โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แม่น้ำโขงแห้ง ชาวบ้านลุกสู้ไม่ถอย หาทางรอดใหม่เพื่อความยั่งยืน

77kaoded

เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 13.11 น. • 77 ข่าวเด็ด
แม่น้ำโขงแห้ง ชาวบ้านลุกสู้ไม่ถอย หาทางรอดใหม่เพื่อความยั่งยืน

อุบลราชธานี - มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต จับมือชาวบ้านลุ่ม แม่น้ำโขง สู้วิกฤตธรรมชาติ หาทางรอดใหม่เพื่อความยั่งยืน

จากที่ทราบกันดีว่าสภาวะแม่น้ำโขงในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติมากทั้งจากทางธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดนี้จึงทำให้ชาวบ้านในหลายชุมชนริมแม่น้ำโขงเริ่มต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ดวงมณี นารีนุช มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต เปิดเผยถึงความเป็นมาของงานวิจัยที่ได้มีส่วนร่วมกับชาวบ้านบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันการขึ้นลงของระดับแม่น้ำโขงมีการขึ้นลงที่ผันผวนผิดปกติ ซึ่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบเช่นเรื่องการประมงและน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงจะได้รับผลกระทบต่อไปในระยะยาว อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิตจึงได้เล็งเห็นว่าชุมชนเองควรเรียนรู้ร่วมกันและปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ส่วนการดำเนินงานจะเป็นการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยให้ชุมชนต้องหัดคิดวิเคราะห์และหาข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งมีการดำเนินโครงการมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 ทั้งนี้งานวิจัยแต่ละชิ้นจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 - 5 เดือน เพื่อลงชุมชนไปชวนคิดชวนคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่างๆพร้อมตั้งปัญหาและหาทางแก้ไข ซึ่งในส่วนนี้เปรียบเสมือนการตั้งโจทย์วิจัยด้วยตัวชุมชนเองโดยโจทย์วิจัยที่ได้ต้องอาศัยการศึกษาประวัติชุมชนและนำประวัติชุมชนมาเรียนรู้เพื่อสร้างความตระหนักอนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนนอกจากนี้ยังใช้ความรู้และวิถีวัฒนธรรมชุมชนมาปรับประยุกต์สร้างเป็นอาชีพอย่างเช่น การทำลายผ้าจากวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อให้คนชุมชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรภายในชุมชน อีกทั้งคนนอกชุมชนก็จะตระหนักและเห็นคุณค่าร่วมกับชุมชน นับว่าเป็นการสื่อสารกับคนภายนอกเพื่อสร้างพลังรับมือการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากการใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ปลอดภัย พร้อมทั้งส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าอาหารให้ท้องถิ่นนำไปสู่การฟื้นฟูวัฒนธรรมและทรัพยากรเพื่อรักษาทรัพยากรให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้มูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิตมีหน้าที่หลักเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้ชาวบ้านปรับตัวสร้างพลังคนในชุมชน  โดยมีการลงพื้นที่ชุมชนลุ่มน้ำโขงที่ อำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอโขงเจียมและอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งปัจจุบันโครงการวิจัยจบลงและมีการรายงานตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามถึงโครงการวิจัยจะจบลงแต่คนในชุมชนแต่ละพื้นที่ยังมีการต่อยอดและดำเนินการต่อไปอย่างเช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านยังยืนหยัดพร้อมจะสู้กับการเปลี่ยนแปลงคือคนในชุมชนรักพื้นที่ทำกินในชุมชนตนเองพร้อมจะปรับตัวตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิตก็เป็นตัวสื่อสารกับชาวบ้านและคนภายนอกให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงให้ถูกต้อง สุดท้ายนี้ ดวงมณี นารีนุช ยังได้ฝากถึงชุมชนอื่นๆที่ต้องการจะพัฒนาชุมชนตนเองว่า ฝากชุมชนและหน่วยงานรัฐให้ส่งเสริมการปรับตัวที่เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนจริงๆ โดยดูจากบริบทแวดล้อมของชุมชนมุ่งเน้นวิถีปรับตัวด้วยตนเองสร้างการผลิตที่หลากหลายจากทรัพยากรที่เกี่ยวข้องพร้อมสร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ในชุมชน

ชิษนุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ ข่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0