช้ในแง่ดูถูกดูแคลน แสดงถึงความแปลกแยกหรือต่ำต้อย “ในฝั่งคนทำงานด้านส่งเสริมสิทธิจึงมีการหารือกับสื่อว่า มีคำไหนบ้างไหมที่ใช้เรียกกลุ่มประชากรเหล่านี้ได้ดีกว่านั้น”

“ตอนนี้ถ้าเราดูสื่อกระแสหลัก จะเห็นได้ว่าคำเรียกขานแรงงานข้ามชาติมีความเปลี่ยนแปลง แรงงานต่างด้าวใช้กันน้อยลง เปลี่ยนมาเป็นคำว่าแรงงานอพยพ แรงงานเคลื่อนย้าย แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งเสถียรมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการใช้อำนาจทางภาษาปรับเปลี่ยนทัศนคติของคน จากนั้นจึงค่อยขยับไปแก้ประเด็นปัญหาอื่นต่อไป

“เมื่อได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คุณค่าก็จะเริ่มเปลี่ยน ดังนั้นเราต้องช่วยกันสื่อเรื่องนี้ในแง่ดี”

ฝ่ายโสรยาทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่าในวงการภาพยนตร์เอง ก็ต้องใส่ใจเรื่องวิธีการนำเสนอเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวละครเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีภาพเหมารวม (Stereotype) ว่าเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงจากนายจ้าง ยิ่งต้องพิจารณาวิธีการเล่าเรื่องอย่างรอบคอบ “เพราะการนำเสนอประเด็นที่เขาถูกกระทำ (abuse) แก่คนดู ก็อาจเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงให้เกิดขึ้นอีกครั้ง”

 

(จากซ้าย) ซายซาย ล่าม, เอ มี อู แรงงานสาวชาวพม่า, สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จาก MWRN, เสถียร ทันพรม มูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, โสรยา นาคะสุวรรณ ผู้กำกับหนังเรื่อง Citizen (ภาพจาก ILO)

 

จากใบเหลือง IUU สู่ความเข้มงวดด้านกฎหมาย

 

ครั้นมองภาพใหญ่ในระดับนโยบายของรัฐ สุธาสินี แก้วเหล็กไหล กล่าวว่านโยบายคุ้มครองสิทธิแรงงานของประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากอดีต และ “สิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดี คือกฎหมาย”

“กฎหมายที่ออกมาใหม่ดีทุกฉบับ อย่างพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ก็ดีกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานไทยด้วยซ้ำ”

สุธาสินีตั้งข้อสังเกตว่าการพัฒนากฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาตินี้ อาจเป็นผลจากกรณีที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประมง IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) แก่ไทย รวมกับการทักท้วงจากองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย “เพื่อให้สังคมโลกเห็นว่าไทยไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ”

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว “แนวปฏิบัติที่ทำต่อแรงงาน กลับไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เขียน” แสดงถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่หนักแน่นเท่าที่ควร ทำให้แรงงานบางคนยังถูกละเมิดสิทธิจากการ ‘เลี่ยงบาลี’ ของนายจ้างอยู่

“กฎหมายพยายามออกมาปกป้องลูกเรือประมง โดยสั่งว่าห้ามให้นายจ้างยึดบัตรประจำตัว บัตรเอทีเอ็ม นายจ้างก็ไม่ใช้คำว่ายึด บอกแค่ว่าจะเก็บไว้ให้ เวลาทำงานจะได้ไม่เสียหาย” สุธาสินียกตัวอย่าง พร้อมเพิ่มเติมว่าการละเมิดสิทธิเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะนายจ้างต้องการรักษาภาพลักษณ์ธุรกิจ จึงดูแลพนักงานของตนค่อนข้างดี

ดังนั้น สุธาสินีมองว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือแรงงานในโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และลูกเรือประมง”

ฝ่าย เสถียร ทันพรม เองก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่เข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน มีที่มาจากแนวคิดรักษาความมั่นคงของ ‘รัฐบาล’ ในกรณีสหภาพยุโรปแจกใบเหลืองประมง IUU แก่ไทย

“ประเทศไทยติดท็อปไฟว์ด้านการส่งออกอาหารทะเล ก่อนหน้านี้เราใช้แรงงานคนอีสานในอุตสาหกรรมประมง แต่หลังจากเกิดพายุเกย์ คนอีสานก็ไม่ลงเรืออีก ทำให้กิจการประมงต้องหาแรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทน

