โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

แม่เป็น มะเร็งเต้านม แล้วลูกต้องเป็นด้วยหรือไม่?

MThai.com

เผยแพร่ 17 ธ.ค. 2561 เวลา 04.00 น.
แม่เป็น มะเร็งเต้านม แล้วลูกต้องเป็นด้วยหรือไม่?
หลายคนเข้าใจว่า หากมีพ่อแม่เป็นโรคมะเร็ง แล้วเราจะได้รับผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะ มะเร็งเต้านม ที่สาวๆ กลัวกัน มาหาคำตอบกันค่ะ

หลายคนเคยได้ยินและเข้าใจว่า หากเรามีพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวเป็น โรคมะเร็ง จะทำให้เราได้รับโรคนั้นผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปโดยปริยาย โดยเฉพาะสาวๆ ที่กลัวการเป็นโรค มะเร็งเต้านม กันมาก แต่แท้จริงแล้วมันมีข้อมูลมากกว่านั้น เราลองมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ

โรคมะเร็ง ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หรือไม่?

โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของยีนที่ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ แต่ความผิดปกตินี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว โดยจะพบได้ว่า มีโรคมะเร็งเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เนื่องจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นเกิดจากพ่อและแม่อย่างละครึ่งหนึ่ง โดยเป็นการส่งผ่านโครโมโซมจากพ่อและแม่มายังลูก ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นมะเร็งทางพันธุกรรมคือ 50:50

การที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง หมายความว่า ลูกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว แต่ต้องไม่ลืมว่าโรคมะเร็งส่วนใหญ่มาจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เมื่อเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ความเสี่ยงต่อโรคก็ย่อมลดลงเช่นเดียวกัน

สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม

สาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมก็คือ มิวเตชั่น (mutation) หรือความผิดปกติในรหัสพันธุกรรมของยีน BRCA ยีนนี้มีสองตัวคือ BRCA1 และ BRCA2 หน้าที่หลักของมันคือ ซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายให้กลับสู่ปกติ เมื่อรหัสในดีเอ็นเอของยีนสองตัวนี้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำงานผิดปกติ ดีเอ็นเอที่เสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมทำให้มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่สูงขึ้น

โดยปกติแล้วคนเราเกิดมาจะได้รับรหัสพันธุกรรมหรือ “พันธุ์” สองชุดที่เราเรียกกันว่าดีเอ็นเอ ชุดแรกเราได้มาจากแม่ ส่วนอีกชุดมาจากพ่อ ความผิดปกติของยีน BRCA สามารถถ่ายทอดได้ทั้งทางพ่อและทางแม่ ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวไม่ว่าทางสายพ่อหรือสายแม่เป็นมะเร็งเต้านม ก็บ่งบอกว่าอาจมียีน BRCA ที่ผิดปกติในครอบครัวนั้นๆ และคนที่ได้รับยีนที่ผิดปกตินี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเกือบร้อยละ 90 และมะเร็งรังไข่ร้อยละ 50
นี่เป็นสาเหตุที่แอนเจลิน่า โจลี่ เลือกที่จะตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมออก หลังจากที่ตรวจพบความผิดปกติในยีน BRCA1 เพราะเธอมีประวัติคุณยายเป็นมะเร็งรังไข่ ส่วนคุณแม่เป็นทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ต่อมาเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มาก

อย่างไรก็ดี พบว่าสาเหตุของมะเร็งเต้านมที่เกิดจากพันธุกรรมพบเพียงแค่ 1 ใน 10 ในชาวตะวันตก และประมาณการว่าอาจน้อยกว่านี้ในคนไทย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การตั้งครรภ์ การได้รับฮอร์โมนเสริม อาหาร และแม้กระทั่งไลฟ์สไตล์ก็มีผลต่อการเพิ่มหรือลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง

ประวัติทางครอบครัวที่บ่งชี้ว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ได้แก่

  • มีญาติใกล้ชิดสายตรง (มารดา บุตรสาว พี่สาว หรือน้องสาว) อย่างน้อย 2 คน เป็นมะเร็งเต้านมโดยที่มีอย่างน้อย 1 คนหรือ เป็นโรคเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี
  • มีญาติใกล้ชิด หรือญาติลำดับต่อมา (ย่า ยาย ป้า น้า หรืออา) อย่างน้อย 3 คนเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีญาติใกล้ชิดหรือญาติลำดับต่อมาเป็นมะเร็งเต้านม และมีญาติใกล้ชิดหรือญาติลำดับต่อมาเป็นมะเร็งรังไข่ (1 คนเป็นมะเร็ง 1 ชนิด)
  • มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง
  • มีญาติใกล้ชิดหรือญาติลำดับต่อมาอย่างน้อย 2 คนเป็นมะเร็งรังไข่
  • มีญาติใกล้ชิดหรือญาติลำดับต่อมาเป็นทั้งมะเร็งเต้านมและรังไข่
  • มีญาติเพศชายที่เป็นมะเร็งเต้านม

2% จากประชากรทั้งหมดมีประวัติทางครอบครัวดังกล่าวมานี้ ซึ่งถ้าไม่มีประวัติเหล่านี้ ก็จะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีประวัติครอบครัวดังกล่าว การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ รักษาสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พบแพทย์ปีละครั้งและตรวจแมมโมแกรมน่าจะเป็นวิธีป้องกันมะเร็งเต้านมได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีการตรวจยีนแบบ next generation sequencing โดยอาศัยการตรวจจากน้ำลาย ส่งผลให้ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการตรวจในปัจจุบันลดลงเป็นอย่างมาก และการตรวจสามารถลดระยะเวลาในการตรวจลงได้จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 6-12 เดือน สามารถลดระยะเวลาเหลือเพียง 1-2 สัปดาห์ ความแม่นยำในการตรวจพบตำแหน่งผิดปกติต่างๆ สามารถทำได้แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถตรวจยีนผิดปกติได้หลายๆ ตำแหน่งในครั้งเดียวกัน ส่งผลให้สามารถตรวจความผิดปกติของยีนหลายๆ ตัวไปพร้อมกัน ซึ่งหมายความว่าสามารถตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงมะเร็งเต้านมเท่านั้น ดังนั้นอาจเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่มีความกังวลว่าตนเองจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด สามารถเข้ารับการตรวจได้

คลิป > สาวๆ ควรเช็ก อาการผิดปกติแบบไหน เสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านม

https://seeme.me/ch/health/kK33av

ที่มา : นพ. วรเทพ กิจทวี โรงพยาบาลสมิติเวช

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0