โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แม่น้ำไนล์ แหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์

The Momentum

อัพเดต 21 เม.ย. 2562 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 21 เม.ย. 2562 เวลา 08.05 น. • คณา คชา

In focus

  • หากอยากทำความรู้จักอียิปต์ให้ดี ควรจะล่องเรือไปตามแม่น้ำไนล์ เพื่อชมอารยธรรมความเจริญในอดีตตั้งแต่การค้าขายตามริมแม่น้ำ และวิหารสำคัญต่างๆ
  • ผู้เขียนเริ่มต้นล่องแม่น้ำไนล์โดยขึ้นเรือสำราญที่เมืองอัสวานและไปจบที่เมืองลักซอร์
  • วิหารสำคัญๆ ที่ควรแวะชมเช่น วิหารอาบูซิมเบล และ วิหารฟิเล เป็นต้น รวมทั้งหุบเขากษัตริย์ และหุบเขาราชินี

 

 

 

ร้อน แห้งแล้ง ฝุ่นเยอะ คนวุ่นวาย

ดูจะเป็นคำจำกัดความที่ใครต่อใครยกให้อียิปต์

ทว่ายังมีอีกคำหนึ่งนั่นคือ พีระมิด และคำนี้เองที่มีพลัง ที่ทำให้ใครต่อใครอยากจะเห็นพีระมิด สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ของโลกยุคเก่า โดยลืมคำจำกัดความด้านบนสุดไปโดยปริยาย เพราะแม้จะผ่านวันเวลามานานนับพันปี พีระมิดยังคงยืนหยัดก่อให้เกิดประเด็นสงสัยถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ในสภาพแวดล้อมยุคนั้น

ฉันเยือนถิ่นไอยคุปต์ (คำเรียกอียิปต์สมัยโบราณ) ด้วยการใช้เวลาส่วนใหญ่ล่องอยู่ในแม่น้ำไนล์ แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลก โดยเริ่มต้นที่เมืองอัสวาน (Aswan) เลื่อนไหลไปตามสายน้ำที่เคลื่อนจากทางทิศใต้มุ่งสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ทางทิศเหนือ การไหลเคลื่อนนี้ดูจะค้านความคุ้นชินที่ว่า น้ำควรจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ นั่นคือควรไหลจากทางทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ หากในความจริงดินแดนที่อยู่ทางตอนใต้ของอียิปต์นั้นสูงกว่าทางตอนเหนือ สายน้ำจึงไหลจากทางทิศใต้สู่ทิศเหนือ และชาวอียิปต์เรียกพื้นที่ทางตอนใต้ของพวกเขาว่า Upper Egypt ขณะที่เรียกพื้นที่ทางตอนเหนือว่า Lower Egypt

การล่องเรือผ่านดินแดนอียิปต์ตอนใต้ของฉัน สิ้นสุดลงที่เมืองลักซอร์ (Luxor) ก่อนที่จะเปลี่ยนพาหนะเป็นรถไฟเที่ยวกลางคืนเข้าสู่เมืองไคโร เพื่อปิดทริปการเดินทางที่พีระมิดแห่งเมืองกิซา

เรือสำราญขณะจอดเทียบท่าบนแม่น้ำไนล์

ขณะอยู่บนเรือ แลเห็นบ้านเมืองริมฝั่งแม่น้ำสองฟาก ภาพบรรยากาศความร้อน แห้งแล้ง ฝุ่นเยอะ ความวุ่นวายที่มีคนบรรจงวาดให้หัวเราไว้มีทั้งส่วนที่เหมือนและไม่เหมือน

เวลานั้นเป็นช่วงฤดูหนาว อากาศช่วงกลางวันประมาณสิบกว่าองศา แม้แดดจะจัด แต่กลับเย็นสบายไม่มีเหงื่อ ฝุ่นทรายที่ปลิวพัดผ่านจึงไม่ติดตัวให้เหนอะหนะ