“แต่เมื่อมีกรณีแจกใบเหลืองเกิดขึ้น จึงเกิดเป็นนโยบายที่ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองแรงงาน แต่มีเพื่อเป็นเกราะป้องกันแก่รัฐบาล ให้นานาชาติเห็นว่ามีแนวทางดูแลคุ้มครองแรงงานในประเทศแล้ว พอมีการทำงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในมิติการค้ามนุษย์ในกิจการประมง จนไทยถูกปลดใบเหลือง ก็ใช้พรก.เข้ามาแทนที่ มีกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาแทนที่”

เสถียรวิจารณ์ว่า กฎหมายที่ถูกพัฒนาเข้ามาแทนที่ดังกล่าว มีระเบียบวิธีการเข้มงวดเกินไปจนสร้างความยุ่งยากซับซ้อนแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สร้างผลกระทบต่อการจัดหาแรงงานในอุตสาหกรรมประมง บางครั้งอาจลามเลยถึงขั้นลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ

“เดิมแรงงานสามารถย้ายสังกัดนายจ้างในกิจการประมงด้วยกันได้ แต่เมื่อเปลี่ยน MOU การเปลี่ยนนายจ้างจึงทำได้หลังเกิดเหตุนายจ้างละเมิดสิทธิ ปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานเท่านั้น” เสถียรอธิบาย

“กฎหมายยังบอกอีกว่า ถ้าแรงงานข้ามชาติต้องการเปลี่ยนนายจ้าง ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าไม่ใช่ฝ่ายกระทำความผิดก่อน กลายเป็นว่าบทบาทการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นของแรงงาน ทั้งๆ ที่ กระบวนการเปลี่ยนนายจ้างควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในการหางานที่ทำแล้วมีความสุข”

 

บรรยากาศวงเสวนาภาพยนตร์ Citizen (ภาพจาก ILO)

 

เสถียรยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องแรงงานคือกระทรวงแรงงาน แต่ภายหลังกลับถูกโยกย้ายไปอยู่ใต้อำนาจของกรมประมง ทำให้กระบวนการบริหารจัดการติดขัด ไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งระเบียบกฎเกณฑ์การจัดหาแรงงานข้ามชาติแบบใหม่บังคับให้มีการขึ้นทะเบียนในไทย พร้อมส่งรายชื่อกลับไปประเทศต้นทาง บริษัทจัดหางานบางแห่งจึงตัดสินใจไม่ส่งแรงงานเข้ามาในกิจการประมงไทย เพราะเป็นงานที่กล่าวได้ว่าเสี่ยงชีวิตมากกว่างานประเภทอื่น ไม่คุ้มค่ากับการต้องทำตามขั้นตอนยุ่งยากซ้ำแล้วซ้ำเล่าหากเกิดเหตุร้ายกับแรงงาน

“การนำเข้าลูกเรือมีความจำเป็น ดังนั้นเราต้องมีการคุยกันถึงมาตรการที่เหมาะสม ระหว่างประเทศต้นทางและปลายทาง” และไม่เพียงแค่ในวงการอุตสาหกรรมประมงเท่านั้น แต่เสถียรยังหมายความรวมถึงการออกนโยบายเกี่ยวกับบริษัทจัดหาและนำเข้าแรงงานด้านอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้น กฎหมายที่เข้มงวดอาจให้ผลร้ายมากกว่าดี

“ในหมู่คนข้ามชาติมีการพยากรณ์กันว่า ยิ่งรัฐบาลไทยเข้มงวด อยากให้มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายมากเท่าไร ยิ่งไปเปิดหน้าต่างชายแดนให้มีแรงงานลักลอบเข้ามามากขึ้นเท่านั้น” เสถียรกล่าว และเปรียบว่าช่องทางการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง เปรียบได้กับการเข้าทาง ‘ประตู’ ขณะที่การลักลอบเข้ามาทำงาน เสมือนการเข้าทาง ‘หน้าต่าง’

“ถ้าการเข้าทางประตูนั้นขั้นตอนเยอะ รายละเอียดเยอะ ปัญหาเยอะ รวมถึงราคาสูง คนที่ตั้งใจจะเดินเข้าประตูก็อาจจะเลือกไปเข้าทางหน้าต่างแทน เพราะแรงงานข้ามชาติเองก็คิดว่าการเข้าทางหน้าต่าง ถึงอย่างไรก็มีงานทำ ต่างจากประตูที่มีขั้นตอนมากมาย ทั้งไม่แน่ใจว่าจะได้งานทำไหม”

