โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แรกใช้ “น้ำมัน” ในสยาม เมื่อ 130 ปีก่อน สั่งซื้อจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 08 ม.ค. 2565 เวลา 14.19 น. • เผยแพร่ 08 ม.ค. 2565 เวลา 14.18 น.
มิวเร็กซ์ เรือบรรทุกน้ำมัน
เรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของโลก ชื่อ

ไทยสั่งซื้อน้ำมันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยซื้อ “น้ำมันก๊าด” จากประเทศรัสเซีย เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทาง แทนการใช้น้ำมันพืช และไขสัตว์

แต่น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ก็มีข้อเสียคือ “ไวไฟ”

พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนย้าย การจำหน่าย และการจัดเก็บน้ำมันก๊าด โดยห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเก็บไว้ในสถานที่เดียวกันเกิน 80 แกลลอน

พ.ศ. 2434 การใช้น้ำมันเป็นพลังงานเริ่มหลายขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา (คือ กรมทรัพยากรธรณี ในปัจจุบัน) ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องถ่านหินและน้ำมันดิบ มีพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้บังคับบัญชาคนแรก

พ.ศ. 2435 มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือบริษัท รอยัลดัทช์และเซลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด)  โดยน้ำเข้านำมันก๊าดจากสิงคโปร์เข้ามาจำหน่าย

พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา(ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) เข้ามาเปิดทำธุรกิจค้าน้ำมันก๊าดเป็นบริษัทที่ 2 โดยมีการก่อสร้างคลังน้ำมันขึ้นด้วย

ระหว่าง พ.ศ. 2452-55 เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและผู้บังคับบัญชากรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา มีดำริจะออกสัมปทานให้ชาวต่างชาติมาทำบ่อน้ำ แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

พ.ศ. 2461 ชาวบ้านฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบน้ำมันไหลซึมขึ้นมาจากพื้นดิน เชื่อว่าเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธ์นำมาใช้ทาตัวเพื่อรักษาโรคต่างๆ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐทราบเรื่องจึงบัญชาให้ขุดเป็นบ่อตื้นๆ เพื่อกักน้ำมันไว้เรียกว่า “บ่อเจ้าหลวง”

พระเจ้าบรมวงศ์กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บังคับบัญชากรมการรถไฟหลวงทรงทราบเรื่องจึงทรงปรารภให้มีการสำรวจขุดเจาะน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรก โดยทรงสั่งเครื่องเจาะและจ้างชาวต่างชาติมาดำเนินการ คือ นายวาย บัวแยร์ เป็นนายช่างแร่ และนายอุดม เลิศวณิช ไปเจาะตรวจน้ำมันในบริเวณบ่อเจ้าหลวง นอกจากนี้ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจหาน้ำมันที่จังหวัดปัตตานี โดยได้ติดต่อกับ บริษัท เอเชียติค ปิโตรเลียม (ไม่ทราบว่ารายงานผลการสำรวจทั้ง 2 แห่ง อยู่ที่ใด

พ.ศ. 2464 กรมรถไฟหลวง ได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน สำรวจน้ำมันที่อำเภอกุฉินารายร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีโครงสร้างลักษณะภูมิประเทศเป็นแหล่งสะสมปิโตรเลียมอยู่ใต้ดิน

พ.ศ. 2466 กรมรถไฟหลวง ได้เจาะสำรวจพบน้ำมันดิบในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่ทราบปริมาณน้ำมันที่พบแน่นอน

พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อกำเนินการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจัดตั้งถังเก็บน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนการว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวสวิส สำรวจหาแหล่งน้ำมันในประเทศ  จากนั้นก็มีการสร้างคลังน้ำมันขึ้นที่ช่องนนทรี กรุงเทพฯ มีถังบรรจุนำมัน 9 ถัง รวมความจุ 5 ล้านแกลลอน และมีการสั่งต่อเรือบรรทุกสำหรับน้ำมันและถ่ายน้ำมัน จากประเทศญี่ปุ่น 1 ลำ ชื่อ “สมุย” ระวางขับน้ำ 1,854 ตัน ความเร็ว 12 น็อต

พ.ศ. 2480 แผนกเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม ยกฐานะขึ้นเป็น กรมเชื้อเพลิง โดยเริ่มจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน

พ.ศ. 2489 หลังสงครามครั้งที่โลกยุติ รัฐบาลยุบกรมเชื้อเพลิงโดยขายกิจการและสินทรัพย์ให้เอกชน

พ.ศ. 2481 กรมทางหลวงแผ่นดินได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับช่วงการสำรวจน้ำมันแทนกรมรถไฟหลวง โดยเจาะหลุมตื้น 15-25 เมตร ในบริเวณที่พบน้ำมันดิบลุ่มแอ่งฝ่าง พบน้ำมันดิบในสภาพของทรายน้ำมัน กรมทางหลวงแผ่นดินทดลองกลั่นทรายน้ำมันได้ 310 บาเรล โดยดำเนินงานถึงพ.ศ. 2487 เห็นว่าไม่ได้รับผลสำรวจเพิ่มเติม จึงระงับโครงการ

พ.ศ. 2497 รัฐบาลว่าจ้างบริษัทเอกชนจากประเทศอังกฤษ บินสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแถบจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเจาะหลุมสำรวจ 3 แห่ง การสำรวจดำเนินต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2502 ก็ยังไม่พบร่องรอยใดๆ รัฐบาลจึงเลิกล้มการสำรวจน้ำมันเองเพราะต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีสูง มาเป็นการร่วมลงทุน โดยเชิญต่างประเทศมาลงทุนและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย

พ.ศ. 2499 รัฐบาลมีมติจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังผลิตสูงสุด 1,000 บาเรล/วัน

พ.ศ.2502  ตั้งโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เป็นโรงกลั่นแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 5,000 บาเรล/วัน

พ.ศ. 2505 รัฐบาลเชิญต่างประเทศมาร่วมลงทุนสำรวจและและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย มีบริษัท ยูเนียน ออยล์ ออฟ ไทยแลนด์ จำกัด ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทแรก โดยเข้ามาทำการสำรวจที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พ.ศ. 2508 จัดตั้งองค์การเชื้อเพลิงเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศ

พ.ศ. 2516 บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เจาะสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรกที่ แหล่งเอราวัณ

พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี จัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี จัดตั้ง ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ขึ้นโดยรวมองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับระยะที่ทั่วโลกกำลังเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน

แต่ประเทศไทย กำลังเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชชวาล” เพราะ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ”

ข้อมูลจาก

ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์. “100 ปี ‘น้ำมัน’ ในสยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2532.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0