ทิวทัศน์สองข้างทางนั้นแปลก  ขณะอยู่ในเขตเมืองอัสวาน ฝั่งด้านหนึ่งเป็นหน้าผาลาดกว้าง เต็มไปด้วยเนินทรายที่ละเอียดนุ่ม ทรายละเอียดที่ก่อตัวเป็นเนินเหล่านั้นเคลื่อนตัวช้าๆ อย่างนุ่มนวลจากแรงลมและแรงโน้นถ่วง หากไม่เห็นควันทรายที่คุ้งละเอียดลอยขึ้นมาคล้ายภาพลวงตาจะดูไม่ออกเลยว่าเม็ดทรายที่ก่อตัวเป็นเนินทรายเหล่านี้มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา

ขณะที่ฟากหนึ่งกลับเป็นพื้นที่สีเขียว และแปรเป็นเขียวทั้งสองด้านเมื่อเริ่มเข้าสู่เมืองลักซอร์

ฉันว่านี่เป็นการเลือกวิธีเดินทางที่ใช่…โดยไม่รู้ตัว

หน้าผาลาดกว้างที่เต็มไปด้วยเนินทรายละเอียดนุ่ม

เนินทรายละเอียดนุ่ม

ควันทรายที่ลอยคุ้ง

แรกนั้นฉันเลือกที่จะเดินทางโดยล่องเรือไปตามแม่น้ำไนล์ด้วยความอยากง่ายๆ ว่าไม่เคยเดินทางด้วยเรือสำราญมาก่อน และยิ่งเป็นเรือสำราญที่ล่องบนแม่น้ำไนล์นี่ดูเท่ไม่หยอก แต่เมื่อได้เดินทางเข้าจริง ๆ จึงรู้ว่านี่เป็นการเลือกเดินทางสัมผัสอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ที่ถูกต้อง และใช่อย่างที่สุด โดยไม่ได้ตั้งใจ

การล่องเรือทำให้ได้เห็นสภาพของแม่น้ำไนล์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ใจกลางทวีปแอฟริกาว่าก่อให้เกิดอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองในอียิปต์ได้อย่างไร

พื้นที่ด้านหนึ่งนั้นเป็นสีเขียวขณะที่อีกด้านเป็นทะเลทราย

ในช่วงฤดูร้อนหิมะที่ละลายและฝนที่ตกหนักในพื้นที่ราบสูงเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ ได้เติมมวลน้ำมหาศาล ทำให้สองฟากฝั่งของแม่น้ำไนล์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน น้ำท่วมหนัก ก่อนที่จะลดลงในเดือนตุลาคม ทิ้งตะกอนและธาตุอาหารอันสมบูรณ์ไว้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลมาลงหลักปักฐานอยู่อาศัยสองฟากแม่น้ำอย่างถาวร

นอกจากจะนำพาความอุดมสมบูรณ์สู่ดินแดน แม่น้ำไนล์ ยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีทะเลทรายอันกว้างใหญ่เป็นป้อมปราการป้องกันศัตรูที่จะเข้ามารุกราน นับเป็นภูมิประเทศที่พิเศษและทำให้อาณาจักรอียิปต์รุ่งเรืองต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 3,000 ปี

ความสมบูรณ์จากริมฝั่งแม่น้ำสะท้อนให้เห็นในตลาด

ช่วงกลางคืนและช่วงบ่ายที่มีเวลาเหลือพอ การออกจากเรือขึ้นฝั่งไปเดินตลาดเป็นเรื่องสนุก ตลาดที่นี่ส่วนใหญ่เดินสะดวกเพราะเป็นถนนคนเดิน ใครกันบอกว่าพ่อค้าชาวอียิปต์ช่างตื้อหนักหนา เตือนกันนักอย่าได้ปรายตามอง หยิบจับข้าวของ หรือถามไถ่ราคาโดยเด็ดขาด เพราะจะโดนตามติดจนไปไหนไม่ได้  แต่ที่พบเจอเข้าจริงไม่เป็นแบบนั้น พ่อค้า แม่ขายต่างขายของกันตามปกติ เชิญชวนและตื้อพอประมาณเหมือนคนขายของทั่วไป ไม่ซื้อก็ไม่ว่ากล่าวอะไรกัน นั่นทำให้จากที่เดินตัวเกร็งในช่วงแรก เปลี่ยนเป็นผ่อนคลาย และเริ่มสนุกกับการถามไถ่และต่อรองราคา