การลักลอบเข้ามาทำงาน ไม่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ทำให้แรงงานเหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง การถูกจับกุมดำเนินคดี ส่งตัวกลับประเทศ และอาจส่งผลกระทบถึงเด็กที่เกิดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นแรงงานอีกด้วย

เสถียรยกตัวอย่างให้ฟังว่า ครั้งหนึ่ง ตนเคยเจอคู่สามีภรรยาที่เป็นชายไทยกับหญิงลาว ฝ่ายหญิงกำลังตั้งครรภ์แต่เป็นแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และในทางกฎหมาย เด็กจะได้รับสัญชาติไทยตามพ่อ ก็ต่อเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารกแล้ว

ดังนั้น ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เด็กคนนี้จึงไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะยังไม่ถือว่าเป็น ‘คนไทย’ โดยสมบูรณ์ ฝ่ายมารดาเองก็ไม่กล้าใช้บริการของโรงพยาบาล เพราะกลัวถูกแจ้งจับ สุดท้าย เด็กคนนั้นจึงเกิดมาพร้อมอาการปากแหว่งเพดานโหว่

กล่าวได้ว่าปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนต่างถิ่นต่างแดนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนไทย กระทบต่อสังคมไทยในหลากหลายแง่มุมเช่นเดียวกัน

 

จากพลังของนายจ้าง สู่สวัสดิการแรงงานข้ามชาติที่ดีกว่า

 

เมื่อกฎหมายของรัฐบังคับใช้ได้ไม่ดีพอ ทางเลือกหนึ่งขององค์กรภาคประชาสังคมจึงเป็นการเจรจาผลักดันกับนายจ้าง เจ้าของกิจการ และสมาคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิและมอบสวัสดิการแก่แรงงานข้ามชาติโดยตรง

สุธาสินี ในฐานะตัวแทนองค์กร MWRN เผยว่า “ก่อนตัดสินใจทำงานกับภาคธุรกิจก็ถือว่ายากลำบาก เพราะเดิมตัวเองเป็นนักสหภาพแรงงานมาก่อน จุดยืนคือต้องเห็นธุรกิจเป็นศัตรู ต้องไม่อ่อนน้อมถ่อมตัว ต้องสู้กับเขา

“แต่ต่อมาเราทำงานมานาน มองเห็นจุดแข็งจุดอ่อนหลายอย่างของรัฐ เห็นการดำเนินงานผ่านขั้นตอนต่างๆ เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ ต้องเขียนคำร้อง ออกคำร้องตามกฎหมายภายใน 60 วัน หากยังไม่ได้ข้อเท็จจริง ต้องขยายเป็น 90 วัน อุทธรณ์กันไปมา 3 ปีคดีก็ยังไม่จบ”

“เราจึงปรึกษากันว่าให้ลองทำงานกับภาคธุรกิจเพื่อตัดขั้นตอนของรัฐ”

สุธาสินีเริ่มต้นผลักดันสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติโดยอาศัยอำนาจกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 96 ที่ว่า หากสถานประกอบกิจการมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป นายจ้างต้องจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ โดยประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อย 5 คน และเข้าไปส่งเสริมการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการที่เป็นประชาธิปไตย ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง และประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากการมีคณะกรรมการเหล่านี้

“เราผลักดันให้เขาประชาสัมพันธ์ทุกภาษาตามที่มีแรงงานชาตินั้นอยู่ในโรงงาน ทั้งพม่า กัมพูชา ลาว และไทย” สุธาสินีกล่าว “เราเสนอให้มีแรงงานจากทุกชาติลงสมัครเป็นคณะกรรมการ และให้มีจำนวนคนมากกว่าที่กฎหมายเขียนไว้”

ทาง MWRN ยังเข้าไปช่วยเรื่องอบรมคณะกรรมการสวัสดิการเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง ผลคือแรงงานในโรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมในที่ทำงานดีขึ้น เพราะมีผู้แทนคอยสอดส่องดูแล และร้องเรียนต่อนายจ้างเพื่อปรับปรุงข้อบกพร่อง

สุธาสินีออกความเห็นว่าการมีคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานนั้น ทำให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ ทั้งจากสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด และสวัสดิการที่สถานประกอบการให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน นายจ้างเองก็ได้ประโยชน์เรื่องภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ดี

