โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แม่น้ำโขง : เกิดอะไรขึ้นกับไทย เมื่อจีนและลาวไม่ระบายน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง

Khaosod

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 10.26 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 09.08 น.
_107974631_67248252_48330-f3a693d3444aa8e161d5eee135082b1d9b27c498

แม่น้ำโขง : เกิดอะไรขึ้นกับไทย เมื่อจีนและลาวไม่ระบายน้ำจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง – BBCไทย

สภาพที่แห้งขอดของแม่น้ำโขงในช่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว รวมถึงแม่น้ำโขงใน จ. เลย บึงกาฬ และนครพนม ที่ลดระดับลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แม้เป็นฤดูฝน เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปี ไม่ได้มีสาเหตุทางธรรมชาติจากปริมาณฝนที่น้อยลงเพียงอย่างเดียว

เขื่อนในจีนลดการระบายน้ำ และการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนไซยะบุรีใน สปป. ลาว ที่ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ไปประมาณ 200 กิโลเมตร เป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในขั้นวิกฤต

นอกจากนี้ แม่น้ำโขงตอนบนของประเทศไทยช่วงที่ไหลผ่าน 3 อำเภอของ จ.เชียงราย ต่อเนื่องมาจากเมียนมาและลาว ก็ลดระดับลงอย่างมากเช่นกัน เป็นสภาพความผันผวนของแม่น้ำที่ชาวบ้านริมน้ำโขงพบกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มาเกือบ 20 ปี แล้ว

อะไรคือ ผลกระทบที่เกิดจากการลดลงของแม่น้ำโขงและนี่เป็นสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นชั่วคราวหรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก

*เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง *

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ถึงปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วว่า เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาน้อยกว่าปกติทั้งในจีน ลาว และไทย

ปัจจัยต่อมา ได้แก่ เขื่อนจิ่งหง ที่กั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ลดระดับการระบายน้ำ ซึ่งทางการจีนได้แจ้งอย่างเป็นทางการมายังไทยว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำในช่วงวันที่ 9-18 ก.ค. เนื่องจากการดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ

ปัจจัยสุดท้ายที่กระทบแม่น้ำโขงในภาคอีสานโดยตรง คือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของ สปป. ลาว

สทนช. ระบุในหนังสือที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนว่า เขื่อนไซยะบุรีมีการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค. โดย “เก็บกักน้ำบางส่วน” ในช่วงวันที่ 9-17 ก.ค. จึงทำให้แม่น้ำโขงในประเทศไทยแห้งลงตั้งแต่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม ใน จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่แรกที่แม่น้ำโขงไหลจากลาวเข้าไทย ไปจนถึง จ.หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม บางช่วงน้ำลดระดับจนเห็นสันดอนทราย และเกาะแก่งกลางแม่น้ำ

และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. จึงจะทดสอบเครื่องปั่นไฟ ซึ่งจะส่งผลให้แม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมาสูงขึ้น 40-50 ซม.

เมื่อเกิดผลกระทบฉับพลัน ทาง สทนช. ได้ทำหนังสือด่วนผ่านไปยังคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เพื่อให้ สปป.ลาว ชะลอการทดสอบระบบออกไป 2-3 วัน เพื่อรอให้ให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวานนี้ (22 ก.ค.) สทนช. ระบุว่า ขณะนี้ทางลาวได้เริ่มระบายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี เพื่อใช้ในการปั่นกระแสไฟฟ้าตามปกติ ส่วนจีนได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำกลับมาในปริมาณเกือบเท่าเดิมแล้ว แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงต้นเดือน มิ.ย.

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการประสานงานจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ออกเอกสารชี้แจงสถานการณ์ระดับน้ำเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งเป็นต้นฤดูน้ำหลาก มีระดับต่ำสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยลดลงต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุดในอดีต แต่คาดการณ์การว่า สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุอีกว่า ระดับน้ำของแม่น้ำโขงทางตนบนของไทย ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึง เมืองหลวงพระบางของ สปป.ลาว ลงมายังนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านหนองคาย ไปจนถึงเมือง เนียะเลิง ของกัมพูชา ต่ำสุดตั้งแต่ที่มีการบันทึกไว้เมื่อปี 2535 ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี

MRC ยกตัวอย่างระดับน้ำที่วัดได้ที่ อ.เชียงแสน อยู่ที่ 2.10 เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ยในรอบ 57 ปี ที่ 3.02 เมตร ในช่วงเวลาเดียวกันของปี และต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่เคยวัดได้ประมาณ 0.75 เมตร

*เขื่อนในจีนลดระบายน้ำ – เขื่อนในลาวทดสอบเดินเครื่องไฟฟ้า กระทบอย่างไรต่อไทย *

ในเชิงภูมิศาสตร์ แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่เป็นทรัพยากรร่วมกันหลายประเทศ การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง การกักเก็บ เพิ่ม หรือลดการระบายน้ำ จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของประเทศอื่นที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) อธิบายกับบีบีซีไทยว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงระยะนี้ เกิดขึ้นในสองพื้นที่ของไทย คือ ช่วง จ. เชียงราย ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจิงหงของจีน อยู่ห่างจากไทยราว 340 กิโลเมตร

และผลกระทบจากการทดสอบเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงและอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงในภาคอีสานของไทยแค่เพียง 195 กิโลเมตร นี่เป็นที่มาของวิกฤตน้ำแห้งในแม่น้ำโขง

เธอกล่าวว่าการที่น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างรวดเร็วทำให้สัตว์น้ำอย่าง ปลา กุ้ง หนีลงแม่น้ำสาขาไม่ทัน

เพียรพรกล่าวว่า ภาวะที่น้ำโขงแห้งลงอย่างรวดเร็วเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เกิดจากทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีเป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายในเชิงพาณิชย์จะมีกำหนดเริ่มต้นในเดือน ต.ค. นี้

“มาเร็วกว่าที่คิดเยอะ ไม่คิดว่า (ปัญหา) จะโผล่มาเร็วขนาดนี้” เพียรพร กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดกับแม่น้ำโขง และ ในอนาคตเมื่อมีการผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ จะไม่ใช่แค่การแห้งลงของแม่น้ำ แต่มีเรื่องความผันผวนของการขึ้นลงของแม่น้ำจากการระบายน้ำของเขื่อนด้วย

เขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป. ลาว มีบริษัทซีเค พาวเวอร์ จำกัด เครือ ช.การช่าง เป็นผู้ก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จและขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปลายปีนี้ ขณะนี้ตัวโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 99.3

ภาพแม่น้ำโขงที่บันทึกจากริมฝั่งของนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ฝั่งตรงข้ามจุดนี้คือ จ. หนองคายของประเทศไทย
ภาพแม่น้ำโขงที่บันทึกจากริมฝั่งของนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ฝั่งตรงข้ามจุดนี้คือ จ. หนองคายของประเทศไทย

ผอ. รณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ยังตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบของการดำเนินการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีที่ทางบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ระบุว่า เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน และเป็นกระบวนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ปราศจากการกักเก็บน้ำ ว่าจริง ๆ แล้ว เขื่อนแบบน้ำไหลผ่านทุกโครงการจะมีการควบคุมการเก็บกักและปล่อยน้ำ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนริมแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่บริษัท ซีเค พาวเวอร์ เครือ ช.การช่าง ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. และได้ออกเอกสารชี้แจง โดยยืนยันว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นลักษณะ “ฝายทดน้ำขนาดใหญ่” เขื่อนน้ำผ่านหรือ “run-of-river” ซึ่งไม่ได้กักน้ำ จึงไม่ใช่ต้นเหตุทำให้น้ำโขงน้อยกว่าปกติ

“โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีก่อสร้างในรูปแบบ Run-of-River หรือฝายทดน้ำขนาดใหญ่ ปราศจากอ่างเก็บน้ำเหนือโรงไฟฟ้าและไม่มีการกักเก็บน้ำในตอนบนของฝายขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้า เรียกว่า น้ำทุกหยดไหลมาเท่าไหร่ก็ผ่านไปเท่านั้นและเกิดเป็นไฟฟ้าสะอาดส่งจากไซยะบุรีไปยังประเทศไทยและใช้ภายใน สปป.ลาว” เอกสารชี้แจงของ ช.การช่างระบุ

นอกจากนี้บริษัทยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำแล้งในแม่น้ำโขงเกิดจากการการที่เขื่อนในจีนไม่ปล่อยน้ำ

“การหยุดผลิตกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนในจีน อันเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านการดูแลเครื่องปั่นไฟ หรือ การซ่อมบำรุงโดยไม่ปล่อยน้ำออกมาจากทางน้ำล้น (spillway) และเลือกที่จะกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนนั้นๆ ส่งผลให้ประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนใต้ ต้องเผชิญกับภาวะน้ำในแม่น้ำโขงลดปริมาณลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา”

ช.การช่างได้อ้างรายงานของ MRC ที่ระบุว่าเขื่อนจิ่งหงได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำจากประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที เหลือ 500 ลบ.ม./วินาที เหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยปล่อย จึงมีผลให้ปริมาณการปล่อยน้ำจากจีนสู่ลำน้ำโขงเหนือน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีลดลงเป็นสัดส่วนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำที่จะผ่านมาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

*ระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร วงจรชีวิตสัตว์น้ำเสียหาย *

ซากของปลาตัวเล็ก ตัวน้อย บางตัวมีไข่ในท้อง ขึ้นลอยตายอยู่ในแอ่งน้ำตื้นในแม่น้ำโขงที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ที่ถูกบันทึกภาพเมื่อวันที่ 19 ก.ค. คือ ส่วนหนึ่งของความเสียหายทางระบบนิเวศของแม่น้ำโขงครั้งนี้

ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง ชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสียหายอย่างรุนแรงในแง่ระบบนิเวศ เพราะว่าถิ่นอาศัยหากินของสัตว์น้ำถูกทำลาย เช่นที่ อ. สังคม ป่าที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งเป็นป่าไคร้ เสียหาย ร้อยละ 60 ส่วนสัตว์น้ำประเมินไม่ได้เลย เพราะมีทั้งสัตว์เล็ก ใหญ่ และเป็นปลาที่วางไข่

นักวิชาการ ม. มหาสารคาม อธิบายว่า ระบบนิเวศสองฝั่งน้ำโขงในแถบอีสาน เป็นระบบนิเวศจำพวกป่าบุ่ง ป่าทาม ไม้พุ่ม ตะไคร่น้ำ ทำหน้าที่เป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ในหน้าแล้งช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ป่าจำพวกนี้สามารถปรับตัวได้เมื่อฤดูฝนแต่เมื่อน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ยืนต้นตาย

“ผมเรียกได้ว่ามันเป็น genocide (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) เสียหายหนักมาก อาจจะไม่มีโอกาสฟื้น เพราะว่าหลังจากนี้วันที่ 29 ต.ค. เขื่อนไซยะบุรีจะผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์”

ส่วนผลกระทบแก่ชาวบ้าน กลุ่มที่เสียหายอย่างมากคือ ประมงพื้นบ้าน ชุมชนที่พึ่งพาแม่น้ำเป็นแหล่งโปรตีนที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ ซึ่ง ดร.ไชยณรงค์ ประเมินว่า ความเสียหายน่าจะกินวงกว้างไปถึงแม่น้ำโขงในช่วง จ.อุบลราชธานี

*สูบน้ำผลิตน้ำประปาไม่ได้ – ผลกระทบต่อลำน้ำสาขา *

น้ำโขงลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แพสูบน้ำดิบ ไม่สามารถสูบน้ำดิบเพื่อมาผลิตน้ำประปาได้ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดจ่ายน้ำ ส่งผลกระทบ น้ำไหลอ่อนถึงไม่ไหล ทั่วทั้งพื้นที่จ่ายน้ำ เป็นข้อความที่การประปาส่วนภูมิภาค หนองคาย โพสต์แจ้งข้อมูลกับประชาชนบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา

การลดระดับลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ยังเกิดกับฝั่งของนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป. ลาว ในช่วงเดียวกัน รัฐวิสาหกิจน้ำประปานครหลวงเวียงจันทน์ ออกหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ว่า แม่น้ำโขงมีระดับต่ำมากทำให้โรงผลิตน้ำประปาทำการผลิตน้ำได้ไม่เต็มที่ และแจ้งให้ประชาชนชนกักเก็บน้ำในครัวเรือนให้เพียงพอจนกว่าสถานการณ์น้ำจะกลับสู่ความปกติ

ในการแจ้งเตือนได้อ้างถึงรายงานทางอุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เวียงจันทน์เหลือเพียง 70 ซม. ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ ดร.ไชยณรงค์ ยังกล่าวอีกว่า ลำน้ำโขงที่แห้งขอดยังกระทบกับลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงในไทยที่จะแห้งตามไปด้วย เพราะน้ำถูกดึงลงแม่น้ำโขง เมื่อน้ำไม่ท่วมบริเวณปากแม่น้ำ รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำสาขาก็เกิดความเสียหายทางระบบนิเวศ ปลาวางไข่ไม่ได้

บางพื้นที่มีดินเค็มใต้น้ำ เมื่อน้ำโขงแห้ง น้ำใต้ดินที่มีเกลือจะไหลออกมาจะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำสาขาเกิดความเค็มมากกว่าปกติ เช่น แม่น้ำสงคราม จ. สกลนคร และ จ.นครพนม ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูน

*หากน้ำโขงแห้ง-ผันผวน ในอนาคต จะกระทบแหล่งปลูกมะเขือเทศของภาคอีสาน *

“ชาวนาจะทำนาได้ ต่อเมื่อน้ำโขงสูงขึ้น” การเกษตรสองฝั่งแม่น้ำโขงจะได้รับการกระทบอย่างหนักในระยะยาว หากแม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างรวดเร็วในฤดูฝน หรือมีการผันผวนของการขึ้นลง เป็นการประเมินจาก ดร.ไชยณรงค์

เขากล่าวว่า หากเกิดในช่วงฤดูแล้งที่เกษตรกรปลูกพริก มะเขือ จะมีเสียหายหนักมาก เพราะโดยปกติ ชาวบ้านจะอาศัยน้ำมาใช้เพื่อชลประทาน

“ที่ผ่านมาเราพูดเฉพาะเรื่องการผลิตเพื่อการยังชีพ แต่จริง ๆ แล้ว เกษตรกรรมริมโขงสำคัญอย่างยิ่ง พื้นที่ริมแม่น้ำโขงตั้งแต่ จ.หนองคาย ไป จ.นครพนม เป็นแหล่งปลูกของมะเขือเทศที่มากถึงร้อยละ 50 ของประเทศ และเป็นมะเขือเทศที่ให้เนื้อดีที่สุด เลยมีโรงงานผลิตซอสพริก ซอสมะเขือเทศอยู่ในแถบริมฝั่งแม่น้ำโขง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0