ผักและผลไม้ขนาดใหญ่ สีสันสดใส สตรอว์เบอร์รีลูกใหญ่ ส้มแมนดาริน ส้มซันควิสสีส้มเหลืองอร่าม  ผักกระหล่ำปลีหัวใหญ่อย่างไม่เคยเห็น ช่างผิดจากภาพที่จินตนาการไว้

เจ้าผลไม้สดเหล่านี้ถูกจัดเป็นอาหารตบท้ายทุกมื้อบนเรือ แถมยังมีผลอินทผาลัมสดให้กินอย่างไม่อั้นทั้งที่ไม่ใช่หน้าของมัน เพราะที่นี่จะเก็บผลอินทผาลัมสดแช่แข็งไว้ ทำให้มีผลสดกินตลอด

แผงผลไม้ในตลาด

มะเขือเทศลูกโต

ร้านขายเครื่องเทศต่างๆ

เพราะอารยธรรมรุ่งเรืองก่อกำเนิดริมแม่น้ำไนล์ วิหารสำคัญต่างๆ ที่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันจึงอยู่ชิดใกล้สายน้ำเสียส่วนใหญ่ การสัญจรโดยแม่น้ำไนล์จึงอำนวยความสะดวกให้เยือนสถานที่เหล่านั้นโดยง่าย

เริ่มจากวิหารอาบูซิมเบล (Abu Simbel) วิหารขนาดใหญ่ที่ฟาโรห์รามเสสที่ ๒ (Ramses II) แห่งยุคราชอาณาจักรใหม่ สร้างขึ้นตรงชายแดนเมืองอัสวานติดกับประเทศซูดาน ซึ่งเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวนูเบียน (Nubien) ชนชาติเก่าแก่ในยุคเดียวกัน เพื่อแสดงแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่ข่มชาวนูเบียนที่คิดจะก่อกบฏแยกตัวออกห่างให้ยำเกรง

วิหารฟิเล (Philae) วิหารที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีไอซีส (Isis) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และผู้ให้กำเนิด ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองอัสวาน

วิหารคอมออมโบ (Kom Ombo) เมืองคอมออมโบ สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพเหยี่ยวฮอรัส (Horus) และเทพจระเข้โซเบก (Sobek) วิหารแห่งนี้เป็นวิหารสักการะแฝด มีวิหารเทพฮอรัสอยู่ทางทิศเหนือ และวิหารเทพโซเบกอยู่ทางทิศใต้

วิหารฮอรัส เมืองเอ็ดฟู  (Edfu) วิหารบูชเทพเหยี่ยวฮอรัส และเทพีฮาธอร์ (Hathor) เทพีแห่งความรักและดนตรี ผู้เป็นชายาแห่งเทพเหยี่ยวฮอรัส

วิหารคาร์นัก (Karnak) และวิหารลักซอร์ (Luxor) วิหารที่เคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและภูมิปัญญาของอารยธรรมอียิปต์ในยุคราชอาณาจักรใหม่ ตั้งอยู่เมืองลักซอร์

ในเมืองลักซอร์ยังมีวิหารและสถานที่ที่สำคัญอื่นอีกหลายแห่ง ได้แก่วิหารพระนางฮัตเช็ปสุต (Hatshepsut)  ซึ่งเป็นวิหารประกอบพิธิศพของฟาโรห์หญิงฮัตเช็ปสุต ซึ่งนักวิชาการเรียกขานกันว่า ‘ราชินีมีเครา’ เพราะเป็นสตรีที่ได้ขึ้นครองบังลังก์เป็นฟาโรห์ และสวมเคราปลอมที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจแบบเดียวกับฟาโรห์องค์อื่น

รูปปั้นมหึมาเมนอน (Menon)  รูปปั้นขนาดใหญ่ที่เป็นผู้พิทักษ์ตรงทางเข้าสู่สุสานฟาโรห์อาเมนโฮเทป (Amenhothp ) ที่ ๓ ก่อนถึงทางเขาหุบเขาษัตริย์

และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ หุบเขากษัตริย์ และหุบเขาราชินี ซึ่งเป็นสุสานของเหล่ากษัตริย์ และราชินี ในยุคราชอาณาจักรใหม่อียิปต์  รวมถึงสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี ก็ถูกค้นพบที่นี่

*วิหารฟิเล (Philae) *

ถึง ณ ตอนนี้ ยังไม่ต้องตามรอยอารยธรรมอียิปต์ริมแม่น้ำไนล์ไปไหนไกล แค่อยู่บนดาดฟ้าเรือมองออกไปรอบๆ จะพบเห็นเรือมากมายสัญจรไปมาบนแม่น้ำสายนี้ และในบรรดาเรือเหล่านั้นจะพบเห็นเรือใบท้องถิ่นที่เรียกว่าเฟลูกา (Felucca)  แล่นพานักท่องเที่ยวชมวิวสองข้างทางให้เห็นมากมาย ว่ากันว่าเจ้าเรือเฟลูกามีมาตั้งแตสมัยอียิปต์โบราณ เพราะรูปลักษณ์ของเจ้าเฟลูกาแทบไม่ต่างจากเรือใบทรงโมเดิร์นในยุคปัจจุบัน และอาศัยแค่แรงลมก็แล่นฉิวได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องยนต์

ใกล้ๆ กับเมืองลักซอร์ เรือสำราญจะแล่นผ่านประตูน้ำอีสนาล็อค (Esna Lock) ที่ต้องต่อคิวกันผ่านประตูน้ำไปทีละลำ ช่วงนี้เองที่ไกด์เรียกพวกเราให้ขึ้นไปบนดาดฟ้า เรือขายของหลายลำ แล่นรายล้อมเรือสำราญ พ่อค้าเปิดฉากการขายของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยวที่อยู่บนดาดฟ้าอย่างสนุกสาน

เรือเฟลูกาแล่นพานักท่องเที่ยวชมวิว

อาจจะสงสัยว่านักท่องเที่ยวยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือ ขณะที่เรือขายของอยู่บนเรือแจวเล็กๆ บนผิวน้ำ จะขายของกันได้อย่างไร

แต่ระยะห่างทางแนวตั้งไม่ใช่อุปสรรค

คนขายจะหยิบของที่ต้องการจะขาย ส่วนใหญ่เป็นผ้าปูโต๊ะผืนใหญ่ๆ เสื้อพื้นเมืองกางโชว์ พร้อมตะโกนบอกราคา นักท่องเที่ยวจะสนใจหรือไม่สนใจ ก็จะโยนสินค้าทั้งถุงขึ้นมาบนดาดฟ้า ท่ามกลางเสียงร้องเฮ หัวเราะของนักท่องเที่ยว หากหยิบสินค้าขึ้นมาดูแล้วถูกใจก็ต่อรองราคากัน เมื่อตกลงใจที่จะซื้อ คนขายจะโยนถุงใส่ของขึ้นมา ให้ลูกค้าใส่เงินในถุงโยนกลับลงไป ถ้าไม่ถูกใจก็โยนสินค้ากลับลงไปให้

เรือแล่นเข้ามาขายของ บริเวณประตูน้ำอีสนาล็อค

พ่อค้าถือสินค้าโชว์

สนุกสนานเชียวละ ถึงจะไม่ได้เป็นลูกค้า แค่ยืนดูมหกรรมการซื้อขายก็เพลินแล้ว

นี่ยังอยู่ต้นทางที่ Upper Egypt  ก็ตื่นเต้นกับดินแดนแห่งนี้นักหนาแล้ว  กว่าจะเดินทางขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนได้เห็นพีระมิด ซึ่งอยู่ทาง Lower Egypt ตอนนั้นจะตื่นตาตื่นใจกับดินแดนแห่งนี้อีกกี่ครั้ง กี่รอบกันเชียว

เครดิตรูปภาพ : krispm3

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0