การทำงานกับภาคธุรกิจยังช่วยย่นระยะเวลาดำเนินการช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบปัญหา “เวลามีเคสเข้ามาร้องเรียนกับ MWRN เราก็สามารถโทรถามสถานประกอบการได้เลยว่าเกิดเหตุจริงไหม และนายจ้างจะดำเนินการตรวจสอบให้ทันที

“ตอนนี้เราจึงเลือกทำงานกับธุรกิจ กับนายจ้างก่อนเมื่อมีเคสเข้ามาร้องเรียน” สุธาสินีสรุป

ด้านเสถียร ตัวแทนจากมูลนิธิสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอว่า นอกจากการออกมาตรการดูแลแรงงานข้ามชาติภายในประเทศของรัฐและนายจ้าง รัฐบาลไทยควรให้การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 เรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวของแรงงานข้ามชาติ และฉบับที่ 98 เรื่องการรวมตัวแรงงานข้ามชาติและร่วมเจรจาต่อรองด้วย

“ถึงนายจ้างบางคนอาจบอกว่าไม่จำเป็น เราให้สวัสดิการกันเองได้ แต่ผมคิดว่านี่จะเป็นหลักประกันว่าจะมีการเจรจาต่อรองและสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้น”

เสถียรมองว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับแรงงานข้ามชาติ เกิดจากการสื่อสารความต้องการต่อกัน และ “นายจ้างจะหันมาดูแล ใส่ใจคนทำงานได้ ก็ต่อเมื่อมีมุมมองว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่ได้เป็นนายกับบ่าวไพร่ แต่เป็นหุ้นส่วนกัน”

ทั้งนี้ นายจ้างยังสามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการอื่นๆ ด้วยการออกมาส่งเสียง เป็นตัวอย่างให้แก่สังคม

“ถ้านายจ้างจริงใจ บอกว่าอยากเป็นนายจ้างที่ดี ต้องออกมาส่งเสียง เป็นตัวอย่างให้แก่นายจ้างคนอื่น ต้องออกมาพูดในฐานะสมาคม สภานายจ้าง ส่งเสียงพร้อมกันไปถึงรัฐบาลไทย” เสถียรทิ้งท้าย

 

จากประเทศไทย สู่ภาพ (ปัญหา) ใหญ่ระดับโลก

 

จากผลสำรวจของ ILO ที่ระบุว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-แปซิฟิกมีจำนวนรวมกันกว่า 11.6 ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ทำให้กล่าวได้ว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติกลายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขในระดับสากล โดย Giuseppe Busini รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องการค้ามนุษย์ และความรุนแรงทางเพศ ที่กระทำต่อเหล่าแรงงานข้ามชาติ

 

Giuseppe Busini รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (ภาพจาก ILO)

 

“นโยบายหลักของสหภาพยุโรป คือการสนับสนุนให้แรงงานเหล่านี้ได้รับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางสังคมในประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ” Busini กล่าว และเสริมว่านโยบายดังกล่าวของสหภาพยุโรปเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายข้อที่ 23 ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริม ช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้อพยพ หรือแรงงานข้ามชาติ ให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ มากขึ้น

“สหภาพยุโรปตระหนักว่าแนวทางดังกล่าวต้องถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริง จึงเป็นที่มาของโครงการ spotlight initiative  ซึ่งเป็นความร่วมมือของสหภาพยุโรปและสหประชาชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560” โครงการดังกล่าวเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างความตระหนักเรื่องการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในหลายประเทศ

“ในตอนนี้เรายังต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งมหาวิทยาลัย NGO หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปในทุกประเทศ” Busini สรุป

 

+หมายเหตุ +

ความเห็นบางส่วนจากงานเสวนาภาพยนตร์เรื่อง “Citizen” จัดโดย Center of Excellence for Public Policy and Good Governance ร่วมกับโครงการ Safe and Fair ภายใต้การดำเนินงานของ Spotlight Initiative ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 29 มกราคม 2563 CPG

 

[1] ข้อมูลจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เมื่อพฤศจิกายน 2562

[2] รายงานเรื่อง ทัศนคติต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ตามมิติด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านความมั่นคงของประเทศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉบับที่ 158 เดือนพฤศจิกายน 2562

[3] รายงานเรื่อง Public Attitudes Towards Migrant Workers in Japan, Malaysia, Singapore and Thailand ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่ปี 2019

[4] รายงานเรื่อง Changing Attitudes and Behavior Towards Women Migrant Workers in ASEAN ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เผยแพร่ปี 2018

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0